คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
Instructions for use
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

Back

วัดม่วงและวัดใหญ่ฯ

ศูนย์รวมใจไทยรามัญแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

เริ่มต้น..

เหมือนจะรู้ว่าต่อไปภายหน้ากรุงหงสาวดีจะสูญสิ้น หลงเหลือให้ได้ยินเพียงชื่อและเรื่องราวผ่านคำเล่าขานถึงความยิ่งใหญ่ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เหล่าบรรดาพ่อกว่านผู้ปกครองจำต้องคิดการณ์ไกลเสาะหาหนทางใหม่ที่สงบร่มเย็น เหมาะแก่การตั้งเป็นถิ่นฐานเพื่อดำรงพงศ์เผ่าสืบต่อไปมากกว่าเมืองที่อาศัยในปัจจุบัน

นั่นจึงเป็นปฐมบทของการอพยพจากบ้านเกิดเมืองนอนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มอญเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา

การเดินทางอันยาวนานผ่านหลากหลายภูมิประเทศทั้งทุ่งนา ป่าเขา แม่น้ำ กระจัดกระจายกันไปคนละทิศทาง เมื่อต่างพบชัยภูมิที่เหมาะสมจึงพากันปักหลักตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านแปงเมือง

โดยชาวมอญกลุ่มหนึ่งได้เลือกเอาทำเลแถบลุ่มน้ำแม่กลอง (ในเขตอำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธารามปัจจุบัน) เป็นที่อยู่อาศัยดำเนินชีวิตร่วมกันกับชนเผ่าอื่นในละแวกใกล้เคียงอย่างสงบเรื่อยมา พอนานวันจึงเกิดการแลกเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณี มีการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างกัน จนกระทั่งกลายมาเป็นชุมชนและผู้คนตราบเท่าทุกวันนี้

๑.

ชาวมอญนั้นได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ฝักใฝ่และศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ทั้งยังมีความเชื่อว่าการสร้างวัดจะได้บุญมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงมีวัดประจำหมู่บ้านตั้งเรียงรายอยู่ในทุกชุมชน เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสทำบุญอย่างสะดวกสบาย

ในสองฝั่งน้ำแม่กลองแถบนี้มีวัดสำคัญอยู่สองแห่งซึ่งเป็นแหล่งศูนย์รวมของศาสนิกชนชาวมอญ วัดแห่งแรกคือ "วัดม่วง" ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของสายน้ำ

จากหลักฐานในคัมภีร์ใบลานภาษามอญระบุว่า วัดม่วงก่อสร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2181 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา นับเนื่องมาถึงปัจจุบันมีอายุได้เกือบสี่ร้อยปี

แม้ผ่านเวลามายาวนานแต่ร่องรอยแห่งความงามยังพอหลงเหลือให้ชื่นชม ทั้งลวดลายปูนปั้น งานแกะสลัก และภาพจิตรกรรม ที่แต่งแต้มบริเวณหน้าบันของพระอุโบสถหลังเก่า บนบานหน้าต่างโดยรอบ รวมทั้งผนังบานประตูทั้งหน้าและหลัง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและชื่นชมยิ่งนัก

เดินเลยมายังริมน้ำจะพบกับเจดีย์ (มุเตา) ขนาดใหญ่แบบมอญ เคียงข้างด้วยเสาหงส์ซึ่งบ่งบอกเอกลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ ว่ากันว่าเสาหงส์ในวัดมอญส่วนใหญ่ที่พบ มักหันหน้าไปทางทิศที่ตั้งของเมืองหงสาวดีอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนที่จากมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่าสักวันหนึ่งคงได้กลับไปกอบกู้เอกราชพร้อมฟื้นคืนชนชาติมอญให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

๒.

เยื้องไปทางทิศเหนือฝั่งขวาของลำน้ำ ยังมีวัดเก่าแก่อีกแห่งที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน เพียงแต่หลังการก่อสร้างวัดม่วงไปแล้วหลายสิบปี (บางหลักฐานบ่งชี้ว่าวัดนี้มีอายุเก่าแก่ไปจนถึงยุคอาณาจักรทวารวดีเลยทีเดียว) วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดใหญ่นครชุมน์” ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชนชาวมอญแห่งลุ่มน้ำแม่กลองทั่วทั้งบริเวณใกล้เคียง

ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางประทานพรประดิษฐานอยู่บน "วิหารปากี" พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยโลหะผสมสีดำสนิทนามว่า "หลวงพ่อพญาแล" มีสาวกด้านซ้ายและขวาซึ่งถอดแบบมาจากรูปลักษณ์ของชาวรามัญ นัยว่าคือพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องซ้ายและเบื้องขวาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ สร้างด้วยปูนปั้น มีลักษณะต่างจากที่เคยพบเห็นที่วัดอื่นคือเป็นพระพุทธไสยาสน์นอนตะแคงซ้าย

ถัดมาที่ลานด้านในมีพระอุโบสถเก่าแก่ประดับลวดลายเรียบง่ายตามยุคสมัยตั้งตระหง่านอยู่ใต้ร่มไม้มาเนิ่นนาน ปัจจุบันมีร่องรอยแตกร้าวปรากฎให้เห็นทั่วไปหมด มองดูแล้วรู้สึกเสียดายเพราะอีกไม่นานโบสถ์หลังนี้คงพังทลายลงเพราะมิอาจซ่อมแซมได้อีกแล้ว

สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสลายไปตามกาล มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปในที่สุด นี่คือหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้เนิ่นนานกว่าสองพันปี

ไม่ว่าจะเป็นรอยร้าวรายรอบผนังพระอุโบสถ หรือสายน้ำคดเคี้ยวที่กั้นกลาง ก็มิอาจกีดขวางวิถีทางของชุมชนสองฝั่งน้ำแต่อย่างใด ทุกครั้งที่มีงานบุญสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวบ้านและวัดทุกแห่งทั่วทั้งบริเวณคุ้งน้ำจะร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขัน ไปรวมตัวกันจัดทำพิธีสังฆกรรม ณ วัดใหญ่นครชุมน์ นับเป็นความสามัคคีกลมเกลียวในสายใยแห่งชาติพันธุ์ที่สืบต่อกันมาเนิ่นนาน

 

๓.

เวลา..อาจเดินทางมาพร้อมความเสื่อมสลาย

บางที..

เวลา..อาจเดินทางมาพร้อมความผูกพันมิเสื่อมคลาย

แต่ไม่ว่าเวลาจะเดินทางมาพร้อมเหตุผลใด

สิ่งเดียวที่เราทำได้คือผ่านช่วงเวลานั้นไปพร้อมกัน

ปัจจุบันทางวัดได้มีการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธี และให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาไหว้พระทำบุญตามกำลังศรัทธา โบสถ์หลังเก่าจึงถูกปิดลงและไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป คงเหลือเพียงหน้าที่สุดท้าย รอให้ผู้คนผ่านเข้ามาชื่นชมร่องรอยแห่งความรุ่งเรืองในอดีต และย้ำเตือนให้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอันเป็นสัจธรรมไปพร้อมกัน

ส่งท้าย..

สายน้ำแม่กลองยังคงเอื่อยไหลไม่เคยหยุด ริมฝั่งบางแห่งทรุดเพราะการกัดเซาะของสายน้ำ บางสันดอนเลือนหายเพราะผ่านสัมปทานการขุดทราย ตลิ่งสูงเรียงรายตลอดแนวสองฟากฝั่งนที ผู้คนยังคงดำเนินไปตามวิถี ศรัทธายังคงมีไม่เปลี่ยนแปลง.

7,156 views

6

share

Museum in Ratchaburi

02 July 2019
14,511
678
02 July 2019
6,763
613
02 July 2019
16,484
958
02 July 2019
8,450
652
02 July 2019
6,088
593
02 July 2019
6,003
564
02 July 2019
2,747
309
02 July 2019
2,538
287