ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เริ่มโครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๓ รอบ ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ด้วยพิจารณาเห็นว่าสาขาวิชามานุษยวิทยาและศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ ล้วนเป็นที่ทรงสนพระทัยและทรงมีความเชี่ยวชาญ อีกทั้ง ยังเคยทรงมีพระราชปรารภว่า “ประเทศไทยควรจะมีศูนย์ข้อมูลทางด้านนี้ เพื่อให้บริการแก่นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป”
โครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลโดยออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งให้เป็นหน่วยงานราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยศิลปากร มีสถานภาพเทียบเท่าคณะวิชาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕
ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๓๗ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปรับรูปแบบการดำเนินงานของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัวในการบริหารงานและความเป็นสากล จึงได้เสนอโครงการให้ศูนย์ฯ ทดลองดำเนินงานในรูปแบบใหม่ ไม่ขึ้นกับระบบราชการเป็นระยะเวลา ๕ ปี มีกำหนดตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๘ – ๒๕๔๒ โดยมีภารกิจหลักเป็นศูนย์ข้อมูลที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในการ จัดเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อเผยแพร่และให้บริการข้อมูลและข้อมูลสนเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการ นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป
พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นปีแรกที่ศูนย์ฯ สามารถดำเนินกิจกรรมทางวิชาการต่างๆ ได้อย่างเต็มรูปแบบด้วยความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย กิจกรรมที่ศูนย์ฯ ริเริ่มจัดทำ อาทิ
- การให้บริการห้องสมุดเพื่อสืบค้นข้อมูล
- การจัดแสดงนิทรรศการถาวรและหมุนเวียน
- การจัดทำฐานข้อมูล และให้บริการข้อมูลประเภทต่างๆ ผ่านสื่อผสม
- การจัดทำสื่อวิชาการและสื่อโสตทัศนวัสดุ
ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ศูนย์ฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิด "ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร" โดยได้จัดทำห้องนิทรรศการต่างๆ และสามารถเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ รวมทั้งการให้บริการทางวิชาการ อันเป็นประโยชน์แก่สังคม เช่น การประชุมสัมมนาทางวิชาการการบรรยายให้ความรู้ และดำเนินโครงการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการหลากหลายโครงการ
ในปีงบประมาณ ๒๕๔๓ ศูนย์ฯ ได้สิ้นสุดช่วงโครงการทดลอง ๕ ปี คณะกรรมการประจำศูนย์ฯ ได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ขึ้นเป็นหน่วยงานอิสระในกำกับของทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารงานได้อย่างเป็นอิสระ คล่องตัว และเอื้ออำนวยให้มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การพัฒนาข้อมูลทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้งการให้บริการข้อมูลดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณชน และในปีเดียวกันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรขึ้นเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน โดยมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และต่อมา เมื่อมีการปฏิรูประบบบริหารราชการในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ศูนย์ฯ จึงได้โอนมาอยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
บริหารจัดการ
ประเภทพิพิธภัณฑ์
แผนที่
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
โทรศัพท์ : 0-2880-9429
โทรสาร : 0-2880-9332
เว็บไซต์ : http://www.sac.or.th/
วันและเวลาทำการ
ห้องสมุด
- วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น.
- วันเสาร์ เวลา 19.00-16.00 น.
ห้องนิทรรศการ
- วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 09.00–16.00 น.
ห้องสมุดชุมชน
- วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 07.00 - 18.00 น.
- วันเสาร์ เวลา 08.00 - 17.00 น.
ค่าเข้าชม
ไม่มีค่าเข้าชม
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางสาย
รถปรับอากาศ : ปอ.28, ปอ.66, ปอ.503, ปอ.511, ปอ.512, ปอ.516 ปอ.539, ปอ.556
รถธรรมดา ; สาย 40, 123, 124, 125, 127, 149,146
เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป
เนื้อหาสำหรับเด็ก
รับบัตรเครดิต
รับจองล่วงหน้า
กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะจะต้องทำหนังสือก่อนขอเข้าเยี่ยมชม
สิ่งอำนวยความสะดวก
มีลานจอดรถ