กำลังโหลดข้อมูล

คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

มิวเซียมไทยแลนด์

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์

เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์

02 กรกฎาคม 2562

ชื่นชอบ 958

16,826 ผู้เข้าชม

แกลเลอรี

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์

 

 

 

       เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี

 

BENJAMARACHUTIT MUSEUM

 

BENJAMARACHUTIT RATCHABURI SCHOOL 

        โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เดิมคือ โรงเรียนตัวอย่างวัดสัตตนารถปริวัตร  ในสมัยรัชกาล    ที่ 5 ต่อมาในพ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนเพื่อมาทำพิธีเปิดอาคารเรียนหลังแรก และพระราชทานนามว่าเบญจมราชูทิศจึงมีหลักฐานแสดงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก เพื่ออนุรักษ์ให้หลักฐานเหล่านั้นยังคงสภาพและทรงคุณค่า ทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของโรงเรียน อาจารย์ธำรงค์ เตียงทอง จึงเกิดแรงบันดาลใจเพื่อดำเนินการเก็บรวบรวมทั้งวัตถุและข้อมูลของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ตลอดจนถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผลงานทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อจัดทำโครงการการจัดทำ เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์

        เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ จัดเป็นประเภทพิพิธภัณฑ์ภายในสถานศึกษา (School Museum) พัฒนามาจากมุมสื่อการเรียนการสอนในวิชาสังคมศึกษา เป็นห้องพิพิธภัณฑ์เมื่อปลายปี พ.ศ.2522 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกขึ้นภายในโรงเรียน การดำเนินการจัดการพิพิธภัณฑ์ อ้างอิงข้อมูล แนวคิด วิธีการ จากตำรา บุคคล และพิพิธภัณฑสถานหลายแห่ง สรุปเป็นรูปแบบของเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ มีเป้าหมายเพื่อเป็นสื่อการเรียนรู้ภายในโรงเรียนและเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งความภาคภูมิใจของคณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

         เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ มีการดำเนินการตามหลักของพิพิธภัณฑ์สากล ทั้งด้านการจัดแสดง  ด้านการบริการ และด้านอาคารสถานที่  เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ แบ่งการจัดแสดงนิทรรศการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ นิทรรศการถาวรและนิทรรศการชั่วคราว นิทรรศการถาวรจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียน การดำรงวิถีชีวิตของชาวราชบุรี วัฒนธรรมบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ภูมิปัญญา ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา และมนุษย์  ส่วนนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงเรื่องราวที่น่าสนใจ และสอดคล้องตามยุคสมัย หรือเนื้อหาในรายวิชาความรู้ต่างๆ อาจมีการยืมวัตถุจากสถานที่อื่น หรือจากนิทรรศการถาวร มาจัดแสดง และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการจัดแสดงตามความเหมาะสม  โดยทั้งสองนิทรรศการ มีภัณฑารักษ์เป็นผู้ให้บริการในการนำชมและให้ความรู้ตลอดการนำชม

 

แผนผังเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์    

1. นิทรรศการฉลองครบรอบ 100 ปีพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเปิดอาคารเรียนหลังแรกพร้อมพระราชทานนาม “เบญจมราชูทิศ” หรือ คนเบญจมฯ เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงเกี่ยวกับภาพประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ทั้งรูปภาพของอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาและนักการ ภารโรง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมทั้งจัดแสดงภาพและประวัติของนักเรียนโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรีที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ทั้งทางด้านวิชาการและ กิจกรรม นิทรรศการนี้มีการจัดแสดงภาพ ทำเนียบครูทำเนียบ ผู้อำนวยการและทำเนียบคณะผู้บริหาร รวมทั้งภาพอริยาบทต่างๆของคณาจารย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดแสดงภาพประวัติศาสตร์นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เป็นอย่างสูง คือ ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 นอกจากนี้มีการจัดแสดงภาพเรือนแก้วสุวรรณดิษ ที่ได้รับบริจาคจากนายแก้ว สุวรรณดิษ เรือนแก้วสุวรรณดิษ เป็นอาคารไม้ยกพื้นสูงทรงปั้นหยามีมุขทั้ง 4 ด้าน นอกจากนี้ยังจัดแสดงภาพของผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี คือนายทองสุข รัตนครีพ และจัดแสดงภาพอาจารย์จำนงค์  ฤทธิ์นุ่ม อาจารย์ผู้ที่ปั้นรูปเหมือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ด้วยปูนซึ่งประดิษฐาน ณ เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งจัดแสดงภาพอาจารย์ธำรงค์  เตียงทอง เป็นอาจารย์ผู้ก่อตั้ง เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ (ปีพุทธศักราช 2522 ) ในสมัยผู้อำนวยการเสรี  ราชโรจน์ และชมรมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม

2. นิทรรศการประวัติโรงเรียนจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวัตถุที่สำคัญหลายชิ้นเป็นวัตถุที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) องค์เดิมซึ่งปั้นด้วยปูนปั้น ปั้นโดยท่านอาจารย์จำนงค์ ฤทธิ์นุ่ม อีกทั้งจัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดกองกำลังเสือป่าเต็มยศ และจัดแสดงนาฬิกาลูกตุ้มพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 เป็นนาฬิกาที่มีสัญลักษณ์ จ.ป.ร. และ พระเกี้ยว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 5 มีภาพขบวนเตรียมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารเรียนหลังแรกพร้อมพระราชทานนาม "เบญจมราชูทิศ" เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2456 จัดแสดงสมุดเซ็นเยี่ยมโรงเรียนเบ็ญจมราชูทิศ ที่มีลายพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 6 นามว่า "วชิราวุธ" รวมทั้งคณะเหล่าเสนาบดี ที่เสด็จติดตามพระองค์ในสมัยนั้น ลงในสมุดเซ็นเยี่ยมด้วย จะแสดงถึงมหาสารทูลธวัช หรือธงกองกำลังเสื่อป่าที่ได้รับพระราชทานจาก รัชกาลที่ 6 ตอนครั้งเสด็จฯเปิดอาคารเรียนหลังแรก ณ เบญจมราชูทิศ จัดแสดงตู้สังเค็ตหรือตู้ใส่หนังสือกองกำลังเสือป่า เป็นตู้ที่สำคัญ และมีลักษณะพิเศษคือสามารถแสดงได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการจัดบรรยากาศภายในห้องประวัติโรงเรียนให้คล้ายกับห้องทำงานของอาจารย์ใหญ่การมีทั้งชุดรับแขกและโต๊ะทำงานของอาจารย์ใหญ่ รวมทั้งสมุดแบบเรียน หนังสือของโรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรีตั้งแต่ใช้อักษรย่อ ร.บ.๑ และมีหีบเหล็กใส่เอกสารของท่านอาจารย์สุดจิต  ชำนาญกูล ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ในสมัยนั้น และสอนวิชาคณิตศาสตร์ เอกสารข้างในหีบเกี่ยวกับเอกสารทางด้านการเงินและเอกสารส่วนตัวของท่านอาจารย์รวมทั้งผลงานของนักเรียนที่ท่านอาจารย์สอน ภายในห้องประวัติโรงเรียนมีรูปหล่อเหมือน พระพุทธวิริยากร เจ้าอาวาสวัดสัตนาตรปริวัตร ผู้บริจาคที่ดินบริเวณสนามฟุตบอลให้กับโรงเรียน และจัดแสดงธงพานทองฉลองพระบาท เป็นธงสัญลักษณ์ของลูกเสือประจำมณฑลราชบุรี มีป้ายนิเทศประวัติโรงเรียนจัดลงตัวเหมาะสมกับห้องเพื่อเพิ่มเติมความรู้และข้อมูลให้กับผู้สนใจ 

3. วัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จัดแสดงวัตถุที่ถูกค้นพบบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลองของจังหวัดราชบุรี   มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่คือ เครื่องไม้ เครื่องผ้า เครื่องจักสาน เครื่องถ้วย เครื่องยา ตำรา และเงินตรา มุมทวารวดี และมุมสุโขทัย แต่ละมุมในวัฒนธรรม ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีการจัดแสดงที่ชัดเจน

มุมเครื่องไม้ จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากไม้ อาทิเช่น กระบวย กระจ่า ไม้เท้า กระต่ายขูดมะพร้าว หีบ กระชอน เครื่องมือทำขนม ที่ประทับตาน้ำตาลปีบ บ้องกัญชา เครื่องดนตรี เป็นต้น

มุมเครื่องผ้า จัดแสดงเครื่องมือทอผ้า อาทิเช่น ฟืม ไน กง กระสวย อิ๊ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงผ้าทอ พื้นเมืองของจังหวัดราชบุรี ที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละชนเผ่าในราชบุรี  อาทิเช่น ผ้าซิ่นตีนจกของชาวไทยวน ผ้าทอของชาวกะเหรี่ยง ผ้าทอของชาวไทยทรงดำ ผ้าทอของลาวตี้ ผ้าทอของเราโซ่ง  ผ้าทอของชาวไทยมอญ เป็นต้น

มุมเครื่องจักสาน จัดแสดงเครื่องจักสานที่ทำมาจากไม้ไผ่หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดราชบุรี มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานต่างๆ อาทิเช่น กระบุง กระจาด ตะกร้า กระด้ง เป็นต้น 

มุมเครื่องปั้นดินเผา จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาลักษณะต่างๆที่ถูกค้นพบภายในจังหวัดราชบุรีบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และงมได้จากแม่น้ำแม่กลอง มีเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายยุคสมัย เช่น สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ เครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงมีลักษณะอยู่ด้วยกัน 3 แบบคือ  เครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายขูดขีด  เครื่องปั้นดินเผาที่มีลายเชือกทาบ   เครื่องปั้นดินเผาที่มีลายประทับ และมีเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นวัตถุชิ้นสำคัญบริเวณมุมนี้คือเตาเชิงกราน เป็นเตาที่ใช้ประกอบอาหารบนเรือ อีกทั้งจัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาที่ได้มาจากโรงโอ่งรัตนโกสินทร์ 1 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่โด่งดังของจังหวัดราชบุรี

มุมเครื่องถ้วย จัดแสดงเครื่องเคลือบลายครามที่ได้มาจากชาวจีนเพราะในสมัยก่อนมีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนและมีชาวจีนอาศัยอยู่ในจังหวัดราชบุรี เป็นจำนวนมาก มีหลากหลายรูปแบบและหลากหลายยุคสมัย

มุมเครื่องยา จัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ในสมัยก่อน และสมัยปัจจุบัน รวมทั้งตำรายาต่างๆทางแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน

มุมตำรา จัดแสดงสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน ส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับเรื่องทางพระพุทธศาสนา กฎหมาย ตำรายา  มีทั้งภาษาไทย ภาษามอญ ภาษาขอม ภาษาของชาวไทยวน ที่ถูกจารหรือเขียนอยู่บนสมุดไทยและคัมภีร์  

มุมเงินตรา จัดแสดงเหรียญกษาปณ์และธนบัตรของประเทศไทยและประเทศต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนใหญ่จัดแสดงเงินตราของประเทศไทย อาทิเช่น หอยเบี้ย เงินพดด้วง เหรียญกษาปณ์สมัยรัชกาลที่ 5 เหรียญกษาปณ์รูปช้างสามเศียร เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดแสดงเงินตราที่พบจากประเทศจีน ที่เข้ามาทำการค้าขายกับไทยบริเวณจังหวัดราชบุรีอีกด้วย

มุมทวารวดี จัดแสดงวัตถุสมัยทวารวดี วัตถุส่วนใหญ่เป็นเศษปูนปั้น จากมณฑป สถูป และเทวสถานต่างๆในสมัยทวารวดี  ถูกขุดค้นพบที่เมืองโบราณคูบัว  ตำบลคูบัว  อำเภอเมือง  จังหวัดราชบุรี  และยังพบลูกปัดในสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมาก มีลูกปัดที่ทำมาจากดินเผา หินสี หยก และทองคำ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์จัดแสดงลูกปัดทุกรูปแบบ แต่มีวัตถุชิ้นสำคัญคือ ลูกปัดทองคำที่ถูกค้นพบภายในจังหวัดราชบุรีมีลักษณะเป็นทรงกลม ซึ่งแตกต่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ที่จัดแสดงลูกปัดทองคำในสมัยทวารวดีเป็นลูกปัดทองคำทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน นอกจากนี้ยังจัดแสดงเหรียญเงินที่ถูกค้นพบจากเมืองโบราณคูบัวบนเหรียญจารึกไว้ว่า “ ทวารวดีศวรปุณยะ ” แปลว่า    บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี และจัดแสดงโกร่งบดยา ที่ใช้สำหรับบดยาในสมัยทวารวดี    อีกด้วย  


 

4. นิทรรศการจิปาถะวัตถุ จัดแสดงวัตถุร่วมสมัย จำพวกข้าวของเครื่องใช้ นาฬิกา แม่กุญแจ เครื่องแก้ว กรรไกรตัดผม เครื่องทองเหลือง เครื่องมือทำขนม แผ่นเสียง มีด พร้า ดาบ กระต่ายขูดมะพร้าว และวัตถุที่ได้รับบริจาคจากผู้ที่สนใจ ศิษย์เก่า นักเรียน ผู้ปกครอง และคณาจารย์  มีการจัดวางวัตถุและจัดแสงไฟให้วัตถุต่างๆมีความโดดเด่นเพื่อดึงดูดความสนใจต่อผู้เข้าชม

 

5. นิทรรศการประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และ มนุษย์ จัดแสดงเรื่องดิน หิน แร่ ฟอสซิล หินที่จัดแสดงส่วนใหญ่เป็นหินที่มีส่วนผสมของแร่ควอท  และแร่แคลไซต์ ซึ่งพบมากภายในจังหวัดราชบุรี และแร่ควอทเมื่อมีการผสมระหว่างธาตุต่างๆก็จะเกิดสีที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น สีชมพู สีเขียว และสีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้มีการจัดแสดงเปลือกหอยชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเปลือกหอยที่ได้มาจากทะเล จัดแสดงฟอสซิลของซากพืชและซากสัตว์มีทั้งของจริงและของจำลอง จัดแสดงเรื่องราวการวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยการจำลองรูปปั้นการวิวัฒนาการของมนุษย์ (ออสตราโลพิเธคัส :  Australopithecus ,โฮโม อีเร็กตัส : Homo erectus , โฮโม เซเปียนส์ : Homo Sapiens) และมีรูปปั้นของชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เสนอทฤษฎีอันเป็นรากฐานของการวิวัฒนาการ จัดแสดงการแผนที่การอพยพย้ายถิ่นฐานของมนุษย์  รวมทั้งจัดแสดงโครงกระดูกของลิงแสม ว่ามีลักษณะคล้ายโครงกระดูกของมนุษย์ จัดแสดงกะโหลกสัตว์ เขาสัตว์ สัตว์ดอง เพื่อเป็นการศึกษาทางธรรมชาติวิทยา มีการจัดแสดงภาพประกอบเรื่องราว เพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและเพิ่มความน่าสนใจสำหรับผู้เข้าชมนิทรรศการ

 

6. นิทรรศการยุคก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงวัตถุที่ค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง  อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี อายุประมาณ 5,600 ปี ล่วงมาแล้ว คือเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีบ้านเชียง (หม้อบ้านเชียง) จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาลักษณะต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อาทิเช่น ชิ้นส่วนของหม้อสามขา เครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายขูดขีด  เครื่องปั้นดินเผาที่มีลายเชือกทาบ   เครื่องปั้นดินเผาที่มีลายประทับ  และรูปแบบของเครื่องปั้นดินเผารูปทรง และรูปร่างต่างๆ จัดแสดงการแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ มีการจัดแสดงเครื่องมือหินกะเทาะ  เครื่องมือหินขัดมัน สำริด เหล็ก ที่พบในจังหวัดราชบุรี บริเวณบ้านน้ำพุ วัตถุที่พบเป็นเครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัดมัน เป็นส่วนใหญ่ และพบขวานหินขัดทั้งชนิดธรรมดา และชนิดมีบ่า หินกลมเจาะรูขนาดต่างๆ บางอันยังเจาะรูไม่สำเร็จแสดงให้เห็นร่องรอยการเจาะเด่นชัด  นอกจากนั้นยังมีหินสำหรับลับขวานหินขัด พบหลายอัน อันหนึ่งมีลักษณะพิเศษ ลักษณะคล้ายหินอ่อน มีรอยสึกจากการลับเด่นชัดมาก นอกจากเครื่องมือหินแล้ว  ยังได้พบเศษภาชนะดินเผาแตกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  พบลูกแวดินเผาหนึ่งอัน ซึ่งการขุดค้นในครั้งนั้นทำโดยนักเรียนชมรมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม  นอกจากนี้จัดแสดงเครื่องมือหินกะเทาะ เครื่องมือหินขัดมัน ที่ทำการขุดค้นโดยชมรมอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม  ที่บ้านตะโกปิดทอง  และบ้านบ่อคลึงห้วยน้ำขาว  อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จัดแสดงเครื่องประดับที่ถูกค้นพบบริเวณบ้านหนองกวาง  อำเภอจอมบึง  จังหวัดราชบุรี   วัตถุที่ถูกค้นพบส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับ ที่ทำมาจาก เปลือกหอย  กระดูกสัตว์  หินสี  ดินเผา  สำริด  และเหล็ก  เครื่องประดับที่พบมีทั้ง สร้อยคอ กำไล  ต่างหู  และแหวน  นอกจากนี้พบลูกกระพรวนสำริด  และอาวุธที่ทำมาจากสำริด และเหล็กอีกด้วย  จัดแสดงโลงศพไม้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (โลงผีแมน) ที่ถูกค้นพบที่จังหวัดกาญจนบุรี  อำเภอทองผาภูมิ  นอกจากนี้ยังมีป้ายนิเทศที่บรรยายวิถีชีวิตการเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ การใช้เครื่องมือเครื่องใช้  เครื่องดนตรี  การหาอาหาร  และมีการจัดแสดงรูปปั้น แสงไฟ อย่างเหมาะสมลงตัวเพื่อเพิ่มความโดเด่นของวัตถุแต่ละชิ้น เพื่อให้นักเรียน และผู้เข้าชมเกิดความสนใจมากยิ่งขึ้น

7. นิทรรศการภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาเทศ หรือ บ้านนิทรรศการ จัดแสดงวัตถุร่วมสมัยจำพวก กล้องถ่ายรูป ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงโป๊ะ  นาฬิกา ของเล่น โทรศัพท์ เครื่องดนตรี จักรยาน ขวดสุราและของใช้ที่ทำจากโลหะ รวมทั้งอาวุธต่างๆ มีการจัดบรรยากาศให้คล้ายกับร้านขายของแนวย้อนยุค และมีการจัดแสงไฟได้อย่างเหมาะสมลงตัวเพื่อเพิ่มความดึงดูดความสนใจต่อนักเรียนและผู้เข้าชม

8. คลังวัตถุ (STORAGEจัดเก็บอุปกรณ์และวัตถุที่ไม่ได้นำมาจัดแสดงบริเวณนิทรรศการถาวร  นิทรรศการชั่วคราว  และนิทรรศการพิเศษ จะนำวัตถุเหล่านี้มาจัดแสดงตามโอกาสที่เหมาะสม รวมทั้ง จัดเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการจัดแสดง ในงานนิทรรศการต่างๆของเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์

  

 

บริหารจัดการ

สถานศึกษา

ประเภทพิพิธภัณฑ์

วิถีชิวิต, วัฒนธรรม, ประเพณี, ภูมิปัญญา และ ศาสนา

แผนที่

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี 96 ถ.มนตรีสุริยวงศ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000
โทรศัพท์ : 032-337302
โทรสาร : 032-318476
เว็บไซต์ : http://www.ben.ac.th/obeclms/

วันและเวลาทำการ

วันและเวลาราชการ

ค่าเข้าชม

ไม่มีค่าเข้าชม

เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

เนื้อหาสำหรับเด็ก

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

รับบัตรเครดิต

รับ
ไม่รับ

รับจองล่วงหน้า

โปรดแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน

สิ่งอำนวยความสะดวก

ลานจอดรถบริเวณรอบโรงเรียน

15

แบ่งปัน

พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง