คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

หลวงพ่อเพ็ชร์

พระพุทธปฏิมากรศักดิ์สิทธิ์

ปฐมเหตุแหล่งที่มา

          เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ร.ศ. ๑๑๒ ครั้งนั้นมีพระเถระรูปหนึ่งมีชื่อว่า “หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง”เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เมืองอุตรดิตถ์ วัดหมอนไม้นี้ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก คนละฝั่งกับตัวจังหวัด หลวงพ่อด้วงรูปนี้ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่มีผู้รู้จักและเคารพนับถือมาก

          ในวันหนึ่งพระอุปัชฌาย์ด้วงได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งเป็นพระอุปัชฌาย์ทําการบรรพชาอุปสมบทกรรม ณ พัทธสีมาวัดสว่างอารมณ์ ตําบลไผ่ล้อม อําเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ครั้นเมื่อท่านพระอุปัชฌาย์ด้วง ท่านได้กระทําพิธีอุปสมบทกรรมเสร็จ จึงได้เดินทางเท้าพร้อมพระภิกษุลูกวัด ๒ รูป กลับวัดหมอนไม้  ระหว่างทางไม่ว่าจะด้วยบุญญาภินิหารอันมหัศจรรย์หรือจะบังเกิดขึ้นด้วยอิทธิปาฏิหารย์ หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงได้ชวนพระภิกษุลูกวัดที่มาด้วยแวะเที่ยวเดินดูในบริเวณวัดโบราณอีกวัดหนึ่งซึ่งได้กลายสภาพเป็นวัดร้างอยู่แล้ว (สันนิฐานว่าเป็นวัดป่าสะแก ปัจจุบันได้จัดเป็นวัดที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพ็ชร์ (ที่ระลึก) วัดนี้ตั้งอยู่ไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่เลย มีแต่ต้นไม้ใบหญ้าเลื้อยพันปกคลุมอยู่ตามซากหน้าอิฐเก่าที่หักพังและมีเหลืออยู่บางส่วน เสนาสนะอื่นๆไม่ปรากฏ เหลืออยู่แต่ซากเสาผุและหัก สภาพมืดครึ้มไปด้วยต้นไม้ต้นหญ้าปกคลุมไปทั้งบริเวณเงียบสงัดเป็นป่าช้า

          เมื่อคณะภิกษุของหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง ได้พากันเข้าไปเดินสํารวจดูจนทั้งบริเวณ ก็ได้แลเห็นเนินดินจอมปลวกขนาดใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง เมื่อสังเกตด้วยสายตาจะเห็นได้ว่า จอมปลวกนี้มีรูปร่างผิดปกติ ไม่เหมือนจอมปลวกทั่วๆไป เพราะไม่มีต้นไม้หรือต้นหญ้าขึ้นอยู่เลย เนื้อดินเรียบเป็นมันคล้ายกับว่าได้เคยมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปทําการขัดถูอยู่เสมอจนน่าประหลาดใจ หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงมีความรู้สึกสนใจดินจอมปลวกกองนี้มากเป็นพิเศษ ท่านจึงได้เพ่งพินิจพิจารณาดินปลวกกองนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ท่านจึงได้แลเห็นเกศของพระพุทธรูปโผล่พ้นจากดินปลวกนั้นขึ้นมาในลักษณะดินปลวกหุ้มอยู่จนนูนสูงเป็นหย่อมแหลม เมื่อได้แลเห็นเช่นนั้นแล้ว หลวงพ่อด้วงจึงได้ใช้ไม้ที่ถือติดมาด้วยเคาะลงที่ดินจอมปลวก ตรงหย่อมแหลมยอดปลวกนั้นแรงๆจนดินแตกหลุด ก็ปรากฏเห็นเกศพระพุทธรูปได้ชัดเจนยิ่ง เพิ่มความสนใจให้หลวงพ่อด้วง หลวงพ่อด้วงจึงได้บอกให้พระภิกษุลูกวัดเดินกลับไปในหมู่บ้านเพื่อยืมเครื่องมือเครื่องใช้ในการขุดดินจากชาวบ้านหลังจากขุดดินออกจนหมดจึงได้แลเห็นองค์พระพุทธรูปขนาดค่อนข้างใหญ่ ลักษณะท่านั่งขัดสมาธิเพชรมีขนาดหน้าตัก ประมาณศอกเศษ ตลอดทั้งองค์มีเศษดินและสนิมเขียวจับเกรอะกรังไปทั้งองค์ ทำให้เกิดความตกตลึง และดีใจแก่คณะที่ทําการขุดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง

ดังนั้นหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง จึงได้นําพระภิกษุในวัดหมอนไม้พากันเดินย้อนไปยังวัดร้างพร้อมด้วยเครื่องไม้คานหาม และอุปกรณ์อีกหลายสิ่ง เพื่อใช้ในการนําองค์พระพุทธรูป กลับวัดตามความตั้งใจของท่าน เมื่อพากันเดินทางมาถึงที่วัดร้าง ก่อนที่จะนําองค์พระพุทธรูปกลับไปหลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ด้วงได้จุดธูปเทียนกระทําสักการะนมัสการกล่าวคําขอขมา และขออาราธนาอัญเชิญพระพุทธรูปพร้อมทั้งบอกกล่าวเจ้าที่ ตามที่เชื่อว่าต้องมีนั้นด้วย ตลอดทั้งเทพเทวดาอารักษ์และรุกขเทวดาทั้งหลาย ที่อารักขาอยู่ที่นี้ด้วย ตามประเพณีโบราณที่ถือเชื่อกันมาอย่างนั้น ซึ่งขณะเดินทางผ่านบ้านแม่พร่องต้องเดินทางผ่านไปในเขตของชาวบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของบ้านชื่อนายกูน และทางเดินต้องผ่านบ้านนั้นต่อมา อีกยังมีลําคลองเล็กๆขวางอยู่ ซ้ำในลําคลองมีน้ำอยู่เพียงเล็กน้อยระหว่างสองฝั่งฝากลําคลองมีสะพานไม้ทําขึ้นชั่วคราว ทอดข้ามลําคลองไว้สําหรับเดิมข้ามไปมาและการหาบนําเอาพระพุทธรูปเดินทางมานี้ จําเป็นต้องหาบเดินข้ามสะพานนี้ด้วยเพราะไม่มีทางเลี่ยงอื่นขณะที่พระภิกษุกําลังหาบพระพุทธรูปค่อยๆเดิน ไต่ข้ามสะพานด้วยความระมัดระวังนั้น บังเอิญไม้ที่ทอดข้ามสะพานเกิดต้านน้ำหนักไม่ไหวจึงได้หักโครมลง  ด้วยเหตุนี้เองทั้งพระภิกษุผู้หาบและองค์พระพุทธรูปต่างก็ตกลงจากสะพานหล่นลงไปในโคลน ทุกคนต่างตกใจ แต่เดชะบุญที่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากเหตุนั้นเลย ทุกคนเชื่อว่าการที่แคล้วคลาดปลอดภัยในครั้งนี้เกิดจากบุญปาฏิหาริย์ขององค์พระพุทธรูปช่วยคุ้มครอง และปัดเป่าเพราะเป็นเหตุไม่น่าเชื่อเลยว่ากําลังหาบของที่มีน้ำหนักมากๆ เช่นองค์พระพุทธรูปซึ่งต้องช่วยกันหาบถึง 5 คน เมื่อพลัดตกลงต้องมีบาดเจ็บกันบ้างแต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีแม้แต่รอยฟกช้ำ ทุกคนปลอดภัยดี ซ้ำองค์พระพุทธรูปก็ตกลงไปประทับนั่งแช่น้ำโคลนอยู่ในลําคลองด้วยอิริยาบทเดิม

          หลังจากได้ตั้งสติอีกครั้งทุกๆคนจึงรวมกําลังช่วยกันพยายามที่จะนําเอาพระพุทธรูปขึ้นมาให้พ้นจากคลองให้จนได้ แต่องค์พระพุทธรูปนี้มีน้ำหนักมาก การนําเอาองค์พระพุทธรูปขึ้นมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นายกูน เจ้าของบ้านและเจ้าของที่ดิน ขณะอยู่ในบ้านได้ยินเสียงของหนักๆตกลงในลําคลองและได้ยินเสียงคุยกันเอะอะอยู่ จึงเดินออกมาดู ก็ได้พบพระภิกษุ หลายรูปกําลังช่วยกันฉุดลากพระพุทธรูปขึ้นจากลําคลองอย่างชุลมุนวุ่นวายอยู่ จึงได้ทราบเหตุ ก็ได้นิมนต์หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง เข้าไปพักผ่อนที่บ้านเพราะมืดค่ำแล้ว รุ่งขึ้นนายกูน จึงได้นําชาวบ้านมารอคอยช่วยกันอีกหลายคนซึ่งก่อนจะลงมือหลวงพ่อด้วงได้ทําพิธีจุดธูปเทียนอาราธนาและอธิฐานว่า ถ้าหากพระพุทธองค์นี้จักได้เป็นคู่บารมีของท่าน และจะให้เป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง ให้ความร่มเย็นแก่ประชาชนชาวเมืองแล้วก็ขอให้การนําองค์พระพุทธรูปขึ้นมาจากคลองนี้เสร็จได้โดยง่ายเทอญ และปรากฏว่าการเอาพระพุทธรูปขึ้นในวันนี้ไม่มีเหตุการณ์ขลุกขลัก ทุลักทุเลดังเช่นวันเดิม ทั้งพระภิกษุและชาวบ้านต่างพากันหาบองค์พระพุทธรูปนี้ผ่านเข้าทางวัดกลางและนําไปลงท่าน้ำซึ่งมีศาลเจ้าอยู่ (ปัจจุบันน้ำเซาะตลิ่ง ฝั่งหายไปหมดแล้ว ) ซึ่งในขณะนั้นเป็นหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำน่านตื้นเขินการนําพระพุทธรูปข้ามแม่น้ำน่านจึงสามารถเดินข้ามไปอย่างสะดวก

          เมื่อนําพระพุทธรูปมาวัดหมอนไม้ ชาวบ้านจึงได้จัดงานฉลองสมโภช โดยมีลิเก ๓ วัน ๓ คืนที่บริเวณหาดทรายหน้าวัดหมอนไม้ ประชาชนทราบข่าวต่างพากันมาชมบารมีและนมัสการพระพุทธรูปกันวันละมากๆ พระพุทธรูปองค์นี้ คงประทับประดิษฐานการสมโภชฉลองอยู่ที่หาดทรายหน้าวัดอีกถึง ๔ วัน เมื่อเสร็จการฉลองสมโภชแล้ว จึงได้ช่วย กันอัญเชิญนําเอาขึ้นไปไว้ที่วัดหมอนไม้ตามความตั้งใจเดิมของหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง

ปรากฏพุทธลักษณะ

          เมื่อได้นําพระพุทธรูปมาไว้ที่วัดหมอนไม้แล้ว ต่อมาพระสงฆ์และสามเณรในวัดได้ช่วยกันทําความสะอาดขัดถูองค์พระพุทธรูปนั้น เพื่อให้ดินและสนิมเขียวที่จับเกรอะกรังออกให้หมด เมื่อช่วยกันขัดถูจนสะอาดดีแล้ว จึงปรากฏให้เห็นพุทธลักษณะแท้จริงอย่างถนัดชัดเจนว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ประทับนั่งสมาธิเพชร ส่งรัศมีมีสีนากปนทองสุกวาวไปทั้งองค์ เปล่งปลั่งและสุกใสจนหาตําหนิมิได้ แลดูสุกสกาวงดงาม เป็นที่ตรึงตาตรึงใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก พระพักตร์อูมอิ่มแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณทุก ส่วนของพระองค์ท่านงดงามรับกันเป็นอย่างดี

นับจากนั้นต่อมา ปรากฏมีประชาชนเลื่อมใสศรัทธาทั้งใกล้และไกลที่ได้รับทราบจากการบอกเล่า จากคนนั้นสู่คนนี้ จากคนนี้สู่คนนั้นถ่ายทอดกันต่อๆไป จนข่าวแพร่สะพัดขยายไกลออกไปทุกที ใครๆก็พูดถึงแต่ความงดงามสมส่วน สมพุทธลักษณะอันน่าเคารพบูชาของพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่วัดหมอนไม้ ต่างพากันไปชมบารมีกราบไหว้บูชากันเสมอเกือบทุกวัน แทบไม่มีเว้นผู้มาชมบารมีที่พอจะมีความรู้ในการดูลักษณะของพระพุทธรูปอยู่บ้าง ต่างก็ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้เก่าแก่มาก สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยเชียงแสนแน่นอน หรือที่เรียกกันว่า “เชียงแสนสิงห์ ๑” ก็ไม่ผิด เอาตามเค้าที่เนื่องจากพระพุทธลักษณะในท่าประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ๑ พระรัศมียอดพระเกศทําเป็นต่อมกลม ๑ พระอูระค่อนข้างนูน ๑ ชายจีวรสั้น ๑

เหตุที่ย้ายองค์พระพุทธปฏิมากรหลวงพ่อเพ็ชร์ มาประดิษฐาน ณ วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน)

           หลังจากที่หลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วง ได้เอาพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่วัดหมอนไม้เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว อยู่มาวันหนึ่งหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงได้ปรึกษากับมรรคทายกวัดเห็นว่าวัดหมอนไม้นั้นไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหารที่จะนําเอาพระพุทธรูปเข้ามาประดิษฐาน เพื่อให้สมเกียรติขององค์ท่านได้ครั้นจะปล่อยให้ท่านประทับอยู่เฉยๆในสถานที่อย่างนั้น อันยังเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จะเป็นการไม่สมควรไม่น่าดูและไม่สู้เหมาะนัก คล้ายกับว่าไม่ให้ความเคารพและไม่เชิดชูพระเกียรติของท่านเสียเลย ไม่สมกับพระพุทธลักษณะของพระองค์ท่าน และที่น่าคิดยิ่งไปกว่านั้น หากมีคนต่างถิ่นต่างเมืองเดินทางมาพบเห็นเข้าเขาจะตําหนิเรา ทั้งชาวบ้าน ชาววัด ได้ว่ามีของดีแล้วไม่รู้จักค่า ไม่รู้จักรักษาในที่อันควร ครั้นจักก่อสร้างสถานที่ขึ้นมา มันก็ไม่มีหนทางเลยเพราะติดขัดเรื่องปัจจัยอันเป็นสําคัญ ดังนั้น พระอุปฌาย์ด้วงจึงได้นําพระพุทธรูปองค์นี้ ไปถวายให้ไว้กับหลวงพ่อเพ็ชร์ เจ้าอาวาส วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน)เพราะที่ว่าวัดวังเตาหม้อ มีโบสถ์ ที่สวยงามและมั่นคงถาวร และท่านจะได้นําเอาเข้าประดิษฐานไว้ในโบสถ์นั้น เพื่อเป็นศรีเป็นสง่าแก่บ้านเมืองและญาติโยมผู้ศรัทธาทั้งหลายจะได้มีโอกาสเข้ากราบไหว้บูชาสะดวกทุกๆประการ และอีกทั้งประกอบด้วย หลวงพ่อเพ็ชร์ เจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อกับหลวงพ่ออุปฌาย์ด้วง ก็มีความรักใคร่กันเสมือนศิษย์กับอาจารย์ เพราะเป็นพระคู่สวด เคยไปบวชพระด้วยกันอยู่เสมออีกทั้ง วัดหมอนไม้อยู่ในที่เปลี่ยวโดดเดี่ยว ห่างจากตัวเมืองคนละฝั่งแม่น้ำเกรงว่าชาวบ้านไผ่ล้อม จะพากันแห่มารบกวน เพื่อจะเอาพระพุทธรูปกลับคืนไปอีกให้ได้ จะพากันเดือดร้อนไปหมด แต่ถ้าได้เอาไปไว้เสียที่วัดวังเตาหม้อ ซึ่งใกล้เจ้าบ้านผ่านเมือง ใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ในหน้าที่ราชการงานเมืองหลายคน พวกชาวบ้านคงจะไม่มีใครกล้าเข้าไปรบกวนได้

          การนําพระพุทธรูปไปมอบให้กับหลวงพ่อเพ็ชร์นั้น มีเหตุสําคัญอีกประการ คือไม่ว่าจะเป็นวัดหมอนไม้หรือวัดวังเตาหม้อ ทั้งสองที่ก็คือวัดในศาสนาเดียว สมภารเจ้าอาวาสวัดทั้งสองต่างมีลูกศิษย์จํานวนมากมีผู้เคารพนับถือจํานวนมากเหมือนๆกัน หากนําองค์พระพุทธรูปไปไว้ที่วัดท่าถนนผู้คนก็จะไปกราบไหว้กันมากขึ้นเพราะการไปสะดวกกว่า  ความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ท่าน ก็จะแพร่หลายกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว และสมพระเกียรติของท่านเมื่อได้ข้อสรุปดังนั้นพระอุปฌาย์ด้วงจึงขอแรงพวกชาวบ้านหมอนไม้ช่วยนําเอาพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวลงเรือแล้วนําเอาขึ้นที่ท่าน้ำหน้าวัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนน และได้นําเข้าไปไว้ในวัด มอบถวายให้ไว้กับหลวงพ่อเพ็ชร์ เจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

          ท่านเจ้าอธิการเพ็ชร์หรือหลวงพ่อเพ็ชร์ เจ้าอาวาสวัดวังเตาหม้อ เมื่อท่านได้รับมอบถวายองค์พระพุทธรูปไว้จากหลวงพ่ออุปฌาย์ด้วงแล้ว ท่านได้พินิจพิจารณาแลเห็นพระพุทธลักษณะขององค์พระพุทธรูปนั้นโดยถ้วนถี่ ก็ได้บังเกิดความพอใจ และสนใจในพระพุทธลักษณะอันงดงามและสมสวนนั้นเป็นอย่างยิ่ง ประดุจบุพเพสันนิวาส ที่เคยได้สร้างบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน และนําให้ได้มาพบกันในชาตินี้ คล้ายปฏิหาริย์ของ องค์พระพุทธรูปนั้นจะได้บันดาลเข้าสิงสู่ ดลจิตดลใจทําให้หลวงพ่อท่านบังเกิดความรู้สึกปลื้มปิติอย่างมาก ดังเช่นท่านได้รับดวงมณีอันล้ำค่ามาถือไว้ในมือ  ท่านได้อัญเชิญนําเอาองค์พระพุทธรูปนั้นเข้าประดิษฐานไว้ในโบสถ์ ตามเจตนาของหลวงพ่ออุปัชฌาย์ด้วงผู้นํามามอบถวายให้ไว้ และทั้งได้จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาประดับประดาด้วยดอกไม้สดเป็นประจําตรงด้านพระพุทธรูปในโบสถ์นั้นและบางวันหลวงพ่อท่านก็ได้เข้าไปนั่งเฝ้าอยู่ในโบสถ์นั้นด้วยตลอด ทั้งวันแทบทุกวันท่านจะต้องเข้าไปกราบนมัสการพระ ทําการสักการบูชาด้วยความพึงพอใจ และสนใจยิ่ง   ซ้ำในเวลากลางคืนหลวงพ่อท่านยังได้ลงไปนอนจําวัดอยู่ในโบสถ์บ่อยครั้งเพราะความรักความเคารพห่วงใยในองค์พระพุทธรูปของท่าน  นับจากที่ได้นําเอาพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้ในโบสถ์ปรากฏว่ามีประชาชนเลื่อมใส สนใจพากันไปกราบนมัสการ กราบไหว้อยู่เสมอมิขาด และด้วยความรักใคร่เคารพนับถือกัน ระหว่างพระพุทธรูปและหลวงพ่อเพ็ชร์เจ้าอาวาสซึ่งควรจะเรียกได้ว่า ทั้งสององค์ท่านนั้นได้เป็นคู่บุญซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง หลวงพ่อเพ็ชร์เจ้าอาวาสท่านจึงได้รักใคร่ เคารพ จับจิตจับใจและหวงแหนเป็นที่สุด ถึงกับเอ่ยปากกับญาติโยมไว้ว่า “พระพุทธรูปองค์นี้ท่านรักประดุจชีวิตจิตใจของท่านทีเดียว ถ้าหากพระพุทธรูปองค์นี้จะต้องเกิดมีอันเป็นไปด้วยประการใด อันเป็นการฝืนน้ำใจของท่านแล้ว ท่านจะอยู่ในวัดนี้ โดยไม่มีพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ด้วยไม่ได้แน่ ขอให้ญาติ โยมช่วยกันจําคําพูดไว้ ขอให้ช่วยกันบํารุงรักษา ทะนุถนอมองค์พระพุทธรูปองค์นี้ไว้ให้ดีด้วย”   กับอีกประการหนึ่ง ประกอบด้วยพระพุทธรูปองค์ทรงประทับนั่งด้วยพระอิริยาบถใน ท่าขัดสมาธิเพชรและเพื่อแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งและเพื่อเป็นอนุสรณ์สําหรับท่านหลวงพ่อเพ็ชร์เจ้าอาวาส ท่านจึงได้ตกลงใจถวายพระนามแก่พระพุทธรูป องค์นั้นว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์” เช่นเดียวกับชื่อตัวของท่าน และด้วยเหตุดังกล่าว พระพุทธรูปองค์นี้จึงได้รับพระนามที่เรียกและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “หลวงพ่อเพ็ชร์”

ถูกอัญเชิญนําไปประดิษฐานที่กรุงเทพฯ

          ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ตรงกับ ร.ศ.๑๑๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าให้สร้างวัดเบญจมบพิตร ขึ้นที่กรุงเทพมหานครและทรงมีพระราชดํารัส รับสั่งให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ เดินทางขึ้นทางภาคเหนือ เพื่อแสวงหาพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างไม่น้อยกว่าสองศอกขึ้นไป ตามพระราชประสงค์ในอันที่จะนําไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร และเมื่อข้าราชการผู้ได้รับสนองกระแสพระบรมราชโองการและได้ออกเดินทางสืบเสาะค้นหา แสวงหาพระพุทธรูปตามพระประสงค์ โดยติดต่อร่วมมือกับบรรดาเจ้าเมืองและอําเภอทั้งหลาย ตลอดทั้งกรมการเมืองผ่านมาหลายหัวเมืองจนกระทั่งมาถึงเมืองอุตรดิตถ์ อันเป็นเมืองหน้าด่านที่สําคัญจึงได้ออกทําการเที่ยวสํารวจ ตรวจหาพระพุทธรูปตามวัดวาอารามต่างๆหลายแห่ง ปรากฏว่าการหาพระพุทธรูปในครั้งนี้ ได้นําเอาไปจากเมืองอุตรดิตถ์รวมสององค์ด้วยกันคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระพุทธรูปพม่าจากวัดสว่างอารมณ์องค์หนึ่ง และอีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อเพ็ชร์พระพุทธรูปปางเชียงแสน โดยก่อนจะนําเอาออกไปจากวัดวังเตาหม้อ(วัดท่าถนน) ได้ในครั้งแรกหหลวงพ่อเพ็ชร์ พระภิกษุเจ้าอาวาสในขณะนั้น ไม่ยอมตกลงและไม่เต็มใจที่จะให้นําเอาไปแต่เมื่อท่านได้รับคําชี้แจงถึงเหตุผลคําชี้แจงจากข้าราชการผู้ใหญ่ที่มาจากกรุงเทพประกอบด้วยคําของเจ้าเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยนั้นด้วย โดยได้อ้างถึงว่าเป็นพระบรมราชโองการของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่น ที่ทรงมีพระราชประสงค์เช่นนั้น หลวงพ่อเพ็ชร์พระภิกษุเจ้าอาวาสจึงจําใจต้องยินยอม ตกลงให้เอาไปได้ ทั้งๆที่เป็นการฝืนใจฝืนความรู้สึกอย่างมากจนบอกไม่ถูก ทั้งรักทั้งเสียดายแต่ท่านก็ไม่มีทางขัดขืนได้ ท่านเสียใจมากถึงกับท่านได้กล่าวคําปฏิญาณต่อหน้าหลวงพ่อเพ็ชร์พระพุทธรูปนั้นออกมาดังๆว่า ถ้าหากพระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกนําเอาออกไปจากวัดเมื่อไหร่ ท่านก็จะขอลาออกจากวัดไปด้วย จะไม่ยอมอยู่ในวัดนี้อีกต่อไป แต่คําพูดของท่านในขณะนั้นไม่มีผู้ใดเอาใจใส่สนใจเลย เพราะบรรดาผู้ที่อยู่ในที่นั้นในเวลานั้นต่างก็ล้วนมุ่งหมายที่จะนําเอาพระพุทธรูปไปให้ได้ตามพระราชประสงค์ของในหลวงเท่านั้น

          เมื่อพระพุทธรูปหลวงพ่อเพ็ชร์ได้ถูกนําออกจากวัดวังเตาหม้อไปแล้วหลวงพ่อเพ็ชร์พระภิกษุเจ้าอาวาส ท่านก็ได้ออกจากวัดไปด้วยเหมือนกัน ดังคําปฏิญาณของท่านแต่การออกจากวัดของท่านในครั้งนี้มิใช่ออกเพื่อเดินทางติดตามพระพุทธรูปไปกรุงเทพ หากแต่ท่านได้ออกจากวัดด้วยความเสียใจที่ต้องสูญเสียของรัก ที่ถูกพรากเอาไปและภายหลังต่อมา ได้ทราบว่าหลังจากหลวงพ่อเพ็ชร์เจ้าอาวาสได้ออกจากวัดไปแล้วท่านไม่ยอมกลับมาเข้าวัดอีกเลย ท่านได้ออกท่องเที่ยวหาความสงบไปในที่สถานต่างๆ ท่านได้บําเพ็ญวัตรปฏิบัติต่างๆ ด้วยการเดินจงกรม สํารวมจิตปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตามป่าช้า ตามวัดร้าง ตามป่าเขา แห่งละคืน สองคืน เที่ยวไปแล้วแต่ความพอใจของท่าน จนวาระสุดท้าย โดยมี ผู้ได้พบศพของท่านเข้าโดยบังเอิญ คล้ายกับดวงวิญญาณของท่านมาบอกและนําพาไป ผู้ที่ได้พบศพของหลวงพ่อในครั้งนี้ก็บังเอิญเป็นผู้ที่ได้เคยรู้จัก และเคยเคารพนับถือในตัวท่านมาก่อนจึงรีบเดินทางกลับเข้ามาในเมืองทันที ได้ติดต่อแจ้งข่าวการมรณภาพให้บรรดาศิษย์ และประชาชนผู้รู้จักคุ้นเคยได้ทราบข่าว ต่างพากันหลั่งไหลมากราบศพของท่านจนบริเวณ วัดแน่นขนัด ในบริเวณวัดเต็มไปด้วยความเศร้าโศกทุกคนมีแต่ความอาลัยรักและความนับถือเสียดายท่านตามกันศพของหลวงพ่อท่านได้ถูกอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในที่อันสมเกียรติและต่อจากนั้นบรรดาศิษยานุศิษย์และผู้เคารพเลื่อมใสได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ จัดการถวายฌาปานกิจบําเพ็ญกุศลอุทิศถวายด้วยกตัญญูกตเวทิตา ตามประเพณี อันสืบเนื่องมาแต่โบราณ และสุดท้ายบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันสร้างสถูปบรรจุพระอัฐ ธาตุของท่านประดิษฐาน ณ ข้างบริเวณวิหารหลวงพ่อเพ็ชร์ จนถึงปัจจุบันนี้

ขอบคุณภาพและบทความ จาก

สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

https://th.wikipedia.org

Facebook.com/หลวงพ่อเพ็ชร์ วัดท่าถนน จังหวัดอุตรดิตถ์

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดอุตรดิตถ์ (https://province.mots.go.th)

1,804 views

0

แบ่งปัน