คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

เล่าเรื่องเมืองจันท์

เรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงและจุดหักเหของชุมชนริมน้ำจันทบูร

“เง็งงังเง็ง เง็งงังเง็ง” เสียงระฆังดังขึ้น......

           สี่โมงครึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ หญิงสาวในชุดเจ้าสาวเดินเคียงชายหนุ่มของเธอผ่านบรรดาญาติมิตรที่ตั้งแถวยาวขนาบข้างทางเดินในโบสถ์

           แสงแดดจากภายนอกส่องผ่านช่องแสงที่เป็นกรอบโค้งประดับกระจกสีสเตนกลาสรูปนักบุญต่าง ๆ งดงามจับใจ ผู้มาร่วมงานช่วยกันโปรยกลีบดอกไม้ที่เตรียมมาจนทางเดินนั้นปูลาดด้วยดอกไม้ และอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมจาง ๆ ราวจะบอกกับทั้งสองคนว่า นี่คือการเริ่มต้นอันหอมหวาน

           เจ้าสาวชาวคริสตังหยุดยืนอยู่หน้าโบสถ์ที่สร้างขึ้นแทนหลังเก่า เมื่อปี พ.ศ. 2448 โดยคุณพ่อเปรโต เปรีกาล บาทหลวงชาวฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็ได้มีการบูรณะและปรับเปลี่ยนถึง 5 ครั้ง แต่เดิมหลังคาส่วนหน้ามียอดแหลมสูง สถาปัตยกรรมแบบกอธิกเช่นเดียวกับโบสถ์ในยุโรป แต่ถูกรื้อทิ้งไปในปี พ.ศ. 2483 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เป็นเป้าของการโจมตีทางอากาศ

           แสงแดดยามเย็นสาดจับมาทางหน้าโบสถ์ ช่อดอกไม้ในมือหญิงสาวลอยคว้างท่ามกลางเสียฮือและการยื้อแย่งจากกลุ่มเพื่อน ว่ากันว่าใครรับดอกไม้ได้ ก็จะกลายเป็นเจ้าสาวคนต่อไป

          จะว่าไปแล้ว ที่วัดโรมันคาทอลิกแห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากคู่บ่าวสาวเลย โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในเมืองจันทบุรี ต่างก็ต้องการมาใช้โบสถ์เก่าแก่สถาปัตยกรรมกอธิกแห่งนี้ สำหรับทำพิธีกรรมสำคัญในชีวิต

          คนหนุ่มคนสาวเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคาทอลิกชาวเวียดนาม 130 คน ที่หนีการเบียดเบียนทางศาสนาในเวียดนาม มาตั้งภูมิลำเนายังเมืองจันทบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2254 ปลายรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง สังเกตได้จากนามสกุล เช่น ประจำเรือ ชาวเรือ อานามหรืออะนาม ซึ่งมีที่มาจากคำว่า อันนัม ที่หมายถึงดินแดนเวียดนามภาคกลางนั่นเอง

          แม้ในวันนี้จะไม่มีถ้อยคำภาษาเวียดนามให้ได้ยินอีกแล้ว แต่วัดโรมันคาทอลิกก็ยังเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาในพระเจ้าของพวกเขา ทุกวันอาทิตย์ชาวบ้านในตำบลจันทนิมิตจะทยอยไปโบสถ์เพื่อทำมิสซากันแต่เช้า เสียงสวดมนต์จะถูกกระจายเสียงให้คนที่ผ่านไปมาในละแวกใกล้เคียงได้ยินด้วย

          คู่บ่าวสาวจูงมือกันจากไป โบสถ์อันเก่าแก่เงียบงัน ดวงอาทิตย์กำลังจะลับหายหลังกลุ่มหลังคาบ้านในชุมชนฝั่งซ้ายของแม่น้ำจันทบุรี

          คนหนุ่มสาวรุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโต บางคนไปใช้วิถีทางของตนเองอยู่ถิ่นอื่น ขณะที่แม่น้ำจันท์ตรงท่าหน้าโบสถ์ยังไหลเอื่อยและไม่เคยเหือดแห้ง ราวกับคนที่เต็มอิ่มไปด้วยเรื่องราวของการเดินทางอันยาวนาน

          เราหลาย ๆ คนไม่ได้เป็นเช่นแม่น้ำ เมื่อไม่รู้ว่าตนเองมาจากที่ทางใด ก็ย่อมไม่มีทางรู้ว่ากำลังมุ่งไปยังทิศไหน

         “จะให้นึกถึงสมัยก่อนต้องหลับตานึก ถ้าลืมตาอยู่ยังไงก็นึกไม่ออก” คุณตาเกียว แจ่มมีชัย วัย 65 ปี เจ้าของร้านกาแฟตรงศาลเจ้าที่ย่านตลาดล่าง พูดขณะทิ้งตัวลงนั่งข้าง ๆ ฉัน

         ยามเช้าทุกวันตรงศาลเจ้าที่มักจะคึกคักด้วยผู้คนที่มาซื้อของ ร้านขายข้าวแกงมีกับข้าวพื้นเมืองรสชาติเข้มข้นให้เลือกหลากหลายอย่าง โดยเฉพาะพวกผัดเผ็ดจะหอมพริกไทยและเครื่องแกงฉุยเตะจมูก ขนมตะโก้เผือก มันกวน ขนมชั้น ถูกห่อด้วยใบตองสีเขียวสดจัดใส่ตะกร้าถือมาโดยคุณลุงคนเดิม ส่วนคุณป้าสูงวัยก็ยังมีเรี่ยวแรงหาบคอนข้าวหมากมานั่งขายตรงม้าหินตัวเก่า ถัดไปก็เห็นรถเข็นขายไก่ปิ้งส่งควันลอยโขมงกับข้าวต้มทรงเครื่องขายดิบขายดีเจ้านั้นอีก

         ร้านกาแฟเก่า ๆ ย่านตลาดล่างข้างโบสถ์คาทอลิก กลิ่นกาแฟอันหอมกรุ่นยามเช้าลอยมายั่วยวนจมูกราวกับบอกว่า โต๊ะหน้าสุดตรงนั้นรอฉันให้มานั่ง ทุก ๆ เช้าผู้คนไม่ลืมที่จะแวะมานั่งคุยกันที่ร้านกาแฟเก่า ๆ สั่งเครื่องดื่มอย่างกาแฟและชากินแกล้มกับปาท่องโก๋ถุงใหญ่บนโต๊ะ

         สภากาแฟเกิดขึ้นในบรรยากาศง่าย ๆ ใต้เพิงเปิดโล่งที่หันหน้าประจันศาลเจ้าและแม่น้ำจันท์ โต๊ะสามโต๊ะ ผู้คนส่งเสียงทักทายกันไม่ขาด

         คนไทยเชื้อสายจีนในย่านตลาดล่างและท่าหลวงมีบรรพบุรุษอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ มีทั้งจีนแต้จิ๋ว จีนฮกเกี้ยน และจีนแคะ เมื่อพวกเขาลงหลักปักฐาน ณ ที่ใดก็มักจะสร้างศาลเจ้าไว้ที่นั่นด้วยส่วนคนไทยสมัยก่อนมักขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กับบ้าน เป็นข้าราชการ ท่านขุน คุณหลวงก็หลายคน

         การซื้อขายที่เกิดขึ้นเบื้องหน้านี้ ทำให้ชุมชนเล็ก ๆ มีสีสันขึ้นมาบ้าง แม้ว่ามันจะเทียบไม่ได้เลยกับอดีตอันรุ่งเรืองของย่านตลาดล่างและท่าหลวง ซึ่งเคยได้เชื่อว่าเป็นย่านการค้าสำคัญ ศูนย์กลางความเจริญทั้งปวงในเมืองจันทบุรี ด้วยความที่ติดอยู่แม่น้ำจันท์ และสมัยนั้นก็ยังไม่มีถนนหนทางเส้นไหน เส้นทางการค้าและคมนาคมจึงใช้แม่น้ำเป็นหลัก เรือที่มาจากชุมชนอื่นต่างก็นำสินค้ามาขึ้นท่าในย่านนี้ทั้งหมด

        “เมื่อก่อนถนนปูด้วยอิฐแดง อยู่ต่ำกว่าระดับนี้ตั้งเยอะ ไม่มีรถหรอก อย่างมากก็จักรยาน ใครมีจักรยานต้องไปขอดูเสียหน่อย บ้านไหนมีไฟฟ้าแปลว่าเขามีอันจะกิน ถ้ามีมอเตอร์ไซค์นี่จัดว่ารวยเลย แหมมันเท่จริง ๆ” คุณตาร้านกาแฟเก่า ๆ เท้าความสมัยเป็นเด็ก สักพักก็ต้องลุกไปชงกาแฟให้ลูกค้า ดูเหมือนการชงกาแฟจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ จะหยิบจับอะไรง่ายดายไปเสียหมด ก็ตาแกทำอาชีพนี้มา 37 ปีแล้ว ก่อนฉันเกิดเสียอีก

         ไอร้อนจากหม้อต้มน้ำลอยฟุ้ง เสียงช้อนคนกาแฟดังเก๊ง ๆ ลุงเสียมในวัย 75 ปี ลูกค้าประจำ ได้กาแฟรสชาติเดินมานั่งจิบตรงโต๊ะยาว

         “ก็อย่างที่ตาเกียวเล่า คนรวยสร้างบ้านไม้สองชั้น คนธรรมดาสร้างชั้นเดียว น้ำในแม่น้ำจันท์ใสสะอาด ชาวบ้านใช้กินใช้อาบกันทั้งนั้น เว้นแต่ตอนที่น้ำทะเลมันเข้านี่ น้ำจะเป็นสีเขียว ลุงว่ายน้ำเป็นเพราะแม่น้ำเส้นนี้แหละ”

ตอนลุงเสียมอายุ 7 – 8 ปี ยังจำได้ว่าเคยเห็นเรือแล่นอยู่ในแม่น้ำจันท์

        “ใช่ ฉันก็ได้เห็นเรือใบบรรทุกข้าวผ่านไปมาแถวนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นเรือยนต์ พวกเรือแจวใช้แค่ข้ามฟากเท่านั้น ใครจะไปอำเภอขลุงก็ต้องข้ามเรือแจวไปขึ้นรถฝั่งโน้น ถ้าไปกรุงเทพฯ เหมือนกับได้ไปสวรรค์ กลับมามีแต่คนถามว่าเป็นไงบ้าง ใช้เวลาไปกลับเกือบห้าวัน ต้องนั่งรถไปท่าแฉลบ แล้วค่อยลงเรือยนต์ต่อไป”

         กว่า 60 – 70 ปีล่วงมาแล้ว แม่น้ำจันท์เคยนำพาเรือจากแหลมสิงห์ เสม็ดงาม บางสระเก้า หนองบัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือยนต์ บรรทุกสินค้ามากมายมาขึ้นฝั่งขายให้กับพ่อค้าคนจีนย่านตลาดล่างและท่าหลวง ทั้งหนังกวาง หนังสือ หนังงูเหลือม ขี้ค้างคาว กระวาน กานพลู พริกไทย หมากแห้ง ลูกสำรอง และน้ำตาลอ้อยแดง

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ใน นิราศจันทบุรี – กรุงเทพฯ ของหลวงบุรุษประชาภิรมย์ ที่แต่งและจัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2418 บรรยายภาพชุมชนแถบนี้เมื่อราว 143 ปีก่อน ว่า

                         “ถึงเขตท่าอาวาศท่านบาทหลวง ญวนทั้งปวงนับถือเช่นฤาษี              สาศะนะยะโฮวาพระบาฬี ลิศเรียกพี่สังฆราชโยมญาติ์เคียง

                    พร้อมสะพรั่งดั้งตำบลญวนปนเจ๊ก ช่างตีเหล็กทำทองกึกก้องเสียง           บ้างต่อเรือเสื่อสานบนร้านเรียง ตามอย่างเยี่ยงภาษาวิชาเปน”

         นอกจากนี้ ก็ยังทำให้เราได้รู้ว่า แม่น้ำจันท์เป็นเส้นทางลำเลียงไม้ตะเคียนทองจากป่าในแถบตำบลตะเคียนทอง พลวง และคลองพลู ซึ่งสมัยนั้นเป็นที่ครั่นครามของผู้คนเพราะขึ้นชื่อในเรื่องป่าดิบ ไข้ป่าและยาสั่ง โดยไม้จะถูกลำเลียงมาเข้าโรงเลื่อยที่เคยตั้งอยู่เลยคุ้งน้ำย่านตลาดล่างลงไป

ตาเกียวคิดเงินโต๊ะหลังสุดแล้วเดินมานั่งคุยต่อ ลุงเสียมร้องขอชาเย็นอีกแก้ว

        “ไม่รู้เป็นอะไร กาแฟที่บ้านก็มีกิน แต่กินคนเดียวมันไม่อร่อย ต้องมากินกันไปคุยกันไปที่ร้านตาเกียวนี่มันถึงจะสนุก” ลุงเสียมหัวเราะ

         “ลูก ๆ ลุงก็จะให้เลิกขาย แต่ลุงขออีกสักสองปี ขายกาแฟมันมีเพื่อนเยอะดี ไม่เหงา เลิกขายแล้วจะเที่ยวเมืองไทยให้ทั่วเลย” ชายร่างเล็กผอมแกร่งทำงานของเขาอย่างคล่องแคล่ว

          ก่อนหน้าที่จะมาขายกาแฟ ตาเกียวรับมือกับงานต่าง ๆ มาแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะทำสวนผลไม้ ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ทอกระเป๋า และทอเสื่อ ซึ่งการทอเสื่อนั้น อันที่จริงเป็นอาชีพที่ชาวเวียดนามนำเข้ามา แต่ภายหลังก็รู้กันดีว่า เรื่องประมงต้องยกให้ชาวเวียดนามเช่นกัน

         “คนญวนเก่งเรื่องประมงครับ” สมเดช ศิริโชติ คนไทยเชื้อสายเวียดนามที่มาอาศัยอยู่ฝั่งวัดโรมันคาทอลิก ออกปาก โดยมีพฤนท์ สุขสบาย คนไทยเชื้อสายจีน เพื่อนของเขาซึ่งอยู่ย่านตลาดล่าง พยักหน้าเห็นด้วย

         ทั้งสองเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเด็ก ๆ จะใช้ฝั่งแม่น้ำที่พวกตนอาศัยอยู่มาแบ่งพรรคแบ่งพวก “ดีที่ผมใส่แว่นท่าทางเหมือนเด็กเรียน เลยไม่มีใครมายุ่งกับผม” พฤนท์เล่าความหลังพลางหัวเราะ

         “พวกเราจะว่ายน้ำไปแอบเกาะเรือเเม่ค้าผลไม้ พอเขาเผลอก็หยิบผลไม้ไปซ่อนไว้โคนต้นไม้ เขารู้ แต่ก็ไม่มีใครถือสา อยากได้เท่าไหร่เอาไปเลย ของมันหาง่าย” สมเดชในวัย 54 ปี มีความสุขทุกครั้งเมื่อนึกถึงวัยเด็ก

         ไม่เพียงพายเรือนำสินค้าพวกพืชผักผลไม้มาขาย พ่อค้าแม่ค้าบ้านหนองบัว ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอเมือง 6 กิโลเมตร รวมทั้งคลองนารายณ์ โป่งแรด พลับพา และดาวเรือง บางคนหาบของเดินเท้ามาจนถึงท่าเรือฝั่งตรงข้าม จากนั้นจึงว่าจ้างเรือแจวมาขึ้นท่าแถวตลาดล่างและท่าหลวง ที่ในเวลานั้นมีท่าเรือจ้างอยู่ถึง 3 – 4 แห่ง ส่วนเรือโดยสารในท้องน้ำมีเพียง 2 ลำ จากบ้านหนองบัว 1 ลำ และจากอำเภอแหลมสิงห์ 1 ลำ วิ่งวันละเที่ยว

         เมืองจันทบุรีนอกจากจะมากไปด้วยของป่า พืชผัก ผลไม้ ที่ซื้อขายรับ – ส่งกันเหนือผืนน้ำแล้ว ความหลากหลายของสัตว์น้ำในแม่น้ำจันท์ก็เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับฉัน ทั้งยังน่าใจหายอยู่ลึก ๆ สำหรับลูกน้ำจันท์อย่างพี่สมเดชและพี่พฤนท์

         “น้ำใสกว่านี้มากครับสมัยก่อน” สมเดชเริ่มเล่า “กุ้งก้ามกรามหรือที่คนจันท์เรียกกุ้งหลวงเยอะมาก ปลากระแหตัวสีขาวคลายปลาตะเพียนแต่หางแดงนี่หายไปตอนทำเขื่อนกั้นไม่ให้น้ำทะเลเข้ามา ปลากระทิงเอย ปลากดน้ำจืดเอย ปลากระสูบ เอาไปต้มเค็มอร่อย หรือเอาไปเสียบไม้ย่างอร่อยนัก มันจะมีเฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนหลังฤดูน้ำหลาก พอน้ำเริ่มลดผมได้ประจำ”

         สมเดชสืบทอดทักษะการหาปลามาจากครอบครัว แม่น้ำจันท์เป็นแหล่งหากินของเขาและชาวเวียดนามอีกหลายชีวิตในอดีต

        “กลางคืนผมชอบเอาเรือออกไปหาปลาคนเดียวในแม่น้ำ กุ้งก้ามกลามขึ้นเยอะเลย ค่อย ๆ พายเลียบริมน้ำ เอาตะเกียงส่อง เตรียมถือฉมวกให้ดีเถอะ รับรองแทงปลาช่อนแน่ ๆ ผมบอกให้ที่บ้านตำน้ำพริกคอยไว้เลย”

        ที่เป็นจริงอย่างหนึ่งก็คือ สมัยก่อนกับสมัยนี้การณ์กลับจะตรงกันข้ามเสมอ

       “มันตลกดี ของไม่ดีในวันก่อนมักกลายมาเป็นของดีในวันนี้ ดูอย่างพวกปลาเก๋า ปูม้า ปลาสำลีสิ สมัยก่อนไม่มีใครกินหรอก ปลาเก๋าเขาเรียกกันปลาลายตุ๊กแก ขายกิโลฯ ละห้าสิบสตางค์ คนรวยเขาไม่กินกันหรอก ปลาจาระเม็ดดำอีกอย่าง คนจนเขาถึงจะกิน” สมเดชหัวเราะเสียงดัง ฝ่ายพฤนท์เสริมว่า “ปลาสำลีนี่เขาเรียกปลาแมว ให้ฟรีเลย ไปให้แมวที่บ้านกิน”

       ส่วนปลาบู่ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณแห่งความโชคร้ายสำหรับคนหาปลา “ปลาบู่ถ้าเจอก็ซวยทั้งวัน เวลากินเบ็ดมันจะกลืนเข้าท้องไปเหมือนพวกปลากระทิงหลด ผมเจอผมจะแทงทิ้งเลย มันชอบกินกุ้งอีกต่างหาก”

      ใต้ท้องน้ำความสมบูรณ์เริ่มหมดไปเมื่อหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปร ปลาหลายชนิดหายหน้าหายตาไปจากแม่น้ำจันท์ เหล่านี้ทำให้คนที่เคยรับรู้ถึงความชุกชุมอดไม่ได้ที่จะใจหาย เมื่อนึกถึงว่าจะไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว

      ความเปลี่ยนแปลงยังเข้ามาเยือนย่านตลาดล่างและท่าหลวงหลังการก่อสร้างสะพานดำรงรัตน์หรือสะพานวัดจันท์ ซึ่งเชื่อมฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำจันท์เข้าด้วยกัน

      “จะว่าสะพานเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของชุมชนแถบนี้เลยก็ว่าได้ครับ” พฤนท์ให้ความเห็น เริ่มแรกเป็นสะพานไม้ไผ่ ต่อมาเป็นสะพานเหล็กสองข้างสำหรับคนเดิน ตรงกลางให้รถวิ่ง จนวันนี้เป็นสะพานคอนกรีตแข็งแรงใหญ่โต

      ท่าน้ำเริ่มหมดความหมาย เมื่อมีสะพานก็มีถนน ความเจริญตามมาเป็นระลอกและพร้อมที่จะเติบโตแผ่ขยายออกไปยังบริเวณตลาดน้ำพุ ซึ่งเริ่มมีในปี พ.ศ. 2503 ย่านตลาดล่างและท่าหลวงค่อย ๆ ซบเซา ขณะเด็กหลายคนก็ผละจากแม่น้ำ กระโจนเข้าหาวิถีทางใหม่ ๆ

      สายแล้วความจ้อกแจ้กแผ่วลง แต่แสงแดดแรงขึ้น ร้านข้าวแกงวันนี้ขายดีเป็นพิเศษ เหลือกับข้าวไม่กี่อย่าง แม้ค้าทยอยเข็นรถเคลื่อนย้ายตัวเองไปทำเลอื่น ร้านตาเกียวเองคนก็เริ่มบางตา ลุงเสียมนั้นกลับบ้านไปตั้งแต่ดื่มชาเย็นหมด เหลือฉันกับตาเกียวที่กำลังง่วนเก็บแก้วไปล้าง

      “คืนนี้จะมีหนังฉายแก้บนที่ศาลเจ้าที่ มาดูกันหรือเปล่า แต่อย่างว่าละ สมัยนี้จะมีใครดู วันก่อนลิเกมาเล่นยังมีคนดูแค่สามสี่คนเอง” ตาเกียวพึมพำอยู่หลังร้าน “ละครชาตรีก็เคยมี แต่เดี๋ยวนี้หายหมดแล้ว”

       ความบันเทิงรูปแบบเก่าดูเหมือนจะผิดที่ผิดทาง ท่ามกลางแสงสีแห่งเมืองและโรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่

       ฉันเดินไปตามถนนแคบ ๆ บอกตาเกียวว่า “ประเดี๋ยวคงได้แวะมาอีก” ถนนสุขาภิบาลเส้นนี้มีความยาวราว 1 กิโลเมตรกว่า ๆ นำเราผ่านเข้าไปในชุมชนเก่าแกย่านตลาดล่างและท่าหลวง โดยทั้งสองย่านนี้มีจุดแบ่งที่ถนนประชานิยม แต่ตอนนี้เรากำลังเดินอยู่ในย่านตลาดล่าง หยุดเป็นระยะเพื่อชมเรือนแถวไม้โบราณยุค 100 กว่าปีก่อน กับลวดลายจำหลักไม้อันอ่อนช้อยงดงามตามบานหน้าต่าง ประตู ช่องลม และมุมเล็กมุมน้อยของตัวบ้าน

      เราแวะไปที่บ้านขุนบูรพาภิผล ซึ่งวันนี้ตกทอดมาถึงพฤนท์ สุขสบาย ซึ่งเป็นรุ่นหลาน ป้าไต๊ แม่ของเขา ตั้งโต๊ะขายขนมไข่กับหนังสือพิมพ์หน้าบ้าน ป้าไต๊ในวัย 71 ปี อยู่ที่นี่มาตั้งแต่ 3 ขวบ

      “เมื่อก่อนบ้านหลังนี้เคยเป็นโรงพิมพ์ชื่อพานิชเจริญศรี พิมพ์พวกหนังสือเรียนเล่มเล็ก ๆ ครับ” พฤนท์ชวนเดินชมบ้านโบราณของเขา ที่เเม้หน้าจะแคบ แต่ก็ลึกไปจนจดแม่น้ำจันท์

       บ้านชั้นล่างเป็นปูน ชั้นสองเป็นไม้ บานประตูข้างบนแม้จะผุพังตามกาลเวลา แต่การจำหลักไม้ลวดลายเถาองุ่นงดงามวิจิตร “ช่างเป็นคนจีนไหหลำครับ ศิลปะการเข้าหน้าไม้และการแกะสลักละเอียดมาก” เราหยุดยืนบนพื้นไม้ที่ไม่สู้จะแข็งแรงนัก มองดูบานเฟี้ยมที่ยืนโย้เย้อย่างอ่อนแรง

       ณ ตอนนี้ ยังไม่มีความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะรักษาความเป็นย่านเก่าของชุมชนตลาดล่างและท่าหลวง ตึกแถวสมัยใหม่และการต่อเติมอย่างไร้ทิศทางเริ่มจะเป็นปัญหา ประกอบกับการบำรุงรักษาห้องแถวโบราณนั้น ต้องใช้เงินมหาศาล สิ่งเหล่านี้ทำให้คนในชุมชนเริ่มลังเลที่จะเก็บหรือไม่เก็บความเก่าแก่นี้ไว้

       เราเดินไปตามถนนอย่างคนที่ยังอาวรณ์ในอดีต การเดินบนเส้นทางสายนี้ทำให้เราซึมซับรำลึกถึงความหอมหวานเมื่อวันวานครั้งอดีต

       ฉันเดินข้ามสะพานเล็ก ๆ กลับไปยังฝั่งวัดโรมันคาทอลิก และหยุดอยู่ตรงกึ่งกลางสะพานเพื่อหันไปดูความเป็นชุมชนริมน้ำของย่านตลาดล่างและท่าหลวงเป็นครั้งสุดท้าย

       หากความเปลี่ยนแปลงคือจุดหักเหของชุมชน อันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ถัดมาอีกไม่ไกล สะพานหน้าวัดโรมันคาทอลิกก็คงจะทำหน้าที่ให้คนข้ามได้เรียนรู้เรื่องราวแต่หนหลัง เพื่อที่จะไม่หลงลืมรากเหง้าและก้าวต่อไปได้อย่างถูกทิศทาง

       สะพานเล็ก ๆ นั้นมีอยู่ เพียงแต่ว่าบางทีเราอาจหามันไม่พบ

                                 --------------------------------------------

ผู้เขียน : นายสุรเดช  ใจชื่น และนายไพสิฐ  จันทร์พราหมณ์

 

 

4,063 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดจันทบุรี