มิวเซียมสยาม และ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)
จับมือทำบันทึกข้อตกลง MOU พัฒนาพิพิธภัณฑ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี
ตึกอำนวยการ รพ.ศิริราช - เมื่อวันที่ 3 ต.ค 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) และ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ จับมือ ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU การพัฒนาพิพิธภัณฑ์
ในกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โดยความร่วมมือดังกล่าวได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับประชาชน ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ได้แก่
พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน, พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส, พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน, พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ สุด แสงวิเชียร, พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา,
พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน, พิพิธภัณฑ์ศัลยศาสตร์ศิริราช และพิพิธภัณฑ์ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งแล้วเสร็จในอนาคตที่เปิดสู่สาธารณะ ทั้งนี้ ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก
ศ.นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ คุณ ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ฉบับนี้
พร้อมด้วย รศ.ดร.นพ.ภัทรบุตร มาศรัตน รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คุณสุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมลงนามเป็นพยาน
อีกทั้งขอบเขตความร่วมมือนับจากนี้ มีแผนการดำเนินการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ เป็นระยะเวลา 4 ปีภายใต้ การให้คำปรึกษาและการจัดทำแผนบริหารจัดการระยะสั้นและระยะยาว
รวมถึงโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีการร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และ การจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์ ด้านการจัดแสดงนิทรรศการ ด้านการเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ
เกร็ดความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์การแพทย์ไทย ด้านการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล รวมถึงพัฒนาบุคลากรทางด้านพิพิธภัณฑ์ให้มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญอีกด้วย
นอกจากนี้ จากการค้นข้อมูลเบื้องต้น พบว่า มนุษย์รู้จักรักษาตัวมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีปรากฏหลักฐานในคำสอนของศาสนาที่ให้ดำรงตน พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
มีการสร้างอโรคยาศาลาซึ่งเป็นสถานพยาบาลกว่า 100 แห่ง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการค้นพบหินบดยาเป็นจำนวนมากในแหล่งวัฒนธรรมสมัยทวารวดี มีการรวบรวมตำรับยาที่เรียกว่า
ตำราพระโอสถพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา การแพทย์แผนตะวันตกเข้ามามีบทบาทสำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น และด้านการแพทย์ก็วิวัฒนาการเกิดโรงพยาบาล โรงเรียนการแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ตามไปด้วย ในยุคบ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง
สามารถติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ได้ทาง www.museumsiam.org