สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน
การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%
จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น
ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน
ความโดดเด่นด้านวิถีชีวิตของชาวอำเภอลับแลที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปคือเรื่องการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือน “ข้าวแคบ” ถือได้ว่าเป็นอาหารพื้นบ้านยอดนิยมของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ และตำบลฝายหลวง มีการทำข้าวแคบทุกหลังคาเรือนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน จนมีเรื่องตลกซึ่งมักจะคุยกันในวงเหล้าว่า เมืองลับแลนั้นเต็มไปด้วยผู้ล่าย และต้องหา ซึ่งผู้ล่ายในที่นี้เป็นภาษาชาวบ้าน หมายถึงผู้ไล้ข้าวแคบ(ผู้ไล้ข้าวแคบหมายถึง คนที่ละเลงน้ำแป้งลงบนผ้าที่วางบนปากหม้อที่มีไอน้ำเดือด) ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง ส่วนผู้ต้องหา หมายถึงสามี ที่มีหน้าที่ไปหาพื้นมาทำข้าวแคบ ชาวบ้านในอำเภอลับแลเล่าให้ฟังว่า การทำข้าวแคบนั้นมีมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ สันนิษฐานว่า น่าจะมากว่า 100 ปีขึ้นไปและอาจมาพร้อมๆกับการมาสร้างเมืองลับแลของเจ้าฟ้าฮ่ามกุมารเมื่อประมาณพุทธศักราช 1,500 (กรทักษ์ เม่นวังแดง และคณะ,2547) และที่เรียกว่าข้าวแคบนั้น เรียกตามลักษณะของปากหม้อที่ทำข้าวแคบ ตอนไล้แป้งซึ่งมีลักษณะแคบ
แต่เดิมนั้นข้าวแคบมีอยู่ 2 ลักษณะคือข้าวแคบธรรมดาและข้าวแคบงา มีขนาดใหญ่และหนากว่าในปัจจุบันส่วนใหญ่ชาวลับแลจะเรียกกันว่า “ข้าวแคบหนา” รสชาติออกเค็ม มีส่วนผสมแค่แป้ง เกลือ และงาดำ เท่านั้น เวลาจะรับประทานข้าวแคบในสมัยก่อน จะนำมาปิ้งไฟ แล้วบดให้แตกเป็นชิ้นเล็กๆ (ภาษาพื้นบ้านของชาวลับแลเรียกว่า“การเนียงข้าวแคบ”) ใส่ถ้วยรับประทานกับข้าวเหนียวใส่หมูปิ้งก็ได้เป็นอาหารเช้าที่รับประทานในหนึ่งมื้อได้เลย เหมือนกับกับข้าวอย่างอื่น
นอกจากนั้นยังสามารถนำข้าวแคบที่เนียงแล้วมาใส่ยำยอดใบมะม่วง (ชาวลับแลเรียกว่า “ซ่าใบมะม่วง”) และแกงเลียง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของชาวลับแลได้อีกด้วย ในสมัยก่อนชาวลับแลจะรับประทานข้าวแคบเป็นอาหารหลัก ต่างจากปัจจุบันที่บริโภคข้าวแคบเป็นอาหารว่างเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้าวแคบแห้ง และการรับประทานอีกรูปแบบหนึ่งของคนลับแลสมัยก่อนคือ การนำข้าวเหนียวมาคลุกกับข้าวแคบที่เนียงแล้วปั่นเป็นแท่น เหมือนข้าวปั่น บางคนเอาข้าวแคบแห้งมาห่อกับข้าวเหนียวร้อนๆ ม้วนให้เป็นแท่ง (ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “โอโล่ข้าวแคบ”) ในสมัยก่อนมีการทำข้าวแคบแทบทุกหลังคาเรือน โดยเฉพาะในหน้าหนาวมีการทำข้าวแคบจนเป็นประเพณี แต่ทำได้ไม่เยอะ จะทำไว้เฉพาะกินในครัวเรือนเท่านั้น และนิยมทำในลักษณะข้าวแคบแห้ง เพราะเก็บไว้ได้นาน หน้าฝนก็เก็บไว้ได้ ทำแล้วจะเก็บใส่ในตะเข่ง (“ตะเข่ง” เป็นภาษาพื้นบ้านมีความหมายเหมือนกับ “ตะกร้า”) แขวนไว้ในที่สูงๆเพราะกลัวลูกๆ แอบเอาไปกิน เวลาไปทำไร่ ทำนา ก็เอาข้าวแคบที่เก็บไว้มาห่อกับข้าวเหนียวประมาณ 2-3 พัน กินไประหว่างทาง เพื่อให้อิ่มท้อง ไม่ต้องเสียเวลามานั่งกิน เพราะสมัยก่อนต้องตื่นแต่เช้าเดินไปทำไร่ ทำนา ไม่มีรถมอเตอร์ไซค์เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว จึงสามารถพูดได้ว่า การทำข้าวแคบนั้นเป็นวิถีชีวิตของชาวลับแลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
“ข้าวแคบ” ที่เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวลับแลนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เป็นแผ่นแป้งบางๆที่ได้จากการไล้น้ำแป้งที่ผสมงาดำ เกลือ หรือเครื่องปรุงรสอื่นๆ ลงบนผ้าสีขาวหรือสีดำที่วางบนปากหม้อดินขณะที่มีไอน้ำเดือดเหมือนการทำข้าวเกรียบปากหม้อโดยแผ่นแป้งที่ได้มีลักษณะเป็นวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว เมื่อแผ่นแป้งสุกแล้วสามารถดัดแปลงทำผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อาทิเช่นถ้านำแผ่นแป้งไปตากแดดจะได้“ข้าวแคบแห้ง”มีทั้งแบบธรรมดาและปรุงรส สามารถฉีกรับประทานได้ทันทีเป็นอาหารว่าง หรือจะนำไปห่อกับเส้นหมี่คลุกกับเครื่องปรุง ที่ชาวลับแลเรียกว่า “หมี่คุก” (คลุก) ก็ได้ นอกจากนี้ชาวลับแลมักจะนำข้าวแคบแห้งมาห่อพันกับข้าวเหนียว โรยกากหมู หมูหยอง หรือกับข้าวอื่นๆลงไปพันให้เป็นแท่งรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย นอกจากจะรับประทานในรูปของข้าวแคบแห้งแล้วแผ่นแป้งที่ไล้สุกสามารถรับประทาน สด ได้แก่ “ข้าวพัน” ซึ่งได้จากการใช้ไม้ไผ่แบนๆ หรือชาวลับแลเรียกว่า ไม้หลาบ ม้วนแผ่นแป้งสุกแล้วรูดออก แต่ถ้าใส่ผักที่หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เช่น ถั่วงอก คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วฝักยาว ผักบุ้งยอดขาว หรือผักอื่นๆลงบนแผ่นแป้งสุก ปิดฝาไว้สักครู่ เมื่อผักสุก ใช้ไม้หลาบพับแผ่นแป้งเป็นมุมห่อผักไว้ เหมือนกับการทำไข่ยัดไส่ จะเรียกว่า “ข้าวพันผัก” ถ้าใส่ไข่ลงไปตีบนแผ่นแป้งที่เริ่มสุกก่อนใส่ผัก จะเรียกว่า “ข้าวพันผักใส่ไข่” ในการรับประทานต้องปรุงรสด้วยซอสมะเขือเทศ ซีอิ้ว และน้ำจิ้มที่รับประทานกับข้าวพันซึ่งประกอบด้วย พริกแห้งป่นปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล หรือจะโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว กากหมู หรือแคบหมูด้วย ก็จะเพิ่มความอร่อยได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ชาวลับแลยังคิดค้น “ก๋วยเตี๋ยวอบ” ที่ดัดแปลงมาจากก๋วยเตี๋ยวน้ำทั่วๆไป รูปร่างหน้าตาจะเหมือนกับข้าวพันผัก และข้าวพันใส่ไข่ เพียงแต่ใช้ข้าวแคบแห้งมาทำให้อ่อนตัวบนปากหม้อดิน แทนการไล้แป้ง แล้วใส่เส้นก๋วยเตี๋ยวที่ปรุงกับเครื่องปรุงรส ใส่ลูกชิ้น หมูแดง ลงไปในข้าวแคบแห้งที่อ่อนตัว ห่อเหมือนข้าวพันผัก ตักใส่จาน แล้วตักน้ำก๋วยเตี๋ยวราดลงไป