คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ภูมิสถานแห่งความรัก

อิ่มเอมกับไอรัก และอบอวลกับความหมายแห่งความผูกพันรูปแบบต่าง ๆ ณ พระราชวังบางปะอิน

ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ความรัก” หลายคนคงหานิยามที่ฟังแล้วหอมหวานและซาบซึ้งกินใจ  และพยายามเสาะหาสถานที่ที่จะพาคนรักไปชื่นชมหรือดื่มด่ำกับการตกแต่งที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นและอบอวลไปด้วยความรัก และสถานที่ที่เชื่อว่าทุกคนต้องนึกถึงเป็นที่แรกเกี่ยวกับความรักและความผูกพันระหว่างกัน คงจะหนีไม่พ้น “บ้าน” เช่นเดียวกันกับ “วัง” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบ้านหรือที่ประทับของพระมหากษัตริย์ก็มีเรื่องราวแห่งความรักอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิสถานแห่งความรักที่ได้ชื่อว่า “พระราชวังบางปะอิน”

พระราชวังบางปะอิน ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับเป็นสถานที่ที่เรียกได้ว่า “ไม่เคยโรยราร้างรัก” ด้วยเหตุที่องค์ประกอบแต่ละส่วนของพระราชวังแห่งนี้ล้วนกำเนิดและหล่อหลอมขึ้นจากความรักในหลากหลายมิติและรูปแบบ พระราชวังแห่งนี้เป็นต้นตำนานของรักแรกพบระหว่างสมเด็จพระเอกาทศรถกับนางอิน กล่าวคือ เมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทางใต้ของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เกิดพายุขึ้นขณะเสด็จกลับพระนคร จนเรือพระที่นั่งล่มที่เกาะบางเลน พระองค์ทรงว่ายน้ำเข้าฝั่งและขอผิงไฟที่บ้านของสาวชาวบ้าน ชื่อ “นางอิน” นางอินได้ให้พระองค์ประทับแรมและเฝ้าปรนนิบัติเพียงคืนเดียว กาลต่อมา นางได้ให้กำเนิดบุตรชาย นามว่า “พระองค์ไล” ซึ่งก็คือ พระเจ้าปราสาททอง พระราชวังบางปะอินแห่งนี้จึงแสดงให้เห็นนิยามของรักแรกพบ ซึ่งแม้จะเป็นระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่เป็นเสมือนกงล้อคอยหมุนประวัติศาสตร์ไทยสืบมา

พระเจ้าปราสาททองทรงให้สร้างพระราชวังแห่งนี้ขึ้น และพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดชุมพลนิกายารามขึ้นบนเกาะบางปะอิน ตรงบริเวณเคหสถานเดิมของพระมารดา โดยถวายเป็นพุทธบูชา พระองค์ทรงให้ขุดสระขนาดใหญ่ทางทิศใต้ของวัด และได้สร้างพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ในพื้นที่ของพระราชวังตามกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ว่า “พระองค์ได้ประสูติที่นี่และได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน” แสดงให้เห็นอานุภาพแห่งความรักของลูกคนหนึ่งที่มีต่อมารดาผู้ให้กำเนิด นอกจากนี้ หอเหมมณเฑียรเทวราชหรือศาลพระเจ้าปราสาททอง ทรงปรางค์ศิลา จำลองแบบจากปรางค์ขอม ภายในประดิษฐานเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนคุณงามความดีและเทิดพระเกียรติของพระเจ้าปราสาททองที่ทรงกตัญญูต่อพระมารดา และตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระราชวังบางปะอินจึงเป็นที่ประพาสของพระมหากษัตริย์ไทย ก่อนจะถูกทิ้งร้างหลังเสียกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชวังบางปะอินได้รับการฟื้นฟูเรื่อยมา

           เมื่อมองไปยังทัศนียภาพรอบ ๆ พระราชวังบางปะอินจะพบสภาคารราชประยูร ซึ่งเป็นที่ทำการของหอทะเบียนเมืองกรุงเก่า และเป็นสำนักงานที่ดินกรุงเก่าแห่งแรกของประเทศไทย ถัดไปจะเห็นกระโจมแตร ซึ่งเป็นจุดชมทัศนียภาพที่ดีมากของพระราชวังบางปะอิน ถัดจากกระโจมแตร เชื่อมต่อไปยังพระที่นั่งวโรภาษพิมาน มีสะพานข้ามสระน้ำตระการตา บนหัวเสาราวสะพานมีรูปปั้นเทพและเทพีแบบตะวันตก ทำให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในดินแดนแห่งการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมตะวันตกและตะวันออก สำหรับพระที่นั่ง วโรภาษพิมานถือเป็นหัวใจของพระราชวัง เนื่องจากเคยเป็นท้องพระโรงเสด็จฯ ออกว่าราชการและพระราชทานที่ดินของรัชกาลที่ ๕ และเคยเป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   เมื่อออกจากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน จะเป็นที่ตั้งของเรือนแพพระที่นั่ง สถาปัตยกรรมเรือนไทย ตัวเรือนสร้างด้วยไม้สักทอง หลังคามุงจากแบบโบราณ และจัดแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ  

          ในพระราชวังบางปะอินยังมีสถาปัตยกรรมแบบจีน ที่เรียกกันว่า “เก๋งจีน” หรือ “พระที่นั่งเวหาศจำรูญ” มีชื่อในภาษาจีนที่มีความหมายเหมือนภาษาไทยว่า “เทียน เหมง เต้ย” ถือเป็นพระที่นั่งที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และเป็นพระที่นั่งองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยสร้างจากเงินภาษีอากรที่กรมท่าซ้ายหรือพ่อค้าชาวจีนที่เป็นขุนนางในราชสำนักทูลเกล้าฯ ถวาย อันเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่เปรียบมิได้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในท้องพระโรงล่าง มีอัฒจันทร์ ตรงกลางมีแผ่นหินอ่อนรูป หยินหยาง ลายปลาสองตัวกลับหัวกัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มีประติมากรรมรูปโป๊ยเซียน ด้านล่างมีคำโคลงความว่าทุกคนสามารถทำความดีได้เสมอกน ขื่อของพระที่นั่งประดับด้วยงานแกะสลักรูปสามก๊กและลายมงคลแปด ท้องพระโรงบน มีพระราชบัลลังก์มังกรลงรักปิดทอง รูปแกะสลักกระดูกอูฐฝีมือชั้นเลิศและละเอียดอ่อน  นอกจากนี้ ด้านซ้ายของห้องพระป้ายยังประดิษฐานพระป้ายอักษรจีนจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระนามของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ด้านขวาประดิษฐานพระป้ายจารึกพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ซึ่งจะมีพระบรมวงศานุวงศ์หรือผู้แทนพระองค์มาทำพิธีบูชาพระป้ายเป็นประจำทุกปี เป็นเครื่องยืนยันความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่มีคุณค่ายิ่งของสังคมไทย

          คำกล่าวที่ว่า “ดูนาที่ไหนเล่า ไม่เท่าที่บางปะอิน” ได้รับการพิสูจน์จากผู้ที่ขึ้นไปชมหอวิฑูรทัศนา ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบยุโรป สีเหลืองแดงสลับกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เป็นที่ทอดพระเนตรโขลงช้างป่าและภูมิประเทศโดยรอบ นอกจากนี้ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อันมีคำไว้อาลัยแกะสลัก ความว่า “ที่รฦกถึงความรักแห่งสมเดจพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรตน์ พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสดจทิวงคตแล้ว ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความศุขสบายแลเปนที่เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก แลที่สนิทอย่างยิ่งของเธอ อนุสาวรีนี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์บรมราช ผู้เปนสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตร ถึงกระนั้นยังมิได้หักหาย จุลศักราช ๑๒๔๓” สะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของคนในครอบครัวอย่างลึกซึ้ง

          ความร่มรื่นภายในบริเวณพระราชวังบางปะอินและความงดงามของสถาปัตยกรรมชั้นเลิศต่าง ๆ ล้วนบ่งบอกความรักและความผูกพันของคนแต่ละยุคแต่ละสมัย แสดงให้เห็นว่าพระราชวังบางปะอินเป็นภูมิสถานแห่งความรักที่ควรค่าแก่การไปเยือนอย่างแท้จริง

4,874 views

1

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา