สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
เมื่อสถานการณ์หลังคลายล็อคจากโควิด-19 ดีขึ้น ถือเป็นช่วงเวลาที่หลายคนได้ออกไปเที่ยวแบบ New Normal กันบ้างแล้ว Museum Thailand จะพาไป One Day Trip ที่ “บางเขน” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่บางเขนยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่น่าสนใจอีกหลายแห่งให้ตามไปเช็คอินกัน
ปักหมุดแรก ณ “พิพิธภัณฑ์มด” เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับมดแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ตั้งอยู่ชั้น 2 ตึกวินิจวนันดร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อขึ้นไปถึงส่วนจัดแสดงบริเวณโถงด้านหน้าจะพบหุ่นจำลองของ รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา หรืออาจารย์เดชา ผู้ศึกษาเรื่องราวมดตัวจิ๋ว ซึ่งได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนทุนจากประเทศญี่ปุ่นในการเก็บรวบรวม “มด” ทั้งในและต่างประเทศมาทำเป็นคอลเล็กชั่นสำหรับผู้ต้องการศึกษาวิจัย และต่อมาได้นำงานวิจัยมาย่อยให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้เข้าชมทั่วไปให้เข้าใจง่ายขึ้น
“มด” ถูกนำมาบอกเล่าเรื่องราวผ่านการจัดแสดงเป็น 4 ส่วน คือ มหัศจรรย์แห่งมด , สายใยสัมพันธ์แห่งมด คุณค่าอนันต์แห่งมด และชีวิตอัศจรรย์แห่งมด โดยจะบอกเล่าตั้งแต่เรื่องต้นกำเนิดของมด ร่างกายของมด ความแตกต่างของมดกับแมลงทั่วไป อาหารของมด ความสัมพันธ์ระหว่างมดกับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันมานาน, มดกับสิ่งแวดล้อม, มดกับพืชที่พึ่งพาอาศัยกัน และมดกับสัตว์อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการนำมดสายพันธุ์ต่างๆ มาให้ศึกษาและส่องดูอย่างใกล้ชิดด้วย “แว่นขยายมด” ทำให้เราเห็นคอลเล็กชั่นมดชัดมากยิ่งขึ้นและตอกย้ำความตัวจิ๋วแต่ฤทธิ์เยอะของเจ้ามดพวกนี้ ** พิพิธภัณฑ์มด สามารถถ่ายรูปได้อย่างอิสระเต็มที่ มีจุดแลนมาร์คห้ามพลาด คือ “เจ้ามดแดงยักษ์” ตั้งอยู่กลางห้องจัดแสดงห้องแรกนะจ๊ะ **
พิพิธภัณฑ์มดจัดแสดงภายใต้แนวคิด “เพื่อคนทุกเพศทุกวัย เน้นความเป็นสากลและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” จึงได้นำลักษณะเด่นของมดมาเชื่อมโยงกับการสอนปลูกฝังจริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชนและผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ อาทิ เรื่องความขยัน มีวินัย ความสามัคคี และรักความสงบ นอกจากนี้ ยังแฝงความน่ารักอยู่แทบทุกจุด เช่น พื้นจะแปะสติ๊กเกอร์เป็นรูปมดนำทางเราไปจนถึงห้องจัดแสดง หรือบนฝาผนังแสดงผลงานวาดรูปจากน้องๆ ประดับอยู่ เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์มดเปิดให้เข้าชมฟรี วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดทำการวันเสาร์และวันอาทิตย์) หากใครสนใจเข้าชมแนะนำประสานงานกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ก่อน (คุณฟัก 080-4571826) เพื่อให้มาเปิดประตูและเป็นวิทยากรให้ข้อมูล เนื่องจากพิพิธภัณฑ์มดดูแลโดยอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาคณะวนศาสตร์ ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดได้ตลอดเวลานั่นเองจ้า
หลังจากรู้จักเจ้ามดจิ๋วแล้วก็มาปรับอารมณ์ให้เคลื่อนไหวไปกับเจ้าปลาน้อยกันดีกว่ากับ ปักหมุดที่ 2 คือ “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดกรุงเทพฯ” เป็นสถานแสดงสัตว์น้ำแห่งแรกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในกรมประมง ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเมื่อเปิดประตูเข้าไปก็จะพบเจ้าเต่ามารอต้อนรับ ในส่วนการจัดแสดง แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ชั้น 1 เป็นบ่อสัตว์น้ำแบบเปิด พืชน้ำจืด และฟอสซิลของปลากระโห้ขนาดใหญ่ โดยมีป้ายแสดงข้อมูลของสัตว์น้ำอยู่เหนือตู้ปลาขนาบทั้ง 2 ข้าง โค้งไปตามตามทางเดินอย่างเพลิดเพลิน
ชั้น 2 จะจัดแสดงปลาท้องถิ่นหายากของประเทศไทย ปลาสายพันธุ์ต่างประเทศ และปลาที่มีลักษณะสวยงาม ปลาเหล่านี้เมื่อเห็นผู้เข้าชมก็พร้อมจะต้อนรับแขกเสมือนถูกฝึกมาอย่างดีด้วยการออกมาทักทายและว่ายวนโพสต์ท่าอยู่หน้าตู้ให้ได้ถ่ายรูปสวยๆ **สำหรับพระเอกและนางเอกของสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำกรุงเทพฯ ได้แก่ ปลาเทพาขนาดใหญ่เกือบ 3 เมตร และปลาตะพัด ปลาสายพันธุ์ไทยที่ใกล้สูญพันธุ์แล้ว
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืดกรุงเทพฯ เปิดวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น. – 16.00 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ราคา 20 บาท , เด็ก/นักเรียน/นักศึกษา 10 บาท , ผู้สูงอายุและผู้พิการจะไม่เสียค่าเข้าชม ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะให้ติดต่อล่วงหน้าที่เบอร์ โทร.02-940 6543
ปักหมุดที่ 3 “พิพิธภัณฑ์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร” ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของสำนักงานใหญ่ อาคาร Tower มีจุดเด่นอยู่ที่หลังคารูปทรงงอบยื่นออกมาจากด้านหน้าของอาคาร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการสินเชื่อเพื่อการเกษตรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงผ่านห้องนิทรรศการทั้งหมด 7 ห้อง โดยมีวิทยากรเป็นผู้นำชมและบรรยายแต่ละห้อง เริ่มจากด้านนอกบริเวณโถงต้อนรับมีการจำลองวิถีชีวิตของเกษตรกรแต่ละภูมิภาคอยู่ในตู้กึ่ง 3 มิติ (ไดโอรามา) สามารถกดปุ่มเพื่อดูการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่แตกต่างกันแต่ละภาค จากจุดนี้ก็ไปต่อที่ “ห้องกำเนิด ธ.ก.ส.” เรื่องราวโดยรวมของห้องนี้พาย้อนเวลาไปสู่จุดเริ่มต้นของธ.ก.ส. พร้อมฉายภาพจากอดีต อาทิ ความยากลำบากของเกษตรกร การถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน สิ่งเหล่านี้เป็นแรงหนุนสำคัญที่ทำให้เกิด ธ.ก.ส. ในที่สุด และอยู่เคียงข้างเกษตรกรมาจนถึงวันนี้
ห้องต่อไป คือ ห้องรากฐาน ธ.ก.ส. สำหรับการออกแบบห้องนี้ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ตรงแก่นกลางของต้นไม้ใหญ่ที่หล่อหลอมขึ้นจากรากฐานอันมั่นคง ผ่านแนวคิด อุดมการณ์ ประสบการณ์ของ “อาจารย์จำเนียร สาระนาค” ผู้จัดการคนแรกของ ธ.ก.ส. และเมื่อมองไปที่ผนังรอบห้องก็จะพบสิ่งต่างๆ ที่สื่อถึงสิ่งที่ท่าน “คิด ทำ สอน” ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนวัตกรรมการให้สินเชื่อแบบกำกับและแนะนำ การเขียนตำราและคู่มือการปฏิบัติงานต่างๆ การวางแนวทางในการปฏิบัติตนสำหรับพนักงานที่เรียกว่า “กฎเหล็ก 9 ประการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่พนักงานพึงละเว้น สิ่งที่สำคัญที่เน้นย้ำอย่างมาก คือ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่เอาเปรียบผู้อื่น ความสุภาพอ่อนน้อมและให้เกียรติผู้อื่น
ละห้องที่ถือเป็น “ไฮไลต์” ของพิพิธภัณฑ์ คือ ห้องความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจ ความพิเศษของห้องนี้อยู่ที่ภาพยนตร์ 4 มิติ ซึ่งจะเปิดประสบการณ์รับชมภาพยนตร์ให้ได้อรรถรสยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าจัดเต็มทั้งแสง สี เสียง เนื้อหาภาพยนตร์เล่าถึงเรื่องราวของพนักงานสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสินเชื่อ และต้องไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัด จนกระทั่งได้พบกับจุดเปลี่ยนสำคัญที่ก่อให้เกิดความรัก ศรัทธา และเห็นคุณค่าของงานที่ทำ จากความจริงจังตั้งใจช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับชาวบ้าน ขอแนะนำว่าเป็นอีกหนึ่งห้องที่ไม่ควรพลาด
ห้องที่ระลึกแห่งความทรงจำ เป็นการทบทวนความทรงจำของชาว ธ.ก.ส. ในวันวานถ่ายทอดผ่านรูปภาพและสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กระปุกออมทรัพย์กุ๊กไก่” รุ่นต่างๆ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของธ.ก.ส. และเป็นที่จดจำของลูกค้าของธนาคาร
ไปต่อกันที่ หอศิลป์ ธ.ก.ส. ที่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จัดแสดง “สลากออมทรัพย์ทวีสิน” ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน , ภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่าของศิลปินที่มีชื่อเสียง , ประติมากรรมพระแม่โพสพ ตลอดจนวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชมรมพุทธศิลป์ ธ.ก.ส. ได้จัดสร้างขึ้น
ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้เพราะบริเวณชั้น 3 ยังมี หอสมุด ธ.ก.ส. ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวาง ทันสมัย มีหนังสือหลากหลายหมวดทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้เลือกอ่านอย่างจุใจ นอกจากนี้ยังมี หอจดหมายเหตุ ธ.ก.ส. ที่รวบรวมบันทึกเอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร เอกสารจดหมายเหตุที่เป็นลายลักษณ์อักษรและสื่อโสตทัศน์ ร้อยเรียงเป็นนิทรรศการ “เส้นทางแห่งกาลเวลา เส้นทางแห่งการพัฒนา ธ.ก.ส.”
พิพิธภัณฑ์ ธ.ก.ส. เปิดวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00-15.30 น. เว้นวันหยุดราชการ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หากสนใจเข้าเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-558 6555 ต่อ 8369