คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

คุ้มขุนแผน

สถาปัตยกรรมเรือนไทยคหบดีภาคกลางโบราณ เมืองกรุงเก่า

     คุ้มขุนแผน เป็นชื่อเรียกของหมู่เรือนไทยโบราณภาคกลางแบบเรือนคหบดีไทย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารพระมงคลบพิตร หันหน้าสู่ถนนศรีสรรเพชญ์และถนนป่าตอง ตำบลประตูชัย ตรงข้ามวัดพระราม เดิมเป็นจวนสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ของกรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ตั้งอยู่บริเวณเกาะลอยวัดสะพานเกลือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการมณฑล

     เมื่อได้ยินชื่อ “คุ้มขุนแผน” เชื่อว่าหลายท่านคงจะนึกไปถึงสถานที่อันเป็นนิวาสสถานหรือสถานที่อันเกี่ยวข้องกับตัวละครในนิทานพื้นบ้านชื่อดังอย่าง ขุนช้าง – ขุนแผนที่ท้องเรื่องสามารถอนุมานได้ว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นแน่ แต่แท้จริงแล้วสถานที่แห่งนี้มิได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวละครขุนแผนเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่หมู่เรือนไทยโบราณนี้ตั้งอยู่บนบริเวณที่ซึ่งประวัติศาสตร์ได้ระบุเอาไว้ว่าเคยเป็น คุกหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งระบุในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า “คุกหลวงนั้นตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองใกล้กับวัดเกษ ตะแลงแกง และที่ปลูกพระเมรุมาศ โดยตัวคุกหลวงจะตั้งอยู่บนเกาะกลางคลองนครบาล” ซึ่งไปพ้องกับเรื่องราวในนิทาน ขุนช้าง – ขุนแผนที่ ตอนหนึ่งที่ขุนแผนนั้นต้องโทษคดีอาญามีคำสั่งให้นำตัวไปจองจำในคุกหลวง ดังความในวรรณคดีตอนหนึ่งที่ว่า

ฝ่ายพวกนครบาลได้รับสั่ง           เข้าล้อมหน้าล้อมหลังอยู่เป็นหมู่

              พาขุนแผนคุมออกนอกประตู             พระหมื่นศรีเอ็นดูร้องสั่งไป

     ฝากด้วยเถิดพ่อเจ้าทุกเช้าค่ำ             จองจำแต่พออัชฌาสัย

     นครบาลรับคำแล้วนำไป                  เอาตัวเข้าคุกใหญ่ในทันที

     ด้วยเหตุนี้เองในปีพ.ศ. ๒๔๘๓ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นายปรีดี พนมยงค์  หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรมรัฐบุรุษอาวุโส ผู้มีความชื่นชอบในหมู่เรือนไทยคหบดีโบราณเหล่านี้และหมายมั่นจะอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ ได้มีคำสั่งย้ายหมู่เรือนไทยหมู่นี้ทั้งหมดจากบริเวณเกาะลอยวัดสะพานเกลือ มาตั้งอยู่ในที่ๆอยู่ปัจจุบันและให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม พร้อมตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า “คุ้มขุนแผน”

     ภายในบริเวณคุ้มขุนแผนมีความร่มรื่น อากาศบริสุทธิ์จากไม้ยืนต้นและไม้ประดับมากมายรอบๆสนามหญ้ากว้าง และสระน้ำจากฝั่งแลเพนียดวังช้าง ทางเดินเข้าสู่ตัวเรือนไทยปูด้วยอิฐมอญ ตัวเรือนเป็นเรือนไทยคหบดีโบราณทำจากไม้ทั้งหลังยกพื้นสูงปล่อยใต้ถุนโล่งตามแบบเรือนไทยโบราณที่มักจะใช้พื้นที่ใต้ถุนบ้านทำหัตถกรรมผ้าทอหรือกิจกรรมอื่นๆ และยังใช้สำหรับเป็นทางน้ำไหลผ่านในฤดูน้ำหลาก บันไดทางขึ้นเรือนเมื่อขึ้นมาแล้วจะเป็นลักษณะชานพักมีระเบียงก่อนที่จะเดินขึ้นบันไดด้านข้างเข้าไปยังโถงกลางของเรือนที่ยกสูงขึ้นจากชานพักประมาณ 1 เมตรอยู่ด้านใน ห้องโถงกลางเป็นลักษณะพื้นที่โล่งสี่เหลี่ยม ตรงช่องกลางของพื้นที่ยกพื้นสูงขึ้นประมาณ 1 ฟุต มีเสารอบ ๆ 10 เสาที่ค้ำยันหลังคาด้านบนเอาไว้ หลังคาหมู่เรือนไทยนี้เป็นทรงจั่วสูงชายคายื่นยาวเพื่อกันแดดและกันฝน ชานกว้างกลางเรือนกินบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของเรือนไทยทั้งหมดเนื่องจากเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ไว้ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเช่น การรับประทานอาหาร พูดคุย เตรียมข้าวของเพื่อจะไปทำบุญที่วัดหรือแม้กระทั่งเมื่อนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญก็ล้วนแต่ใช้พื้นที่บริเวณนี้ทั้งสิ้น ประกอบกับประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว หอนอนของสมาชิกในบ้านที่เชื่อมต่อจากโถงกลางไปรอบด้านทั้งหมด จะตีฝากระดานเรือนกั้นห้องเป็นห้องเล็ก ๆ ไว้ใช้เก็บข้าวของและหลับนอนในตอนกลางคืนเท่านั้น ส่วนในตอนกลางวันสมาชิกครอบครัวจะมารวมตัวกันอยู่ที่โถงกลางเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีอากาศถ่ายเท ลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน หอนอนของสมาชิกในครอบครัวจะเชื่อมต่อจากโถงกลางด้วยระเบียงโล่งรอบชานกว้างที่ยกสูง หอนอนทุกหลังจะแยกเป็นสัดส่วนด้วยฝากระดานเรือน หน้าหอนอนมีที่นั่งเล่นและบานประตูเพื่อเปิดเข้าไปด้านใน มีหลังคาทรงจั่วเหมือนกันทุกหลัง หลังคาทรงจั่วนี้นอกจากทำให้อากาศถ่ายเทสะดวกแล้วยังมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำฝนได้รวดเร็วอีกด้วย นอกจากหอนอนแล้วจะมีในส่วนของเรือนครัวที่เชื่อมต่อจากโถงกลางเช่นกัน โดยใช้ไม่ไผ่ตีระแนงเป็นฝาเรือนเพื่อระบายอากาศและควันฟืนไฟที่ใช้ทำกับข้าว มีเตาไฟและหม้อไหจัดแสดงครัวจำลองให้ได้ชมกัน เรือนไทยคุ้มขุนแผนนี้พื้นเรือนมีการขัดถูจนมันปลาบ เวลาเดินรู้สึกนุ่มเท้าไม่สะดุดเสี้ยนไม้แต่อย่างใดแถมยังมีการจัดวางที่คำนึงถึงทิศทางแดดและทิศทางลมเพื่อหลบแดด ทำให้แดดส่องไม่ถึงและช่องลมต่าง ๆ โดยรอบยังทำให้รู้สึกเย็นสบายตลอดเวลา

     เรือนไทยคหบดีโบราณ “คุ้มขุนแผน” นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้แล้วยังเปิดให้เช่าสำหรับประกอบพิธีมงคลสมรสและถ่ายพรีเวดดิ้งในรูปแบบไทยโบราณอีกด้วย

     คุ้มขุนแผนตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสามารถจอดรถที่แลเพนียดวังช้างได้ แล้วเดินข้ามสะพานมาประมาณ 100 เมตรก็จะพบกับ “คุ้มขุนแผน” สถาปัตยกรรมเรือนไทยคหบดีภาคกลางโบราณแห่งเมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา

3,210 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา