คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

หม้อห้อม หรือ ม่อฮ่อ

แท้จริงแล้วควรเขียนอย่างไร

“หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ

ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม”

          คำขวัญจังหวัดแพร่ มีคำว่า “หม้อห้อม” ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของเมืองแพร่ จากผืนผ้าทอมือและกรรมวิธีการย้อมแบบดั้งเดิม หม้อห้อมในที่นี้คือผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบสีขาว ที่นำไปย้อมให้กลายเป็นสีกรมท่า หรือสีครามเข้ม เป็นที่นิยมและรู้จักกันคือ “เสื้อหม้อห้อม” ใส่กันได้ทั้งหญิงและชาย หม้อห้อม เป็นคำในภาษาเหนือมาจากการรวมคำ 2 คำ คือคำว่า “หม้อ” และคำว่า “ห้อม” เข้าด้วยกัน

          หม้อ หมายถึง ภาชนะอย่างหนึ่งที่ใช้บรรจุน้ำหรือของเหลวต่างๆ

          ห้อม หมายถึง ชื่อพืชล้มลุกประจำถิ่นชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านนำเอาลำต้น กิ่งและใบมาหมักในน้ำตามกรรมวิธีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ จะให้น้ำออกมาเป็นสีคราม

          “หม้อห้อม” เป็นเสื้อที่ทำจากผ้าฝ้ายย้อมสีคราม มีลักษณะเฉพาะคือ คอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น มีทั้งแบบที่ใช้กระดุมกลัดและที่ใช้ผ้าเย็บเป็นเชือกผูก เสื้อหม้อห้อมเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเริ่มที่จังหวัดแพร่ โดยชาวลาวพวนที่อพยพเข้าไปอยู่ที่เมืองแพร่ได้ทำเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีครามดำออกจำหน่ายแก่คนงานและลูกจ้างที่ทำป่าไม้ ต่อมาจึงได้รับความนิยมซื้อสวมใส่กันอย่างแพร่หลาย

          “ม่อฮ่อม” โดยแท้จริงไม่ได้หมายถึงเสื้อคอกลม ผ่าอก แขนยาวหรือแขนสั้น แต่หมายถึงสีของเสื้อที่เป็นสีครามอมดำ

แท้จริงแล้วคำว่า หม้อห้อม หรือ ม่อฮ่อมเขียนอย่างไรกันแน่

          ราชบัณฑิตยสถานได้ปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 มาเป็นพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ. 2525 นั้น คณะกรรมการได้เห็นควรให้ใส่คำว่า “หม้อห้อม” เพิ่มเติมเข้าไป และเก็บในรูปที่เขียนว่า “ม่อฮ่อม” ตามที่นิยมใช้เขียนกันโดยทั่วไป ต่อมามีนักภาษาที่ศึกษาทางด้านภาษาถิ่นพายัพได้แสดงความคิดเห็นและแสดงผลการศึกษาเทียบเสียงคำไทยภาคเหนือกับคำไทยกรุงเทพฯ แล้ว เห็นว่าคำนี้ควรเขียนว่า “หม้อห้อม” จึงจะถูกต้อง คณะกรรมการชำระพจนานุกรมจึงได้หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาหาข้อยุติ ในการพิจารณา คณะกรรมการฯ มีความเห็นแตกต่างกันคือ ที่เห็นว่าควรเขียน “ม่อฮ่อม” อย่างที่คนทั่วไปใช้ เพราะ ม่อฮ่อม เป็นคำ 2 คำที่ใช้ร่วมกันคือ มอ หรือ ม่อ มีความหมายว่า “สีมืด สีคราม”

          หลักการใช้สีเบญจรงค์ตามขนบนิยมของชาวไทยโบราณในภาคกลาง เรียกว่า “มอ” หรือ “สีมอ” เช่น มอคราม หรือ สีครามม่อ หมายถึง สีครามอมดำ แต่ชาวล้านนาออกเสียง “มอ” เป็น “ม่อ” บางคนจึงเข้าใจผิดพยายามลากคำนี้ให้เป็น “หม้อ” โดยหมายว่าเป็นภาชนะสำหรับใส่สีย้อมผ้า ทั้งนี้เพราะลืมคำเรียกสีมอซึ่งเป็นคำภาษาไทยเดิมไป ส่วนคำว่า “ฮ่อม” หมายถึง คราม คือสีครามซึ่งไม่ใช่สีวิทยาศาสตร์ แต่เป็นสีครามที่ได้จากต้นฮ่อมหรือห้อม ซึ่งเป็นไม้ล้มลุก ต้นเป็นพุ่ม โดยใช้ใบและต้นมาโขลกแล้วแช่น้ำซาวข้าว ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน จึงรินเอาแต่น้ำสีครามมาต้ม ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยแล้วนำด้ายฝ้ายมาย้อมน้ำต้มสีนี้ 2-3 ครั้ง จนด้ายออกสีเข้มตามต้องการ

          ในพจนานุกรมภาษาภาคเหนือจัดทำโดย จ.จ.ส. เมื่อ พ.ศ. 2499 อธิบายคำนี้ไว้ว่า “ฮ่อม” หมายถึง สีคราม และหนังสือหลักภาษาไทยพายัพ ของพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2512 อธิบายคำนี้ไว้เช่นกันแต่เขียนในรูปของคำว่า “ห้อม” ดังนั้น คำนี้ควรเขียนว่า ม่อฮ่อม หรือ ม่อห้อม แต่ไม่ควรเขียนว่า หม้อห้อม เพราะคำว่า “หม้อ” จะทำให้ความหมายของคำนี้คลาดเคลื่อนไปเป็นผ้าที่ย้อมในหม้อ มิใช่ผ้าที่ย้อมเป็นสีมอหรือสีครามตามความเป็นจริง และไม่ว่าจะเขียนเป็นม่อฮ่อม หรือ หม้อห้อม ในภาษาภาคกลาง (ภาษาไทยกรุงเทพฯ) จะออกเสียงวรรณยุกต์โทเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงการเขียนตัวสะกดใหม่จะทำให้สับสนได้

          ส่วนที่เห็นว่าไม่ควรเขียนว่า ม่อฮ่อม เพราะไม่ถูกต้องตามวิธีเทียบเสียงคำไทยพายัพกับภาษาไทยกรุงเทพฯ แม้ว่า ม่อฮ่อม และ หม้อฮ่อม ภาษาไทยกรุงเทพฯ จะออกเสียงเหมือนกันก็ตาม แต่ภาษาถิ่นพายัพจะออกเสียง ๒ คำนี้แตกต่างกัน จากการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์มณี พยอมยงค์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ประคอง นิมมานเหมินท์ ได้ถ่ายเสียงคำนี้ไว้ตรงกันว่า หม้อห้อม พจนานุกรมภาษาไทยกรุงเทพฯ-ไทยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นรายงานประกอบการศึกษาวิชาการทำพจนานุกรมของนิสิตปริญญาโท ประจำปีการศึกษา 2523ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงวิธีเทียบเสียงคำไทยเชียงใหม่กับคำไทยกรุงเทพฯ ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสียงวรรณยุกต์ยืนยันได้ว่า เสียงวรรณยุกต์โท ในภาษาไทยกรุงเทพฯ เป็นคนละเสียงกับในภาษาไทยพายัพ เสียงของคำนี้ที่ภาษาไทยกรุงเทพฯ เขียนว่า ม่อฮ่อม ตรงกับเสียงในภาษาไทยพายัพที่เขียนเป็นรูปตัวสะกดว่า หม้อห้อม นอกจากนี้พจนานุกรมภาษาถิ่น-พายัพ ฉบับอื่น ๆ ก็เก็บคำนี้ไว้ในรูปตัวสะกดตรงกัน คือ หม้อห้อม ดังนี้

          พจนานุกรมไทยพวน-อังกฤษ รวบรวมโดย นายเมธ รัตนประสิทธิ์

                    “หม้อห้อม น. ห้อม. น. คราม สีน้ำเงินที่ได้จากต้นคราม. indigo.”

          พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2533 ร่างที่ 2

                    “หม้อห้อม น. หม้อที่บรรจุ ห้อม คือ ครามที่หมักไว้ย้อมผ้าและเรียกผ้าที่ผ่านการย้อมดังกล่าวว่า ผ้าหม้อห้อม.”

                    “ห้อม น. ต้นครามอย่างที่ใช้ย้อมผ้าให้เป็นสีครามซึ่งมีอยู่หลายชนิด.”

          พจนานุกรมไทยพวน จัดพิมพ์โดยมูลนิธิไทยพวน

                    “ห้อม น. น้ำคราม (สีครามที่ทำจากใบพืชที่เรียกว่า ต้นคราม นำต้นครามมาแช่น้ำจนเน่าเปื่อยแล้วกรองเอากากออกทิ้งผสมน้ำด่าง เถาไม้สะแก ลงไปในน้ำครามตามส่วน แล้วคนด้วยไม้หรือมือทุกเช้าเย็นจนใช้ได้ แล้วกรองไว้อีกทีหนึ่ง เก็บไว้ในหม้อหรือไหเพื่อใช้ย้อมผ้าต่อไป).”

          ในพจนานุกรมเล่มนี้ ยังเก็บคำ ฮ่อม ไว้ดังนี้

                    “ฮ่อม น. ช่องทาง แนวทาง ระเบียบ จารีตประเพณี (ห้อม หมายถึงน้ำครามที่ใช้ย้อมผ้า).”

          จากเหตุผลและเอกสารประกอบการพิจารณาคณะกรรมการชำระพจนานุกรม จึงเห็นว่าควรเขียนคำนี้ในรูปที่ยึดหลักแนวเทียบเสียงคำทางภาษาศาสตร์คือ ให้ยุติในรูปของการเขียนว่า “หม้อห้อม” แต่เพื่อกันมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “หม้อ” ในคำว่า “หม้อห้อม” หมายถึงภาชนะบรรจุน้ำสำหรับย้อมโดยจะเข้าใจเป็นว่า ผ้าหม้อห้อมหรือเสื้อหม้อห้อมคือ ผ้าหรือเสื้อที่ย้อมในหม้อ มิใช่ผ้าหรือเสื้อที่ย้อมด้วยสีจากต้นห้อมซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องย้อมในภาชนะที่เป็นหม้อก็ได้ เพราะการย้อมด้วยห้อมเป็นการย้อมเย็น ไม่ต้องนำไปต้ม จึงให้อธิบายต่อท้ายคำนิยามเดิมของคำ ม่อฮ่อม (ซึ่งแก้ไขการเขียนคำตั้งใหม่เป็น หม้อห้อม) ว่า “เขียนเป็น ม่อห้อมหรือม่อฮ่อม ก็มี”

          แท้จริงแล้วคำว่า หม้อห้อม หรือ ม่อฮ่อมเขียนอย่างไรกันแน่นั้น คำตอบก็คือควรใช้คำว่า “หม้อห้อม”นั่นเอง

8,953 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดแพร่