คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

เสี่ยหนา

เ(ค)รื่อง “รัก” ของคนภูเก็ต

เ(ค)รื่อง “รัก” ของคนภูเก็ต

“รัก” เป็นสิ่งที่ทุกคนหลงใหลและใฝ่หาอยากจะมีในครอบครอง จนเกิดการแลก “รัก” กันขึ้นอย่างแพร่หลาย กลายเป็นวัฒนธรรมร่วม “รัก” ของชาวเอเชีย คนภูเก็ตก็ไม่เบาต่างก็หลง “รัก” กันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถึงขนาดว่าขาด “รัก” ไม่ได้กันเลยทีเดียว

#รักแท้เป็นเช่นไร
“รัก” คือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่า เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะม่วง มะปราง มะม่วงหิมพานต์ ดอกมี 5-6 กลีบ คล้ายใบพัด พบและเติบโตได้ดีในดินแดนเอเชียตะวันออกและดินแดนอุษาคเนย์ เมื่อกรีดส่วนผิวจะมียางออกมาเช่นเดียวกับยางพารา น้ำยางรักสดๆ จะมีสีขาวขุ่น พอสัมผัสอากาศน้ำยางจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ โครงสร้างของน้ำยางจะเชื่อมกันเป็นร่างแห คุณสมบัติที่สำคัญของ “รัก” คือเป็นแล็กเกอร์ตามธรรมชาติที่ใช้เคลือบพื้นผิวสร้างความทนทาน แข็งแรง และมีการเรียนรู้พัฒนาวิธีการใช้รักที่หลากหลายไปตามกลุ่มวัฒนธรรม

#รัก-แรก-พบ
กลุ่มคนจีนชนชาติที่ ช่ำชองเรื่อง “รัก” มาอย่างยาวนาน หลักฐานทางโบราณคดีชิ้นสำคัญที่บอกถึงการพบรักของชาวเอเชียย้อนไปราว 6-7 พันปี คือการค้นพบภาชนะเคลือบน้ำยางรักและสุสานโลงไม้ที่เคลือบด้วยยางรักในลุ่มน้ำแยงซีในประเทศจีนนับแต่นั้น “รัก” ได้ขยายไปสู่ไปสู่ญี่ปุ่นและแพร่หลายมายังอุษาคเนย์โดยเฉพาะดินแดนคาบสมุทร เกิดการแลกเปลี่ยนเรียน “รัก” กันอย่างกว้างขวางจนกลายเป็นวัฒนธรรมร่วม “รัก”ของชาวเอเชีย

#เสี่ยหนา เ(ค)รื่อง “รัก” ของคนภูเก็ต

เ(ค)รื่อง “รัก” ของคนภูเก็ต ที่เป็นที่รู้จักกันดีและผูกพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตคือสิ่งที่เรียกว่า “เสี่ยหนา” เสี่ยหนาเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน “หนา” แปลว่า ตะกร้า ส่วน “เสี่ย” แปลว่า “มงคล” หรืออีกนัยหนึ่งหมายความว่า “เชิญ” เสี่ยหนาจึงหมายถึงตะกร้ามงคลที่ไว้สำหรับใส่สิ่งของในการเดินทางหรือพกพาไปยังที่ต่างๆ

เสี่ยหนาทำจากไม้ไผ่สานลงรักสีดำ แดง ปิดทอง ผิวมันวาว ตกแต่งด้วยการเขียนลวดลายมงคล เช่น เทพเจ้า สัตว์ ดอกไม้ และต้นไม้ เสี่ยหนามี 2 รูปแบบ คือ แบบที่หนึ่งทรงรีส่วนฐาน มีฝาโค้งชั้นเดียว คนภูเก็ตส่วนใหญ่เรียกว่า “ฮวดหนา” แปลว่าตะกร้าดอกไม้ ส่วนแบบที่สองทรงกระบอกฐาน มีฝาแบนเรียบซ้อนได้หลายชั้น ซึ่งมักจะเป็นจำนวนคี่อาจมีสูงสุดได้ถึง 7 ชั้นเรียกว่า “เสี่ยหนา”

คนภูเก็ตมักใช้เสียหนาใส่กับข้าวหรืออาหารต่างๆ เพื่อนำไปให้ญาติผู้ใหญ่หรือไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว “เสี่ยหนา” ยังเป็นเครื่องใช้สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับพิธีแต่งงานของชาวภูเก็ต โดยถูกใช้เป็นภาชนะใส่ของหมั้น ทั้งของมีค่า ขนมมงคล ผลไม้มงคลต่างๆ ที่ฝ่ายเจ้าบ่าวต้องนำไปให้กับฝ่ายเจ้าสาว ถือเป็นเครื่อง “รัก” ที่ขาดไม่ได้ในวันแห่งความรักกันเลยที่เดียว

#คนภูเก็ตรับ “รัก” กันยังไง

ดีบุกและเหมืองแร่ถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูด “รัก” มาสู่ภูเก็ต คนภูเก็ตรับ “รัก” ผ่านการเคลื่อนย้ายของผู้คนที่เดินทางมาแสวงหาความมั่งคั่งจากเหมืองแร่ดีบุก โดยเฉพาะกลุ่มคนจีนฮกเกี้ยนที่เดินทางเข้ามาแสวงหาชีวิตใหม่ในคาบสมุทรมลายู วัฒนธรรมการใช้เครื่องใช้ที่ทำจาก “รัก”จึงเกิดขึ้นและแพร่หลายในแถบนี้ “เสี่ยหนา” ถือเป็นตัวแทนของผลผลิตแห่ง “รัก” ของคนภูเก็ตและถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของผู้คนในเอเชียที่ต่างก็หลง “รัก” กันถ้วนหน้า

#รักที่เปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันเสี่ยหนาตัวแทนแห่ง “รัก” ของคนภูเก็ตได้รับได้รับการปรับโฉมกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม ทั้งภาพสตรีทอาร์ต กล่องขนมหรือกระเป๋าเก๋ๆ ถือเป็นรักที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้ว่า “รักแท้” จะหาได้ยากขึ้นในปัจจุบัน แต่วัฒนธรรม “รัก” ได้ฝังรากลึกและเชื่อมร้อยผู้คนในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน ภูเก็ตก็เป็นอีกหนึ่งดินแดนที่มี “รัก” ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ที่อื่นๆ เราต้องช่วยกันรักษ์ “รัก” ไว้ให้คงอยู่ก่อนที่ “รัก” จะจางหายไป

ข้อมูลเพิ่มเติม :
หนังสือหลงรัก นิทรรศการประสานอาเซียน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ 2558
https://www.thairath.co.th/content/503898
http://www.komchadluek.net/news/knowledge/205465
www.virtualmuseum.finearts.go.th/database/index.php/th/

ภาพ:เสี่ยหนา บ้าน I46 old town ถนนกระบี่ ย่านเมืองเก่าภูเก็ตและเสี่ยหนาโบราณ พิพิธภัณฑ์สถานวัดพระทอง

3,506 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดภูเก็ต