คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

เครื่องถมเมืองนคร

ความงามผ่านลวดลายข้ามกาลเวลา

เครื่องถมนคร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่อดีตและนับเป็นหนึ่งในบรรดาศิลปาชีพชั้นสูง ผลิตภัณฑ์เครื่องถมนครได้รับความนิยมจนปัจจุบันเนื่องจากยังรักษาคุณภาพไว้ได้ ลักษณะงานถมนคร จะมีสีดำเงางาม ลวดลายเกิดจากการสลักด้วยมือล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคาะ หรือแผ่รีด ทำให้ลวดลายมีความละเอียด ถ้าสังเกตจากด้านใน จะมีรอยสลักนูนขึ้นมา แต่ถ้าเป็นเครื่องถมที่ทำด้วยการกัดกรด ไม่ใช้การสลัก ด้านในจะไม่มีรอยสลัก จะเห็นว่าการทำของนครฯ ทำด้วยมือ มีรอยสลักด้วยมือจริงๆ แต่ปัจจุบันอาจมีเครื่องจักรมาใช้บางขั้นตอน อาทิ แหวนนะโม ใช้วิธีการหล่อขึ้นรูป จุดเด่นอีกประการที่เห็นชัดของเครื่องถมนครนั้นอยู่ที่ตัวยาถมซึ่งมีสีดำ ขึ้นเงา แวววาว จนเรียกติดปากว่า "ถมนคร" ทั้งนี้การพัฒนาฝีมือของช่างในอดีตเกิดจากการแข่งขันกันของช่างฝีมือภายในนครศรีธรรมราช จนพัฒนาลักษณะของเครื่องถม ให้มีลวดลายวิจิตรสวยงาม เครื่องถมนครได้ประดิษฐ์ขึ้นเป็นของใช้รูปพรรณต่างๆ เช่น แหวน กำไล ล็อกเกต มีด เครื่องเชี่ยน ขันพานรอง หีบลงยาตลับยานัตถุ์ ซองบุหรี่ ดาบฝักทอง เป็นต้น
          โดยเครื่องถมนครมีกำเนิดตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ราว พ.ศ.2061 แต่เรื่องที่มายังเห็นขัดแย้งกันอยู่ บ้างว่าได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวโปรตุเกส เพราะชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าขายในราชอาณาจักรไทยได้ 4 เมือง คือ กรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และมะริด สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีความเห็นว่า ชาวนครศรีธรรมราชได้รับรู้เรื่องเครื่องถมจากชาวอินเดีย ศาสตราจารย์วิศาลศิลปกรรมให้ความเห็นว่า ยาถมไทยมิได้รับต้นตำรับมาจากประเทศใด เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยแท้ คือเกิดที่นครศรีธรรมราช
และบ้างว่ารับมาจากอิหร่านบ้าง จากกรีซบ้าง จึงยังหาข้อยุติไม่ได้ ผลิตภัณฑ์เครื่องถมนครนอกจากใช้ทั่วไปในหมู่ชาวเมืองแล้วยังเป็นของที่ระลึก เป็นของทูลเกล้าถวายเป็นจำนวนมาก เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยนั้น จัดหาช่างถมที่มีฝีมือเยี่ยมที่สุดของนครศรีธรรมราชส่งไปยังกรุงศรีอยุธยาทำไม้กางเขนถมส่งไปถวายพระสันตปาปา ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี และทำเครื่องถมเป็นเครื่องใช้ไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส
          ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องถมก็ยังถือเป็นของสูงศักดิ์ ที่ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชบรรณาการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เครื่องถมเมืองนคร ได้รับความนิยมอย่างสูง ในราชสำนัก และเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเอง คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ก็เป็นผู้ส่งเสริม และทำนุบำรุงช่างถมให้เจริญก้าวหน้า อีกทั้งตัวท่านเองเป็นผู้มีฝีมืออันเลิศ จนถมเมืองนคร เข้ามามีชื่อเสียงในพระนครเป็นอย่างมาก เช่น ในสมัยพระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานคร(กลาง) ได้ทำพระเก้าอี้ถมอนุโลมจากพระแท่นและพนักเรือพระที่นั่งด้วยถมอนุโลมจากพระเสลี่ยงถวายและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งเครื่องถมเมืองนครจำนวนหนึ่งร่วมไปกับเครื่องบรรณาการส่งไปถวายแด่พระนางเจ้าวิคตอเรียแหล่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังบัคกิ้งแฮม นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระเก้าอี้ถมเป็นพระที่นั่งภัทรปิฐในงานบรมราชาภิเษก ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทโปรดเกล้าฯให้พระยาสุธรรมมนตรี(หนูพร้อม) ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระยานครศรีธรรมราชเป็นนายงานให้ช่างถมที่เมืองนครศรีธรรมราชทำพระที่นั่งพุดตานถม ซึ่งตั้งไว้ในท้องพระโรงกลางทรงอ้างว่าตามเยี่ยงอย่างพระบิดาและพระอัยกา พระยานครจะขอทำให้เป็นของถวายแต่ไม่ทรงอนุญาต พระองค์จึงได้ทรงออกเงินให้เอง ในรัชกาลปัจจุบันพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำหีบบุหรี่ถมทองสำหรับพระราชทานแก่ประธานาธิบดีไอเวนเฮาว์และ ดร.ริสบอร์ผู้ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่ถวายการประสูติ และได้พระราชทานตลับแป้งถมทองแก่นางพยาบาลที่โรงพยาบาลในเมืองบอสตันด้วยทุกคน
          ปัจจุบันเนื่องจากทองและเงินมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการทำต้องอาศัยเวลาและฝีมือชั้นสูง เครื่องถมนครไม่ค่อยพัฒนารูปแบบและลวดลาย นิยมทำแบบดั้งเดิม มีตั้งแต่ ภาชนะ เครื่องประดับชิ้นเล็ก เช่น ช้อน แหวน กำไล เข็มกลัดติดเสื้อไปจนถึงชิ้นใหญ่ เช่น พานขันโตก ถาด เมื่อเทียบกับเครื่องถมที่ผลิตจากกรุงเทพฯ ทำกระเป๋าถือผู้หญิง รูปทรงต่างๆ ไปออกแบบร่วมกับวัสดุอย่างอื่นบ้าง เช่น กระเป๋าย่านลิเภาบ้าง หรือตกแต่งกับวัสดุอย่างอื่นก็ได้ หวายก็ได้ มีการพัฒนา มีการประกวดแข่งขันกันก็เป็นที่น่าภาคภูมิใจเกิดการพัฒนารูปแบบ แต่เครื่องถมนครคงเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างดีเยี่ยม

ประเภทของเครื่องถม

เครื่องถมมีอยู่ ๓ แบบ คือ ถมเงิน (หรือถมดำ) ถมทอง และถมตะทอง 
          1.ถมเงิน หรือที่นิยมเรียกกันว่า ถมดำ ลักษณะเป็นเนื้อถมที่ถมลงไปบนพื้นตามร่องลาย เป็นสีดำมันซึ่งเนื้อถมจะขับลวดลายให้เด่นงดงามอยู่บนพื้นสีเงิน เป็นถมที่เก่าแก่ที่สุดตามความนิยม ถมที่ดีต้องมีสีดำสนิทไม่มี "ตามด" (ตามดคือจุดขาวบนสีดำ) ถมเป็นกรรมวิธี ในการผสมของโลหะสามอย่างเข้าด้วยกัน คือ เงิน ตะกั่ว และทองแดง นำมาป่นจนเป็นผงละเอียดเพื่อโรยลงบนพื้นแผ่นเงินที่ขูดร่อง หรือตอกเป็น ลวดลายไว้แล้ว การที่จะให้ผงถมเกาะแน่นอยู่ที่การเหยียบพื้น (คือการแกะหรือตอกร่องลงบนเนื้อเงินที่เป็นพื้นของลายที่ตอก) ถ้าเหยียบพื้น ให้มีรอยขรุขระมากเท่าใด ผงถมก็เกาะได้มากเท่านั้น
          2.ถมทอง ก็คือถมดำนั่นเอง แต่แตกต่างที่ลวดลาย คือลายสีเงินได้เปลี่ยนเป็นสีทอง ช่างถมจะเปียกหรือละลายทองคำให้เหลวเป็นน้ำ โดย ใส่ทองแท่งลงในปรอท ปรอทจะละลายทองแท่งให้เป็นน้ำ ช่างถมจะชุบน้ำทองผสมปรอทด้วยพู่กันเขียนทับลงบนลวดลายสีเงิน การเขียนน้ำทองละลายปรอทนี้ จะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ต้องเขียนทับลงบนเส้นเงินเท่านั้น เมื่อเขียนเสร็จแล้วจะใช้ความร้อนไล่ปรอทออกจากทอง ทองก็จะติดแน่นอยู่บนพื้นที่เขียนน้ำทองนั้น ถมทองมีความงามตรงที่เป็นสีทอง ลวดลายกระจ่างเด่นชัด ทองที่ทาทับก็จะมีความคงทนนับร้อยปี
           3.ถมตะทอง เป็นศัพท์ของช่างถม หมายถึง วิธีการระบายทองคำละลายปรอทหรือแต้มทองเป็นแห่งๆ เฉพาะที่ มิใช่ระบายจนเต็มเนื้อที่อย่าง เดียวกับการทำถมทอง โดยเอาทองคำแท้ๆ ใส่ลงในปรอท ทองละลายอยู่ในน้ำปรอท เมื่อเอาน้ำปรอทที่มีทองคำละลายปนอยู่ไปแต้มตามแห่งที่ต้องการให้ เป็นสีทองนั้น ในขั้นแรกปรอทจะยังคงอยู่ เมื่อไล่ด้วยความร้อนปรอทจะหนีทองก็จะติดแน่นอยู่บนตำแหน่งหรือลายที่แต้มทองนั้น การแต้มทองหรือ ระบายทองในที่บางแห่งของถมดำ เป็นการเน้นจุดเด่น หรือต้องการแสดงอวดภาพหรือลายเด่นๆ ฉะนั้นเครื่องถมตะทองจึงเป็นของที่หายากกว่าถมเงินหรือ ถมทอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความนิยมในถมตะทองมากกว่าถมทอง

ลายของเครื่องถม
 
ลายเครื่องถมเป็นรูปแบบทางทัศนศิลป์ประเภทหนึ่ง ประกอบด้วยเส้นเป็นสำคัญต่อเนื่องกันไป มีทั้งลายแบบธรรมชาติ และลายแบบประดิษฐ์ โดยลายเครื่องถมมี 9 แบบ คือ
          1.ลายกนกเปลว มีลักษณะลวดลาย เลียนแบบธรรมชาติจากเปลวไฟ
          2.ลายใบเทศ มีลักษณะเป็นช่อ มีก้าน กาบ ดอก ใบ สามารถนำมาต่อลายอื่นได้
          3.ลายประจำยาม มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า ภายในแบ่งเป็นดอกสี่กลีบ มีเกสรอยู่ตรงกลาง
          4.ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ มีลักษณะเป็นทรงพุ่มคล้ายหยดน้ำ
          5.ลายกระจังมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ใช้ตามขอบริมฐานของชิ้นงาน
          6.ลายก้านขด เป็นการนำลายต่างๆ มาเขียนลายต่อเนื่องกันเป็นเถา
          7.ลายบัวคว่ำบัวหงาย มีลักษณะเป็นรูปกลีบบัว นิยมใช้ประกอบฐานของรูปพรรณ
          8.ลายเม็ดบัว มีลักษณะหลายแบบ ได้แก่ กลม รี มักใช้ต่อเนื่องเป็นเส้น
          9.ภาพประกอบลาย มีลักษณะเป็นภาพแบบต่างๆ นำมาใช้ประกอบลาย
           โดยการวางลาย รูปแบบของลาย การนำลายมาประกอบขนาดและจำนวนลายให้ได้รูปแบบสวยงามเหมาะกับรูปทรงภาชนะ ซึ่งลายมีความเกี่ยวข้องกับ ประเภทของภาชนะ เช่น ลายใบเทศ ลายกระจังตาอ้อย และลายบัวคว่ำ ปรากฏในของใช้ในครัวเรือนมากกว่าภาชนะประเภทอื่น ลายกนกเปลวพบมากในเครื่องประดับ และลายเครือเถาพบมากในของใช้ทั่วไป ลายกับรูปแบบของเครื่องถมเป็นศิลปะประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกันมาแต่อดีตเครื่องถมทุกชิ้นจะมีลายเป็นสิ่งตกแต่ง อาทิ ลายกนกเปลว ตกแต่งบนขัน เชี่ยนหมาก ถาดผลไม้ ชุดชา กาแฟ ลายใบเทศ ตกแต่งบนขัน ซองบุหรี่ กล่องเครื่องประดับ ลายประจำยาม ตกแต่งบน พานรอง ถาด กระเป๋า ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ตกแต่งบนตลับแป้ง กระเป๋า ลายกระจัง ตกแต่งบนพานรอง ขันน้ำ ฝาครอบแก้ว ลายก้านขด ตกแต่งบนกำไล กิ๊ฟ กระเป๋า เข็มหนีบเนคไท ลายบัวคว่ำบัวหงายตกแต่งบน พานรอง โถกรวดน้ำ ถาด ขันน้ำ ลายเม็ดบัวตกแต่งบนตลับแป้ง ขันน้ำ ฝาครอบแก้ว เข็มกลัด และภาพประกอบลาย ตกแต่งบนขัน ถาด กระเป๋า เข็มกลัด ที่เขี่ยบุหรี่

45,428 views

5

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดนครศรีธรรมราช