สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีอาคารพิพิธภัณฑ์ 2 ชั้น ซึ่งมีการปรับปรุงใหม่และทันสมัยเป็นอย่างมาก
เมื่อจอดรถแล้วเดินเข้ามายังอาคารนิทรรศการ จะพบไดโนเสาร์ และสวนต้นไม้ต่างๆ มีความร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่หาความรู้ พักผ่อนของคนทุกเพศทุกวัย
เมื่อเข้ามาจะพบพี่เจ้าหน้าที่ ค่าบัตรเข้าชมผู้ใหญ่ 20 บาท ราคาไม่แพงเลย แต่! เรามีบัตร MUSE PASS ผ่านฟรี!!!
ก่อนที่จะเข้าชมพี่เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำในการเยี่ยมชมสถานที่ในอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งแบ่งออกได้ 5 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 [กำเนิดทุกสรรพสิ่ง --> ผู้เขียนเรียกเอง]
(1.1) กำเนิดจักรวาล วัฏจักรการเกิดและการสลายของหิน
(1.2) กำเนิดสิ่งมีชีวิต และกำเนิดไดโนเสาร์
(1.3) วิวัฒนาการและการสูญพันธ์ุของไดโนเสาร์
โซนที่ 2 [ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย --> ผู้เขียนเรียกเอง]
(2.1) ไดโนเสาร์ชิ้นแรกในประเทศไทย
(2.2) ไดโนเสาร์ในประเทศไทย
(2.3) ธรณีวิทยาเทือกเขาภูเวียง
(2.4) ซากดึกดำบรรพ์มหายุคมีโซโซอิก
โซนที่ 3 [การสำรวจ ขุดค้น และอนุรักษ์ --> ผู้เขียนเรียกเอง]
(3.1) ห้องปฏิบัติการ
(3.2) ธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ใน จ.ขอนแก่น
โซนที่ 4 [สวนไดโนเสาร์ --> ผู้เขียนไม่ได้เรียกเอง เป็นชื่อห้อง]
(4.1) สวนไดโนเสาร์
โซนที่ 5 [ยุคเทอร์เซียร์รี่จนถึงปัจจุบัน --> ผู้เขียนเรียกเอง]
(5.1) ยุคเทอร์เซียร์รี่
(5.2) หินและแร่ในประเทศไทย
(5.3) ห้องเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ
หลังจากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่มาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่เดินตามรอยเท้าไดโนเสาร์ เพื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์กัน
โซนที่ 1 กำเนิดทุกสรรพสิ่ง
อธิบายการกำเนิดจักรวาล ตั้งแต่ทฤษฎีบิ๊กแบง การเคลื่อนที่ของเปลือกโลกในแบบต่างๆ หินประเภทต่างๆ วัฏจักรการเกิดและสลายของหิน
นอกจากโมเดล สื่อต่างๆที่ใช้ในการอธิบายเช่น โปสเตอร์ ทีวี LED ที่ฉายวีดิโอต่างๆ แล้วยังมี Highlight ของผู้เขียน คือ "แบบจำลองลักษณะการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก" โดยการใช้พวงมาลัยหมุน การเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกแบบต่างๆก็จะถูกแสดงออกมาอย่างชัดเจน เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
การกำเนิดสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่เมื่อเปลือกโลกเย็นลง บรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซมากมาย เกิดสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กที่ชื่อว่า "สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน" (สโตรมาโตไลท์) นี่คือ หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ในห้องจัดแสดงยังมีการจัดแสดงซากพืช สัตว์ โบราณในอดีตอีกด้วย
กำเนิดไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นก้ำกึ่งสัตว์เลื้อยคลานและนกในมหายุคมีโซโซอิกนานถึง 165 ล้านปี และสูญพันธ์ไป 65 ล้านปีที่แล้ว
Dinosaur มาจากคำว่า "Deinos" (ใหญ่จนน่าสะพรึงกลัว) + "Sauros" (สัตว์เลื้อยคลาน)
ไดโนเสาร์ตัวแรกปรากฏในยุคไทรแอสซิก (ไทรแอสซิก->จูแรสซิก->ครีเทเซียส) ยุคนี้ไดโนเสาร์ตัวเล็กเท่ากับกระต่าย จิงโจ้ เรียกไดโนเสาร์ยุคแรกว่า "โปรซอโรพอด" ต่อมาเมื่อวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด จึงตัวใหญ่ขึ้นๆ เข้าสู่ยุคทองของไดโนเสาร์นั่นคือยุคจูแรสซิก ไดโนเสาร์ตัวขนาดใหญ่ มีพืชต่างๆอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ ต้นสน แปะก๊วย ปรง เฟิร์น และพืชดอกอื่นๆ ยุคนี้พบปรากฏตัวของ "อาคีออพเทอริกซ์" หรือไดโนเสาร์ที่คล้ายนกนั่นเอง
โซนที่ 2 ซากดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย
จากการขุดค้นพบว่า พบว่าอาณาจักรไดโนเสาร์สมัยก่อนในประเทศไทยเมื่อ 210 ล้านปีก่อน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ที่ที่ราบสูงโคราช ขุดพบที่ชั้นหินตอนล่างของยุคครีเทเซียส ยุคจูแรสซิกตอนปลาย และยุคไทแอสซิกตอนปลาย นอกจากนี้ยังพบพันธุ์ใหม่หลายๆพันธุ์ เช่น ภูเวียงโกซิรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรนิ เป็นต้น โดยพบชนิดของไดโนเสาร์บริเวณที่ราบสูงโคราชถึง 16 ชนิด นอกจากนี้พบรอยทางเดินไดโนเสาร์ 9 แห่งใน 5 หมวดหิน
ในประเทศไทยพบครั้งแรกที่ "ภูประตูตีหมา" เมื่อปี 2519 บริเวณกระดูกขาหลังท่อนบนซ้าย ตามรูปที่ตู้จัดแสดงภาพแรก และมีการจำลองขนาดไดโนเสาร์จากกกระดูกตามภาพที่ 2
นอกจากนี้ในห้องจัดแสดง มีการจัดแสดงซากดึกดำบรรพ์อื่นๆ เช่น กระดูกกรามล่างและฟันของซูโนซูคัส ไทยแลนด์คัส, กรามจระเข้, แผ่นกระดองเต่า, กรามตะโขง, ฟันของเทอโรซอร์ เป็นต้น
โซนที่ 3 การสำรวจ ขุดค้น และอนุรักษ์
เมื่อเดินเข้ามาแล้วจะพบจุดเด่นคือ ห้องปฏิบัติการ นั่นเอง ที่นี่จะอธิบายถึงการสำรวจ การขุดค้นต่างๆ โดยเริ่มจากการวางแผนการขุดค้น โดยมุ่งที่บริเวณที่มีหินโผล่ ทำการเก็บชิ้นตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการ และมีขั้นตอนการเคลื่อนย้ายกลับ จนถึงงานในห้องปฏิบัติการ ทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักวิชาการ
โซนที่ 4 สวนไดโนเสาร์
เป็นส่วนที่แสดงแบบจำลองไดโนเสาร์ ท่ามกลางธรรมชาติ มีทั้งเสียงน้ำตก และเสียงคำรามของไดโนเสาร์ ผู้เขียนได้เข้าไปคนเดียว แอบมีความกังวลว่า จริงๆแล้วไดโนเสาร์ที่อยู่ข้างหน้ามีชีวิตจริงหรือไม่ (กลัวจะโดนกินแล้วไม่มีคนช่วยเหลือ) นอกจากนี้ไดโนเสาร์ที่อยู่ในสวน จะมีป้ายบ่งบอกว่าเป็นพันธุ์อะไร จุดเด่นเป็นอย่างไรบ้าง
โซนที่ 5 ยุคเทอร์เซียร์รี่จนถึงปัจจุบัน
โซนนี้ ไม่ได้ให้ความรู้เพียงซากดึกดำบรรพ์ยุคเทอรเซียร์รี่ ยังให้ความรู้เรื่องทรัพยากรธรณี ได้แก่ หินในยุคต่างๆ การตรวจสอบแร่ ประโยชน์ของแร่ จะเห็นว่าแร่นั่นอยู่รอบๆตัวเรานี่เอง
นอกจากนี้มีเรื่องการสำรวจทรัพยากรธรณี อุปกรณ์สำรวจธรณีวิทยา เช่น ถุงย่าม กระติกน้ำ ไฟฉาย กาว สกัด ถุงใส่ตัวอย่าง แปรง มีดแซะ สมุดโน้ต ค้อนธรณี แผนที่ภูมิประเทศ แผนที่ทางธรณีวิทยา เข็มทิศ อุปกรณ์จดบันทึก ตลับเมตร กล้องถ่ายรูป แว่นขยาย แว่นขยายพกพา(แว่นส่องพระ) เป็นต้น
งานธรณีวิทยาไม่ใช่มีแค่เพียงบนบก ในทะเลก็มี มีการแสดงโมเดลการขุดเจาะปิโตรเลียมทั้งบนบกและในทะเล เปรียบเทียบกันให้เห็นชัดเจน การนำปิโตรเลียม ปิโตรเคมีต่างๆมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมัน ขวดน้ำพลาสติก เป็นต้น เหล่านี้ล้วนมาจากงานธรณีวิทยาทั้งสิ้น
มีการให้ความรู้เรื่องธรณีพิบัติต่างๆ สึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ทำให้มีความเข้าใจในธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
ห้องเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ห้องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่องานศึกษาวิจัยไดโนเสาร์
เมื่อออกมาจากอาคารพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะเดินชมสวนหินในรูปแบบต่างๆ ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่นก่อนกลับบ้านอย่างมีความสุข
บทสรุป: ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งนี้ ให้ความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิตต่างๆ จนถึงไดโนเสาร์ การวิจัยและการพัฒนาการขุดค้น สำรวจและอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการให้ความรู้เรื่องธรณีวิทยา หิน แร่ ปิโตรเลียม ประโยชน์ต่างๆ ผ่านทางสื่อต่างๆอันทันสมัย ได้แก่ โปสเตอร์ภาพสวยงาม ตัวอักษรสื่อความชัดเจน วีดีทัศน์ โมเดล หุ่นเคลื่อนไหว เป็นสถานที่ควรไปศึกษาเรื่องงานธรณีวิทยาอีกแห่งหนึ่งที่สำคัญของประเทศไทย
==============================================================================================================================================
ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
โทรศัพท์ 043-438204
เปิดให้บริการเข้าชมทุกวันอังคาร - อาทิตย์ เวลา 9:00-17:00 น.
(ปิดทุกวันจันทร์ // ยกเว้นวันจันทร์ที่ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์เปิดทำการปกติ)