ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเคยเป็นอดีตราชธานีของชาติไทยที่มีอายุกว่า 417 ปี ในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน กรุงศรีอยุธยามีความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง กฎหมาย การศาล ระบบสังคม ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ประณีตศิลป์ ภาษาวรรณกรรม นาฏดุริยางค์ศิลป์ และศิลปะวิทยาการทุกแขนงที่คนไทยในอาณาจักรอยุธยาสั่งสมไว้นั้น ปรากฏหลักฐานทางโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันทรงคุณค่าและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ.2525 กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานเมืองพระนครศรีอยุธยาภายใต้ชื่อ "โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา" และต่อมาในปี พ.ศ.2534 อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม พร้อมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ภายในอุทยาน ประกอบด้วย โบราณสถานเท่าที่สำรวจพบแล้ว ทั้งภายในเมืองและนอกกำแพงเมือง จำนวนมากกว่า 425 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญ อาทิ
พระราชวังโบราณหรือพระราชวังหลวง เป็นที่อยู่ของพระมหากษัตริย์และเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองและการปกครองในเวลาเดียวกัน พระเจ้าอู่ทอง ทรงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นในบริเวณที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดพระศรีสรรเพชญ์ ริมแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานรากของพระที่นั่งองค์ต่างๆ เนื่องจากถูกเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุง
วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นพระราชวังที่ประทับซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้น ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดให้ย้ายพระราชวังไปสร้างใหม่ทางด้านริมแม่น้ำลพบุรี และอุทิศพระราชวังให้เป็นวัดสำหรับประกอบพระราชพิธีสำคัญ และเป็นที่เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศล
วัดราชบูรณะ เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดให้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.1967 ในบริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ลงเนื่องจากการรบแย่งชิงราชสมบัติ
วิหารพระมงคลบพิตร พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น เมื่อ พ.ศ.2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บูรณะวิหาร พระมงคลบพิตรใหม่ทั้งหมดดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยายังมีโบราณสถานที่สำคัญแห่งอื่น ๆ อีก เช่น วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม วัดใหญ่ชัยมงคล วัดพนัญเชิง วัดธรรมิกราช เป็นต้น
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 035-242 286
โทรสาร : 035-242 284
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/ayutthayahistoricalpark
อีเมล : ayh_hispark@hotmail.com
วันและเวลาทำการ
เปิดบริการทุกวัน
เวลา 08.00 - 18.00 น.
ค่าเข้าชม
- ชาวไทย
- ค่าเข้าชมโบราณสถานแห่งละ 10 บาท
- บัตรรวม 40 บาท
- ชาวต่างชาติ
- ค่าเข้าชมโบราณสถานแห่งละ 50 บาท
- บัตรรวม 220 บาท
(วัดพระศรีสรรเพชญ์ วัมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม วัดมเหยงคณ์)
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้หลายเส้นทาง ดังนี้
- เส้นทางแรก ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ผ่านประตูน้ำพระอินทร์ แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 309 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- เส้นทางที่สอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 (ถนนแจ้งวัฒนะ) หรือทางหลวงหมายเลข 302 (ถนนงามวงศ์วาน) เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 306 (ถนนติวานนท์) ข้ามสะพานนนทุรี หรือสะพานนวลฉวี ไปยังจังหวัดปทุมธานี ต่อด้วยเส้นทางปทุมธานี-สามโคก-เสนา (ทางหลวงหมายเลข 3111) แล้วแยกขวาที่อำเภอเสนา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3267 เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- เส้นทางที่สาม ใช้ทางหลวงหมายเลข 306 เส้นทางกรุงเทพฯ-นนทบุรี-ปทุมธานี ถึงทางแยกสะพานปทุมธานี เลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 347 แล้วไปแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3309 ผ่านศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร อำเภอบางปะอิน เข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
การเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อขอวิทยากรล่วงหน้าได้ที่สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
สิ่งอำนวยความสะดวก
สามารถจอดรถบริเวณลานจอดรถโดยรอบโบราณสถาน