คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
Instructions for use
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

Back

เสื้อสตรีกะเหรี่ยง

ภูมิปัญญาศิลปะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

วิธีการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง

               กระบวนการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงนั้นสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอก เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย การย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ ส่วนการทอนั้นใช้ "กี่เอว" ที่เรียกว่า "ทอแบบห้างหลัง"  (Back-strap body tension loom)  พัฒนามาจากการทอผ้าหน้าแคบที่ไม่ใช้กี่แบบสากล หากแต่ตัวผู้ทอเป็นจุดขึงเส้นด้าย แบบที่ชาวไทเหนือหรือไทใหญ่ในยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บางเผ่าเช่นลัวะ และลาหู่ในประเทศไทยยังคงทอกันอยู่ ซึ่งผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เท้าแนบชิดกัน บางแห่งมีขอนไม้ยันไม่ให้ตัวเลื่อนไหลไปข้างหน้ามากเกินไป ด้ายเส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลังของเอว บางแห่งจึงเรียกว่า "การทอมัดเอว" หรือ "กี่เอว" การทอผ้าวิธีนี้ไม่ใช้กระสวยช่วยสอดด้ายพุ่ง หากแต่ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซีกเล็กๆ สอดด้ายเส้นพุ่ง แล้วใช้แผ่นไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า "หน่อทาแพะ" กระแทกด้ายเส้นพุ่งให้แน่นแทนการใช้ฟืม     ส่วนปลายของเส้นยืนจะผูกมัดกับเสาเรือนหรือโคนต้นไม้ ทำให้เลือกสถานที่ทอได้ตามความพอใจ เช่นบนเรือน ใต้ถุนบ้าน ผู้ทอจะต้องก้มและยืดตัวขึ้นสลับกับการสอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไประหว่างเส้นยืนด้วยไม้ สลับกับการกระทบด้ายเส้นพุ่งให้เรียงกันแน่นด้วยแผ่นไม้บางๆ การทอประเภทนี้ยังไม่ใช้ฟืม ผ้าจึงไม่เรียบแน่น ข้อสำคัญทำให้ผ้าที่ทอออกมามีหน้าแคบ เวลาตัดเย็บต้องนำมาเรียงต่อกันหลายผืน

             การทอผ้าวิธีนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของการทอผ้าแบบดั้งเดิมของมนุษย์ที่ยังไม่ได้ใช้กี่ หรือหูก และฟืมเข้ามาช่วยเหมือนการทอผ้าในปัจจุบัน ที่พัฒนามาเป็นการทอผ้าแบบนั่งห้อยขา มีฟืมสำหรับกระทบ สามารถทอผ้าได้หน้ากว้างมากขึ้น

               ผ้ากะเหรี่ยงมีความเกี่ยวเนื่องกับประเพณีของกลุ่มชน เช่นหญิงสาวจะต้องทอผ้าสำหรับใช้ในพิธีแต่งงานของตนเอง ขณะที่ผู้ชายจะต้องทำเครื่องจักสาน เครื่องเงิน เพื่อมอบให้เจ้าสาวของตนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกำไลเงินที่เจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาวในพิธีแต่งงานนั้น เจ้าสาวต้องสวมติดข้อมือไว้ตลอดชีวิต

 

                 การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม โดยมีผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มที่ใช้สีสันและรูปแบบเป็นเครื่องบ่งบอกเพศ และสถานภาพทางสังคม ดังนั้นผ้ากะเหรี่ยงจึงมีแบบแผนและรูปแบบเป็นของตนเอง

               กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอว์ และโปว์ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ยังคงรักษาลักษณะร่วมที่แสดงสถานะของหญิงสาว และหญิงแม่เรือน เช่นเดียวกัน คือ หญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ต้องสวมชุดยาวสีขาว หรือ "เช ควา" เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนมาเป็นสวมใส่เสื้อสีดำ หรือที่เรียกว่า "เช โม่ ซู" และผ้าถุงคนละท่อนเท่านั้น  ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดยาวสีขาวอีก  ส่วนผู้ชายทั้งกลุ่มโปว์  และสะกอว์

แถบภาคเหนือมักสวมกางเกงสีดำ และสีน้ำเงิน หรือกรมท่า ในขณะที่แถบจังหวัดตาก และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มักสวมโสร่ง ลักษณะเสื้อผู้ชายวัยหนุ่มใช้สีแดงทุกกลุ่ม แต่มีลวดลายมากน้อย ต่างกัน การแต่งกายในโอกาสพิเศษ เช่น พิธีปีใหม่ พิธีแต่งงาน เน้นสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ จะเห็นชัดว่าชายหนุ่ม และหญิงสาวจะพิถีพิถันแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ

                ปัจจุบันกลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าในวิถีชีวิตปกติ มีเพียงกลุ่มโปว์ และสะกอว์เท่านั้น ส่วนกลุ่มคยา และต่องสู้ไม่สวมใส่ชุดประจำเผ่าในชีวิตประจำวันแล้ว กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม นอกจากจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน กะเหรี่ยงกลุ่มเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ ก็มีลักษณะการแต่งกายไม่เหมือนกันด้วย เช่น กะเหรี่ยงโปว์แถบอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่งกายมีสีสันมากกว่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ หญิงกะเหรี่ยงสะกอว์แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ดังเช่นวัตถุจัดแสดงชิ้นนี้ตกแต่งเสื้อมีลวดลายหลากหลาย และละเอียดมากกว่าแถบจังหวัดตาก หรือกะเหรี่ยงโปว์แถบจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีลวดลายตกแต่งเสื้อผ้าแตกต่างจากภาคเหนือ

 

                     เสื้อสตรีกะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่า "เช โม่ ซู" ตัวนี้ทอด้วยผ้าฝ้ายสีดำเป็นผ้าพื้น และปักลวดลายท่อนล่างด้วยไหมพรมสีแดง กับลูกเดือยสีขาว เป็นการบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ว่าเป็นหญิงสาวที่ผ่านการสมรสแล้ว ไม่ใช่เด็กสาวพรหมจารีซึ่งต้องสวมชุดสีขาวยาวกรอมเท้า เรียกว่า "เช ควา"

               การตัดเย็บวัตถุจัดแสดงชิ้นนี้ จะเห็นว่าเกิดจากการใช้ผ้าทอหน้าแคบผืนยาวมากจำนวนสองผืนมาเป็นประกบกัน โดยวางผ้าแต่ละชิ้นพับครึ่งกลางก่อน รอยพับกึ่งกลางนั้นเป็นตำแหน่งของบ่า จากนั้นเย็บตะเข็บข้าง โดยเว้นพื้นที่สำหรับใส่ช่องวงแขนไว้ส่วนหนึ่งด้วยด้ายไหมพรมยาวไปจนสุดชายเสื้อด้านหนึ่ง ทำแบบนี้ทั้งสองผืนแล้วนำมาเย็บติดต่อกันในส่วนกลางลำตัวด้านหน้าและด้านหลัง โดยเว้นช่องคอสำหรับสวมหัวให้กว้างพอ รูปทรงเสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยงจึงไม่มีโค้งไม่มีเว้าใดๆ ถือว่าเป็นการเข้าเสื้อโดยไม่จำเป็นต้องตัดผ้าทอทิ้งเลยแม้แต่ส่วนเดียว

               ดังนั้นการทอผ้าแต่ละครั้งจะต้องกำหนดขนาดจำนวนความสูงของเส้นด้ายให้ลงตัวพร้อมกันทีเดียวกับรูปร่างของผู้สวม ซึ่งชาวกะเหรี่ยงไม่มีเครื่องมือประเภทสายวัดที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัด ส่วนใหญ่ใช้วิธีกะประมาณเอาด้วยอาศัยความเคยชิน การทอแต่ละครั้ง ผู้ทอจะยึดรูปร่างของตนเป็นมาตรฐาน เมื่อขึ้นเครื่องทอต้องกะประมาณเอาว่าควรเรียงด้ายสูงประมาณเท่าไหร่ของไม้ที่เสียบบนไม้ขึ้นเครื่องทอ เช่นหากผู้ใส่ตัวเล็กกว่าตนก็น่าจะประมาณ "ครึ่งไม้" หรือ "ค่อนไม้" หากผู้ใส่รูปร่างใหญ่ก็ "เต็มไม้" คือผู้ทอต้องเรียนรู้วิธีที่จะลดหรือเพิ่มขนาดของด้ายด้วยการเปรียบเทียบจากรูปร่างของผู้ใส่กับผู้ทอเอง

ขอบคุณภาพและเนื้อหา จาก

ดร.เพ็ญสุภา  สุขคตะ

12,335 views

0

share

Museum in Chiang Mai

14 September 2023
23,350
551
16 July 2020
23,409
1,637
11 January 2019
3,477
301
07 February 2022
47,276
794
11 August 2018
8,348
595
08 August 2022
7,124
608
30 April 2019
38,257
718
17 March 2022
34,993
688