คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   สำรับสำราญอาหารสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน

สำรับสำราญอาหารสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน

01 กรกฎาคม 2560

ชื่นชอบ 9

7,527 ผู้เข้าชม

13

แบ่งปัน
     ตั้งแต่อดีตสังคมไทยเป็นพหุสังคมที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน การเดินทางเคลื่อนย้ายไปมาของผู้คนสืบเนื่องจากการค้าและการสงคราม ทำให้พื้นที่ที่เรียกว่า “สยาม” เป็นจุดรวมของวัฒนธรรมต่างเชื้อชาติทั้งพม่า มอญ ญวน ลาว เขมร แขก จีน และฝรั่ง แน่นอนว่าสิ่งที่นักเดินทางเหล่านี้นำติดตัวมาด้วยคือวัฒนธรรมอาหารการกินที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อถึงครัวสยามแล้ว ความหลากหลายของพหุวัฒนธรรมเหล่านี้เปรียบเสมือนวัตถุดิบชั้นดีที่ถูกผสมรวมกันในหม้อใบใหญ่ โดยมีแม่ครัวสยามคอยปรุงนิดนี่หน่อยให้อร่อยลิ้น เมื่อผ่านเวลาต้มเคี่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน เกิดเป็นอาหารจานใหม่ที่มีรสชาติกลมกล่อมและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ อาหารหลายรายการที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็น “อาหารไทย” นั้น แท้จริงแล้วเกิดจากการผสมผสานของแม่ครัวสยามนั่นเอง และชนชาติหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลไม่น้อยต่อวัฒนธรรมอาหารของบ้านเรามาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือชาวโปรตุเกส ชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินเรือนำอาหารคาวหวานแบบตะวันตก รวมถึงผัก ผลไม้ และเครื่องเทศรอบโลกมาแนะนำให้ครัวสยามได้ลิ้มลอง 

การมาถึงของนักเดินเรือชาวโปรตุเกส จากอยุธยาถึงชุมชนกุฎีจีน
ชาวโปรตุเกสกลุ่มแรกเดินเรือข้ามมหาสมุทรมาถึงสยามตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๕๔ ในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๒ ของอยุธยา โดยพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นชุมชนที่เรียกว่า “หมู่บ้านโปรตุเกส” (ปัจจุบันหมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ในเขตตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และพบว่ามีการสร้างโบสถ์คริสต์นิกายโรมันแคทอลิกเป็นศูนย์รวมจิตใจ ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาสมัยอยุธยามีอาชีพ ทหารแม่นปืน ทหารอาสา ทหารรับจ้าง ต้นหนเรือ วิศวกร ล่ามภาษา และแพทย์ ครั้นเมื่ออยุธยาพ่ายแก่พม่าในเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๑๐ ชาวโปรตุเกส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมกับกองทัพของพระยาตากที่จันทบุรี ขับไล่พม่าและกอบกู้ชาติได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๑๑ เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสร้างกรุงธนบุรีขึ้นจึงได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณที่เรียกว่า “กุฎีจีน” ให้แก่ชาวโปรตุเกสได้อยู่อาศัย โดยมีการสร้างโบสถ์ซานตาครู้ส ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกสแปลว่า “ไม้กางเขนศักดิ์สิทธิ์” เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน ในชุมชนกุฎีจีนนี้นอกจากชาวโปรตุเกสแล้ว ยังมีชนชาติอื่นร่วมอาศัยอยู่ด้วย ทั้งชาวสยาม จีน และญวน จึงเกิดการแต่งงานระหว่างเชื้อชาติและผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างกันไปมา เป็นที่มาของ “ชาวสยาม-โปรตุเกส”

ปรุงเค็ม ปรุงหวาน กินแบบชาวโปรตุเกส
ในงานรฦกธนบุรี ๒๕๐+ ครั้งที่ ๓ “ฝรั่ง..มังค่า ที่กุฎีจีน” เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ ในวงเสวนาหัวข้อ “ในสำรับกุฎีจีน” อาจารย์ประโลม บุญรัศมี ผู้เชี่ยวชาญสำรับโปรตุเกส ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาหารของโปรตุเกส เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจ และเชื่อมร้อยความเป็นมาเป็นไปของสำรับกุฎีจีนไว้ได้อย่างน่าสนใจ 
     ประเทศโปรตุเกสเป็นประเทศทีมีพื้นที่ด้านตะวันออกและด้านใต้ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนตอนในของประเทศเป็นที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ สภาพภูมิอากาศที่ไม่รุนแรง เนื่องจากมีอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน คือไม่ร้อนจัดหรือหนาวจัดเกินไป ส่งผลให้ชาวโปรตุเกสมีอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะอาหารทะเล ชาวโปรตุเกสจึงให้ความสำคัญกับการกินดื่มและการสังสรรค์บนโต๊ะอาหาร มีเวลาเหลือเฟือสำหรับการสร้างสรรค์เมนูอาหารเลิศรสที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และมีความภูมิใจในอาหารประจำชาติของตนเป็นอย่างมาก
อาหารโปรตุเกสส่วนใหญ่ปรุงแบบเรียบง่าย เน้นการดึงรสธรรมชาติโดยใช้เกลือ อาหารโปรตุเกสจึงมีรสเค็ม มีเครื่องเทศพื้นฐาน คือ น้ำมันมะกอก หอมใหญ่ และใบกระวาน มื้ออาหารเย็นเป็นมื้อที่สำคัญและยาวนาน ประกอบไปด้วย ๓ คอร์สหลัก คือเริ่มด้วยซุปรับประทานคู่กับขนมปัง ต่อด้วยอาหารหลักประเภทปลา อาหารทะเล เนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ กินคู่กับผักสลัด ข้าว หรือมันฝรั่ง ตามมาด้วยของหวาน และปิดท้ายด้วยการดื่มกาแฟ
     ตั้งแต่อดีตชาวโปรตุเกสเป็นนักเดินเรือที่เก่งฉกาจ การเดินทางค้าขายทางทะเลทำให้โปรตุเกสค้นพบดินแดนใหม่ๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหารอยู่ตลอดเวลา อาหารโปรตุเกสจึงเข้าไปมีอิทธิพลต่ออาหารของชาติอื่น ในขณะเดียวกันอาหารโปรตุเกสเองก็ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติมาไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อวัชกู ดา กามา (Vasco da Gama) นักสำรวจชาวโปรตุเกสได้ค้นพบเส้นทางเดินเรือจากยุโรปมาถึงอินเดีย โดยแล่นเรืออ้อมผ่านแหลมกู้ดโฮปในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๔๐-๒๐๔๒ ชาวโปรตุเกสจึงได้รู้จักเครื่องเทศอย่าง ผักชี พริกไทย พริกหวาน เป็นครั้งแรก หรือในยุคที่โปรตุเกสมีบทบาทในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้ อาหารโปรตุเกสจึงเริ่มมีสีสันของพริก มันฝรั่ง ผักและผลไม้เขตร้อน รวมไปถึงการเริ่มต้นวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในโปรตุเกสอย่างจริงจัง 
     ส่วนขนมหวานที่เฟื่องฟูของชาวโปรตุเกสนั้นได้รับอิทธิพลจากแขกมัวร์ที่ได้เข้ามายึดครองประเทศโปรตุเกสในระยะเวลาหนึ่ง ขนมหวานส่วนใหญ่ทำมาจากแป้ง ไข่ น้ำตาล และใช้เครื่องเทศอย่างอบเชยและวานิลาเพื่อตกแต่งและเพิ่มรสชาติ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมน้ำตาลเฟื่องฟูในยุโรป ในศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ทางสำนักแม่ชีได้มีการจัดประกวดการทำขนมขึ้น ทำให้มีการคิดค้นและดัดแปลงสูตรขนมขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเค้ก พาย พุดดิ้ง และขนมที่ทำจากไข่และน้ำตาลอีกหลากหลายชนิด

ปรับรส เปลี่ยนลิ้น กินแบบชาวสยาม-โปรตุเกส ชุมชนกุฎีจีน
     แน่นอนว่าการแล่นเรือทำการค้าทางทะเลของชาวโปรตุเกสนั้นได้นำวัตถุดิบ เครื่องเทศ และวัฒนธรรมอาหารจากชนชาติต่างๆ ลงเรือไปด้วย เมื่อชาวโปรตุเกสได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนกุฎีจีน และได้แต่งงานกับชาวสยาม ชาวจีน ชาวญวน จึงเกิดการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารในรูปแบบใหม่ๆ ในการประกอบอาหารโปรตุเกสแม่ครัวท้องถิ่นอาจมีการปรับใช้วัตถุดิบเท่าที่หาได้และปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ ซีอิ๊ว เพื่อให้รสชาติถูกปากมากยิ่งขึ้น ซึ่งการปรุงอาหารโปรตุเกสขนานแท้นั้น อาจารย์ประโลม บุญรัศมี ยืนยันว่าชาวโปรตุเกสจะใช้เพียงเกลือและไม่ใส่น้ำตาลในอาหารคาวเป็นอันขาด การผสมผสานวัตถุดิบและรสชาติใหม่ๆ ลงในอาหารโปรตุเกสของแม่ครัวในชุมชนกุฎีจีน ทำให้เกิดอาหารจานใหม่ที่มีรสชาติและมีชื่อเรียกแปลกหูเป็นเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น ต้มมะฝาด แกงเหงาหงอด เนื้อซัลโม ไส้สัพแยก และขนมจีนไก่คั่ว
     ต้มมะฝาด คล้ายต้มจับฉ่ายของคนไทยเชื้อสายจีน โดยนำลูกผักชี ยี่หร่า รากผักชี กระเทียม หอมแดง พริกไทย ขมิ้น โขลกรวมกันให้ละเอียด จากนั้นนำหัวไชเท้า คะน้า และกะหล่ำปลีมาเรียงสลับกับโรยเครื่องเทศเป็นชั้นๆ ใส่เนื้อไก่และเนื้อหมูผสมกัน ใส่น้ำแกงพอสมควร ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และน้ำส้มสายชู แล้วต้มเคี่ยวจนเปื่อย ที่น่าสนใจคือเมนูนี้มีลักษณะใกล้เคียงกับอาหารโปรตุเกสที่เรียกว่า cozido à portuguesa ซึ่งเป็นเนื้อและเครื่องในหมูและวัวเคี่ยวรวมกันกับผักและสมุนไพรหลากชนิด
                                       
                         
                                                 ต้มมะฝาด ตำรับบ้านสกุลทอง

     แกงเหงาหงอด คล้ายแกงส้มของภาคกลาง เครื่องแกงประกอบด้วยหอมแดง กระเทียม พริกแห้ง พริกชี้ฟ้าเหลือง ข่า ตะไคร้ กระชาย โดยนำเครื่องแกงที่โขลกรวมกันมากรองด้วยผ้าขาวบาง คงไว้แต่น้ำใสๆ ซึ่งเป็นขั้นตอนของการทำซุปแบบตะวันตก เมื่อน้ำแกงเดือดให้ใส่ปลาเนื้ออ่อนหรือปลาหนัง เช่น ปลาสวาย (ในสมัยก่อนใช้ปลาสังกะวาด) ปรุงรสด้วยน้ำมะนาวสด เกลือหรือน้ำปลา แกงชนิดนี้ไม่ใส่น้ำตาล เวลากินเพิ่มกลิ่นหอมด้วยใบโหระพา แกงโบราณชนิดนี้มีที่มาจากซุปทะเลของชาวโปรตุเกสที่เรียกว่า บุยยาเบส (Bouillabaisse) 
     เนื้อซัลโม มีลักษณะเหมือนเนื้อตุ๋น โดยใช้มันหมูเป็นแท่งยัดใส่ในแท่งเนื้อ ปรุงด้วยเครื่องเทศ เช่น อบเชย กานพลู กระวาน จากนั้นนำไปทอดให้พอเหลือง แล้วต้มในเครื่องแกงที่ผสมเครื่องเทศอีกครั้ง การทำเนื้อซัลโมมีหลายขั้นตอนและเป็นเมนูพิเศษที่แต่ละครอบครัวจะทำขึ้นในวันขึ้นปีใหม่
     ไส้สัพแยก ดูเผินๆ คล้ายไส้กะหรี่ปั๊บ ประกอบด้วยเนื้อไก่สับ ผัดกับเครื่องเทศ ใส่ขมิ้น และมันฝรั่งหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋า ปรุงรสเปรี้ยวด้วยน้ำส้มสายชู กินเป็นอาหารจานหลักคู่กับข้าวร้อนๆ ที่มาของคำว่า “สัพแยก” ยังไม่แน่ชัดนัก บางที่มาบอกว่าเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่อยู่ใต้อาณัติของประเทศอาณานิคม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผู้นำอาหารชนิดนี้เข้ามา บางที่มีบอกว่าเป็นภาษาโปรตุเกสที่หมายถึงการสับเนื้อหมูหรือเนื้อไก่

                
                                    ไส้สัพแยกในกระทงทอง ตำรับบ้านสกุลทอง

     ขนมจีนไก่คั่ว เป็นอาหารที่ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน หน้าตาเหมือนกับขนมจีนแกงไก่แต่ใช้พริกแกงแดง โดยนำเครื่องแกงผัดกับกะทิให้มีรสเข้มข้น ใส่เนื้อไก่คั่ว เลือดไก่ ตับไก่ เวลากินโรยหน้าด้วยต้นหอมและผักชีสับ เสิร์ฟคู่กับพริกเหลืองผัดกับกะทิ เป็นอาหารที่มักทำกันในงานสำคัญทางศาสนาคริสต์และงานมงคลอย่างงานแต่งงาน บางที่มาบอกว่าเป็นอาหารที่มาจากสปาเกตตีไวท์ซอสของชาวตะวันตก โดยใช้เส้นขนจีนแทนเส้นสปาเกตตี

                         
                                      ขนมจีนไก่คั่ว ชุมชนกุฏีจีน

ชิมต้มเค็มโปรตุเกสตำหรับบ้านทรรทรานนท์
การจะเข้าถึงวัฒนธรรมอาหารของชาวสยาม-โปรตุเกส จำต้องบุกให้ถึงครัว เพื่อล้วงสูตรลับความอร่อยกันสักเมนู ในงานรฦกธนบุรี ๒๕๐+ ครั้งที่ ๓ “ฝรั่ง..มังค่า ที่กุฎีจีน” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๐ มีการจัดเวิร์คช็อปทำอาหารเมนูเลื่องชื่ออย่าง “ต้มเค็มโปรตุเกส” แม้ว่าชื่อของเมนูนี้จะบอกที่มาอย่างชัดเจนว่ามีต้นฉบับมาจากอาหารโปรตุเกส แต่เมื่อมาถึงชุมชนกุฎีจีนแล้ว มาดูกันว่าแม่ครัวชาวสยาม-โปรตุเกสเขาปรุงกันอย่างไร
จากโบสถ์ซานตาครู้ส เดินเข้ามาในซอยกุฎีจีน ๓ ประมาณสัก ๕๐๐ เมตร ด้านขวามือจะพบกับพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน ส่วนด้านซ้ายมือตรงข้ามคือบ้านทรรทรานนท์ บ้านของคุณนาวินี พงษ์ไทย หรือคุณตอง ซึ่งเป็นลูกหลานชาวโปรตุเกสรุ่นที่ ๔ วันนี้เธอยินดีเปิดครัวถ่ายทอดความอร่อยของเมนูต้มเค็มโปรตุเกสตำรับบ้านทรรทรานนท์ให้เราได้ชิมกัน
วัตถุดิบและเครื่องปรุงสำหรับเมนูนี้มีไม่มาก ประกอบด้วย ๑.เนื้อเอ็นน่องหรือเนื้อแลม ๒.มะเขือเทศ ๓.มันฝรั่ง ๔.พริกไทยป่น ๕.พริกไทยดำชนิดเม็ด ๖.น้ำตาลปี๊บ ๗.น้ำปลา ๘.ซีอิ้วดำ เมื่อเห็นรายการวัตถุดิบและเครื่องปรุงแล้ว คุณตองรีบบอกว่าตำรับของบ้านนี้เป็นการปรุงรสแบบฝรั่ง ไทย และจีนผสมกัน อาหารจานนี้เมื่อเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายสตูของชาวตะวันตก มีมะเขือเทศให้รสเปรี้ยวอมหวาน มันฝรั่งเพิ่มความเข้มข้น ปรุงรสแบบไทยด้วยน้ำตาลปี๊บและน้ำปลา เติมซีอิ้วดำแบบจีนเพื่อเพิ่มรสชาติและสีสันให้น่ารับประทาน เมื่อปรุงเสร็จแล้วรสชาติของอาหารเมนูนี้มีรสค่อนข้างจัด มีทั้งรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยวจากมะเขือเทศ รับประทานคู่กับข้าวร้อนๆ หรือกินคู่กับขนมปังก็อร่อยเข้ากัน หากใครไม่กินเนื้อวัวจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหมูก็อร่อยลิ้นไปอีกแบบ

                              
                    
                                       ต้มเค็มโปรตุเกส ตำรับบ้านทรรทรานนท์

ปิดท้ายมื้ออาหารด้วยขนมหวานตำรับกุฏีจีน
เมื่อซุปและอาหารจากหลักผ่านไปแล้ว ก็ได้เวลาเสิร์ฟขนมหวาน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าขนมหวานของชาวโปรตุเกสมีส่วนประกอบหลักคือแป้ง ไข่ น้ำตาล และสูตรขนมหวานได้ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นในสำนักแม่ชีเพื่อรับรองกษัตริย์และใช้ในเทศกาลสำคัญทางศาสนา ครั้นเมื่อมีการสร้างโบสถ์ซานตาครู้สขึ้นในชุมชนกุฎีจีน วัฒนธรรมการทำขนมแบบตะวันตกจึงได้รับการถ่ายทอดจากโบสถ์สู่บ้าน เพื่อสืบต่อประเพณีและวัฒนธรรมทางศาสนาจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
ขนมฝรั่งกุฎีจีน เป็นขนมโบราณที่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยมีบาทหลวงโปรตุเกสเป็นผู้สอน แต่เดิมทำกินกันในครอบครัวเฉพาะเทศกาลคริสต์มาส มีลักษณะคล้ายกับขนมของโปรตุเกสที่เรียกว่า “Que Que (เก้ก กือ)” ทำจากไข่เป็ด น้ำตาลทรายขาว และแป้งสาลี แต่งหน้าด้วยลูกเกดและฟักเชื่อม แล้วนำไปอบในเตาโบราณที่ใช้ฟืนและถ่านที่ให้ความร้อนทั้งด้านบนและด้านล่าง

                       
                                               ขนมฝรั่งกุฏีจีน ตำรับธนูสิงห์

     ขนมกุสรัง หรือ “ขนมโบว์คริสต์มาส” แต่เดิมน่าจะมีชื่อว่า “ขนมตรุษฝรั่ง” เพราะนิยมทำขึ้นบริโภคในครอบครัวเฉพาะช่วงเทศกาลคริสต์มาส หรือ ตรุษฝรั่ง มีส่วนผสมแบบเดียวกันขนมฝรั่งกุฎีจีน แต่เพิ่มเนย เกลือ และน้ำมันเข้าไป โดยนำส่วนผสมมานวดรวมกัน ตัดแผ่นแป้งออกเป็น ๔ เส้น แล้วจับแผ่นแป้งมารวมกันหรือสานเป็นรูปคล้ายโบว์ จากนั้นนำไปทอดแล้วเคลือบน้ำตาล

     เพื่อให้ครบรสอาหารตามแบบวัฒนธรรมโปรตุเกสขนานแท้ ซึ่งมักตบท้ายมื้ออาหารด้วยกาแฟรสเข้มถ้วยเล็กๆ จึงขอเชิญชวนให้แวะดื่มกาแฟกันสักแก้วที่ชั้นล่างของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนที่มีมนต์เสน่ห์ของวันวาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเล็กๆของเอกชนที่สร้างขึ้นด้วยความตั้งใจและโดยทุนทรัพย์ส่วนตัว  ภายในมีนิทรรศการเล่าประวัติศาสตร์การเดินทางเข้ามาของชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนกุฎีจีน มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของชาวสยาม-โปรตุเกสในอดีตไว้ได้อย่างน่าดูชม ควรค่าที่จะเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์โลกไปพร้อมๆ กัน


อ้างอิง
๑. พอฤทัย อดใจ. “ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส: กรณีศึกษาชุมชนวัดซางตาครู้ส ย่านกุฎีจีน กรุงเทพมหานคร” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ๒๕๕๗
๒. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน. “คู่มือคนไทยในโปรตุเกส” พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพ : หจก.ภาพพิมพ์ ๒๕๕๕
๓. ข้อมูลจากเสวนาหัวข้อ “ในสำรับกุฎีจีน” ในงานรฦกธนบุรี ๒๕๐+ ครั้งที่ ๓ “ฝรั่ง..มังค่า ที่กุฎีจีน” เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ และอาจารย์ประโลม บุญรัศมี


วันที่สร้าง : 24 กรกฎาคม 2560

13

แบ่งปัน
สร้างโดย