คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

บ้านคูเมือง

แหล่งเรียนรู้เมืองโบราณบ้านคูเมือง

          เมืองโบราณบ้านคูเมือง ตั้งอยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อยู่ห่างจากอำเภออินทร์บุรีไปทางทิศตะวันตกประมาณ 8 กม และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร ลักษณะคือ มีพรรณไม้ขึ้นเป็นสภาพป่าธรรมชาติดั้งเดิม ได้แก่ ยางนา มะขาม มะกอกประคำ ไก่ หว้า ไทร เป็นต้น พื้นที่ป่าอาจถือได้ว่าเป็นแหล่งสุดท้ายของจังหวัดสิงห์บุรีมีพื้นที่รวม 335 ไร สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณของเมืองโบราณนั้น เป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น ชาวบ้านเรียกว่าคูเมือง ตามลักษณะการสร้างเมืองแบบโบราณ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองเก่าสมัยทวาราวดีอายุประมาณ 1, 200 ปี กรมศิลปากรจึงจดทะเบียนให้เมืองโบราณบ้านคูเมืองเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งของชาติ

          ภายในบริเวณบ้านคูเมืองนั้น มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผาเก่าแก่มากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และที่สำคัญคือ เหรียญเงินมีคำจารึกว่า ศรีทวารวดีศวรปุญยะ ซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาก เพราะช่วยบ่งชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ติดต่อกันมานานมากแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดีจนถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรี

          เมืองโบราณบ้านคูเมืองเปิดให้นักท่องเที่ยวมาแวะพักผ่อน ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ เดินป่าชมพืชสมุนไพรและพันธุ์ไม้หายาก เช่น ต้นแจงสูงที่สุดในประเทศไทย และศึกษาแหล่งโบราณคดี โบราณสถานและโบราณวัตถุ ได้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านคูเมือง ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          ภายในตัวพิพิธภัณฑ์ ได้แบ่งโซนจัดแสดงนิทรรศการออกเป็น 6 โซน ดังนี้

โซนที่ 1 เกริ่นนำ

          โซนเกริ่นนำเป็นส่วนที่พูดถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดีย เส้นทางการเดินเรือต่างๆ รวมถึงการค้นพบเหรียญ และบันทึกต่างที่มีการพูดถึงอาณาจักรทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

          “วัฒนธรรม" สินค้าจากอินเดียที่ส่งอิทธิพล ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

          นับตั้งแต่ราว พ.ศ. 400-800 พ่อค้าและนักเดินเรือ โดยเฉพาะชาวอินเดีย ได้ใช้เส้นทางการค้าสายแพรไหมทางทะเลในการเดินเรือล่องมายังภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน เพื่อติดต่อแลกเปลี่ยนและแสวงหาสินค้า มีค่าต่างๆ เช่น เครื่องเทศ ไม้หอม และทองคำ  เมื่อเข้ามาค้าขายตามชายฝั่งทะเลในพื้นที่แถบนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องอยู่รอคอยลมมรสุมที่จะช่วยในการเดินเรือกลับสู่ดินแดนของตนได้  อันก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐาน และมีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชนพื้นเมือง “วัฒนธรรม” จากอินเดีย นับเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่งที่ถูกนำเข้า มาแลกเปลี่ยนหรือเผยแพร่ให้กับชนพื้นเมือง โดยวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดีย ซึ่งมากับเหล่านักบวชที่เดินทางมาพร้อมกับพ่อค้าและนักเดินเรือได้เข้ามา มีบทบาทอย่างมากต่อผู้คนแถบนี้ จนเกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาสิ่งปลูกสร้างทางศาสนา การใช้ตัวอักษรและภาษาในการสื่อสาร ไปจนถึงการมีกษัตริย์ปกครอง ทำให้ชุมชนดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคสมัยนั้นพัฒนาหรือเติบโตขึ้นจนกลายเป็นรัฐหรืออาณาจักรโบราณ หลายต่อหลายแห่ง

          ทวารวดีคืออะไร?

          คำว่า “สมัยทวารวดี” หมายถึงยุคสมัยแรกเริ่มทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และศิลปะของประเทศไทย มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1100 - 1600หรือประมาณ 1450 - 950 ปีมาแล้ว โดยการศึกษาเรื่องทวารวดีเริ่มต้นขึ้นเมื่อนาย แซมมวล บีล (Samuel Beal) ได้แปลบันทึกการเดินทางไปชมพูทวีปของพระเสวียนรั้ง หรือ “พระถังซัมจั๋ง" ที่ได้กล่าวถึงบ้านเมืองแห่งหนึ่ง ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ชื่อ “โตโลโปต์” ซึ่งแซมมวล บีล เสนอว่า คงจะตรงกับคำว่า ทวารวดี ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า “ซึ่งมีประตู” หรือ “เมืองที่มีประตูเป็นกำแพง” แต่เดิมยังไม่มีหลักฐาน ที่สนับสนุนว่าเคยมีบ้านเมืองชื่อ “ทวารวดี” ตั้งอยู่ในประเทศไทย จนกระทั่ง มีการค้นพบเหรียญเงินที่เมืองนครปฐม เป็นรูปหม้อน้ำ และรูปแม่วัวมีโหนก และลูกวัว อีกด้านหนึ่งมีจารึกเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดีศวรปุญยะ” แปลว่า “บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี” หรือ “การบุญของเจ้าแห่ง ทวารวดีผู้รุ่งเรือง” โดยจารึกนี้มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1100 จึงยืนยัน ถึงการมีอยู่ของเมืองทวารวดีในประเทศไทยและต่อมาก็ได้พบเหรียญเงินมีจารึกนั้น ตามเมืองโบราณหลายแห่งในเขตภาคกลางรวมทั้งเมืองอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อันแสดงให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการเมืองและการปกครอง ของเมืองโบราณเหล่านี้

โซนที่ 2 อาณาอุดมสมบูรณ์

          อาณาอุดมสมบูรณ์เป็นการนำเสนอการก่อตั้งอาณาจักรบริเวณอินทร์บุรี รวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ในสมัยก่อน และการพัฒนาเศรษฐกิจ และการปกครองที่ทำให้อาณาจักรมีความรุ่งเรือง จนกระทั่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เป็นเหตุให้แม่น้ำเปลี่ยนเส้นทาง เมืองอินทร์บุรีจึงถูกทิ้งให้ร้างในที่สุด

          "อินทร์บุรี" ต้นแบบระบบการจัดการน้ำ ของเกาะเมือง พระนครศรีอยุธยา

          จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ชุมชนโบราณบ้านคู่เมืองอินทร์บุรี ตั้งอยู่กึ่งกลางของแม่น้ำสำคัญ 2 สาย คือแม่น้ำน้อย และแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มีคูคลองจำนวนมากเชื่อมโยงกับ คูเมืองและลำน้ำธรรมชาติ เป็นลักษณะโครงข่ายทางน้ำ มีรูปร่างคล้ายใยแมงมุม หรือร่างแหครอบคลุมพื้นที่ทุกส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและคมนาคม จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะของ “เมืองคูคลอง" ในสมัยทวารวดี ซึ่งได้พบลักษณะเช่นนี้ที่เมืองนครปฐมด้วย น่าสังเกตว่า เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วง พ.ศ. 1893 - 2310 ก็ตั้งอยู่บนแม่น้ำใหญ่ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ซึ่งถูกใช้เป็นปราการหรือคูน้ำด้านเหนือของเมืองด้วย  โดยมีการดัดแปลงสภาพของเมืองหลายระยะให้มีคูคลองเชื่อม จากแม่น้ำลพบุรีทางเหนือไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้ ซึ่งเป็นระบบการจัดการน้ำหรือการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยพบวิธีการคล้ายกันนี้มาก่อนแล้วที่เมืองนครปฐมและบ้านคูเมืองอินทร์บุรีนั่นเอง

โซนที่ 3 งดงามประดับประดา

          งดงามประดับประดาเป็นการพูดถึงเรื่องเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายที่มีการขุดพบในบริเวณ เมืองโบราณบ้านคู่เมือง ซึ่งอาณาจักรทวารวดีได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย โดยนำเข้ามาปรับผสมผสานกับอารยะธรรมพื้นบ้าน ทำให้ลักษณะการแต่งกายมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงฐานะของบุคคลนั้นได้อีกด้วย

          งดงาม ประดับประดา

          จากการขุดค้นที่บ้านคูเมืองอินทร์บุรีได้พบแวดินเผา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการปั่นด้าย จึงคาดว่าน่าจะมีการทอผ้าไว้ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มแล้ว ส่วนลักษณะการแต่งกายของผู้คนสมัยทวารวดีสามารถศึกษาได้จากภาพประติมากรรมดินเผา และปูนปั้นประดับศาสนสถาน ซึ่งพบว่าท่อนบนของบุรุษไม่สวมเสื้อ ท่อนล่าง สวมใส่ผ้านุ่ง เช่นนุ่งผ้ายาวเหมือนโรตีของอินเดีย โดยประติมากรรมรูปบุรุษทั่วๆ ไปมักเกล้าผมเป็นมวยสูง รัดด้วยเครื่องประดับ หรือถักเปียแล้วเกล้าสูง ปล่อยให้ชายผมตกลงมาระดับศีรษะ หรือระดับบ่า บ้างก็เกล้าเป็นผมจุก ส่วนการแต่งกายของสตรี ท่อนบนจะใช้ผ้าผืนเล็กๆ คาดคล้ายกับสไบ ท่อนล่าง นุ่งผ้าตั้งแต่ใต้สะดือยาวลงมาจนถึงระดับข้อเท้า มีเข็มขัดหรือผ้าคาดทับ ลักษณะทรงผมเกล้าเป็นมวยชั้นเดียวขึ้นไปอยู่กลางศีรษะ อาจมีเครื่องประดับศีรษะที่ทำจากลูกปัดหรือพวงมาลัยดอกไม้ สวมใส่เครื่องประดับคล้ายกับบุรุษ โดยเฉพาะต่างหู โดยต่างหูนั้นคงทำจากดีบุกหรือตะกั่วที่มีน้ำหนักมาก จนทำให้ติ่งหูยาวมาจนถึงไหปลาร้า ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับรสนิยมหรือความเชื่อบางประการ

โซนที่ 4 แลกเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่คู่ธรรมชาติ

          แลกเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่คู่ธรรมชาติ เป็นการนำเสนอถึงการใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวทวารวดี รวมถึงความชาญฉลาดในการพัฒนาระบบชลประทานในอาณาจักร โดยการขุดคูน้ำล้อมรอบเมืองเพื่อใช้ประกอบอาชีพทางด้าน เกษตรกรรม ค้าขายและการประมง

          แลกเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่คู่ธรรมชาติ

          วิถีชีวิตของผู้คนชาวทวารวดีนั้นยังไม่มีหลักฐานให้ศึกษาได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากจารึกเกือบทั้งหมดเป็นคาถาทางพุทธศาสนา ประติมากรรมต่างๆ ก็มักเล่าเรื่องทางศาสนามากกว่าถ่ายทอดภาพของคนทั่วๆ ไป โดยคาดว่าคนโบราณที่อยู่อาศัยบริเวณบ้านคู่เมืองอินทร์บุรีมีการปลูกสร้างบ้านเรือน ซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายไปหมดแล้ว รู้จักการใช้เครื่องมือโลหะ ซึ่งสันนิษฐานว่าจะได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ เพราะพบเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากเหล็ก ตะกั่ว ดีบุก และพบเครื่องประดับที่ทำมาจากโลหะ เช่น ตุ้มหู หรือแหวน ส่วนอาชีพหลักของประชาชนในบ้านคู่เมืองนั้น คงเป็นการเกษตรกรรม โดยใช้ที่ราบรอบ ๆ เมือง ซึ่งอยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยในการปลูกพืชต่างๆ โดยเฉพาะข้าวเพราะพบแกลบข้าวจำนวนมากในก้อนอิฐ สมัยทวารวดีและคงมีการเลี้ยงสัตว์ประเภทใช้แรงงานและใช้เนื้อเป็นอาหาร เช่น วัว กระบือ อีกทั้งยังอาศัยจับสัตว์น้ำที่มีอยู่ตามลำคลองที่เชื่อมโยงกับคูเมืองและมีการล่าสัตว์ป่าที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น เก้ง กวาง เป็นอาหารอีกด้วย

          ภาชนะและ อุปกรณ์ในครัวเรือน

          บริเวณที่อยู่อาศัยในชุมชนโบราณบ้านคูเมืองได้พบเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมาก  โดยภาชนะดินเผาสมัยทวารวดีเป็นภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา ไม่มีการเคลือบผิวภาชนะด้วยน้ำยาเคลือบใด ๆ ใช้เชือกทาบเป็นลายเพื่อให้หยิบจับได้ง่าย ซึ่งเป็นเทคนิคการทำภาชนะดินเผาแบบโบราณที่สามารถ ผลิตขึ้นเองในชุมชนเพื่อใช้ในการหุงต้มอาหารโดยทั่วไป

          จารึกและ วิวัฒนาการทางอักษร

          จารึกสมัยทวารวดีส่วนใหญ่เป็นจารึกอักษรปัลลวะ ซึ่งเป็นอักษรของอินเดียภาคใต้มีการใช้ภาษาที่มาจากประเทศอินเดียคือ ภาษาบาลี ซึ่งใช้จารึกหลักธรรมทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท แต่ก็มีจารึกภาษาสันสกฤตอยู่บ้าง โดยใช้จารึกสำหรับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ราชสำนัก หรือศาสนาพราหมณ์

          จากปัลลวะ สู่อักษรไทยสมัยสุโขทัย

          อักษรปัลลวะ เป็นอักษรของอินเดียภาคใต้ที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1000-1200 ในเวลาต่อมาชนพื้นเมืองได้พัฒนารูปแบบกลายเป็น อักษรหลังปัลลวะในช่วงราว พ.ศ.1200-1300 จนกระทั่งราว พ.ศ. 1400-1500 อักษรขอมหรือเขมรโบราณได้ปรากฏขึ้นก่อนจะพัฒนาและคลี่คลายมาเป็น อักษรขอมสมัยสุโขทัยและอักษรไทยสมัยสุโขทัยที่เชื่อว่าประดิษฐ์ขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

โซนที่ 5 หลากศาสนา  หลายความเชื่อ

          หลากศาสนา หลายความเชื่อ เป็นการนำเสนออาณาจักรทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลหลายๆอย่างมาจาก อินเดีย โดยเฉพาะความเชื่อทางพุทธศาสนา นิกายเถรวาท โดยมีการนับถือควบคู่ไปกับศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู ทั้งลัทธิไศวนิกาย และลัทธิไวษณพนิกายซึ่งก็เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันได้ในหลากหลายความเชื่อ ได้เป็นอย่างดี

          หลากศาสนา  หลายความเชื่อ

          ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้คนคงมีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ และผีบรรพบุรุษเห็นได้จากการอุทิศสิ่งของให้กับผู้ตายในหลุมฝังศพ หรือการเขียนสีเป็นภาพตามผนังถ้ำ แต่เมื่อวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดียได้แพร่หลายเข้ามา ก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการ  ประเพณีการฝังศพเริ่มหมดความนิยมไป จนกระทั่งในสมัยทวารวดีพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ได้กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวทวารวดี ดังได้พบจารึกคาถาภาษาบาลีหลายหลักรวมทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ และศิลาธรรมจักร เป็นจำนวนมากส่วนศาสนาพราหมณ์ในสมัยทวารวดีนั้นก็ยังคงมีอยู่ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมในราชสำนัก เห็นได้จากการพบเหรียญที่ใช้ในการประกอบพิธีทำบุญของกษัตริย์แห่งทวารวดี และพบศิวลึงค์หลายองค์ในบางพื้นที่ พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยทวารวดียังคง ได้รับการยอมรับนับถือกันในสมัยสุโขทัย อยุธยา ล้านนา จนมาถึงปัจจุบัน แต่เป็นการติดต่อสัมพันธ์กับศูนย์กลางทางพุทธศาสนาในศรีลังกา (นิกายลังกาวงศ์) แทนที่ประเทศอินเดียดังเช่นในสมัยทวารวดี

โซนที่ 6 พุทธศิลป์ ถิ่นทวารวดี

          โซนพุทธศิลป์ ถิ่นทวารวดี เป็นการนำเสนอศิลปกรรม ประติมากรรม ในระยะแรกของทวารวดีซึ่งจะเลียนแบบมาจากศิลปะอินเดีย ต่อมาจึงดัดแปลงเป็นฝีมือช่างพื้นเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นศิลาจารึก ลายปูนปั้น

          สถาปัตยกรรมในศิลปะทวารวดี

          สถาปัตยกรรมในศิลปะทวารวดี มีทั้งสถูปเจดีย์ วิหาร และมณฑป ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ หรือฟังทลายมักเหลือเพียงส่วนฐานที่สามารถศึกษาได้ โดยอยู่ในผังกลมสี่เหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยม และมักมีลักษณะเฉพาะคือ การยกเก็จ (หรือย่อมุม)โดยสมัยทวารวดีมักก่อสร้างอาคารด้วยอิฐที่มี ขนาดใหญ่มีแกลบข้าวผสมในปริมาณมาก การเรียงอิฐใช้ดินเป็นตัวประสาน แล้วนิยมประดับอาคารด้วยประติมากรรมปูนปั้น หรือดินเผาที่ทำเป็นรูป และภาพเล่าเรื่องต่าง ๆ ส่วนเครื่องบนอาคารนั้นไม่อาจทราบรูปทรงที่แท้จริงได้ เพราะไม่หลงเหลือหลักฐานมากพอ

          ประติมากรรม ในศิลปะทวารวดี

          ประติมากรรมในศิลปะทวารวดีส่วนใหญ่สร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา ทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ ธรรมจักรและกวางหมอบ หรือประติมากรรมประดับตกแต่งศาสนสถาน พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีส่วนใหญ่สลักจากหิน และนิยมทำพระพุทธรูป สำริดขนาดไม่ใหญ่นัก ระพุทธรูปทวารวดีรุ่นแรกๆ ยังคงมีลักษณะแบบ ศิลปะอินเดียอยู่ แต่รุ่นหลัง ๆ มีลักษณะเป็นพื้นเมืองทวารวดีมากขึ้น โดยเฉพาะพระพักตร์ (ใบหน้า) และการแสดงปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ สำหรับประติมากรรมพระพุทธรูปที่เป็นภาพสลักนูนต่ำนั้น มีทั้งขนาดใหญ่ซึ่งมักสลักอยู่บนผนังถ้ำ และที่มีขนาดเล็กซึ่งมักปรากฏอยู่ในรูปของพระพิมพ์ดินเผา พระพิมพ์สมัยทวารวดีสร้างขึ้นเพื่อบูชา หรือเพื่อทำบุญ และเพื่อสืบทอดอายุของพระพุทธศาสนา โดยมักมีการจารึกคาถา เย ธัมมาฯ (มีทั้งด้านหน้า หรือเบื้องหลัง) ลงบนพระพิมพ์เหล่านั้นด้วย ส่วนประติมากรรม ที่แสดงภาพบุคคล ปรากฏแทรกอยู่ในเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนา ที่ใช้ประดับฐานอาคารพุทธสถาน แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั่นเอง

 

 

ขอบคุณเนื้อหาบทความ จาก

องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยชัน

8,452 views

0

แบ่งปัน