คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

วิหารพระเจ้าพันองค์

วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก

การเดินทางมาเที่ยวเยี่ยมจังหวัดลำปางในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกเมื่อเริ่มหัดเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ด้วยตนเองลำพัง เพื่อสร้างโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ๆ  นครลำปางเป็นหนึ่งจังหวัดทางภาคเหนือที่เลือกเดินทางมาเยี่ยมชม

ผมจับจักรยานออกปั่นจากที่พัก และกำหนดจุดหมายแรกของเที่ยงวันแรกในเมืองนครลำปาง สำหรับจุดหมายหนึ่งของการเดินทางมาครั้งที่ 2 นี้ คือ วัดปงสนุก ด้วยบันทึกทรงจำของตนในการเดินทางมาที่นี่ครั้งแรก  ผมชื่นชอบและประทับใจ วัดปงสนุกและชุมชนโดยรอบมาก ด้วยความวิจิตรและงดงามของศาสนสถานภายในวัด อีกทั้งการปั่นจักรยานจากที่พักมายังวัดปงสนุก จะแวะผ่านเส้นทางสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองนครลำปางได้ด้วย เช่น กาดกองต้า, สะพานรัษฏาภิเศก  ในช่วงกลางวันที่ยังไม่เปิดกาดกองต้าเป็นถนนคนเดินประจำเมืองนครลำปางยามเย็นนั้น ก็จะพบเห็นบ้านเรือน อาคารเก่าแก่เรียงรายสองข้างถนนหนทาง เป็นสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ยุคสมัยแห่งความเจริญทางการค้าของนครลำปางด้วยอุตสาหกรรมป่าไม้และการค้าขายอื่นๆ 

ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ อายุจะร้อยปีก็เป็นได้ ยืนต้นให้ร่มเงาและความร่มรื่น แผ่แขนงกิ่งก้านใบให้บรรยากาศสงบร่มเย็นด้านหน้าวัด บริเวณพื้นที่วัดแห่งนี้และเส้นทางโดยรอบจัดให้เป็นเส้นทางแนะนำเพื่อการท่องเที่ยวเรียนรู้ ประวัติศาสตร์แหล่งชุมชนวัดปงสนุก สามารถเข้าถึงเยี่ยมชมด้วยวิถีจักรยานปั่นท่องเที่ยว ภายในอาณาบริเวณวัดปงสนุกแห่งนี้ มีสิ่งปลูกสร้างที่งดงามและเป็นสิ่งที่ประทับใจในความทรงจำผมตั้งแต่ครั้งแรกที่มา คือ วิหารพระเจ้าพันองค์  ในครั้งนั้น เพียงชื่นชมในความงดงามและวิจิตรของช่างสมัยก่อนบนสภาพในปัจจุบันที่ผ่านการซ่อมแซมหรือบูรณะมาแล้ว  แต่การเดินทางมาในครั้งที่ 2 นี้ ผมโชคดีได้ฟังการบรรยายจากผู้รู้เรื่องในการบูรณะวิหารพระเจ้าพันองค์ เนื่องจากคณะนักศึกษาระดับอุดมศึกษามาทัศนศึกษาที่นี่ ผมจึงยืนฟังการบรรยายไปด้วยกัน  ผมจึงขอเล่าเรื่องตามความทรงจำที่บันทึกไว้ อาจจะคลาดเคลื่อนในรายละเอียดเชิงลึกเช่นไรขออภัยไว้ ณ ที่นี่ด้วย

วิหารพระเจ้าพันองค์ สร้างมาตั้งแต่สมัยสร้างวัดปงสนุก เมื่อครั้งสมัยพระนางเจ้าจามเทวี ว่าไปก็นับเป็นพันกว่าปีล่วงเลยมาแล้ว เป็นวัดและวิหารที่มีศิลปะผสมผสานระหว่าง ศิลปะล้านนา จีน และพม่าเข้ามารวมเป็นพุทธศาสนสถานแห่งนี้ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาในยุคสมัยนั้น ต่อมาเมื่อสภาพทรุดโทรมจึงมีการบูรณะกันเรื่อยมาจนกระทั่งในปัจจุบันนี้ 

ภายในพระวิหารมีสัญลักษณ์ และศิลปะทางพระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ อาทิ พระพุทธรูป ๔ พระองค์ในพระวิหาร หมายถึง พระพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดโลกมนุษย์แล้ว ๔ พระองค์ และตามคติความเชื่อจะมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ซึ่งพระองค์ที่ ๕ นี้ใช้ต้นโพธิ์เป็นตัวแทนและใช้ผลลูกสนร่วมเป็นสัญลักษณ์แทน ก็เพราะด้วยผลลูกสนเป็นของหายากยิ่งในสมัยนั้น รูปภาพนักษัตรบริเวณโดยรอบฐานแท่นรับพระพุทธรูปเป็นคติความเชื่อของพม่า  เป็นสัญลักษณ์ นับปีเพื่อคำนวณโชคชะตาปีชีวิต เพื่อมีพิธีทำบุญหรือสะเดาะเคราะห์ประจำปีเกิด เมื่อแหงนหน้ามองด้านบน เช่น ขื่อคานด้านบนฝั่งตรงหน้าพระพักตร์พระพุทธรูป ทั้ง ๔ ด้าน จะพบภาพเขียนใบหน้าคน ๔ ด้าน เป็นภาพเขียนตัวแทนของช่างฝีมือที่ก่อสร้างหรือซ่อมบูรณะพระวิหาร โดยความเชื่อว่า ช่างเหล่านั้นว่าจะกลับมาเป็นเทวดาดูแลพระวิหารนี้เมื่อสิ้นอายุไขไป ไม้แกะสลักตกแต่งด้านบนเป็นรูปตัวสัตว์ต่างๆ ติดตั้งตกแต่งตามตำแหน่งที่ตรงกับนักษัตรด้านล่างบริเวณฝาผนังด้านบนโดยรอบจะมีองค์พระพุทธรูปองค์เล็กๆ หรือผมจะขออนุญาตมองเป็น พระพิมพ์ขนาดใหญ่ นับพันองค์ตกแต่งประดับอยู่บริเวณฝาผนังด้านบนโดยรอบพระวิหารนี้  จึงน่าจะเป็นที่มาของชื่อ วิหารพระเจ้าพันองค์

นอกจากนั้น  สิ่งที่น่าสนใจอีกในการชมพระวิหารแห่งนี้  คือ  การซ่อมแซมบูรณะครั้งล่าสุดนี้  จะเก็บของเก่า เว้นไว้ ๑ จุด เพื่อให้เป็นสิ่งเทียบเปรียบเคียงของใหม่ที่ได้รับการบูรณะขึ้นมา เช่น ฐานเสาของพระวิหาร ก็จะเว้นไว้ทำช่องและฝาปิดเปิด ให้ดูลักษณะของฐานเสาเดิมได้ ลวดลายวิจิตรบนท่อนเสา เว้นลวดลายเดิมของเสาหนึ่งต้นไว้ และนำลวดลายที่พอมีปรากฏเห็นได้จากเสาหลายต้น ไปใส่โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อขยายลวดลายและลอกลายประทับลงบนเสาต้นอื่นๆเป็นการบูรณะ เป็นต้น 

พระวิหารและบริเวณพื้นที่ตั้งพระวิหารนี้ สร้างบนเนินที่เป็นการถมสูงยกพื้นสูงขึ้นเป็นเนินเป็นชั้นๆ โดยช่างโบราณก่อสร้างไว้ด้วยความชาญฉลาด ทำช่องระบายอากาศไว้แต่ละช่วงชั้น ให้ความชื้นใต้พื้นดินไม่สะสมและดันขึ้นมา และมาระบายออกตามสิ่งปลูกสร้างบนเนินนี้ เข่น พระวิหาร เป็นต้น และความชื้นเหล่านั้นจะสร้างความเสียหายให้สิ่งปลูกสร้างได้ 

หลังจากยืนฟังบรรยายสักพัก ผมก็ละออกมาจากบริเวณนั้น  และลงมาเตร่เดินชมต่อในบริเวณพื้นที่ของวัดปงสนุก พบว่าภายในพื้นที่วัดจัดสรรเป็นวัดปงสนุกเหนือและวัดปงสนุกใต้ พื้นที่ติดกัน อีกทั้งมีอาคารจัดเก็บรักษาพื้นที่วัตถุโบราณเก่าแก่ เช่น หีบธรรม เป็นต้น ซึ่งรวมจัดแสดงข้อมูลการซ่อมแซมบูรณะพระวิหารพระเจ้าพันองค์ ด้วยเช่นกัน 

วัดปงสนุกแห่งนี้ ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก ด้านการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ หรือ ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมานี้ ด้วยความน่าสนใจและเปี่ยมคุณค่าเช่นนี้ วัดปงสนุกและพระวิหารพระเจ้าพันองค์  จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดใจให้เข้ามาแวะเวียนมาเยี่ยมชม  และเก็บภาพความประทับใจใส่กล้องบันทึกภาพไว้ และบันทึกในความทรงจำ 
มีคนกล่าวให้อมยิ้มไว้ว่า "ลำปางไม่เหงาเท่าลำพัง" ผมคิดว่า ผมไม่พบกับความเหงาแม้นผมจะมาเพียงลำพัง ผมยังจดบันทึกความประทับใจได้เมื่อมายลเยียน เมืองนครลำปางแห่งนี้ และท่องเที่ยวไปในพื้นที่ตัวเมืองนครลำปางด้วยวิถีการปั่นจักรยานไป! .. 

ผมหันจักรยานออกจากอาณาบริเวณวัด ขึ้นอาน กดบันได เพื่อมุ่งไปเที่ยวนครลำปางกันต่อ ไปสัมผัสเมืองที่ไม่หมุนตามเวลา ...กัน

4,882 views

1

แบ่งปัน