สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
เริ่มต้น..
เหมือนจะรู้ว่าต่อไปภายหน้ากรุงหงสาวดีจะสูญสิ้น หลงเหลือให้ได้ยินเพียงชื่อและเรื่องราวผ่านคำเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้
เหล่าบรรดาพ่อกว่านผู้ปกครองจำต้องคิดการณ์ไกลเสาะหาหนทางใหม่ที่สงบร่มเย็น เหมาะแก่การตั้งเป็นถิ่นฐานเพื่อดำรงพงศ์เผ่าสืบต่อไปมากกว่าเมืองที่อาศัยในปัจจุบัน
นั่นจึงเป็นปฐมบทของการอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มอญเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา
การเดินทางอันยาวนานผ่านหลายภูมิประเทศทั้งทุ่งนา ป่าเขา แม่น้ำ กระจัดกระจายกันไปคนละทิศทาง เมื่อต่างพบชัยภูมิที่เหมาะสมจึงพากันปักหลักตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมือง
โดยชาวมอญกลุ่มหนึ่งได้เลือกเอาทำเลแถบลุ่มน้ำแม่กลอง (ในเขตอำเภอบ้านโป่งและอำเภอโพธารามปัจจุบัน) เป็นที่อยู่อาศัยดำเนินชีวิตร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในละแวกใกล้เคียง
อย่างสงบเรื่อยมา นานวันจึงเกิดการแลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณี มีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างกัน จนกระทั่งกลายมาเป็นชุมชนและผู้คนตราบเท่าทุกวันนี้
๑.
ชาวมอญ นั้นได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ฝักใฝ่และศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทั้งยังมีความเชื่อว่าการสร้างวัดจะได้บุญมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงมีวัดประจำหมู่บ้าน
ตั้งเรียงรายอยู่ในทุกชุมชน เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสทำบุญอย่างสะดวกสบาย สองฝั่งน้ำแม่กลองแถบนี้มีวัดสำคัญอยู่ ๒ แห่ง ซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมของศาสนิกชนชาวมอญ
วัดแห่งแรกคือ "วัดม่วง" ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ จากหลักฐานในคัมภีร์ใบลานภาษามอญระบุว่า วัดม่วง ก่อสร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๒๑๘๑ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของ
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นับเนื่องมาถึงปัจจุบันมีอายุได้เกือบสี่ร้อยปี
แม้ผ่านเวลามายาวนาน แต่ร่องรอยแห่งความงดงามของวัดยังพอหลงเหลือให้ชื่นชม ทั้งลวดลายปูนปั้น งานแกะสลัก และภาพจิตรกรรม
ที่แต่งแต้มบริเวณหน้าบันของพระอุโบสถหลังเก่า บนบานหน้าต่างโดยรอบ รวมทั้งผนังบานประตูทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและชื่นชมยิ่งนัก
เดินเลยมายังริมน้ำจะพบกับเจดีย์(มุเตา) ขนาดใหญ่แบบมอญ เคียงข้างด้วยเสาหงส์ซึ่งบ่งบอกเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์
ว่ากันว่าเสาหงส์ในวัดมอญส่วนใหญ่ที่พบ มักหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งของ 'เมืองหงสาวดี' อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่จากมา
เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าสักวันหนึ่งคงได้กลับไปกอบกู้เอกราชพร้อมฟื้นคืนชนชาติมอญให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
๒.
เยื้องไปทางทิศเหนือฝั่งขวาของลำน้ำ มีวัดเก่าแก่อีกแห่งที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลังการก่อสร้างวัดม่วงไปแล้วหลายสิบปี
(บางหลักฐานบ่งชี้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่ไปจนถึงยุคอาณาจักรทวารวดีเลยทีเดียว) วัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดใหญ่นครชุมน์" ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนชาวมอญ
แห่งลุ่มน้ำแม่กลองและพื้นที่ใกล้เคียง ภายในวัดมี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางประทานพร ประดิษฐานอยู่บน "วิหารปากี"
สร้างด้วยโลหะผสมสีดำสนิทนามว่า "หลวงพ่อพญาแล" มีสาวกอยู่ด้านซ้ายและขวา ซึ่งถอดแบบมาจากรูปลักษณ์ของชาวรามัญ นัยว่าคือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร
อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างด้วยปูนปั้น มีลักษณะต่างจากที่เคยพบเห็นที่วัดอื่น คือ
เป็น 'พระพุทธไสยาสน์นอนตะแคงซ้าย'
ลานด้านในมี พระอุโบสถเก่าแก่ ประดับลวดลายเรียบง่ายตามยุคสมัย ตั้งตระหง่านอยู่ใต้ร่มไม้มาเนิ่นนาน ปัจจุบันมีร่องรอยแตกร้าวปรากฎให้เห็นทั่วไปหมด
มองดูแล้วรู้สึกเสียดาย เพราะอีกไม่นานโบสถ์หลังนี้คงพังทลายลงเพราะมิอาจซ่อมแซมได้อีกแล้ว สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสลายไปตามกาล มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด
นี่คือหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เนิ่นนานกว่าสองพันปี ไม่ว่าจะเป็นรอยร้าวรอบผนังพระอุโบสถ หรือสายน้ำคดเคี้ยวที่กั้นกลาง
แต่ก็มิอาจกีดขวางวิถีทางของชุมชนสองฝั่งน้ำได้แต่อย่างใด ทุกครั้งที่มีงานบุญสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านและวัดทุกแห่งทั่วคุ้งน้ำจะร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขัน
ไปรวมตัวกันจัดทำพิธีสังฆกรรม ณ วัดใหญ่นครชุมน์ นับเป็นความสามัคคีกลมเกลียวสายใยแห่งชาติพันธุ์ที่สืบต่อกันมาเนิ่นนาน
๓.
เวลา..อาจเดินทางมาพร้อมความเสื่อมสลาย
บางที
เวลา..อาจเดินทางมาพร้อมความผูกพันมิเสื่อมคลาย
แต่ไม่ว่าเวลาจะเดินทางมาพร้อมเหตุผลใด
สิ่งเดียวที่เราทำได้คือผ่านช่วงเวลานั้นไปพร้อมกัน
ปัจจุบัน ทางวัดได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธี และให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาไหว้พระทำบุญตามกำลังศรัทธา
โบสถ์หลังเก่าถูกปิดลงและไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป คงเหลือเพียงหน้าที่สุดท้าย ให้ผู้คนผ่านเข้ามาชื่นชมร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีต
และย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมไปพร้อมกัน
ส่งท้าย..
สายน้ำแม่กลอง ยังคงเอื่อยไหลไม่เคยหยุด ริมฝั่งบางแห่งทรุดเพราะการกัดเซาะของสายน้ำ บางสันดอนเลือนหายเพราะผ่านสัมปทานการขุดทราย
ตลิ่งสูงเรียงรายตลอดแนวสองฟากฝั่งนที ผู้คนยังคงดำเนินไปตามวิถี แต่ศรัทธายังคงมีไม่เปลี่ยนแปลง