คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
Instructions for use
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

Back

กว่าจะเป็นอำเภอบรบือ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอำเภอบรบือขึ้นมาคือ สภาพภูมิประเทศ และการย้ายตั้งอำเภอใหม่ ในช่วงเวลา พ.ศ.2454-2460

เมื่อเริ่มจัดการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่พ.ศ.2440 ตั้งนามอำเภอนี้ว่า “ปัจจิมสารคาม” เดิมที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามปัจจุบัน อำเภอปัจจิมสารคาม ซึ่งในขณะนั้นเป็นอำเภอ 1 ใน 2 ของจังหวัดมหาสารคาม โดยมีหลวงสารประสิทธิ์เขต (โลม เปาริสาร) เป็นนายอำเภอ[1]การขยายตัวช่วงแรกในปี พ.ศ.2454 การก่อตั้งอำเภอโดยในสมัยนั้น พระเจริญราชเดช(อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) ได้พิจารณาเห็นว่าบ้านเมืองได้เจริญและมีผู้คนหนาแน่นขึ้น ควรจะขยายตัวเมืองและอำเภอออกไป จึงได้ทำหนังสือกราบทูลกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอย้ายอำเภอปัจจิมสารคามจากเมืองมหาสารคาม ไปตั้งที่บ้านค้อ แล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอท่าขอนยาง”[2] 

ในพ.ศ.2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามขณะนั้นได้เสด็จมาตรวจราชการที่อำเภอท่าขอนยาง ได้ทรงตรวจสภาพท้องที่เห็นว่า มีหนองบ่อซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอ เป็นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาพืชพันธุ์ธัญญาหารมีบ่อแร่ธาตุเหล็กและบ่อเกลือเลื่องลือไปทั่วท้องที่ใกล้เคียง หม่อมเจ้า นพมาศนวรัตน์ จึงประทานนามให้ใหม่ว่า บ่อระบือ ในภายหลังได้มี การใช้อักษรเพี้ยนไปจากเดิม จึงกลายมาเป็นชื่อ “บรบือ” มาจนกระทั่งบัดนี้[3] ชื่อที่มาของบรบือนี้มีตำนานที่เล่าสืบทอดต่อกันมาโดยเป็นการพูดคุยสื่อสารระหว่างเจ้านายที่มาจากส่วนกลางที่ในสมัยนั้น พ.ศ.2440 ได้แต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางมาเป็นสมุหเทศาภิบาล ความว่า

          “เจ้านายถามว่า สถานที่แห่งนี้ แต่ก่อนมีชื่อว่ากระไรหรือ ชาวบ้านตอบว่า บวกคือควายนอน ขะน้อย เจ้านายถามว่า บวก คืออะไร ชาวบ้านพยายามอธิบายว่า ที่สำหรับควายนอนเล่นโคลนตม แต่ว่าอธิบายไม่ถูก เจ้านายเลยถามว่า คงจะเป็นหนองน้ำละสิท่า เจ้านายเลยสรุปว่า ถ้าเช่นนั้นก็คือ บ่อกระบือนั่นเอง ถ้าจะเรียกว่าบ้านบ่อกระบือ น่าจะถูกต้องเป็นการรักษาประวัติชื่อบ้านไว้ก็จะดีนะ ชาวบ้านก็เลยว่า เพิ่นเอิ้นบ้านเฮาว่า บ่อระบือเด้อ จื่อเอาไว้เฮา”[4]


 
 

พ.ศ.2460 พระสารคามคณาภิบาล(พร้อม ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้มองเห็นว่า ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่บ้านค้อ อยู่ห่างจากเส้นทางที่ตัดใหม่ถึงถนนแจ้งสนิทอันเริ่มมาจากอำเภอชนบทไปอำเภออุบลราชธานี จึงกราบทูลขออนุญาตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอย้ายที่ว่าการอำเภอใหม่มาตั้งอยู่บริเวณริมถนนแจ้งสนิท[5] การขยายตัวของชุมชนในช่วงเวลานี้จากการอธิบายข้างต้นเป็นการขยายตัวทางด้านการปกครองของจังหวัดมหาสารคามที่แยกออกจากบริเวณอำเภอปัจจิมสารคามมาตั้งอำเภอขึ้นใหม่บริเวณนี้ ส่วนในเรื่องการขยายตัวของชุมชนบรบือในช่วงเวลา ปี 2454-2460โดย 1.จะเป็นการขยายตัวของผู้คนอพยพของจากอำเภอปัจจิมสารคามจากการตั้งอำเภอใหม่มาอยู่บริเวณบ้านค้อ 2. เป็นการขยายตัวของผู้คนโดยการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนจากที่อื่นมาอยู่อาศัยพื้นที่นี้ซึ่งแต่ก่อนเป็นที่ที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อาทิเช่น หนองบ่อ บริเวณทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอและเป็นที่คาดว่าน่าจะเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปี พ.ศ.2460 ส่วนทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของอำเภอจะเป็นพื้นที่ป่าทึบและมีหนองน้ำและป่าไผ่โดยพระอวดชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านค้อ เล่าว่า

          “แต่ก่อนนี้เด้อบ้านช่องยังบ่มีดอก มีแต่ป่าทึบ รกหนาแน่น คนที่อยู่แถวนั้นเค้าเก็บของจากป่ามันเฮ็ดกับข้าวกับปลากินกัน มีหนองน้ำขเจ้ากะจับปลามีป่ากะเก็บผลละหมากรากไม้มากินกันนี้ละ”[6]

ด้านทิศตะวันออกของอำเภอจะเป็นชุมชนบ้านค้อและบริเวณด้านทิศตะวันตกจะเป็นพื้นที่ชุมชนแต่ก่อนคือชุมชนบ้านซำแฮดและบ้านหนองสิม ซึ่งชุมชนที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้อพยพมาจากบ้านโนนหนองกอก[7]ซึ่งปัจจุบันไม่มีชื่อหมู่บ้านนี้แล้วและไม่มีหลักฐานว่าย้ายมาจากที่ใด[8] แต่ในหลักฐานได้ระบุว่า ใน ปี พ.ศ. 2370 ได้ผู้คนอพยพเข้ามาโดยเล่าว่า

“เดิมทีก่อนจะได้มาตั้งหมู่บ้านเดิมการอพยพมาจากครอบครัวส่วนหนึ่งของบ้านโนนหนองกอก สาเหตุที่ย้ายมาจากบ้านเดิม เนื่องจาก บริเวณที่ตั้งบ้านอยู่ในที่ลุ่มมีโนนบ้านเป็นโนนสูงเพียงแห่งเดียว โนนตั้งบ้านน้อย ผู้คนแออัดขยายออกไม่ได้ประกอบกับการเกิดความกันดารและเกิดโรคระบาด จึงได้พากันอพยพจากบ้านเดิมโดยแยกออกเป็นสามพวกตามความสมัครใจ โดยพวกหนึ่ง ไปทางทิศตะวันออกของบ้านเดิมข้ามทุ่งหนองบ่อไปตั้งหมู่บ้าน พวกที่สอง ย้ายไปทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านเดิม ส่วนมากพื้นที่ในขณะนั้นเป็นดงป่า พวกที่สามมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือของหมู่บ้านเดิมเข้าไปในดงซำแฮด ซึ่งในสมัยนั้นเป็นดงป่าทึบดงนี้มีหนองน้ำเล็กๆ อยู่กลางดง”[9]

          จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของชุมชนในอดีตเริ่มจากการอพยพจากทางทิศใต้ของอำเภอ โดยผู้คนอพยพตามแหล่งสภาพทางธรรมชาติที่เอื้ออำนวยในการตั้งถิ่นฐานของชุมชน โดยการอพยพนี้เกิดจากการหนีโรคระบาดและสภาพชุมชนแต่เดิมมีความหนาแน่น โดยทางทิศตะวันออกจากเป็นการตั้งถิ่นฐานของผู้คนปัจจุบันคือบริเวณบ้านค้อ มีหนองบ่อเป็นปัจจัยหลักในการตั้งถิ่นฐานประกอบกับการย้ายอำเภอปัจจิมสารคามมาตั้งที่บริเวณบ้านค้อทำให้บ้านค้อมีผู้คนจากอำเภอเมืองกับคนในท้องถิ่นมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ในปี พ.ศ.2454 พระพิทักษ์นรากร (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) จึงได้เล็งเห็นว่าบริเวณบ้านค้อน่าจะเหมาะสมกับการตั้งถิ่นฐานและการตั้งอำเภอปัจจิมสารคามที่บ้านค้อ

 
 

โดยคุณตาเสาร์ เล่าว่า “ตอนตามาอยู่บ้านค้อ พ่อแม่ของตา เพิ่นกะมักสิไปจับปลาอยู่หม่องหนองบ่อมาเฮ็ดให้กินแล้วกะเฮ็ดนา นาตาสีอยู่ทางพุ่นอยู่ห่างจากหมู่บ้านไป ส่วนใหญ่บ้านเฮากะมีเฮ็ดนา บางมื้อกะไปเล่นน้ำอยู่หนองบ่อเด้อนะ”[10]

          การอพยพของผู้คนบริเวณทางทิศตะวันออกของอำเภอจะเห็นได้ว่าคนพึ่งพาธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านค้อไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ในการหากิน ทำไร่ทำนาและเป็นประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือน        

การขยายตัวของชุมชนในทางทิศตะวันตกของอำเภอนั้นมี ทั้งหมด  2 ชุมชน คือ 1. บ้านซำแฮด 2. บ้านหนองสิม โดยบ้านซำแฮดจะเป็นการขยายตัวเป็นทางทิศเหนือ ส่วนบริเวณบ้านหนองสิมจะอยู่บริเวณทิศตะวันตกโดยสภาพพื้นที่ทั้ง 2 ชุมชนนั้น คุณถนอม เล่าว่า

          “หม่องฟากทางไปบ้านไผ่ทางบ้านซำแฮด หม่องตรงข้ามเป็นหนองสิม มันเป็นป่าไม้ หนาๆแน่นๆ แต่มีหนองน้ำเล็กๆในหมู่บ้าน แต่บ่ใหญ่ซำหนองบ่อเด๊ คนแต่ยังบ่เห็นนา เค้าก็มีหนองน้ำและก็เก็บของป่ากินกัน แต่ตอนนี้มันมีบ้านคนขึ้นขเจ่ากะตัดต้นไม้ออก มาเฮ็ดบ้านตั่วละ แต่ก่อนเวลาขเจ่าสิตั้งบ้านขเจ่าบ่มีถนนเด้แต่ก่อนไผ๋อยากอยู่หม่องได้ก็อยู่เพราะมีป่า มีหนองน้ำอยู่นั้นละ ขเจ้าก็ เดินไปเอา”[11]

          การขยายตัวของชุมชนบ้านซำแฮดเป็นเพราะการอพยพจากบ้านโนนหนองกอกโดยขึ้นมาบริเวณทางทิศเหนือของหมู่บ้านแต่เดิม เพราะปัจจัยในการหนีโรคระบาด พร้อมกับการย้ายที่อยู่ใหม่เพื่อหาพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยของชุมชน การอพยพของบ้านซำแฮด มีผู้นำชื่อ พ่อใหญ่แสน ซึ่งพาอพยพมาอยู่บริเวณนี้ โดยแต่ก่อนเป็นป่าไม้ โดยเล่าว่า

          “สมัยนั้นเป็นดงป่าทึบในดงนี้มีหนองน้ำเล็กๆ อยู่ในกลางดง มีแรดลงนอนเป็นปรัก(ซำ) เป็นประจำ อยู่ห่างจากบ้านเดิมประมาณ 3 กม. ในขบวนอพยพขบวนนี้มีพ่อใหญ่แสน ผู้ซึ่งมีอายุมากเป็นผู้นำขบวนได้ พาลูกหลานมาสร้างบ้านลงที่ดง และได้ขนานนามของหมู่บ้านนี้ตามชื่อหนองที่เป็นปรักของแรดนี้ว่าบ้านซำแฮด”[12]

 

 

 

 

การขยายตัวของชุมชนบ้านซำแฮดจะอยู่ใกล้กับบริเวณวัดบ้านซำแฮดซึ่งเป็นเขตชุมชนเก่า โดยวัดบ้านซำแฮดสร้างขึ้น ในปี พ.ศ.2381 มีพระอาจารย์ป้อเป็นเจ้าอาวาสคนแรก ซึ่งการขยายตัวทางประเพณีวัฒนธรรมของชุมชนเริ่มตั้งแต่นั้นมา การดำเนินชีวิตของชุมชนบ้านซำแฮด กล่าวคือ เป็นชุมชนที่มีหนองน้ำเล็กๆ ประกอบกับการเก็บของป่า ทำนาซึ่งบริเวณที่นา ชุมชนในหมู่บ้านต่างได้จับจองพื้นที่บริเวณทางทิศเหนือของหมู่บ้านในการประกอบอาชีพ ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เห็นการขยายตัวของชุมชนบ้านซำแฮดชุมชนเกิดความหนาแน่นมากขึ้น ส่งผลให้มีการจัดตั้งโรงเรียนบ้านซำแฮดขึ้น ในปีพ.ศ.2456 ทำให้เกิดการขยายตัวทางการศึกษา ประกอบกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนที่ส่งลูกส่งหลานมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนโดยคุณยายทองเหลี่ยม เวียงแก้ว เล่าว่า

         

“โรงเรียนบรบือที่เป็น โรงเรียนแห่งแรกก็คือ ตั้งอยู่บริเวณบ้านซำแฮด คุณยายก็มีโอกาสได้ไปเรียนก่อนจะมีโรงเรียนที่สารคาม สมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นนักเรียนบ้านค้อ นักเรียนหนองสิม โรงเรียนซำแฮด ขเจ้ากะมาเรียนหม่องนี้ละ”[13]

 

 

การขยายตัวของชุมชนบ้านซำแฮดได้มีการขยายตัวมาพร้อมกับบ้านหนองสิมซึ่งเป็นชุมชนบริเวณใกล้เคียงกัน การขยายตัวของชุมชนบ้านหนองสิม โดยเริ่มจากปัจจัยการอพยพมาจากบ้านโนนหนองกอก จากสภาพชุมชนที่แออัดและเกิดโรงคระบาดเช่นเดียวกับการอพยพของชุมชนบ้านซำแฮด แต่การขยายตัวของชุมชนบ้านหนองสิมจะมีลักษณะแบ่งชุมชนออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มหนึ่งตั้งอยู่บนทิศเหนือของหนองผือ อีกกลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหนองผือโดยชุมชนทางทิศเหนือได้มีการสร้างวัดขึ้นและมีการสร้างสิม(โบสถ์) อยู่ติดหนองน้ำโดยสร้างเป็นสิมขนาดเล็กมีสระน้ำดินถมต็มเป็นสวนของชาวบ้านมีชื่อว่า “หนองสิมน้อย” ส่วนอีกกลุ่มไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ ก็ได้สร้างวัดขึ้นเป็นของตัวเอง และได้สร้างสิมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใกล้กับห้วยปอพาน จึงได้ชื่อว่า “หนองสิมใหญ่” โดยมีผู้ใหญ่บ้านคนเดียวกันปกครองทั้งสองชุมชน คือ พ่อใหญ่พา ปี.พ.ศ.2405[14]

การขยายตัวการตั้งถิ่นฐานจะเห็นว่ามีการเริ่มต้นเป็นสังคมชุมชนตั้งแต่ก่อนตั้งอำเภอแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัด การสร้างโรงเรียน รวมถึงการขยายตัวของชุมชนจาการอาศัยปัจจัยทางทรัพยากรทางธรรมชาตินั้นคือ หนองบ่อ ในบริเวณชุมชนบ้านค้อทางทิศตะวันออกของอำเภอ บริเวณชุมชนบ้านซำแฮดและหนองสิม เป็นบริเวณพื้นที่ป่าไม้และมีหนองน้ำขนาดเล็ก การขยายตัวของชุมชนทั้ง 3 ชุมชน อาศัยทรัพยากรทางธรรมชาติในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจับปลา การทำนา และการเก็บของป่า เพื่อสร้างรายได้และเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคในชุมชนและทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรในชุมชน ทั้ง 3ชุมชน อีกทั้งชุมชนทั้ง 3 ชุมชนต่างมีความเชื่อที่เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่อดีตควบคู่กันมา ก็คือ พ่อปู่จูมคำ ที่ท่านอาศัยอยู่บริเวณหนองบ่อทำให้หนองบ่อกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของชุมชนทั้ง 3 ชุมชน ทำให้สถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้ให้ชุมชนทั้ง 3 ได้มีกิจกรรมทางความเชื่อรวมกัน เชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติเดียวกัน ชุมชนทั้ง 3 ชุมชนได้พบปะเจอกัน และอาศัยหนองบ่อซึ่งเป็นแหล่ง

ธรรมชาติเกิดมีความสำนึกร่วมของความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการมานับถือกราบไหว้พ่อปู่จูมคำแล้ว หนองบ่อก็กลายเป็นแหล่งทรัพยากรที่ชุมชนได้อาศัยประโยชน์ด้วยกัน ทำให้เกิดความเชื่อและความสำนึกร่วมกันในทั้ง 3 ชุมชน โดยคุณยายถนอม เล่าว่า

“ศาลเจ้าปู่แต่ก่อนเป็นศาลไม้ คือเถียงนาบ้านนอกนี่ละ มีมาแต่โด่นแล้ว ขเจ้าหม่องบ้านซำแฮดก็ไปไหว้เผิ่นคือกัน ไปบ่นไปกล่าวไปขอ หนองบ่อนี้เผิ่นกะเป็นคนรักษาคุ้มครองให้มันเป็นธรรมชาติ ให้คนอยู่ดีมีแฮง”[15]

 

 

ปัจจัยทางด้านความเชื่อนี้ทำให้ชุมชนทั้ง 3 ชุมชน โดยเฉพาะบ้านค้อทำให้เกิดมีผู้คนมากมายเข้ามาในชุมชนมากขึ้น  กระทั้งปีพ.ศ.2457 หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในขณะนั้นได้เสด็จมาตรวจการราชการที่อำเภอท่าขอนยาง ถึงบรบือ หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ได้ทรงตรวจสภาพที่เห็นว่ามีหนองบ่อ เป็นที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยปลา และยังมีแร่ธาตุ เกลืออยู่อีกมากมายซึ่งชื่อเสียงเรื่องบ่อเกลือที่บริเวณนี้ได้เลื่องลือไปทั่วท้องที่ใกล้เคียง หม่อมเจ้านพมาศ นวรัตน์ จึงประทานใหม่ว่า บ่อระบือ

บทบาทของชุมชนบ้านค้อจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าชุมชนทั้ง 3 ชุมชน จากการที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วปัจจัยนี้ทำให้บ้านค้อเป็นที่มองว่าอุดมสมบูรณ์กว่า การขยายตัวของชุมชนของบ้านค้อได้มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งส่งผลกระทบต่อชุมชนบ้านซำแฮดโดยการ ย้ายที่ทำการอำเภอจากบ้านค้อมาอยู่บริเวณใหม่เมื่อ พ.ศ.2460 พระสารคามคณาภิบาล(พร้อม ณ นคร) ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้มองเห็นว่า ที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่บ้านค้อ อยู่ห่างจากเส้นทางที่ตัดใหม่ถึงถนนแจ้งสนิท จึงกราบทูลขออนุญาตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขอย้ายที่ว่าการอำเภอใหม่มาตั้งอยู่บริเวณริมถนนแจ้งสนิท ทำให้ชุมชนบ้านค้อเกิดการขยายตัว กล่าวคือ มีการย้ายการตั้งถิ่นฐานตามสถานที่ราชการใหม่ บทบาทการขยายตัวของชุมชนอำเภอบรบือจึงเกิดขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2460 โดยคุณยายถนอม เล่าว่า

บริเวณทางทิศตะวันออกใกล้กับหนองบ่อเป็นที่ว่าการราชการอำเภอ มีบ้านพักข้าราชการอยู่บริเวณวัดบรบือสรารามแต่ก่อนเป็นบ้านพักข้าราชการโดยที่ว่าการอำเภอจากหันมาทางทิศตะวันตกอยู่ติดกับถนนแต่ก่อนเป็นถนนลาดยางอยู่บริเวณสวนสุขภาพและร้านแว่นตาท็อปเจริญในปัจจุบัน”[16]

โดยการขยายตัวของชุมชนจะเป็นการเริ่มต้นการขยายตัวของผู้คนในบรบือไม่ว่าจะจากบ้านค้อ บ้านซำแฮด บ้านหนองสิม ต่างได้รับความเจริญเติบโตจากการขยายตัวของการที่ว่าการอำเภอใหม่ รวมทั้งเป็นการเริ่มต้นการค้าขายและเศรษฐกิจใหม่ในบรบือ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการเกิดการอพยพและการเข้ามาคนจีนและคนญวนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบรบือในยุคต่อมา

 

 

 
 

[1] ที่ว่าการอำเภอบรบือ.ประวัติและข้อมูลทั่วไปของอำเภอบรบือ,2559 หน้า 2

[2] โดยนำเอาชื่ออำเภอท่าขอนยางที่ซึ่งถูกยุบเป็นตำบลมาตั้งชื่ออำเภอนี้

[3] บุญช่วย อัตถากร.ประวัติศาสตร์ภาคอีสาน และเมืองมหาสารคามและผลงานต่างๆ หน้า 101

[4] ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพนายเกษมศักดิ์ มหาปรีชาวงศ์และฌาปนกิจศพนางผ่องพรรณ มหาปรีชาวงศ์,2534 หน้า 35-40

[5] เติม วิภาคพจนกิจ.ประวัติศาสตร์อีสาน,2537 หน้า 190-191

[6] พระอวยชัย อวดศรีเมือง ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์ 

[7] ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศพระครูประสิทธิ์ เขมคุณ.พิมพ์แจกเนื่องในงานงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ.หน้า 12

[8] สันนิษฐานว่าอยู่ทางทิศใต้ของตัวอำเภอบรบืออยู่ทิศตะวันตกของหนองบ่อประมาณ 25 เส้น

[9] ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศพระครูประสิทธิ์ เขมคุณ.พิมพ์แจกเนื่องในงานงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ.หน้า 13

[10] นายเสาร์ วงษาสืบ ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์  คุณะเป็นผู้สัมภาษณ์ ณ บ้านเลขที่ 21 ม.9 บ้านค้อ ต. หนองจิก อ.บรบือ จ.มหาสารคาม

[11] นางถนอม นาชัยสิทธุ์ อายุ 94 ปี ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์.บ้านเลขที่ 668 หมู่ที่ 1 ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

[12] ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศพระครูประสิทธิ์ เขมคุณ.พิมพ์แจกเนื่องในงานงานฉลองสมณศักดิ์พัดยศ.หน้า 13

[13] นางทองเหลี่ยม เวียงแก้ว ผู้ให้สัมภาษณ์ นายบรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์ ณ บ้านเลขที่ 488 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

[14] อนุสรณ์งานฉลองอุโบสถพิธีวางศิลาฤกษ์วิหารพระไตรปิฎกพิธีพุทธาภิเษก และนมัสการพระธาตุจูมคำ หน้า52-54

[15] นางถนอม นาชัยสิทธุ์ อายุ 94 ปี ผู้ให้สัมภาษณ์ บรรณษรณ์ คุณะ เป็นผู้สัมภาษณ์.บ้านเลขที่ 668 หมู่ที่ 1 ตำบลบรบือ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

[16] อ้างแล้ว

15,909 views

2

share