คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ประเพณีแข่งเรือยาว

ประเพณีแข่งเรือยาวและการเล่นเพลงเรือของชาวสิงห์บุรี

          ประเพณีแข่งเรือยาวของชาวสิงห์บุรี   ประเพณีแข่งเรือยาวอันเป็นมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ เป็นการละเล่นพื้นบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ผูกพันระหว่างสายน้ำกับชีวิต เรือกับวิถีชีวิต และความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในสมัยก่อน เมื่อถึงเทศกาลออกพรรษา ที่มีการทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ราวเดือนสิบถึงเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำมาก ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำจะใช้เรือเป็นพาหนะแห่แหน นำองค์กฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัด เมื่อเสร็จพิธีการทางศาสนาแล้ว ก็จะมีการเล่นแข่งเรือกัน ทุกหมู่บ้านจะส่งเรือเข้าร่วมแข่งขัน นอกจากนี้บางท้องถิ่นจะจัด แข่งเรือในงานทำบุญไหว้พระประจำปีของวัด  บางแห่งจัดแข่งเรือเพื่อบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ บางแห่งจัดในเทศกาลสนุกสนานรื่นเริง ต่าง ๆ

          ก่อนที่จะเอาเรือลงน้ำต้องทำพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ คือจัดเครื่องสังเวยให้ถูกต้องตามแบบตำราโบราณเพื่อเชิญแม่ย่านางลงในเรือ ตามตำรากล่าวไว้ว่าจะต้องบูชาสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีเดชานุภาพ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ตลอดถึงพระอริยะสงฆ์พุทธสาวก และเทวดาทั่วทั้งจักรวาล ให้คุ้มครองฝีพายและผู้ที่อยู่ในเรือให้ทุกคนมีความปลอดภัย

          เครื่องสังเวยในพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ มีบายศรี ๑ คู่ ขนมทองหยอด ขนมฝอยทอง ขนมต้มแดง-ขนมต้มขาว ขนมหูช้าง ขนมเล็บมือนาง ขนมถั่วงา ขนมเม็ดขนุน ขนมฝอยทอง ข้าวตอก เผือกต้ม มันต้ม  นอกจากนี้ยังมีกล้วย มะพร้าวอ่อน ปูต้ม กุ้งต้ม หัวหมู เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปลาแป๊ะซะ น้ำ และดอกไม้

          ในอดีตแต่ละคุ้มบ้าน คุ้มวัด ในทุกลุ่มน้ำ นิยมหาไม้ตะเคียนมาขุด เป็นเรือยาวส่งเข้าร่วมแข่งขัน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ร่วมสืบสานประเพณีนี้ไว้ ปัจจุบันการแข่งเรือยาว ได้วิวัฒนาการเป็นกีฬาระดับชาติ และนานาชาติ เป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศ

          จังหวัดสิงห์บุรีจัดประเพณีแข่งขันเรือยาวในช่วงเดือนกันยายนถึง เดือนตุลาคม ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยมีหลายหน่วยงาน จัดแข่งขันเรือยาวประเพณีตามที่ต่าง ๆ เช่น เทศบาลเมืองสิงห์บุรีจัดที่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเก่า เทศบาลตำบลโพสังโฆ อำเภอค่ายบางระจัน จัดที่แม่น้ำน้อย บริเวณวัดกลางท่าข้าม มีทั้งเรือยาวขนาดเล็ก (๓๐ ฝีพาย) ขนาดกลาง (๔๐ ฝีพาย) และขนาดใหญ่ (๕๕ ฝีพาย) จากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมประลองฝีพายเพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับเป็นงานประเพณีที่ สนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ มีผู้คนหลั่งไหลไปชมและให้กำลังใจทีมที่ตนชื่นชอบ

          การเล่นเพลงเรือ  เพลงเรือ เป็นเพลงพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นวิถีชีวิตของ ผู้คนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับสายน้ำ โดยใช้ในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ขบวนแห่ชักพระทางน้ำในวันพระเสด็จคือ วันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นวันออกพรรษา และเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (เพื่อโปรดพระพุทธมารดา) สู่มนุษยโลก วันนี้จึงถือว่าเป็น “วันพระเสด็จ” รวมทั้งพิธีทอดกฐิน พิธีทอดผ้าป่า งานบุญและงานนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมน้ำซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะ  ก็จะตกแต่งเรืออย่างสวยงามมาร่วมในขบวนแห่ทางน้ำด้วย

          เพลงเรือเล่นได้ทั้งชายและหญิง อาจเป็นเรือหญิงล้วนหรือเรือชายล้วนทั้งลำก็ได้  มีผู้ร้องนำเรียกพ่อเพลง หรือแม่เพลง ส่วนฝีพายทุกคนเป็นลูกคู่ โดยใช้ฉิ่งและกรับพวงเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เวลาร้องต้องร้องให้ลงพอดีกับจังหวะพาย ก่อนการเล่นเพลงเรือจะต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูก่อน ต่อจากนั้นจึงจะร้องแก้กันเป็นคู่ ๆ (คู่ลำเรือ) จะว่ากันคนละคราวหรือคนละบทก็ได้ตามความพอใจ พ่อเพลงหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบ มีคารมคมคาย เผ็ดร้อน หรือหยิบยกเอาเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมเข้ามาสอดแทรก ให้สนุกสนาน เนื้อหาของบทเพลงอาจเป็นการยกย่อง เสียดสี กล่าวถึงความรัก หวานชื่น หรือโต้ตอบแข่งขัน ซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วย การร้องเพลงเรือ จะว่ากันสด ๆ สลับกับเสียงโห่ฮาด้วยความสนุกสนานสำราญใจ

          สถานที่เล่นเพลงเรือแต่เดิมจะเล่นกันในเรือ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น ๒ ฝ่ายคือ ชาย-หญิง ร้องเพลงว่าแก้กันก็มี

           

ขอบคุณเนื้อหาบทความจาก

สิงห์บุรี วีรชนคนกล้า : สายธาราวัฒนธรรม

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี

21,384 views

0

แบ่งปัน