คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

มหาสารคามเมื่อตะวา

การเมืองเรื่องอำนาจในมหาสารคามสมัยรัชกาลที่ 4-5

การเมืองเรื่องอำนาจในมหาสารคามสมัยรัชกาลที่ 4-5[1]

                มหาสารคามเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคอีสาน มีสภาพภูมิศาสตร์อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ มีหลักฐานทางโบราณคดีปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในท้องถิ่น มีวัฒนธรรมที่หลากหลายอาทิเช่น วัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมขอม วัฒนธรรมล้านช้าง และวัฒนธรรมไทย ตลอดประวัติศาสตร์เป็นเวลาหลายศตวรรษได้มีหลักฐานยืนยันว่ามหาสารคามมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่า ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อเลี้ยงสังคมยุคเก่าให้มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้น ทั้งระบบความคิด ระบบการจัดการกับธรรมชาติ

            เมื่อวัฒนธรรมล้านช้างได้ก้าวขึ้นมาครอบงำสังคมอีสานในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 วัฒนธรรมเหล่านี้ได้กลืนกลายรูปแบบทางวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งเป็น วัฒนธรรมแบบขอมไปจนหมดสิ้นอาทิเช่น การเปลี่ยนรูปเคารพในเทวสถาน ซึ่งแทนที่ด้วยพระพุทธรูปในพระพุทธศาสนาจะพบเห็นได้ตามเมืองโบราณต่าง ๆ ของมหาสารคามอาทิเช่น เมืองโบราณกันทรวิชัย เมืองโบราณจำปาศรี เป็นต้น

            ล่วงเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 24 วัฒนธรรมแบบรัตนโกสินทร์ได้แผ่ขยายอำนาจเข้าสู่อีสาน ซึ่งเกิดจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ ความเสื่อมอำนาจของราชวงศ์ลาวที่กรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้นำไปสู่ความขัดแย้งของชนชั้นสูงและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมือง การลี้ภัยของขุนนางเวียงจันทน์สองคนคือพระวอพระตา ได้ส่งผลให้เกิดสร้างปฏิสัมพันธ์กับชนชั้นนำสยามซึ่งมีหลักฐานปรากฏชัดเจนมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงธนบุรี อาทิเช่น พระราชสาส์นถึงกษัตริย์เวียงจันทน์ พ.ศ.2314-2318 ความขัดแย้งภายในราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และล้านช้างจำปาศักดิ์ รวมทั้งการแข็งเมืองของเมืองนางรอง ได้ก่อให้เกิดชนวนสงครามที่ดึงกองทัพจากสยามเข้าร่วมโรมรัน

            ภายหลังที่พระเจ้ากรุงธนบุรีพิชิตหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ได้สำเร็จแล้วใน พ.ศ.2321 ระบบบรรณาการในหัวเมืองประเทศราชฝั่งตะวันออกจึงเริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 มหาสารคามยังไม่มีข้อมูลอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สยามจนกระทั่ง การสั่งสม “เลก” เป็นจำนวนมากของเมืองร้อยเอ็ด ชนชั้นนำสยามได้ตระหนักดีว่า การมีเลกจนล้นเมืองอาจเป็นภัยอันตรายที่อาจนำไปสู่การแข็งเมืองของเจ้าเมืองในหัวเมืองลาวตะวันออก การแยกตั้งเมืองบริวารของร้อยเอ็ดขึ้นใหม่เป็นนโยบายสำคัญของชนชั้นนำสยามที่ต้องการลิดรอนอำนาจของเจ้านายท้องถิ่นร้อยเอ็ด ดังปรากฏหลักฐานในสารตราตั้งเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2408[2] การโอนย้ายเลก หรือประชากรออกจากร้อยเอ็ดเป็นแผนการที่ราชสำนักต้องป้องกันไม่ให้เกิดการก่อกบฏแข็งเมือง

            อย่างไรก็ตามเริ่มมีการสำรวจเมืองใหม่มาก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2404[3] ปี พ.ศ.2412 ราชสำนักสยามได้แยกเมืองมหาสารคามให้เป็นเอกเทศจากเมืองร้อยเอ็ดโดยมีอำนาจว่าความตัดสินโทษได้เอง หลังจากการสร้างเมืองได้ไม่กี่ปี จำนวนประชากรก็เพิ่มขึ้น ทางการจึงต้องตั้งเมืองบริวารของมหาสารคามขึ้นอีกเมืองเพื่อลดปัญหาประชากรล้นเมือง โดยตั้งเมืองกันทรวิชัยขึ้นทางเหนือของมหาสารคาม มหาสารคามเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่มีพัฒนาการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ธรรมเนียมแบบอย่างในการดำรงชีวิตของชาวเมืองในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยังคงยึดถือแนวปฏิบัติตามแบบวัฒนธรรมล้านช้าง ซึ่งเป็นรากเหง้าของสังคมชาวอีสานมาแต่โบราณ

            แม้จะมีความพยายามในการรักษาอัตลักษณ์และรูปแบบทางวัฒนธรรมภายหลังการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ราชธานี ใน พ.ศ.2435 ท้ายที่สุดราชสำนักสยามได้ตระหนักดีว่าปัญหาสำคัญนอกจากภัยคุกคามจากภายนอกประเทศที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว การจัดการอำนาจภายในท้องถิ่นเป็นนโยบายสำคัญด้วยเช่นกัน รัฐบาลราชสำนักเริ่มแผนการลดอำนาจของชนชั้นนำท้องถิ่นลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งข้าหลวงจากราชธานีไปกำกับราชการตามหัวเมือง มีการยกเลิก “ระบบกินเมือง” และแทนที่ด้วยระบบเทศาภิบาลในปี พ.ศ.2435[4]

            ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจครั้งสำคัญต่อระบบชนชั้นนำท้องถิ่นเมืองมหาสารคามเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2455 เมื่อทางราชธานีได้ส่งหม่อมเจ้านพมาศนวรัตน์ มาเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมือง เกิดการยุบระบบเจ้าเมือง สถานะความเป็นเจ้านายท้องถิ่นได้สิ้นสุดลง เจ้าเมืองมหาสารคาม ท้าวอุ่นได้กลายมาเป็นที่ปรึกษาราชการเมือง จึงอาจนับได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจภายในได้เริ่มต้นตั้งแต่ปีดังกล่าว นอกจากนี้แล้ว ระบบการศึกษายังมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมลูกหลานชาวมหาสารคามให้กลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองในครึ่งหลังของทศวรรษ 2470 ด้วย

            ความเปลี่ยนแปรในกระแสธารทางประวัติศาสตร์ของเมืองมหาสารคามมิได้มีเพียงแค่การสิ้นสุดของระบบกินเมืองเท่านั้น การดำเนินนโยบายสร้างทางรถไฟเข้าสู่หัวเมืองอีสานได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของมหาสารคามด้วย โดยเกิดจากการหลั่งไหลของชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นอีสานตอนเหนือ ชาวจีนกลุ่มแรก ได้กลายมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจของมหาสารคามตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

            โดยสรุปแล้วมหาสารคามถือเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของประเทศในฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรของป่าซึ่งป้อนผลผลิตให้กับราชสำนักสยามมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำพาความเจริญ และความทันสมัยเข้าสู่เมืองอย่างรวดเร็ว มหาสารคามเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับภาวะความทันสมัยที่กำลังเข้าครอบครองพื้นที่ความทรงจำของประชาชน ความเปลี่ยนแปลง ดังที่กล่าวมาแล้วเกิดขึ้นจาก การสถาปนาอำนาจของชนชั้นนำสยามที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบชนชั้นนำท้องถิ่นอีสานแทบทุกหัวเมือง ซึ่งในฉากสุดท้ายภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 ระบบการสืบสายโลหิตก็ได้สูญสิ้นไปจาก ความทรงจำของการรับรู้ของชาวมหาสารคามไปโดยสิ้นเชิง

 

[1] พีรภัทร ห้าวเหิม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

[2] ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2555). มหาสารคามมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : แม่คําผาง.

[3] สุทิศา เปี่ ยมเมรางค์. (2530). ประวัติวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม. การศึกษาอิสระ วิชาโทบรรณารักษ์ศาสตร์. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม, หน้า 1.

[4] ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (2528). การเมืองท้องถิ่น : ศึกษาเฉพาะกรณีเทศบาลเมืองมหาสารคาม พ.ศ.2511-2528. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา, หน้า 2.

4,505 views

4

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดมหาสารคาม