คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ชมปลาในเพลงเรือ

ชมปลาในเพลงเรือพื้นบ้าน จังหวัดสิงห์บุรี

                       

                           ลงลำนาวา                                 ลอยวารี

                              เพลงเรือแบบนี้                                 มีแต่โบราณ

                          ชาวบ้านนั้นหนา                             ได้มาสังสรรค์

                             เพลงเรือของฉัน                                 เล่นกันพื้นเมือง

                         ชาวนาอยู่ทุ่ง                                 ชาวกรุงอยู่เมือง

                            ช่วยกันยามรุ่งเรือง                               วัฒนธรรมไทย

                         เข้าป่าชมนก                                  เข้ารกชมไม้

                            ลงเรือแจวพาย                                    ชมกุ้งปูปลา

                        เดือนสิบน้ำใส                                  น้ำไหลเข้านา

                            ท่วมตลิ่งชายท่า                                   ฝูงปลาสลอน

                        เดือนสิบเอ็ดจำได้                              ลงไปไหว้พระนอน

                            เข้าบางเสด็จก่อน                                  สาครเย็นใส

                        ยอดผักบุ้งเลื้อยมา                             สันตวาเลื้อยไป

                            ดูช่อบัวไสว                                         อยู่ใต้น้ำก็มี

                       โน่นพังพวยทอดยอด                            โน่นผักปอดค้างปี

                           โน่นผักกระเฉดจักรสีห์                               แพนี้ยอดโต

                       ฝูงปลาวนเวียน                                  โน่นตะเพียนชะโด

                           โน่นสลิดเทโพ                                        ว่ายโอ่คู่กัน

                      โน่นอ้ายแก้วกร้ามกุ้ง                              เข้าทุ่งกอบัว

                           โน่นแก้มช้ำหลายตัว                                  คงมีผัวแมงดา

                       ทางปลากรายไข่ฝาก                             ไว้ที่หลังโพงพาง

                           โน่นปลาอะไรกันจัง                                   อ๋อปลาช่อนหัวสลอน

                       โน่นกระดี่ได้น้ำ                                   ฝนพรำชักซา

                          โน่นปลาหมูโผมา                                      นี่ลิ้นหมาแอบมอง

                      โน่นปลาสร้อยแน่นขนัด                           กุ้งฝัดลอยฟ้า

                          โน่นแน่กระแหทอง                                    กำลังท้องพุงมัน

                      โน่นปลาพรมหัวเหม็น                             ปลากระเบนเท่าจาน

                          ปลาแขยงข้างลาย                                    มีทั้งพันธุ์ปลากา

                      ถอยลำนาวา                                      ออกจากท่าพลัน

                         เที่ยวจรลัน                                             ไปตามลำน้ำชี

                      ชวนนุชสุดสวาท                                   ข้ามผ่านวารี

                         ในน้ำนั้นมี                                              กุ้งหอยปูปลา

              เสียงขับขาน “ชะเออ เอิง เอย” สลับกับเนื้อร้องของแต่ละท่อนในบทเพลง “ชมปลา” จะดังกังวานไปทั่วคุ้งน้ำในยามที่มีงานบุญหรืองานประเพณีตามนักขัตฤกษ์ต่าง ๆ ชาวสิงห์บุรีจะพากันมาเล่นเพลงเรือ โดยนำเอาบทเพลงพื้นบ้านมาขับร้องกันอย่างสนุกสนาน สะท้อนถึงวิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำภาคกลางที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสายน้ำ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน

              ชาวสิงห์บุรีถือว่าตนโชคดี มีความภูมิใจในถิ่นฐานที่กำเนิดและอยู่อาศัย เนื่องจากอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร สอดคล้องกับสำนวนไทยที่มีมาแต่โบราณ ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เพราะแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรีรวมทั้งลุ่มน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เต็มไปด้วยพืชน้ำ สัตว์น้ำที่ชาวบ้านได้อาศัยเป็นแหล่งอาหารและประกอบอาชีพด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ เช่น ลงเบ็ด ทอดแห ยกยอ ลงข่าย วางชะนาง ดักลอบ ดักจัน ซึ่งจะกลายเป็นอาหาร พื้นบ้านที่สร้างความสุขให้แก่ผู้ที่ได้ลิ้มรส

              ด้วยวิถีแห่งลุ่มน้ำ ชาวสิงห์บุรีได้นำพันธุ์ปลาน้ำจืดหลากหลายชนิดที่พบในท้องถิ่นมาเรียบเรียงเป็นบทเพลง เพื่อใช้เล่นเพลงเรือ ในการนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมารู้จักปลาน้ำจืดที่มีชื่อปรากฏในเพลงเรือ ซึ่งนับเป็นปลาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันนี้ เริ่มจากความว่า “ฝูงปลาวนเวียน โน่นตะเพียนชะโด..”

                ปลาตะเพียน (Puntius gonionotus)

              ปลาตะเพียนเป็นปลาที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี นำมาทำเป็นเมนูอาหารจานโปรดของชาวไทยได้หลายชนิด เช่น ตะเพียนต้มเค็ม ตะเพียนทอดกรอบ หรือนำไปทำปลาส้มอันเป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหาร รวมทั้งนำรูปลักษณ์ไปสานเป็นปลาตะเพียนหลายสีร่อนไปมาให้เด็กชม  ลักษณะเด่นของปลาตะเพียนคือ ลำตัวแบนข้าง หัวมีรูปร่างคล้ายรูปกรวย ตากลม ปากกลมมน มีขนาดเล็ก มีหนวดสั้น ๆ ๒ คู่ ครีบอกยาวถึงฐาน ครีบท้อง ครีบหางเว้าลึกเป็นรูปส้อม หัวมีสีน้ำตาลปนเทา ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีเงิน เกร็ดบริเวณด้านข้างของลำตัวมีขอบสีเทาจาง ครีบอก ครีบหลัง และครีบก้น มีสีน้ำตาลปนเทา ปลามีความยาวประมาณ ๓๓ เซนติเมตร ปลาตะเพียนชอบหลบซ่อนอยู่บริเวณกลางแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อยๆหรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่สามารถปรับตัวเข้ากับ สิ่งแวดล้อมได้ดี อาหารที่กิน ได้แก่ พืช แพลงตอนและแมลง

              ปลาชะโด (Channa micropeltes)

              ปลาชะโดเป็นปลาที่ดุร้ายมากและหวงถิ่นเป็นที่สุด โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ในเดือนกรกฎาคม - กันยายน ปลาตัวผู้เป็นผู้ดูแลไข่และแม่ลูกอ่อนจะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้ “ลูกครอกชะโด” ทำให้ร้อยละ ๙๐ ของลูกครอกสามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ต่อไปได้  เป็นผลให้ระบบนิเวศของสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำขาดความสมดุล เพราะปลาอื่น ๆ จะอยู่รอดไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ลักษณะเด่นของปลาชะโดคือ เป็นปลาขนาดใหญ่ ขนาดโตเต็มที่ถึง ๑ -  ๑.๕ เมตร น้ำหนักถึง ๒๐ กิโลกรัม รูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว คล้ายทรงกระบอก พื้นลำตัวสีน้ำตาลอมเขียว ลำตัวมีลายประสีดำกระจายทั่วตัว ส่วนหัวกว้างและแบนลง ตากลม ปากกว้าง ขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง รวมถึงเพดานปากมีฟันเขี้ยวขนาดใหญ่ที่แหลมคม ครีบอก มีรูปร่างกลม ครีบหางมีขนาดใหญ่ ปลาชนิดนี้สีเปลี่ยนไปตามวัย  ปลาชะโดจึงมีชื่อเรียกต่างออกไป เมื่อยังเป็นลูกปลาจะถูกเรียกว่า “ชะโด” หรือ “อ้ายป๊อก” เมื่อโตเต็มที่แล้วจะถูกเรียกว่า “แมลงภู่” ตามสีของลำตัว

              ปลาชะโดมักอยู่ในแม่น้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำลึก อาหารที่กินได้แก่ ลูกปลาและปลาที่มีขนาดเล็กกว่า  ไม่นิยมนำมาทำอาหารมากนัก เพราะเนื้อปลามีรสจืด ส่วนใหญ่จะนำไปทำปลาสับ หรือแล่เนื้อบาง ๆ “ลวกจิ้ม” หากแล่เนื้อหนาผสมสมุนไพรทอดก็จะเป็นอาหารชั้นเลิศ

 

              ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis)

              ปลาสลิดถือเป็นปลาพื้นบ้านในลุ่มน้ำภาคกลางของหลายท้องถิ่น เป็นที่นิยมรับประทานของคนทั่วไปคือ “ปลาสลิดแดดเดียว” เป็นปลาที่สามารถเพาะเลี้ยงได้หลากหลายสภาพแวดล้อม ส่วนใหญ่มักเลี้ยง ในนาข้าว ลักษณะเด่นของปลาสลิดคือ รูปร่างคล้ายปลากระดี่แต่ขนาดโตกว่า หัวมีขนาดค่อนข้างเล็ก ตากลม ปากมีขนาดเล็ก หัวและลำตัวถูกปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็ก ครีบอกยาวและมีขอบตอนปลายกลมมน ครีบหางมีขอบตอนปลายเป็นแบบเว้าตื้น ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีเทาปนเขียว ด้านล่างของหัวและท้องมีสีจาง ด้านข้างของลำตัวมีแถบสีดำขนาดเล็กพาดในแนวเฉียง ครีบอกและครีบท้องมีสีน้ำตาลปนสีเขียว ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเทาดำ ปลาโตเต็มที่มีความยาวถึง ๒๐ เซนติเมตร

              โดยธรรมชาติ ปลาสลิดมักอยู่ในบริเวณที่มีน้ำนิ่งและมีพืชน้ำปกคลุม เช่น ลำคลอง หนองบึง และนาข้าว เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยกำบังตัวและวางไข่ อาหารที่กินได้แก่ แพลงตอน พืชเล็ก ๆ และแมลง ปลาสลิดสามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายประเภท เช่น ยำ ทอด ต้มยำ หรือข้าวผัดได้ นับเป็นปลาที่นิยมรับประทานมากที่สุดชนิดหนึ่ง

                ปลาเทโพ (Pangasius larnaudi)

              ปลาเทโพเป็นปลาที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด ทั้งแกงส้ม แกงคั่ว แกงเผ็ด ฉู่ฉี่ปลาเทโพ รวมทั้ง ปลาเทโพนึ่ง แกล้มกับผักนึ่ง และแจ่วรสชาติจัดจ้านก็เป็นที่นิยม โดยทั่วไปปลาเทโพมีลำตัวค่อนข้างป้อมและแบนข้างเล็กน้อย หัวมีขนาดใหญ่ ปากมีรูปร่างโค้ง ตากลม เมื่อมองจากด้านล่างของหัวสามารถเห็นส่วนของตาได้อย่างชัดเจน ปลามีหนวด ๒ คู่ ครีบอกมีก้านครีบแข็งโค้งยาว ครีบหาง เว้าลึกเป็นรูปส้อม ด้านบนของหัวและลำตัว มีสีเทาดำ ด้านข้างของลำตัวมีสีเทาเงิน ด้านล่างของหัวและส่วนท้องมีสีขาวบริเวณเหนือโคนครีบอกมีจุดวงกลมสีดำขนาดใหญ่ ครีบหลัง ครีบท้อง และครีบหางมีสีเทาดำ ปลาเทโพขนาดใหญ่มีความยาวถึง ๑.๓ เมตร

              ปลาเทโพมักอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลเอื่อย ๆ อาหารของปลาได้แก่ ปลาขนาดเล็ก สัตว์และซากพืช

                ปลาแก้มช้ำ (Systomus rubripinnis)

              ปลาแก้มช้ำเป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายปลาตะเพียนแต่มีลำตัวป้อมกลมกว่า ลักษณะเด่นของปลาแก้มช้ำคือ ที่บริเวณแก้มจะมีสีส้มหรือแดงเรื่อ ลำตัวค่อนข้างแบนข้างเล็กน้อย หัวสั้น ตาใหญ่กลม ปากมีขนาดเล็ก ครีบอกมีขนาดใหญ่และอยู่ตำแหน่งตอนล่างของลำตัว ครีบก้นมีสีแดงเรื่อ ครีบหางสีแดงสดมีแถบสีดำพาดยาวทั้งขอบบนและขอบล่าง

             ปลาแก้มช้ำมักอาศัยในแม่น้ำและหนองบึงทั่วไป จะอยู่รวมเป็นฝูงหากินตามชายฝั่ง ชอบกินแพลงตอน พืชและสัตว์ กุ้ง แมลง และตัวอ่อนเป็นอาหาร นิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและสามารถนํามาปรุงอาหารเหมือนปลาตะเพียนทั่วไป

              ปลากราย (Chitala ornata)

              ปลากรายเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากเนื้อปลากรายมีรสชาติดีสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด คนส่วนใหญ่นิยมบริโภค เช่น ทอดมันปลากราย ลูกชิ้นปลากราย เชิงปลากรายทอดกระเทียม เป็นต้น ปลากรายมีลักษณะลำตัวเรียวและแบนข้างมาก ตอนท้ายของส่วนหัวแบนกว้างมากกว่าส่วนด้านหน้า จะงอยปากสั้น มีตอนปลายกลมมน ตากลม ปากกว้างมาก ปลากรายวัยอ่อนมีแถบสีดำพาดขวางลำตัว แต่เมื่อปลาเจริญวัยขึ้นแถบดังกล่าวนี้ จะเลือนหายไปกลายเป็นจุดสีดำแทน ในปลาโตเต็มวัยมีสีพื้น ลำตัวเป็นสีเงินอมเทา ส่วนท้องและด้านล่างของหัวมีสีเงิน ครีบหลัง ครีบก้นและครีบหางมีสีเทา ครีบอก และครีบท้องมีสีจาง ปลากรายขนาดใหญ่มีความยาวถึง ๑ เมตร

              ปลากรายอาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง หนอง บึงทั่วไป อาหารปลากรายตามธรรมชาติ ได้แก่ ตัวอ่อนของแมลง กุ้ง ลูกปลาขนาดเล็ก และสัตว์น้ำอื่น ๆ ปลาชนิดนี้มีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่น ภาคเหนือเรียกปลาหางแพน ภาคอีสานเรียกว่า ปลาตองกราย เป็นต้น

              ปลาช่อน (Channa striata)

             ปลาช่อนเป็นปลาที่นิยมรับประทานทั่วทุกภาคของประเทศ สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลายประเภท ทั้งนึ่ง ทอด ต้ม แหล่งปลาช่อนที่มีชื่อเสียงคือ “ปลาช่อนแม่ลา” ของจังหวัดสิงห์บุรี ที่สร้างสรรค์อาหารรสเลิศ เมนูหลัก ได้แก่ ปลาช่อนเผา ปลาช่อนแดดเดียว ปลาช่อนผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ปลาช่อนผัดฉ่า ปลาช่อนผัดกระเพรา และปลาช่อนลุยสวน

           ลักษณะของปลาช่อนที่เด่นชัดคือ ส่วนหัวค่อนข้างโต ยาวและแบนเล็กน้อย ลำตัวอ้วนกลมยาวคล้ายรูปทรงกระบอก ปากกว้างมาก หัวและลำตัวมีเกล็ดปกคลุม มีสีเทาจนถึงน้ำตาลอมเทา ครีบหางมีรูปร่างกลม ด้านล่างของหัวและลำตัวมีสีขาว บริเวณลำตัวมีแถบสีดำจาง ๆ พาดในแนวเฉียง ครีบอกมีสีน้ำตาลปนเทา ครีบท้องมีสีขาว ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีเทาดำ ปลาช่อนขนาดใหญ่มีความยาวถึง ๙๐ เซนติเมตร

          ปลาช่อนมักอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ได้แก่ หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ และนาข้าว นอกจากนี้ยังพบในลำคลองและแม่น้ำที่มีน้ำไหล เอื่อย ๆ อาหารของปลาช่อน ได้แก่ ปลาขนาดเล็ก กุ้ง แมลง รวมถึงลูกกบและเขียดขนาดเล็ก มีอยู่ทั่วไปทุกลุ่มน้ำของประเทศไทย

             ปลากระดี่ (Trichopodus)

           ปลากระดี่นับเป็นปลาที่มีความผูกพันกับสังคมไทยมาช้านาน จนถึงกับเปรียบเทียบพฤติกรรมของคนที่แสดงอาการดีใจจนเกินเหตุเป็นสุภาษิตไว้ว่า “กระดี่ได้น้ำ” ปลากระดี่มีหลายชนิด เช่น กระดี่หม้อ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Trichogaster trichopterus กระดี่นางหรือกระดี่แสงจันทร์ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Trichogaster microlepis กระดี่มุก ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Trichogaster leerii ปลากระดี่เป็นปลาในสกุลเดียวกับปลาสลิด และปลาหมอไทย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เช่น ปลากระดี่แสงจันทร์ เพราะมีสีเงินตลอดตัวสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภทรวมทั้งถนอมอาหารเป็นปลาร้าและปลาแห้ง

            ลักษณะโดยทั่วไปหัวและลำตัวแบนคล้ายใบไม้ ตากลมใหญ่ ปากมีขนาดเล็ก ส่วนหัวและลำตัวมีเกล็ดปกคลุม ครีบอกมีรูปร่างกลม หัวและลำตัวมีสีพื้นเป็นสีน้ำตาลจางด้านล่างของหัวและท้องมีสีเงิน ด้านข้างของหัวและลำตัวมีแถบสีเทาจาง ๆ พาดในแนวขวาง ตอนกลางของลำตัวและฐานครีบหางมีจุดวงกลมสีดำเข้ม ครีบอก ครีบท้อง มีสีขาว ครีบหลังและครีบหางมีจุดสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และจุดสีส้มกระจายอยู่ตอนกลางและตอนท้ายของครีบ ขอบด้านนอกของครีบก้นมีสีส้ม ปลามีความยาว ๗ - ๑๔ เซนติเมตร

           ปลากระดี่ชอบอาศัยในบริเวณน้ำนิ่ง เช่น ลำคลอง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ และนาข้าว รวมถึงบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง อาหารของปลากระดี่ ได้แก่ ตัวอ่อนแมลง แพลงตอน สัตว์และกุ้งขนาดเล็ก

              ปลาหมู (Botiidae)

              ปลาหมูจัดเป็นปลาสวยงาม มีหลายชนิด เช่น ปลาหมูหางแดง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Yasuhikotakia eos ปลาหมูขาว ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Yasuhikotakia modesta ปลาหมูข้างลาย ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Syncrossus hymenophysa สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลายประเภทเพราะมีเนื้อนุ่ม ทำได้ทั้งแกง ทอด ต้ม เมนูจานเด็ด เช่น ฉู่ฉี่ปลาหมู แกงอ่อมปลาหมู เป็นต้น

              ปลาหมูเป็นปลาขนาดเล็ก ขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ มีลำตัวยาวและแบนข้างตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากหนา ริมฝีปากล่างแยกออกจากกัน ลำตัว มีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีเทาปนเขียว บริเวณด้านหน้าฐานครีบหางมีแถบสีดำขนาดใหญ่ ครีบอกและครีบหลังมีสีน้ำตาลปนเหลือง ครีบหางมีสีน้ำตาลเข้มและมีจุดสีดำขนาดเล็กกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

              ปลาหมูดำรงชีวิตอยู่บริเวณแก่งหิน โพรงหิน ต้นไม้น้ำ พื้นท้องน้ำของแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีพื้นเป็นหินและมีน้ำไหลเวียน อาหารของปลาหมู ได้แก่ หนอนแดง ไส้เดือนน้ำ ไรทะเลและพืชผัก

                ปลาลิ้นหมา (Cynoglossus microlepis)

              ปลาลิ้นหมา มีชื่อเรียกต่างกันไปในหลายท้องถิ่น เช่น ปลาใบไม้ ปลาลิ้นกระบือ นิยมนำมาทอด หรือทำปลาแห้ง ปลาลิ้นหมามีลักษณะเด่นคือ ลำตัวแบนราบและมีรูปร่างกลมรี ตาเล็กอยู่ชิดกันทางด้านหน้าของลำตัวและยื่นนูนออกมาเล็กน้อย ปากอยู่ตำแหน่งด้านหน้าสุดของส่วนหัว ครีบอกมีขนาดเล็ก มีสีจาง ครีบหลังยาวตลอดลำตัว ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน บริเวณฐานครีบหลังมีแต้มสีดำ บริเวณลำตัวและครีบมีแต้มและจุดสีดำขนาดเล็ก กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ด้านนอกของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางมีสีขาว ปลามีความยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร

              ปลาลิ้นหมามักอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหล ในแหล่งน้ำที่สะอาด สภาพของพื้นท้องน้ำเป็นโคลนหรือทราย ชอบว่ายขนานไปกับพื้นน้ำและจะมุดลงใต้ทรายอย่างรวดเร็วเวลาตกใจ อาหารของปลาลิ้นหมาได้แก่ สัตว์น้ำหน้าดินขนาดเล็ก เช่น ไส้เดือนน้ำ ลูกกุ้ง ลูกปลาขนาดเล็ก ปัจจุบันปลาลิ้นหมาหายากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

                ปลาสร้อย (Cirrhinus jullieni)

              ปลาสร้อยเป็นปลาขนาดเล็กอยู่ในกลุ่มเดียวกับปลาตะเพียน มักอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในฤดูฝนปลาจะมาอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ อพยพออกจากหนองบึงเพื่อไปหาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์และวางไข่ เช่น ในบริเวณทุ่งนาพอถึงฤดูหนาวน้ำเริ่มลดลง ปลาสร้อยก็จะพากันอพยพไปสู่แม่น้ำลำคลองเพื่อเติบโตต่อไป ลักษณะโดยทั่วไปของปลาสร้อย ลำตัวมีรูปร่างคล้ายกระสวย และแบนข้างเล็กน้อย หัวค่อนข้างกว้าง ปากมีขนาดเล็ก จะงอยปากสั้นและกลมมน ตามีขนาดใหญ่ ครีบอกมีขนาดใหญ่ ปลายครีบยาวถึงฐานครีบท้อง ครีบหางเว้าลึกเป็นรูปส้อม ด้านบนของหัวมีสีเทา ด้านข้างมีสีเงิน บริเวณลำตัวมีสีเงินวาว ปลามีความยาวประมาณ ๗ - ๒๐ เซนติเมตร

             ปลาสร้อยอาศัยอยู่ในแม่น้ำ หนอง บึง รวมถึงบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง อาหารของปลาสร้อย ได้แก่ สาหร่าย และแพลงตอน พืช ปลาสร้อยสามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง เมนูเด็ด ได้แก่ ทอดมันปลาสร้อย ลาบหรือพล่า ปลาสร้อย ต้มโคล้งปลาสร้อย แกงสับนกปลาสร้อย

 

 

                ปลากระแหทอง (Barbonymus schwanenfeldii)

              ปลากระแหทองเป็นปลาในกลุ่มเดียวกับปลาตะเพียน มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ปลากระแห ปลาตะเพียนหางแดงมีลักษณะคล้ายปลาตะเพียนแต่รูปร่างสั้นป้อมกว่า ลำตัวแบนข้าง จะงอยปากสั้น และกลมมน ตากลมโต ปากมีขนาดเล็กและเฉียงลงเล็กน้อย มีหนวด ๒ คู่ ริมฝีปาก ครีบหางเว้าลึกเป็นรูปส้อม ครีบหางบนและล่างมีปลายแหลม ด้านบนของหัวมีสีเทาปนเขียว ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีเงิน ตอนบนของลำตัวมีเหลือบสีเขียว วงด้านนอกมีสีเหลือง ครีบหลัง ครีบท้อง ครีบก้น และครีบหางมีสีส้มแดง บริเวณตอนปลายของครีบหลังมีแต้มสีดำ ปลากระแหทองมีขนาดประมาณ ๑๕ - ๓๐ เซนติเมตร

              ปลากระแหทองมักอยู่รวมกันเป็นฝูง ในบริเวณลำคลองและแม่น้ำ อาหารของปลากระแหทอง ได้แก่ พืชน้ำ สาหร่าย และแมลง นิยมนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามและสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารสด ทำปลาร้า และปลาส้มด้วย

               ปลาพรม (Osteocheilus melanopleura)

              ปลาพรมหรือปลาพรมหัวเหม็น เป็นปลาในกลุ่มเดียวกับปลาตะเพียนแต่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้คือ ขนาดโตเต็มที่ถึง 60 เซนติเมตร ชาวบ้านมักเรียกปลาพรมหัวเหม็น เนื่องจากเนื้อมีกลิ่นเหม็นคาวจัด โดยเฉพาะส่วนหัวมีกลิ่นเหม็นเขียว นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และทำเป็นปลาแห้ง

              ปลาพรมเป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ลำตัวค่อนข้างยาว หัวทู่ ตามีสีแดง ปากอยู่ต่ำและมีขนาดเล็ก ริมฝีปากล่างมีติ่งเนื้อเล็ก ๆ อยู่รวมเป็นกระจุก ลำตัวมีสีเทาปนเงิน เกล็ดมีขนาดเล็ก บริเวณข้างลำตัวเหนือครีบอกมีแถบสีดำพาดตามขวาง ๑ แถบ เพศผู้และเพศเมียลักษณะภายนอกเหมือนกัน มีขนาดประมาณ ๔๐ เซนติเมตร

              ปลาพรมมักอยู่รวมกันเป็นฝูง อยู่ในแหล่งน้ำนิ่งและไหล พบทั่วไปในแม่น้ำลำคลอง หนองบึงและอ่างเก็บน้ำทั่วไป ปลาพรมกินพวกตะไคร่น้ำ พืชน้ำตามโขดหินหรือต้นไม้ใต้น้ำเป็นอาหาร

               ปลากระเบนน้ำจืด (Himantura bleekeri)

              ปลากระเบนมีหลายชนิดทั้งปลากระเบนน้ำจืดและน้ำเค็ม ปัจจุบันนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สำหรับปลากระเบนน้ำจืดที่พบมี 6 ชนิด ได้แก่ ปลากระเบนราหูหรือปลากระเบนน้ำจืดเจ้าพระยา ปลากระเบนเฮนไล ปลากระเบนลายเสือ ปลากระเบนลาวหรือปลากระเบนแม่น้ำโขง ซึ่งชาวอีสาน เรียกว่า ปลาฝาไล ปลากระเบนกิตติพงษ์หรือปลากระเบนทราย ซึ่งชาวบ้านกาญจนบุรี เรียกว่า ปลากระเบนเหลือง และปลากระเบนขาว

             กระเบนเป็นสัตว์ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จึงหาได้ยากในแหล่งน้ําธรรมชาติในปัจจุบัน ลักษณะเด่นของปลากระเบนคือลำตัวแบนเป็นแนวราบกับพื้น รูปร่างเป็นแผ่นกลมคล้ายจานบาง ตรงกลางด้านหน้ามีปลายยื่นคล้ายติ่งยาวรี ไม่มีครีบหลัง มีหางที่เรียวแหลมยาวคล้ายแส้ ผิวด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาสีเดียวสม่ำเสมอกันทั่วตัว ปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กละเอียด ตามีขนาดเล็กแต่ใช้มองภาพในน้ำได้ดี ในขณะที่ตัวมุดอยู่ใต้โคลน ลำตัวด้านท้องและครีบก้นเป็นสีขาวขอบดำ ปากเป็นแผ่นคล้ายตะไบ ช่องปากด้านล่างมีตุ่มสั้น ๆ วางเรียงเป็นแถวอยู่ มีเงี่ยง ๑ - ๓ อัน มีขนาดตามขนาดของตัว

              ถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำที่มีความลึก เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง อาหารของปลากระเบนน้ำจืด ได้แก่ กุ้ง หอย ปลา รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น หนอน เป็นต้น

 

             ปลาแขยงข้างลาย (Mystus vittatus)

            ปลาแขยงมีหลายชนิด เช่น แขยงธง แขยงหิน แขยงใบข้าว แขยงจุด แขยงนวล ในอดีตปลาแขยงมีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบันแม่น้ำหลายแห่งไม่พบปลาแขยงเลย และบางแหล่งพบน้อยมาก นิยมทำเป็นอาหาร ประเภท ผัดเผ็ดหรือต้มยำ สำหรับปลาแขยงข้างลายเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ด มีขนาดค่อนข้างเล็ก ลักษณะเด่นคือ มีสีดำพาดยาวของลำตัว ทำให้สามารถแบ่งชนิดของปลาแขยงได้ ลักษณะโดยทั่วไปคือหัวแหลมปากเล็ก ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย ปากอยู่ในตำแหน่งปลายสุดของส่วนหัว ตากลม มีหนวด ๔ คู่ ครีบหางเว้าลึกเป็นรูปส้อม บริเวณด้านข้าง ของลำตัวมีแถบยาวสีดำ จำนวน ๓ แถบ บริเวณเหนือโคนครีบอกมีจุดวงกลมสีดำขนาดเล็กที่ถูกล้อมรอบด้วยวงสีขาว ครีบทุกครีบมีสีเทา ขอบส่วนปลายของครีบหางมีสีเทาดำ ปลามีความยาวประมาณ ๑๐ - ๑๘ เซนติเมตร

          ปลาแขยงมักอาศัยอยู่ในลำคลองและแม่น้ำโดยชอบดำรงชีวิตอยู่รวมกันเป็นฝูงในบริเวณที่มีรากไม้ หรือตอไม้ ใต้น้ำ อาหารของปลาแขยงข้างลาย ได้แก่ แพลงตอน กุ้ง แมลงน้ำ ซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

               ปลากาดำ (Labeo chrysophelkadion)

             ปลากาดำเป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มปลาตะเพียน เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีเนื้อมาก นิยมนำมาปรุงเป็นลาบ น้ำยาหรือทำปลาร้า บางคนนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม   ปลากาดำมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ภาคเหนือเรียก “เพี้ย” ภาคอีสานเรียก “อีตู” หรือ “อีก่ำ” ลักษณะเด่นคือ รูปร่างป้อม หลังป่องออก ครีบหลังสูง โดยทั่วไปมีลำตัวแบนข้าง หัวมีขนาดเล็กรูปร่างคล้ายกรวย ตากลมอยู่ตอนบนของหัว ปากกลมมนมีรูปร่างโค้งคล้ายพระจันทร์เสี้ยว ริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างเป็นหยัก ครีบอก อยู่ตำแหน่งตอนล่างของลำตัว ครีบหลังมีฐานยาว ครีบหางเว้าลึกเป็นรูปส้อม ลำตัวมีสีพื้นเป็นสีดำ ด้านล่างของลำตัวมีสีจาง หนวดและครีบมีสีดำ ส่วนกลางของตามีสีดำวง ปลากาดำโดยทั่วไปมีความยาว 0 เซนติเมตรและโตเต็มที่ยาวประมาณ ๙๐ เซนติเมตร

           ปลากาดำอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดกลางและแม่น้ำขนาดใหญ่  รวมถึงบริเวณที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง โดยดำรงชีวิตอยู่บริเวณเหนือพื้นห้องน้ำ อาหารของปลากาดำ ได้แก่ แพลงตอน พืชและซากอินทรียสาร

           จากบทชมปลาในเพลงเรือพื้นบ้าน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำในจังหวัดสิงห์บุรี ก่อให้เกิดเมนูอาหารปลาน้ำจืดหลากหลายชนิด อันเป็นที่มาของเทศกาลกินปลา ที่จัดเป็นประจำทุกปีจนถึงทุกวันนี้

           บทเพลงชมปลาจบลงอย่างออดอ้อนว่า “ชวนนุชสุดสวาท ข้ามผ่านวารี ในน้ำนั้นมี กุ้งหอยปูปลา” ซึ่งนอกจากให้ความรู้เรื่องพันธุ์ปลาน้ำจืดที่พบเห็นได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังสะท้อนถึง วิถีการดำรงชีวิตและการละเล่นของชาวสิงห์บุรีที่ผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน เราสามารถลิ้มรสอาหารปลาอันเลื่องชื่อของชาวสิงห์บุรี ได้ในเทศกาลกินปลาและของดีเมืองสิงห์บุรีที่จัดเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ทั้งยังได้ร่วมสืบสาน “แม่ครัวหัวป่า” ถิ่นกำเนิดของตำนานอาหารคาว - หวานที่มีชื่อเสียงในอดีต ซึ่งถือเป็น หนึ่งในวิถีภาคกลางของไทยที่ชาวสิงห์บุรีภาคภูมิใจ

 

 

ขอบคุณภาพและเนื้อหาบทความจาก

หนังสือ สิงห์บุรี วีรชนคนกล้า : สายธาราวัฒนธรรม

3,117 views

0

แบ่งปัน