คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

วัดถ้ำพระโพธิสัตว์

     จังหวัดสระบุรี อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯมากนัก ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น แต่เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมผาดโผนผจญภัย กิจกรรมเดินป่า ท่องเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงาม ชมทุ่งดอกทานตะวันสีสันสดใส หรือจะแวะซื้อของกินของฝากขึ้นชื่อแสนอร่อยอย่างกะหรี่ปั๊ปเจ้าดัง ก็ล้วนแต่เป็นทริปที่น่าสนใจทั้งนั้น แต่เมืองสระบุรีนี้ยังมีความน่าสนใจในแง่อื่นนอกเสียจากที่กล่าวมาข้างต้นไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ผู้เขียนจะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับความเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ ประวัติศาสตร์ และการเดินออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงาม จบครบในที่เดียวเลยค่ะ

     ที่ ๆ เราจะไปกันวันนี้คือ “วัดถ้ำพระโพธิสัตว์” ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สำหรับประวัติของวัดนี้เท่าที่ค้นคว้ามาอย่างคร่าว ๆ คือ เป็นวัดสายวิปัสสนาธรรมที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหุบเขามีภูเขาล้อมรอบถึงสามด้าน ชาวบ้านละแวกนั้นเรียกว่า “เขาน้ำพุ” ภายในวัดมีถ้ำหินที่สวยงามหลายถ้ำ มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สามารถเดินเข้าไปชมความงามได้ ภายในตัวถ้ำจะมีหินงอก หินย้อย และร่องรอยทางประวัติศาสตร์มากมายให้ศึกษา ถ้ำที่น่าสนใจที่สุดคือ “ถ้ำพระโพธิสัตว์” ตามชื่อวัดนั่นเอง จะมีอะไรพิเศษรออยู่ ตามไปชมกันต่อจากนี้ได้เลยค่ะ

     การเดินทางจากในตัวเมืองสระบุรี ให้ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางจังหวัดนครราชสีมาพอมาถึงโรงปูนนครหลวงนกอินทรีให้ชิดซ้ายขึ้นสะพานกลับรถ จากนั้นให้ขับตรงมาอีกเป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตรจะเห็นป้ายวัดถ้ำดาวเขาแก้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปผ่านวัดถ้ำดาวเขาแก้ว จนถึงทางแยกจะมีป้ายบอกให้เลี้ยวซ้ายไปวัดถ้ำพระโพธิสัตว์จากนั้นขับไปตามทางอีกประมาณ 6.5กิโลเมตร จะเห็นทางเข้าวัดถ้ำพระโพธิสัตว์อยู่สุดถนน ขับเข้าไปประมาณ 100 เมตร ตรงจุดนี้ควรใช้ความเร็วต่ำนะคะ เนื่องจากพื้นที่รอบ ๆ เป็นป่า ดังนั้นจะมีบรรดาสัตว์โลกน่ารักโผล่มาให้เห็นเป็นระยะ โดยเฉพาะเจ้าจ๋อตัวน้อย มีจำนวนมากพอสมควร หากขับรถเข้ามาด้วยความเร็วอาจเกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ เมื่อมาถึงแล้วไม่ต้องกลัวจะหลง เพราะทางวัดจัดทำป้ายบอกทางไว้ค่อนข้างชัดเจน คนในพื้นที่แนะนำให้นำรถไปจอดตรงบริเวณเชิงบันไดทางขึ้นถ้ำ เพราะชาวบ้านแถวนั้นจะได้ช่วยดูแลความปลอดภัยของรถให้ได้สะดวก ๆ ถ้าไปจอดที่ลับตาคนล่ะก็ มีความเสี่ยงจะถูกแงะกระจกมองข้าง คิ้วประตูหรือไฟท้ายอาจจะหายเข้าป่าไปพร้อมกับบรรดาวานรเจ้าถิ่นได้ค่ะ

     เข้ามาในบริเวณวัดจะพบกับศาลาธรรมเจดีย์เป็นด่านแรก เป็นเจดีย์ทรงลังกาสีขาวแกมทองตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่บนตัวอาคารสีขาวตัดกับท้องฟ้าสีสดใส ศาลาธรรมเจดีย์ล้อมรอบด้วยบันไดนาค (ตัวเป็นเทวดา แต่มีหางเป็นพญานาค) เป็นบันไดทางขึ้นลงสำหรับเข้าไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในองค์เจดีย์ รอบ ๆ ศาลาจะมีบ่อเล็ก ๆ ข้างบันไดทุกด้าน บ่อน้ำพวกนี้ถ้านั่งดูอยู่สักพักจะได้ยินเสียงปลาโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศเพื่อหายใจด้วยค่ะ ทีแรกเห็นเหมือนบ่อตื้น ๆ แต่ท่าจะลึกเอาการอยู่ทีเดียว

     ถัดเข้ามาจากศาลาธรรมเจดีย์เป็นลานดินกว้าง ขนาบด้วยทางเดินรถซ้ายขวา ตรงกลางเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่มีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมอยู่กลางแม่น้ำ รอบ ๆ มีที่นั่งพักผ่อน ปลาในบ่อนี้ตัวใหญ่มากค่ะ แต่ผู้เขียนเดินวนหาดูรอบ ๆ แล้วไม่เจอจุดจำหน่ายอาหารปลา ไม่ทราบว่าจะสามารถให้อาหารปลาได้หรือไม่ ถ้ามีโอกาสได้ไปอีกรอบตั้งใจว่าจะเตรียมอาหารปลาไปเองสักกระสอบหนึ่ง รับรองว่าไม่เสียเที่ยวเพราะถ้าหากทางวัดไม่อนุญาตให้เลี้ยงอาหารปลาในบ่อเจ้าแม่กวนอิมนี้ ก็ยังมีปลาที่น้ำตกด้านในก่อนทางขึ้นถ้ำให้ได้เลี้ยงแน่นอน มีความมั่นใจเป็นพิเศษเพราะถามจากชาวบ้านมาแล้วค่ะว่าปลาที่น้ำตกสามารถให้อาหารได้

     น้ำตกที่ว่าอยู่ถัดเข้ามาด้านในจากบ่อน้ำเจ้าแม่กวนอิมค่ะ บริเวณเชิงเขาที่เราจะเดินขึ้นถ้ำกันนั่นแหละ เมื่อจอดรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว เดินไปทางชายป่าด้ายขวามือจะพบกับน้ำตกเล็ก ๆ เสียดายก็ตรงที่ผู้เขียนไปเที่ยวช่วงหน้าแล้ง น้ำที่น้ำตกไม่ไหล มีเพียงน้ำในแอ่งด้านล่างที่พอมีอยู่บ้าง ต้องรอช่วงที่มีฝนตกลงมาสักประมาณเดือนมิถุนายน น้ำตกจะสมบูรณ์สวยงามเป็นพิเศษ ปลาในแอ่งนี้เชื่องมากค่ะ คุณลุงชาวบ้านที่รับอาสาเฝ้าระวังความปลอดภัยของรถเล่าให้ฟังว่าปลาพวกนี้ช่วงหน้าแล้งไม่ค่อยมีตะไคร่น้ำหรืออาหารให้กิน น่าสงสารมาก พอได้ยินเสียงคนเดินเข้าไปใกล้ ๆ จะพากันว่ายน้ำมาอออยู่ริมตลิ่ง ทำเอารู้สึกผิดที่ไม่ทราบมาก่อน เลยไม่ได้เตรียมอาหารปลาเข้ามาด้วย แต่คราวหน้าไม่พลาดแน่ ๆ ค่ะ

     พักชมปลากันอยู่สักครู่หนึ่งจากนั้นเราก็มุ่งหน้าสู่ความทรมาน(ขา) กันได้เลย ทางขึ้นเขาอยู่ด้านซ้ายมือของน้ำตก เห็นความสูงชันของบันไดแล้วท้อแท้มาก แต่เมื่อมาแล้วก็ต้องไปให้ถึง สูดลมหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดลึก ๆ และเริ่มเดินขึ้นเขา ทางวัดทำบันไดขึ้นเขาไว้ค่อยข้างปลอดภัยนะคะ มีการเทปูนและทำราวกันตกไว้ให้เราได้จับและเพื่อความปลอดภัยด้วย ระยะแรกเป็นบันไดไม่กี่ขั้น เดินยังไม่ทันเหนื่อยจะพบกับลานดินกว้างมีทางเดินเข้าไปในป่า แต่เราจะเดินขึ้นไปชมถ้ำพระโพธิ์สัตว์กัน จึงต้องตรงไปที่บันไดปูนทางซ้ายมือค่ะ มัคคุเทศก์น้อยได้แจ้งไว้แล้วตั้งแต่ด้านล่างว่า บันไดมีทั้งหมด 340 กว่าขั้น แต่คงจะเห็นอาการทางสีหน้าของสาวอวบคนนี้แลดูท้อแท้เหลือเกิน จึงสำทับมาอย่างต้องการจะปลอบใจว่าถึงขั้นบันไดจะเยอะแต่ก็เป็นเพราะทางวัดทำบันไดสูงแค่ถี่ ๆ ไม่ต้องยกเท้าสูง ระยะเดินจริง ๆ ไม่ไกลมากอย่างที่คิดหรอกครับ น้องเป็นเด็กที่ใจดีมากค่ะ

     การเดินขึ้นเขาสู่ตัวถ้ำ สำหรับผู้เขียนใช้เวลาไปประมาณ 20 นาทีค่ะ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้สันทัดด้านการออกกำลังกาย เวลาส่วนใหญ่จึงหมดไปกับการเหนื่อยหอบ เดินไปพักไป ขอแนะนำทุกท่านถ้าจะมาท่องเที่ยวลักษณะนี้ น้ำดื่ม ยาดม ยาหม่อง เตรียมมาอย่าให้ขาดนะคะ ที่สำคัญคือสัมภาระที่ไม่จำเป็นให้เก็บไว้ที่รถจะดีที่สุดเพื่อความคล่องตัว แต่ถ้าหากลืมจริง ๆ ก็ไม่เป็นไร ทางวัดจัดน้ำดื่มแจกฟรีไว้ให้บริเวณปากถ้ำ แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องเดินขึ้นไปให้ถึงตัวถ้ำก่อนนะคะ น้ำดื่มแจกฟรี แต่สามารถทำบุญใส่กล่องบริจาคได้ค่ะ ตามแต่กำลังศรัทธา เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟของทางวัด

     ระหว่างทางเดินขึ้นเขาจะมีจุดพักชมวิวทิวทัศน์ธรรมชาติเป็นระยะ ถ้ำแรกที่พบคือถ้ำเลียงผาอยู่ทางด้านซ้ายมือ แต่เหมือนจะปิดอยู่ค่ะ เมื่อใกล้ถึงจุดหมายปลายทางเราจะพบระฆังที่ทางวัดจัดเอาไว้ให้ สักการะ ตีขอพร เอาฤกษ์เอาชัย ใด ๆ ก็แล้วแต่ญาติโยมจะสะดวก ตรงจุดนี้เราสามารถมองเห็นป้ายชี้ทางเข้า “ถ้ำพระโพธิสัตว์” ได้แล้วค่ะ ทางเข้าถ้ำเล็กและค่อนข้างแคบ ขนาดประมาณพอดีตัวคนหนึ่งคน แต่เมื่อได้เข้าไปด้านในแล้ว เหมือนอยู่กันคนละโลกเลยทีเดียว ภายในถ้ำมีพื้นที่กว้างขวาง มีองค์เจดีย์ประดิษฐานอยู่บริเวณโถงกว้างถัดจากปากทางเข้า ได้รับการบอกเล่าว่าชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันสร้างองค์เจดีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการพบถ้ำแห่งนี้และสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้กราบสักการะ ภายในถ้ำพระโพธิสัตว์ อากาศเย็นสบายพอสมควร รอบ ๆ ตัวถ้ำสวยงามแปลกตาด้วยบรรดาหินงอก หินย้อยรูปทรงต่าง ๆ ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีความพิเศษคือ หากเอาไฟฉายส่องไปที่ผนังจะพบว่ามีความระยิบระยับเป็นประกายล้อแสงไฟสวยงามมาก มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามมุมต่าง ๆ ให้กราบสักการะ ว่ากันว่าถ้ำพระโพธิสัตว์นี้เคยเป็นสถานที่สำหรับ จำศีลภาวนาของนักบวช ฤาษีมาก่อน

 

     ไฮไลท์ของการเข้าชมถ้ำคือผนังถ้ำด้านบนเหนือองค์เจดีย์ขึ้นไป เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปจะเห็นภาพแกะสลักนูนต่ำเป็นรูปบุคคลในอิริยาบถต่างกัน ผู้เขียนไม่มีความรู้ทางด้านนี้จึงไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ได้ความว่า ภาพสลักที่เห็นนั้นเป็นภาพแกะสลักพระโพธิสัตว์ปางประทับบาท ล้อมรอบด้วยเทวดา และเทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระอิศวร และ พระนารายณ์ ในลักษณะถวายความเคารพแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลักษณะศิลปะได้รับอิทธิพลจากศิลปะราชวงศ์คุปตะ-หลังคุปตะ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่าภาพแกะสลักนูนต่ำนี้เป็นภาพที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าฮินดูในภาพเดียวกันที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยขุดพบในประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงถึงการแข่งขันระหว่างสองศาสนา หรืออาจแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของทั้งสองศาสนา ถือว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งเลยทีเดียวนะคะ

     ด้านบนมีห้องน้ำไว้ให้บริการ ชมถ้ำเสร็จแล้วนั่งพักให้หายเหนื่อยกันสักครู่ แล้วค่อย ๆ เดินลงเขามาช้า ๆ นะคะ เพื่อความปลอดภัย

เรียบเรียงโดย

                                                                                                                                                นางสาวชลธิชา ใจทา

8,612 views

0

แบ่งปัน