คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

รถรางเมืองภูเก็ต

ผุดโปรเจคใหญ่ สร้างรถรางเมืองภูเก็จ แต่พระยารัษฎาฯ เห็นว่าไม่ควรอนุญาต?

ระบบการขนส่งทางรางคงไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนที่คนภูเก็ตคุ้นเคยนักในช่วง100 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับนาทีนี้ การขนส่งทางรางกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนภูเก็ตเข้ามาทุกที โดยเฉพาะ “โครงการสร้างรถไฟรางเบาภูเก็ต” ที่กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางความเห็นอันหลากหลาย แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการคิดสร้างระบบขนส่งทางรางในเมืองภูเก็ต
.
#ครั้งแรกของโครงการสร้างรถรางเมืองภูเก็ต

ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว รถรางกลายเป็นระบบการขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด และถือเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าของเมืองหลวง ภูเก็ตเกาะชายขอบอันมั่งคั่งก็กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปตามแรงกระหายดีบุกของชาติมหาอำนาจแบบไม่หยุดยั้ง ความเจริญของเมืองภูเก็ตทำให้นักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลนามว่า “ข้อเตียวหลิม” “ผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองปินัง” เล็งเห็นช่องทางในการมาลงทุนธุรกิจรถรางในเมืองภูเก็ต

โครงการสร้างทางรถรางเมืองภูเก็ตได้ถูกเสนอต่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในเดือนมกราคม ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) กำหนดเส้นทางการสร้างคือระหว่างตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองไปยังอำเภอกะทู้ โดยมีเงื่อนไขตามปรากฏในเอกสารขออนุญาต 4 ข้อ คือ

"(๑) ขอฝังรางในทางถนนหลวง

(๒) ขอที่ดินปลูกสเตชั่น ๓ แห่ง

(๓) บรรดาสิ่งของเครื่องใช้ในการปลูกสร้างสเตชั่น และเครื่องเหล็กต่างๆ ซึ่งบรรทุกมาจากเมืองปินังแลแห่งอื่นขออย่าให้เสียภาษี

(๔) ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดขออนุญาตสร้างทางรถรางขึ้นบ้างขออย่าให้รัฐบาลอนุญาต ขอให้ทำได้แต่ผู้เดียว ”

การขอสร้างทางรถรางในขณะนั้นคงเป็นเรื่องที่สำคัญและใหม่สำหรับเมืองภูเก็ตเป็นอย่างมาก พระยารัษฏาฯ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตจึงมีใบบอกไปยัง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำความกราบบังคมทูลฯขอพระราชวินิจฉัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ถึงเรื่องการขออนุญาตสร้างทางรถรางเมืองภูเก็ตในครั้งนี้
.
#แต่พระยารัษฏาฯเห็นว่าไม่ควรอนุญาต?

จากข้อความในใบบอกพระยารัษฏาฯเห็นด้วยสำหรับการให้มีรถรางในเมืองภูเก็ตเพราะจะส่งเสริมเศรษฐกิจเมืองภูเก็ตในหลายด้านอีกทั้งยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองภูเก็ต ตามข้อความในเอกสารความว่า

“ระยะทางที่ที่จะไปยังอำเภอกระทู้นั้นสมควรจะมีรถรางขึ้น แลการลงทุนก็ไม่สู้มากคงจะมีกำไรและจะได้อุดหนุนพวกพ่อค้าให้สดวกในการบรรทุกสินค้าขึ้นล่องในตำบลนั้น ทั้งราคาไม่แพงอย่างที่จ้างเกวียนบรรทุกอยู่ทุกวันนี้”

แต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เห็นว่าไม่ควรอนุญาตการพ่อค้าเข้ามาสัปทานเส้นทางรถรางดังที่พระยารัษฏาฯกล่าวในเอกสารว่า

“การที่จะให้มีรถรางนี้ ไม่ควรอนุญาตให้พวกพ่อค้าทำ ควรที่รัฐบาลจะทำเอง”
.
#รถรางมีความจำเป็นสำหรับเมืองภูเก็ต

เมื่อเรื่องถึงส่วนกลาง กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็มีความเห็นว่ารถรางมีความจำเป็นสำหรับเมืองภูเก็ตและเห็นด้วยกับการให้เอกชนมาลงทุนแทนรัฐบาล โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ให้ความเห็นถึงเรื่องรถรางเมืองภูเก็ตว่า

“ เรื่องนี้เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าถ้ามีรถรางขึ้นตั้งแต่เมืองภูเก็จถึงอำเภอกระทู้จะมีประโยชน์แก่บ้านเมืองมากอยู่ ที่รัฐบาลจะทำเองนั้นคงเป็นการลำบากด้วย การลงทุนรอนตลอดจนการที่จะเดินรถหากำไรสู้อนุญาตให้ผู้อื่นทำดังในกรุงเทพฯนี้ไม่ได้ ”
.
#แต่ถ้าเปนบริษัทไทยดี

เมื่อเรื่องราวกราบบังคมทูลฯถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องสร้างทางรถรางเมืองภูเก็ตว่า

“เห็นว่าควรจะให้ทำ แต่ถ้าเปนบริษัทไทยดี”

น่าเสียดายที่เอกสารไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวต่อจากนั้นและไม่มีรายละเอียดของเส้นทางในการสร้างทางรถรางเมืองภูเก็ตรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในช่วงนั้น และแน่นอนแล้วว่าโครงการสร้างทางรถรางเมืองภูเก็ตเป็นอันถูกพับเก็บไป
.
เรื่องราวของจีนข้อเตียวหลิมขออนุญาตสร้างทางรถรางในเมืองภูเก็ตครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การคิดสร้างระบบขนส่งทางรางของเมืองภูเก็ต 100 ปีให้หลังโครงการนี้กลับมาอีกครั้ง หากมีข้อแตกต่างคือเส้นทางและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เชื่อว่าคนภูเก็ตจำนวนไม่น้อยกำลังเฝ้ารอความเป็นไปของโครงการนี้อย่างใจจดใจจ่อแน่นอน
.
ข้อมูลเพิ่มเติม :
1. เอกสารจดหมายเหตุ กระทรวงมหาดไทย ที่ 385/12586 เรื่องจีนข้อเตียวหลิมขออนุญาตสร้างทางรถรางในเมืองภูเก็ต หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดตรัง (คลังความรู้มิวเซียมภูเก็ต)
2. ถอดบทเรียนรถราง ระบบขนส่งมวลชนไทยในอดีต เข้าถึงได้จาก http://www.realist.co.th

984 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดภูเก็ต