คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

พระธาตุกลางน้ำ

ปริศนาวัดที่ไร้พระ

           พระธาตุกลางน้ำ  ปัจจุบัน เรายังไม่พบหลักฐานที่ระบุว่า เจดีย์กลางน้ำอยู่ในพื้นที่ปกครองของหมู่บ้านใด ตำบลใดของอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์หากประมาณหรือคาดคะเนจาก หมู่บ้านและตำบลที่ใกล้ที่สุด พออนุโลมได้ว่า น่าจะอยู่ในพื้นที่ปกครองของหมู่ที่8 ตำบลผาเลือด ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ 

         ประการแรก จุดที่จะมองเห็น เจดีย์กลางน้ำได้สะดวกชัดเจนที่สุดคือ บริเวณท่าเรือเก่าในเขตอุทยานลำน้ำน่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 8 ตำบลผาเลือด ณ จุดนี้ เป็นริมฝั่งของอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เมื่อมองไปทางทิศตะวันออกจะเห็นเกาะที่เป็นภูเขาสูง โผล่พ้นน้ำสีคราม บนสุดของภูเขาเป็นองค์เจดีย์เปล่งประกายสีทอง ยามต้องแสงแดดอ่อนยามเย็น ประหนึ่งเจดีย์องค์นั้นจะลอยเด่นอยู่ในฟากฟ้าสีคราม

         ประการที่สอง จุดที่จะมองเห็นเกาะอันเป็นที่ตั้งของเจดีย์กลางน้ำคือ บริเวณสถานที่พักผ่อนบนสันเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 10 ตำบลผาเลือด ณ จุดนี้แม้จะมองไม่เห็น เจดีย์กลางน้ำแต่ก็สามารถมองเห็นเกาะ อันเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์นั้นได้อย่างชัดเจน   นอกจากเหตุผลทั้งสองประการที่กล่าวมาแล้วนี้ยัง หาความสมเหตุสมผลอย่างอื่นไม่ได้ว่า เจดีย์กลางน้ำน่าจะอยู่ในพื้นที่ปกครองของหมู่บ้าน ตำบลใดได้อีก

          พระธาตุกลางน้ำ  ตั้งอยู่ท่ามกลางผืนน้ำกว้างของทะเลน้ำจืด อ่างกักเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์มีเกาะที่โผล่พ้นผิวน้ำสีครามพื้นที่กว่า 8 ไร่ อุดมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ตามธรรมชาติของ ป่าโคกหรือป่าแดง อาทิเป็นไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้มะกอก ไม้สมอ แซมด้วยไม้สัก    และไผ่บงคาย  นับแต่จุดแรกที่เรือจอดเทียบเท่า จะเห็นปลาผุดว่ายได้ไม่ยาก เมื่อขึ้นฝั่งมีทางเดินขึ้นเขาไม่ลาดชันนัก เดินขึ้นเขาไปเรื่อยๆ โดยไม่เหนื่อยมากนัก ประมาณสักร้อยเมตรเศษๆ ก็จะถึงยอดบนสุดอันเป็นที่ตั้งขององค์เจดีย์ รอบองค์เจดีย์เป็นลานกว้างพอจุคนได้สัก 200 คน เห็นจะได้ บนลานแห่งนี้มองเห็นทัศนีย์ภาพของทะเลที่เวิ้งว้าง ฟองคลื่นสีขาวล้อเล่นกันอยู่ไกลลิบ

          ลักษณะขององค์เจดีย์ เป็นเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสีเหลี่ยม ลดเหลื่อมขึ้นไปจากพื้นสู่ยอดเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นสูงประมาณ 1 เมตร จนถึงฐานชั้นที่สามจะมีเจดีย์เล็กๆ   ทั้งสี่มุม ถัดขึ้นไปเป็นลายปูนปั้น บัวคว่ำ บัวหงาย แล้วจึงเป็นตัวเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะ ระฆังคว่ำทรงแปดเหลี่ยมสีทองเหลืองอร่ามทั้งองค์ สุดยอดแหลมขององค์เจดีย์เป็นฉัตร 7 ชั้น ฝีมือช่างไทยภาคเหนือ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือขององค์เจดีย์ มีฐานพระพุทธบาทจำลอง ถัดลงมาทางทิศใต้เป็นศาลาและวิหาร

ความเป็นมา

          จากการศึกษายังไม่พบหลักฐานว่า เจดีย์กลางน้ำสร้างขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์ และการขุดค้นวัตถุโบราณ น่าจะกล่าวได้ว่าการสร้างเจดีย์กลางน้ำน่าจะอยู่ในราวยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวคือ เชิงประวัติศาสตร์  มีเอกสารของทางราชการเป็นใบเสร็จเก็บเงินค่าราชการใช้แทนหนังสือเดินทาง   ช่วงปี พ.ศ. 2457 และ ร.ศ. 124130 ระบุว่า อำเภอ/แขวงท่าปลา มีอีกชื่อหนึ่งว่า น่านใต้ซึ่งระบุว่าขึ้นอยู่กับเมืองน่าน และบางฉบับใช้ว่า นครน่านในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้คนเมืองน่านได้รับผลกระทบจากสงครามไทยกับพม่า บ้านเมืองถูกทิ้งร้างไปถึง 23 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงแต่งตั้งเจ้าหนานนันทปโชติขึ้นเป็นพระยามงคลวรยศ ให้ไปฟื้นฟูและปกครองเมืองน่านนับแต่นั้น พระยามงคลวรยศ ได้มาตั้งมั่นที่ บ้านท่าปลาหรือ น่านใต้ การที่เจ้าเมืองจะฟื้นฟูบ้านเมืองได้ ย่อมเลือกที่ตั้งที่ชาวเมืองนั้นมีความมั่นคงเข้มแข็ง เหมาะที่จะตั้งมั่นได้ ดังนั้นจึงน่าจะวินิจฉัยได้ว่าความเป็นปึกแผ่นของชาวท่าปลานั้นน่าจะมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2336  ความเข้มแข็งของชุมชน โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมของชาวท่าปลา น่าจะก่อสร้างองค์เจดีย์ที่กล่าวถึงนี้ในยุคสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากชาวท่าปลาได้สร้างวัดที่เชิงเขาลูกหนึ่งใกล้หมู่บ้าน ในภาคเหนือจะเรียกภูเขาว่า ดอยเชิงเขาหรือเชิงดอยนั้นชาวบ้านเรียกว่า ตีนดอยดังนั้น  วัดที่สร้างขึ้นจึงเรียกว่า วัดตีนดอยหลังวัดเป็นดอยสูง การเดินจากตีนดอยถึงยอดดอยนั้นระยะทางประมาณกว่าสองร้อยเมตร เพราะมองจากบริเวณวัดจะเห็นเพียงยอดเจดีย์ที่โผล่แมกไม้เสียดสู่ฟ้าไกลลิบตา

          “เจดีย์เป็นคำที่ชาวบ้านแถบนั้นแทบไม่รู้จัก แต่สิ่งที่เป็นเจดีย์นั้นพวกเขาเรียกว่า พระธาตุถ้าจะถามว่า ดอยที่อยู่หลังวัดตีนดอยนั้นชื่ออะไร พวกเขาจะตอบว่า  ดอยพระธาตุ”  การก่อสร้างเจดีย์หรือพระธาตุ บนยอดดอยที่สูงขนาดนั้นด้วยการขนวัสดุก่อสร้าง นับตั้งแต่ อิฐ หิน ไม้ กระเบื้อง ฯลฯ ขึ้นไปบนยอดเขาได้ขนาดนั้น ชุมชนต้องเข้มแข็ง ผู้คนมากมายและเปี่ยมล้นด้วยพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะความเข้มแข็งและศรัทธาในตัวผู้นำจากคำบอกเล่าต่อๆกันมาเล่าว่า ผู้นำของชาวบ้านในการก่อสร้างพระธาตุแห่งนี้คือ ตุ๊เจ้าบุญหลงนักบุญแห่งเมืองเหนือตุ๊เจ้าบุญหลงท่านนี้ เดิมเป็นพระธุดงค์ ชาวเหนือจะเรียกพระภิกษุว่า ตุ๊เจ้าดังนั้นจึงเรียกพระธุดงค์รูปนี้ว่า ตุ๊เจ้าบุญหลงครั้นลาสิกขาบทแล้วจึงขานนามว่า เจ้าบุญหลง   

           เชิงหลักฐานทางวัตถุโบราณ จากการขุดค้นวัตถุโบราณในช่วงปี พ.ศ. 2513 โดยหน่วยศิลปากรที่3 สุโขทัย ซึ่งดำเนินการก่อนที่เขื่อนสิริกิติ์จะเริ่มกักเก็บน้ำ หรือก่อนที่น้ำจะท่วมอำเภอท่าปลาในพื้นที่ 4 ตำบล พบวัตถุโบราณกว่า 2000 รายการ จากวัด 18 แห่ง ในตำบลท่าปลา ต.จริม(จะริม)  ต.หาดล้า และ ต.ท่าแฝก ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องใช้ เครื่องประดับ และเงินตราที่ใช้เกือบทั้งหมดเป็นฝีมือช่างยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเพียงพระพุทธรูปบางองค์ที่เป็นฝีมือช่างเชียงแสนตอนปลาย ซึ่งอาจเคลื่อนย้ายและตกอดกันมาแต่บุกเบิกสร้างบ้านเมืองจากที่กล่าวข้างต้น จึงอนุมานได้ว่า การก่อสร้างพระธาตุหรือเจดีย์องค์นี้ของชาวท่าปลา น่าจะอยู่ในยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์และเราคงต้องเชื่อเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะค้นพบหลักฐานอื่น

ยุคก่อนน้ำท่วม

           “พระธาตุก่อนน้ำท่วม ตั้งอยู่บนภูเขาสูงในอาณาเขตของวัดตีนดอย บ้านตีนดอย ตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์   การเดินทางมานมัสการพระธาตุ สามารถมาได้เกือบทุกทิศทาง โดยเว้นทางทิศใต้ ซึ่งเป็นภูเขาและไม่มีหมู่บ้าน  ด้านตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านท่าปลา และที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ชาวบ้านจะเดินทางด้วยเท้า เป็นส่วนใหญ่ รองลงไปอาจเป็น ม้า รถจักรยาน และ รถจักรยานยนต์ การเดินทางตามถนนสายหลัก  (มีเส้นเดียว) ผ่านหมู่บ้านนาโป่ง บานนาโห้ง แล้วเดินข้ามทุ่งนาไปบ้านร้องดินหม้อ จากนั้นข่ามทุ่งนาอีกครั้งหนึ่งก็ถึง บ้านตีนดอย  ด้านเหนือ ตามถนนสายหลักถัดจากบ้านนาโห้งเป็นบ้านหัวนาเดินข้ามทุ่งก็จะถึงบ้านตีนดอย (ตามเส้นทางนี้เดินด้วยเท้าอย่างเดียว) ด้านตะวันตก นับจากหมู่บ้านที่ไกลที่สุดคือ บ้านต้นผึ้ง เดินข้ามทุ่งด้วยเท้าหรือจะใช้จักรยานก็ได้ แต่เห็นจะจูงรถเสียเป็นส่วนใหญ่ เดินทางผ่านบ้านต้นหมื่น แล้วข้ามทุ่งอีกครั้งถึงบ้านร้องน้ำชำ จากนั้นก็เดินข้ามทุ่งอีกครั้งก็ถึงบ้านตีนดอย

          จากลักษณะที่ตั้งดังกล่าวส่งผลให้การนมัสการพระธาตุในแต่ละปีซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนหก ผู้คนจะมาจากทั่วทุกสารทิศและเริ่มจากการทำบุญที่วัดตีนดอยในช่วงเช้าหลังจากเสร็จ  ศาสนพิธี เหล่าสาธุชนจะเดินขึ้น ไปนมัสการพระธาตุ มีการแห่บั้งไฟตามด้วยผีตลก จากหมู่บ้านต่างๆ เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง

          ด้วยศรัทธาบุญ   หลังจากนมัสการพระธาตุแล้วจึงจุดบั้งไฟ บั้งไฟนั้นจะมีขนาดเท่าใดนั้นไม่มีเกณฑ์หรือกติกาอะไร                การบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก หรือบุญขึ้นดอยพระธาตุที่มีการจุดบั้งไฟเป็นประจำทุกปี แม้จะไม่ประกวด ก็เหมือนประกวด ไม่แข่งขันก็เหมือนแข่งขัน ไม่มีรางวัลใดๆ ชัยชนะที่ได้แม้จะไม่ประกาศ แต่ทุกคนก็รับรู้ความเหนือกว่าของบั้งไฟที่พุ่งสู่ท้องฟ้าเหมือนจะบอกว่า ข้าชนะแล้วมันเป็นศักดิ์ศรีและเป็นศรีของสล่า (ช่างและคนทั้งหมู่บ้านผู้ชนะ)

ความคิดและความเชื่อ

            “พระธาตุคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พระธาตุที่อยู่บนยอดดอยก็ประดุจสรวงสวรรค์แห่งพระผู้เป็นเจ้า..

          ในแต่ละปีหากใครไม่ไปนมัสการพระธาตุก็จะไม่สบายใจ เสมือนหนึ่ง ในปีนี้ไม่ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าคนโบราณมักมีเรื่องราวหลากหลายเล่าให้ฟัง อาทิ นายหิง นันตะเงิน (ปู่ของผู้เขียน) เล่าให้ฟังว่า  “ ไอ้น้อย คืนนี้ค่อนรุ่ง (วันเพ็ญเดือนหก) พ่อจะปลูกให้มึงดู มึงจะเห็นดวงไฟลอยมาที่พระธาตุ”  อีกฟากหนึ่งของดอยพระธาตุจะเป็นแม่น้ำน่าน ริมแม่น้ำน่านฝั่งใต้ลำน้ำที่บ้านปอแก้ว แก้วที่ว่านี้เป็นหินสีเม็ดลำไย เข้มบ้างจางบ้าง มีคนมาเจียระไนเป็นหัวแหวนหินแก้วงดงามยิ่งนัก ในแต่ละปีและปีละครั้งในคืนวันเพ็ญเดือกหก จะมีดวงไฟสีเขียวนวลลอยขึ้นสู่ผิวน้ำลอยขึ้นช้าๆ แล้วก็ดับไปปู่บอกว่า พระธาตุเสด็จแล้ว!!!

           อีกท่านหนึ่ง คุณลงจันทร์ คำแสน เล่าว่า... พระธาตุองค์นี้สร้างแต่เดิมมาแล้ว ก่อนที่    ตุ๊เจ้าบุญหลงจะมาพบเป็นพระธาตุที่ไม่มียอด เมื่อตุ๊เจ้าบุญหลงมาพบจึงคิดที่จะเชิญชวนญาติโยมต่อเติมพระธาตุโดยทำยอดให้แล้วเสร็จครั้งนั้น เจ้าอาวาสวัดตีนดอยชื่อพระอาจารย์   ศรีนวลดำริว่า การที่จะยกยอดพระธาตุขึ้นประดิษฐ์ฐานนั้นจะต้องประกอบพิธียกธง 20 วาครั้นกำหนดเวลาแล้วตุ๊เจ้าบุญหลงได้เตือนพระอาจารย์ศรีนวลว่า ฤกษ์ตามกำหนดนั้น ไม่ดีให้เลื่อนออกไป พระอาจารย์ศรีนวลไม่ได้เชื่อฟัง ได้ทำการประกอบพิธียกยอดพระธาตุตามฤกษ์เดิม....ครานั้นได้เกิดอาเพศบนท้องฟ้ามืดครึ้ม มีนกแร้งบินเต็มไปหมด นกแร้งดังกล่าวจิกตีกันอลหม่าน บนพื้นดิน ธงยาว 20 วา ที่ขึงเตรียมไว้เกิดลุกไหม้! ผู้คน ณ ที่นั้นเห็นเป็นอัศจรรย์ หวาดหวั่นหนีกลับบ้านเรือนตน ตุ๊เจ้าบุญหลงเห็นเช่นนั้นจึงแก้อาเพศ โดยบริกรรมอาคม มือโบกไปมาประหนึ่งว่าไล่อาเพไม่นานนักบนท้องฟ้าจึงสงบ นกแร้งที่จิกตีกันในท้องฟ้าก็ หายไปสิ้น ท้องฟ้ากลับโปร่งใสตามเดิม...

          เรื่องราวอันเหลือเชื่อที่เล่าต่อกันมาจากคนยุคเก่าที่อพยพมาจากบริเวณที่น้ำท่วมยังคงกล่าวขวัญกันต่อมา บางท่านที่มีชีวิตอยู่ยังยืนยันว่าได้เห็นกับตาตนเอง  ดังนั้นเรื่องของวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยังคง ลี้ลับอยู่ต่อไป

ขอบคุณภาพและเนื้อหา จาก

องค์การบริหารส่วนตำบลผาเลือด  อ.ท่าปลา  จ.อุตรดิตถ์ 

Facebook : อุตรดิตถ์ 24 ชั่วโมง

5,574 views

0

แบ่งปัน