คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

วัดกษัตราธิราช

     "วัดกษัตราธิราชวรวิหาร" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดโบราณ ปรากฏหลักฐานพบว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดกษัตรา หรือ กษัตราราม หรือ กษัตราวาส ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ใครเป็นผู้สร้าง แต่ชื่อของวัดทำให้สันนิษฐานว่า คงเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ทรงสร้าง วัดนี้จึงมีชื่อว่า วัดกษัตรา ซึ่งหมายความว่าเป็นวัดของพระมหากษัตริย์ หรือวัดของพระเจ้าแผ่นดิน มีปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระสุริยามรินทร์ (น่าจะหมายถึง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ) ว่า แรม 14 ค่ำ เดือน 5 พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้งที่ในวัดราชพฤกษ์และวัดกษัตราวาส ยิงเข้ามาในพระนคร ถูกบ้านเรือนราษฎรล้มตายจำนวนมาก วัดนี้คงถูกทำลายเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทิ้งร้างเรื่อยมา

     ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) กรมพระราชบวรสถานภิมุข (กรมพระราชวังหลัง) ได้บูรณะวัดกษัตรา และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "วัดกษัตราธิราช" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ต้นราชสกุลอิศรางกูร ได้ปฏิสังขรณ์พระอาราม ในปี พ.ศ.2349 ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา เป็นพระอารามหลวงลำดับที่ 9 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่พระบาทสมเด็จพระชนกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกวัดกษัตราธิราชเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ปัจจุบัน มีพระญาณไตรโลก (สุชาติ ฐานิสสะโร) เป็นเจ้าอาวาส นับได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธกษัตราธิราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม ขนาดองค์พระสูง 2.99 เมตร ฐานกว้าง 2.09 เมตร ตั้งอยู่บนฐานชุกชี ในลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย ใบหน้าลักษณะรูปสี่เหลี่ยม เม็ดพระศกมีขนาดเล็ก เหนือจากพระอุษณีษะ คือ เกตุมาลาทำเป็นรัศมีเปลว องค์พระครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวา ชายจีวรยาวจรดพระนาภีปลายแยกออกเป็นเขี้ยวตะขาบ ต่อมามีการลงรักปิดทองประดับอย่างงดงาม ส่วนกลางฐานชุกชี ทำเป็นผ้าทิพย์ปั้นเป็นลายประเภทราชวัตร ประดับประจำยาม ปั้นเป็นลายก้านขดมีการออกลายเป็นสัตว์หิมพานต์ ด้านล่างปั้นเป็นลายกรวยเชิง ลักษณะคล้ายกับผ้าทิพย์

     สำหรับพระอุโบสถที่พระประธานประดิษฐานอยู่ มีขนาด 9 ห้อง กว้าง 22 เมตร ยาว 46 เมตร ผนังก่ออิฐเจาะช่องแสงแบบเสาลูกมะหวด ด้านหน้าพระอุโบสถมีบันไดขึ้น 2 ทาง ช่องกลางก่อเป็นซุ้มบัญชร ช่องหน้าต่าง ด้านหลังมีมุขเด็จ ทำเป็นบันไดขึ้น 3 ทาง ที่ประตูกลางของมุขเด็จ ด้านหลังก่อเป็นซุ้มกั้นห้องประดิษฐานพระพุทธปฏิมา ปางป่าเลไลยก์ ส่วนหลังคาพระอุโบสถช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ประกอบด้วยเครื่องไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู หรือกระเบื้องกาบกล้วยดินเผา หน้าบันทั้ง 2 ด้าน จำหลักลายดอกพุดตาน มีสาหร่ายรวงผึ้งคั่นสลับระหว่างเสา ลงรักปิดทองประดับกระจก มีคันทวย รองรับระหว่างชายคา ที่แกละสลักอย่างงดงาม สืบทอดรูปแบบมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

    ภายในพระอุโบสถเสากลมมีบัวที่หัวเสาเป็นแบบดอกบัวตูมจำนวน 6 คู่ รองรับเครื่องบน เพดานเขียนลายทองเป็นลายราชวัตร ดอกกลมและพุ่มข้าวบิณฑ์ สลับกันเป็นระยะบนพื้นสีแดง เพดานสลับไม้ลงรักปิดทองพื้นภายในพระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานแด่พระครูวินยานุวัติคุณ (ทรง ธัมมสิริโชติ) อดีตเจ้าอาวาส เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา หลังจากการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ

 

     สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

1. พระอุโบสถ

     พระอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน  ยกพื้นสูงมีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ประตู  อาคารพระอุโบสถมีขนาดกว้าง ๒๒ เมตร  ยาว ๔๖ เมตร  หลังคาซ้อน ๒ ชั้น  หน้าบันประดับหลายเครือเถา  ลงรักปิดทองประดับกระจก  ตัวพระอุโบสถก่ออิฐเป็นผนังหนา  เพื่อรองรับหลังคา  ด้านนอกทำเป็นเสาในตัวตามแบบศิลปะอยุธยา  ยอดเสาเป็นลายบัวแวง  มีทวยไม้จำหลักรูปพญานาครองรับชายคาอยู่บนเสาทุกเสา  ด้านหน้าประดับด้วยซุ้มบุษบกบัญชรตั้งอยู่บนแท่นใหญ่  ด้านหลังสร้างเป็นมุขขนาดเล็กเรียกมุขเด็จประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์  หน้าต่างเจาะเป็นช่องเล็กๆ  ระหว่างช่วงหน้าต่างประดับด้วยลายดอกไม้เครือเถา  ภายในพระอุโบสถบนฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย  ประทับบนฐานบัวผ้าทิพย์  พระนามว่า  พระพุทธกษัตราธิราช  เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา  ที่เพดานและขื่อประดับลายจำหลักลงรักปิดทองเป็นช่องกระจกดอกจอกอย่างสวยงาม  บนลานพระอุโบสถโดยรอบตั้งใบเสมาอยู่บนฐานบัว  ลักษณะใบเสมาสลักจากหิน  ตรงกลางสกัดเป็นเส้นโค้งคล้ายรูปหัวใจ  มีแถบยาวตัดตรงกลางอันเป็นลักษณะของเสมาในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย

2. พระวิหาร

     ในวัดกษัตราธิราช  มีพระวิหาร ๔ หลัง  คือ  พระวิหารใหญ่ ๒ หลัง  ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ  และพระวิหารน้อย ๒ หลัง  ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงแก้วของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกและตะวันตก

     สำหรับพระวิหารใหญ่มีขนาดกว้าง ๖ เมตร  ยาว ๑๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร  หลังคาเป็นชั้นลด ๓ ชั้น  พระวิหารหลังทิศใต้  ด้านหน้าทำเป็นประตูซุ้มยอดมณฑป  หน้าบันของพระวิหารด้านทิศเหนือ  สลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ  ล้อมรอบด้วยลายกระหนก  ภายในพระวิหารบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปยืน  ปางถวายเนตร  และปางประทานอภัย  รวม ๒ องค์  ทีผนังโดยรอบมีร่องรอยเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก  แต่ปัจจุบันทำเป็นหน้าต่างด้านละ ๓ บาน  ส่วนหน้าบันของพระวิหารหลังใต้สลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต  ภายในพระวิหารด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระประธาน  และรูปพระศรีอาริยเมตไตรยจีวรดอก  ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระประธาน  ที่ผนังเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก  ซึ่งลักษณะการเจาะผนังนี้นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์  รัชกาลที่ ๓  แต่สำหรับพระพุทธรูปและพระศรีอาริยเมตไตรยนั้นเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น

3. พระปรางค์

     พระปรางค์ประธาน  มีขนาดสูง ๒๒ เมตร ๖๐ เซนติเมตร  เชื่อกันว่าประดิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย  พระปรางค์นี้ทรงฝักข้าวโพด  ตรงเรือนธาตุมีจระนำซุ้มทิศทั้ง ๔ ด้าน  ภายในจระนำมีรูปจำลองเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประดับเป็นภาพนูนสูง  ลายอุณาโลมประดับอยู่ในส่วนหน้าบันเหนือซุ้ม  ทั้งลักษณะของพระปรางค์  และรูปเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  รวมทั้งอุณาโลมเป็นลักษณะศิลปะอยุธยา

4. พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง

     พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง  มี ๔ องค์  อยู่ด้านหลังพระวิหาร  และเป็นที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส  ลักษณะของพระเจดีย์แสดงรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย

     วัดกษัตราธิราชได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ  เมื่อ  พ.ศ.๒๕๔๑  ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ ๑๑๕  ตอนที่ ๓๗ ง  วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

กรมศิลปากร

 

3,441 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา