สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
ศิลปะถูกสร้างมาเพื่อเป็นเครื่องจรรโลงใจให้ชีวิต แต่จะดีแค่ไหน หากศิลปะจะทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวแห่งชีวิตเพื่อนานาชีวิตได้ชื่นชม ฟังดูอาจเข้าใจยาก แต่ภาพ street art ขนาดใหญ่ ที่ประดับอยู่ตามผนังของสถานที่ต่างๆ ตามตัวเมืองภูเก็ต เป็นข้อยืนยันได้ดีเหลือเกินว่า ศิลปะก็สามารถเป็นนักเล่าเรื่องวัฒนธรรมได้อย่างสมบูรณ์
เมื่อ 11 ธันวาคม 2558 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมือง Gastronomy หรือ เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารของโลก เป็นหนึ่งใน 18 เมืองทั่วโลกที่ยูเนสโกเห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมการทำอาหาร โดยเฉพาะจุดเด่นสำคัญที่ทำให้จังหวัดภูเก็ตได้รับรางวัลนี้ คือ ความเป็นอัตลักษณ์ของอาหารที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น และความผูกพันของชาวภูเก็ตกับอาหารที่แน่นเฟ้นกลมเกลียวจนไม่สามารถแยกจากกันได้ ทุกช่วงชีวิตสำคัญตั้งแต่เกิดจนตายนั้นล้วนสัมพันธ์กับอาหารทั้งสิ้น เพื่อเป็นการบอกเล่าความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตคนภูเก็ตกับอาหาร เหล่าลูกหลานพญามังกรจึงรวมตัวกัน จัดทำโครงการ F.A.T Phuket หรือมาจาก Foot Art Old Town โดยเชิญศิลปินนักวาดภาพ ทั้งชาวไทยและต่างชาติร่วมกันรังสรรค์ภาพวาดบนผนังในเขตย่านเมืองเก่าจังหวัดภูเก็ต ทั้งหมดนี้จึงให้กำเนิด “น้องมาร์ดี” เด็กหญิงสามตา หูยาว หน้าบูดบึ้ง ที่ใครเห็นต้องอดยิ้มไม่ได้ ผลงานของ คุณ พัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face หนึ่งในศิลปินผู้ร่วมวาดนั่นเอง
น้องมาร์ดีน้อยกระจายตัวไปทั่วย่านเมืองเก่าภูเก็ต รับหน้าที่เป็นทูตทางวัฒนธรรมบนผนังได้อย่างงดงาม ภาพที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือภาพมาร์ดีในรูปร่างเต่าสีแดง ที่อยู่บริเวณปากซอยรมณีย์ ซอยเก่าแก่ในย่านตัวเมืองเก่าภูเก็ต โดยภาพนี้สื่อถึงประเพณีผ้อต่อภูเก็ต เป็นประเพณีที่ชาวภูเก็ตออกมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ แน่นอนว่าขนมสำคัญในพิธี คือ ขนมเต่าแดงหรือ อังกู๊ ในภาษาภูเก็ต เป็นขนมทำด้วยแป้งข้างในมีไส้ถั่วเขียว ทาสีแดงตกแต่งเป็นรูปเต่า
หากมาร์ดี ในขนมเต่าแดงเป็นตัวแทนเล่าเรื่องชีวิตที่ล่วงลับ ภาพน้องมาร์ดี เข็นตะกร้า คงเป็นตัวแทนแห่งการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ภาพนี้อยู่ที่ตลาดดาวน์ทาวน์ตลาดสดใจกลางเมือเก่า ในภาพน้องมาร์ดีแต่งกายด้วยชุดย่าหยาสีชมพู วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวภูเก็ตในอดีต เข็นตะกร้าที่มักจะพบเห็นในตลาดยามเช้า สื่อถึงตลาดสดในยามเช้าของคนภูเก็ตซึ่งเป็นศูนย์รวมอาหารเช้าสไตล์พื้นเมืองภูเก็ต อย่าง เสี่ยวโบ๋ย (ขนมจีบ) ข้าวต้มฮกเกี้ยน โรตีน้ำแกง หรือ ขนมจีนน้ำยา
นอกจากน้องมาร์ดี ยังมีภาพของศิลปินท่านอื่นที่น่าสนใจอย่าง ศิลปินที่ใช้ชื่อ “มือบอน” กับภาพนกน้อยตาโตที่กำลังจูงเต่าซึ่งสื่อถึงประเพณีเดินเต่าของคนภูเก็ตในอดีตที่มักจะไปปิกนิกริมหาดและเฝ้าดูเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แม้ปัจจุบันจะไม่มีแล้ว ด้วยข้อจำกัดทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่วัฒนธรรมการพกอาหารไปรับประทานริมทะเลนั้นยังคงมีอยู่ อย่างเช่น หมี่หุ้น ที่สามารถผัดห่อใบตองพกไปทานได้อย่างสบายๆ
ยังมีภาพอีกมากมายที่รอบอกเล่าเรื่องราวความรักความผูกพันของชาวภูเก็ตกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นภาพของคุณตาขายโอต้าว (อาหารภูเก็ตคล้ายหอยทอดแต่ใช้การผัด) คุณยายที่จัดสำรับรอไปทำบุญที่วัด ภาพหุ่นเชิดเทวดาที่จะบอกเรื่องราวตรุษจีนในภูเก็ต ภาพเสือดุแห่งโรงแรมสินทวีที่แฝงองค์ประกอบของสีสันขนมพื้นเมืองไว้ทั่วร่าง แต่การสัมผัสผ่านคำบอกเล่าที่เป็นตัวอักษรนั้น คงไม่วิจิตรเท่าได้สัมผัสด้วยสองตาของท่านเอง จึงใคร่เชิญชวนทุกท่านมาสัมผัสเรื่องราวดินแดนไข่มุกแห่งนี้ ผ่านเรื่องเล่าของหนูมาร์ดี..ผนังมีเรื่องเล่า