คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

บ้านทองอยู่

เล่าเรื่องเมืองเชียงใหม่ผ่านประวัติบ้านทองอยู่

         นี่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับบ้านไม้หลังหนึ่งที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ตัวบ้านสร้างจากไม้สักทั้งหลังแลดูโอ่อ่าหรูหรา

         บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ณ ใจกลางเมืองล้านนาในย่านเมืองเก่าวัดเกตการาม น่าเสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายสมัยที่บ้านหลังนี้เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ มีเพียงรูปถ่ายสมัยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ในสภาพบ้านที่ดูเก่าทรุดโทรมลงแล้วเท่านั้น

         บ้านหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านทองอยู่” ตั้งตามชื่อเจ้าของบ้านดั้งเดิมผู้เป็นพ่อค้าเชื้อสายจีนจากบรรพบุรุษตระกูลแซ่เตีย บ้านหลังนี้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านมาหลายแผ่นดินตั้งแต่ปลายรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ ในตอนที่พระราชอาณาจักรยังอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้นสิ่งของต่างๆ ที่เก็บไว้ในบ้านจากหลายยุคหลายสมัยทำให้บ้านทองอยู่ไม่ต่างอะไรจากพิพิธภัณฑ์ล้านนาขนาดย่อม

 

           เริ่มจากพระสาทิสลักษณ์พร้อมพระลิขิตของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงพระองค์สุดท้ายของนครเชียงใหม่ ระบุมอบให้แก่เจ้าของบ้าน นายทองอยู่ ตียาภรณ์ และภรรยา นางกิมเหรียญ เนื่องในวาระขึ้นบ้านใหม่ สิ่งของและหลักฐานต่างๆ ในบ้านหลังนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยและสะท้อนวิถีชีวิตของพ่อค้าชาวจีนที่ประยุกต์ใช้ชีวิตแบบชาวล้านนาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

           บ้านทองอยู่นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อรองรับสมาชิกในครอบครัวที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นแล้ว ก็ยังสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของการค้าขาย เนื่องจากมีที่ตั้งที่ติดอยู่กับแม่น้ำปิงสะดวกต่อการค้าขายทางน้ำ และมีหลักฐานเครื่องมือที่เกี่ยวกับการค้าขายเก็บไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เครื่องพิมพ์ดีดรุ่นโบราณ เป็นต้น

         สิ่งเดียวที่แสดงถึงความเป็นจีนภายในบ้านทองอยู่ก็คือป้ายชื่อกิจการเขียนด้วยตัวอักษรจีนว่า ‘หย่งเชียง’ เพื่อความสะดวกในการค้า แต่สิ่งอื่นภายในบ้านแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันแต่ผสมกันได้อย่างลงตัว ดังจะเห็นได้จากรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของบ้านที่ผสมผสานทั้ง ๓ วัฒนธรรม เช่น การลบมุมเสาตามหลักฮวงจุ้ยแบบจีน ฝาไหลกับหน้าต่างเตี้ยสำหรับผู้นิยมนั่งพื้นในแบบล้านนาดั้งเดิมในชั้นบน แต่รูปทรงบ้าน ๒ ชั้นและหน้าต่างสูงสำหรับการนั่งเก้าอี้ในชั้นล่างพร้อมเคาน์เตอร์แบบฝรั่งแสดงความเป็นบ้านแบบตะวันตกอยู่ไม่น้อย 

          หากมองเผินๆ อาจนึกไม่ถึงความยิ่งใหญ่ของประวัติเบื้องหลังบ้านไม้แห่งนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะเล่าประวัติศาสตร์ขนาดย่อ เริ่มต้นจากนายทองอยู่ผู้มีชื่อตามประเพณีจีนว่า จินกี กีเซ็งเฮง ดังจารึกไว้ที่กู่บรรจุอัฐิขนาดใหญ่ที่วัดฝายหิน ท่านเป็นบุตรของเล่าก๋งเตียบู๊เซ้ง ผู้นำชุมชนพ่อค้าจีน ณ เวลานั้นซึ่งอยู่ในรัชสมัยของแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง เล่าก๋งเตียบู๊เซ้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักเชียงใหม่ ดังจะเห็นได้จากลูกสะใภ้ที่เป็นบุตรีของพญาแสนภักดี ต้นตระกูลภักดี และเจ้าหม่อนสีมอย เจ้านายฝ่ายเหนือผู้เป็นที่เคารพนับถือของชุมชนชาวเชียงแสน ด้วยเหตุนี้เล่าก๋งเตียบู๊เซ้งจึงสนิทสนมกับพญาผาบ แม่ทัพเชียงใหม่ผู้นำกบฏต่อต้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองเชียงใหม่จากที่เป็นประเทศราช มีอำนาจปกครองตนเอง มาเป็นมณฑลพายับอันเป็นการรวมอำนาจสู่ส่วนกลาง เป็นเหตุให้ชุมชนวัดเกตและเมืองเชียงใหม่ถูกทิ้งเกือบร้างจากความกลัวภัยสงครามและกองทัพของพญาผาบ หากเล่าก๋งเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ยอมอพยพ ด้วยถือว่ามีความใกล้ชิดสนิทสนมกับราชสำนักเชียงใหม่และพญาผาบ แสดงถึงความเป็นเสาหลักของชุมชนของเล่าก๋งบู๊เซ้ง

         ลูกหลานของท่านจึงได้ตั้งรกรากที่ชุมชนย่านวัดเกตนั่นเอง ดังนั้นบ้านทองอยู่หลังนี้จึงยืดหยัดอยู่เหนือกาลเวลา ข้ามผ่านความยิ่งใหญ่ของประวัติเมืองเชียงใหม่

 

         ข้อมูลเหล่านี้ ผู้เขียนได้อ้างอิงมาจากเรื่องราวคำบอกเล่าและการจดบันทึกของบุรุษท่านหนึ่งผู้ที่บัดนี้มีชีวิตอยู่เพียงในประวัติศาสตร์ของตัวผู้เขียนเอง ท่านได้เล่าถึงความยิ่งใหญ่ของบ้านทองอยู่และบรรพบุรุษให้ฟังตั้งแต่ผู้เขียนยังเป็นเพียงเด็กไม่รู้ประสา นอกจากนี้ ท่านยังได้เล่าเรื่องวิถีชีวิตของคุณปู่ที่เคยอาศัยอยู่ในบ้านทองอยู่ ทำให้ผู้เขียนได้รับรู้และสัมผัสถึงความเป็นชุมชนย่านวัดเกตได้เป็นอย่างดี

         

         ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งในวัยเด็ก ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ ระหว่างปิดเทอมใหญ่ในหน้าแล้ง คุณพ่อของท่านพามากราบเยี่ยมคุณทวดทองอยู่และได้พาลงเล่นน้ำปิงหลังบ้านที่ยังใสไหลเย็นน่าดำผุดดำว่าย ท้องน้ำเต็มไปด้วยหินแม่น้ำมนกลม ลื่นเท้า ไม่มีอันตราย และเรื่องเล่าจากคุณปู่ตระการ ตียาภรณ์ ลูกคนที่ ๔ ของคุณทวดทองอยู่ว่าครั้งวัยเด็ก บ้านเพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่ปี ตัวบ้านกว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก มียกพื้นชานเรือนแผ่ออกไปต่อเชื่อมกับห้องต่างๆ กินพื้นที่กว่าสองถึงสามเท่าของตัวบ้านไม้ที่เห็นปรากฏในปัจจุบัน เช่นเดียวกับแม่น้ำปิงที่กว้างถึงหน้าคุ้มเจ้าหลวงที่ฝั่งโน้นและเกือบจรดบันไดลงเรือนหลังบ้านที่ฝั่งนี้ โดยมีเกาะกลางน้ำเป็นสมรภูมิระหว่างจิ๊กโก๋คุ้มเจ้าหลวง กับจิ๊กโก๋วัดเกต นำโดยคุณปู่ตระการเอง(ฉายาอ้ายยักษ์) ที่หลังจากตะโกนท้าทายกันจนได้ที่แล้ว ต่างฝ่ายก็จะว่ายน้ำไปตกลงด้วยกำลัง ณ เกาะกลางนี้เป็นกิจวัตร

         ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้สมควรอย่างยิ่งแก่การเผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปได้รู้จักและสัมผัสกับกลิ่นอายและวิถีชีวิตของคนเชียงใหม่ย่านวัดเกตในสมัยการค้าทางเรือเมื่อในอดีต

 ดังที่บิดาผู้ล่วงลับของผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า…

 

         “บ้านทองอยู่เป็นทั้งหลักฐานและชิ้นส่วนที่ยังมีชีวิตของประวัติศาสตร์นครเชียงใหม่ในยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงที่จะคงอยู่ต่อไปเพื่อความภาคภูมิร่วมกันมิใช่เพียงแต่ของเหล่าสมาชิกในสกุลตียาภรณ์ หรือชุมชนวัดเกตแห่งนี้เท่านั้น หากเป็นของชาวเชียงใหม่ทั้งหมด”

 

รูปภาพของโบราณเพิ่มเติมจากบ้านทองอยู่

ที่มา: บันทึกและคำบอกเล่าของคุณพ่อถาวภักดิ์ ตียาภรณ์ ผู้ล่วงลับ

         รูปแม่น้ำปิงในอดีตจากเว็บไซต์ http://www.chiangmaiworldheritage.net/detail_show.php?id=64&lang=en

6,068 views

2

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดเชียงใหม่