กำลังโหลดข้อมูล

คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

มิวเซียมไทยแลนด์

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

30 พฤษภาคม 2562

ชื่นชอบ 530

10,619 ผู้เข้าชม

แกลเลอรี

ข้อมูลพิพิธภัณฑ์

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่บนเขา “ภูพระบาท” ภูเขาขนาดย่อมลูกหนึ่งของเทือกเขาภูพาน อันเป็นแนวขอบด้านทิศตะวันตกของเเอ่งสกลนคร ซึ่งอยู่ในเขตคาบเกี่ยวระหว่างตำบลเมืองพานและตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี  ภูเขาลูกนี้มีพื้นที่ทั้งหมด ๓,๔๓๐ ไร่ เป็นพื้นที่ของเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ” 

 

ชื่อ “ภูพระบาท” มีที่มาจากรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนเทือกเขาแห่งนี้ และภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทยังมีเสาหินและเพิงหินขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่ทั่วไป เพิงหินเหล่านี้เป็นหินทรายของหมวดหินภูพาน มีอายุอยู่ในสมัยครีเทเชียส ราว ๑๓๐ ล้านปีมาแล้ว ที่ถูกกระบวนการทางธรรมชาติกัดเซาะ (โดยน้ำและลม) มาเป็นเวลาหลายล้านปีจึงทำให้สภาพภูมิประเทศแปรเปลี่ยนเป็นเสาหินและเพิงหินรูปร่างสวยงามแปลกตาเช่นในปัจจุบัน

 

ปี พ.ศ.๒๕๓๕  กรมศิลปากร ดำเนินการก่อตั้ง “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” ขึ้นเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาในส่วนที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถานทั้งหมดภายในพื้นที่ของภูพระบาท โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕  และได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด

 

โบราณสถานที่น่าสนใจภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อาทิ 

 

หอนางอุสา   ถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ มีความสูง ๑๐ เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่า หอนางอุสามีอายุเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖ โดยถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ด้านบนหอนางอุสามีการก่อผนังด้วยก้อนหินทราย และสกัดเนื้อหินข้างในให้กลายเป็นห้องคูหา สันนิษฐานว่าด้านในอาจใช้เป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือ เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

 

ถ้ำพระ มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆรูปร่างแคบยาว ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานของศาสนาพุทธ หลักฐาน คือ ที่ผนังใต้เพิงหินมีการสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่รอบด้าน ทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มหน้าบัน พระพุทธรูปยืนขนาดเล็กยืนเรียงกัน ๖ องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆเรียงรายอยู่ทั่วทั้งผนังเพิง ซึ่งนักวิชาการระบุว่าพระพุทธรูปสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปกรรมผสมผสานกันระหว่างศิลปะสมัยทวารวดีและศิลปะเขมร(ศิลปะลพบุรี) จึงสันนิษฐานว่าศาสนสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุช่วงสมัยปลายทวารวดี – สมัยลพบุรี ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะเขมรเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นและแพร่กระจายเข้ามาในดินแดนประเทศไทย

 

กู่นางอุสา (กี่นางอุสา) มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติมีขนาดกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาว ๓ เมตร สูง ๔ เมตร  หลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏอยู่มีสองสมัยคือหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ ภาพเขียนสีบนผนังด้านตะวันตก และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์คือหลุมสกัดพื้นที่ใต้เพิงซึ่งน่าจะใช้ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระพุทธรูปและใบเสมาหินที่ปักอยู่ทั้ง ๘ ทิศ และพบหลุมเสากลมเรียงเป็นกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบแนวใบเสมาอีกชั้นหนึ่ง(อาจเป็นหลุมเสารั้ว)

 

หีบศพพ่อตา โบราณสถานแห่งนี้มีขนาดประมาณ ๕ X ๖ เมตร สูงราว ๕ เมตร เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ถ้ำมือแดง” เป็นเพิงหินธรรมชาติที่พบหลักฐานทางโบราณคดีคือภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และร่องรอยการสกัดพื้นหินใต้เพิงให้เรียบ จึงสันนิษฐานว่าหีบศพพ่อตาน่าจะถูกใช้งานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ 

 

ถ้ำวัว – ถ้ำคน เป็นโบราณสถานที่อยู่ในเพิงหินเดียวกัน เป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นของอุทยาน  ตัวเพิงหินมีลักษณะเป็นชะง่อนขนาดใหญ่ใช้กันแดดฝนได้ มีขนาดประมาณ  ๑.๕ X ๔ เมตร ภาพเขียนสีแบ่งออกได้เป็น ๒ ฝั่งคือ

  • ถ้ำคน  มีภาพคน ๗ คน  ยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลงสีแดงทึบ มีรายละเอียดค่อนข้างชัดเจน เช่น ส่วนน่องของทุกคนในภาพมีลักษณะโป่ง  บ่งบอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกที่ใช้กำลังขามาก,  นิ้วมือครบถ้วนชัดเจน,  ทุกคนแสดงท่าทางการเคลื่อนไหว, มีการใส่รายละเอียดเรื่องเพศ เช่นภาพคล้ายอวัยวะเพศชายที่รูปคนตรงกลาง, ภาพคนไว้ผมยาวซึ่งอาจหมายถึงผู้หญิง และยังมีภาพเขียนสีอยู่บนเพดานด้านทิศตะวันตกอีก ๒ ภาพ เขียนด้วยสีแดงและสีขาว
  • ถ้ำวัว  ตัวภาพเขียนด้วยสีแดงสภาพสีจางมาก ภาพแบ่งออกเป็นสองแถว แถวด้านซ้ายเป็นภาพสัตว์ ๒ ตัว หันหน้าไปทางทิศใต้ ตัวแรกรูปร่างคล้ายกระจง ตัวที่ ๒ ไม่สามารถระบุชนิดของสัตว์ได้ทราบเพียงว่าเป็นสัตว์ ๔ เท้า หางยาว ไม่มีเขาแถวด้านขวาเป็นภาพฝูงวัวหันหน้าไปทางตรงข้ามกับแถวแรก ถัดไปเป็นภาพวัวมีโหนก ๓ ตัวเดินตามกัน ถัดลงมาด้านล่างเป็นภาพลายเส้นแบบกิ่งไม้ปนอยู่กับลูกวัวและแม่ กับสัตว์ไม่ทราบชนิดอีก ๓ ตัว (ตัวขวาสุดลักษณะเหมือนยังวาดไม่เสร็จ)

 

โนนสาวเอ้  เป็นแหล่งภาพเขียนสีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  มีลักษณะเป็นเพิงหินทรายขนาดใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยาว ๑๑ เมตร สูง ๕ เมตร ชื่อ "โนนสาวเอ้" มีที่มาจากความเชื่อที่เล่าขานกันว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่ๆผู้หญิงใช้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ คือ ภาพเขียนสี ซึ่งพบภาพเขียนสีอยู่สองสมัย ได้แก่

  • ภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีแดงต่อเนื่องกัน มีทั้งภาพลายเส้นคู่ขนาน ลายหยักฟันปลา ลายวงคด ลายทางมะพร้าว ลายสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นแถวยาว ลายขีดเป็นบั้ง ลายวงคดต่อกันคล้ายลูกโซ่ ลายสามเหลี่ยม ลายเส้นคด ลายขั้นบันได และลายเส้นขนาน
  • ภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ เขียนด้วยสีขาวเป็นรูปสัตว์เช่นช้าง หงส์ ม้า และลายเส้นอื่นๆกระจายไปทั่วไม่ต่อเนื่องกันภาพหงส์ ม้า และภาพลายเส้นต่างๆที่ถูกเขียนทับภาพเขียนสีแดง คาดว่าเป็นหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์(อาจเป็นของสมัยปัจจุบัน)

บริหารจัดการ

กรมศิลปากร

ประเภทพิพิธภัณฑ์

ชีวประวัติ, ประวัติศาสตร์ และ โบราณคดี

แผนที่

ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ

ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 41160
โทรศัพท์ : 042-251350-2
โทรสาร : 042-251350
เว็บไซต์ : http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/

วันและเวลาทำการ

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 8.30 น. – 16.30 น.

ค่าเข้าชม

ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

การเดินทาง

โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2  มายังจังหวัดอุดรธานีเป็นระยะทาง 564 กิโลเมตร ผ่านตัวเมืองอุดรธานีมุ่งหน้าไปทางจังหวัดหนองคาย  เลี้ยวซ้ายที่บริเวณหมู่บ้านนาข่า เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2021 อีก  67 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

เนื้อหาสำหรับประชาชนทั่วไป

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

เนื้อหาสำหรับเด็ก

เหมาะสม
ไม่เหมาะสม

รับบัตรเครดิต

รับ
ไม่รับ

ข้อมูลสำหรับผู้พิการ

มีรถสี่ล้อขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีที่จอดรถ

3

แบ่งปัน

พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง