คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ถนนชีกุน

ย่านการค้าคู่เมืองกรุงเก่า จากอดีตสู่ปัจจุบัน

     กรุงศรีอยุธยามีลักษณะเป็นเกาะมีลำน้ำสายใหญ่ล้อมรอบอยู่ถึงสามสายด้วยกันคือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำทั้งสามสายนี้ไหลเวียนมาบรรจบกันโอบล้อมแผ่นดินด้านในให้กลายเป็นเกาะเมืองที่อุดมสมบูรณ์มีสัณฐานคล้ายเรือสำเภาขึ้น และยังมีเส้นทางน้ำไหลออกอ่าวไทยตามลำน้ำเจ้าพระยา นั่นหมายความว่าเรือสินค้าจากนานาชาติสามารถแล่นเข้ามาทอดสมอได้ถึงท่าน้ำรอบเมือง ผนวกกับยุทธศาสตร์ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดศูนย์กลางในดินแดนสุวรรณภูมิหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นชุมทางการค้าระดับโลก นักการค้าหลายๆชนชาติใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นแหล่งนัดพบ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากแดนไกล พวกเขายอมเสียภาษีตามกฎราชสำนักสยาม ดีกว่าจะยอมเสียเวลาและทรัพยากรเดินทางออกทะเลไปไกลขึ้นให้เสี่ยงชีวิตเปล่า ๆ เพียงคอยท่าอยู่ที่กรุงศรีฯ เดี๋ยวก็จะมีสินค้าจากนานาชาติมาให้ได้เชยชม เลือกซื้อนำไปทำกำไรตามแต่ใจจะปรารถนา ในบันทึกคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม(ฉบับหอหลวง) เขียนไว้ว่า “ในกำแพงพระนครนั้น มีตลาดหกสิบเอ็ดตลาด” เป็นตลาด “ของชำ” ๒๑ ตำบล และเป็นตลาด  “ของสด”  ขายเช้า – เย็น ๔๐ ตำบล รวม ๖๑ ตำบล แต่เอกสารให้รายชื่อไว้ ๖๔ ตำบล  

     หนึ่งในตลาดที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันคือ “ตลาดชีกุน” ในบันทึกคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม(ฉบับหอหลวง)  ระบุว่า “ตลาดชีกุนตั้งอยู่ที่สะพานชีกุนตะวันตก มีพวกแขกนั่งร้านขายกำไลมือ กำไลเท้า ปิ่นปักผม แหวนหัวมะกล่ำ แหวนหัวแก้ว ลูกปัด เครื่องประดับประดา ล้วนแต่เครื่องทองเหลืองและตะกั่วทั้งสิ้น” นับเป็นแหล่งซื้อหาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกแห่งหนึ่ง ตลาดแห่งนี้ในอดีตตั้งอยู่บริเวณถนนชีกุนข้างโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยปัจจุบันเหลือเพียงซากของสะพานชีกุนบางส่วนเท่านั้น

     ตลาดชีกุนเป็นส่วนหนึ่งของย่านการค้า “ถนนชีกุน”   ถนนชีกุนเป็นถนนที่ตัดผ่าเกาะเมืองพระนครเป็นแนวตั้ง ตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ ขนานกับแนวคลองประตูข้าวเปลือกหรือคลองประตูจีนในอดีต ซึ่งเป็นคลองภายในเกาะเมืองที่วางตัวในแนวตั้งจากทิศเหนือเริ่มจากปากคลองที่ป้อมประตูข้าวเปลือกติดกับคูเมืองด้านทิศเหนือ ไหลตรงลงมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองประตูจีนทางทิศใต้ ตลอดแนวคลองนี้จะมีสะพานก่ออิฐกับศิลาแลงข้ามคลองเป็นจำนวน ๔ สะพาน ไล่มาตั้งแต่ สะพานช้าง, สะพานป่าถ่าน, สะพานชีกุน และสะพานประตูจีน ปัจจุบันสะพานข้ามคลองเหล่านี้เหลือเพียงซากให้เห็นอยู่เพียง ๓ สะพาน คือสะพานป่าถ่าน, สะพานชีกุน และสะพานประตูจีน ส่วนสะพานช้างนั้นถูกทำลายจนหมดสิ้น ในบันทึกคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม(ฉบับหอหลวง) กล่าวถึงถนนย่านชีกุนไว้ดังนี้  “ถนนย่านชีกุนมีร้านฃายดอกไม้เพลิงต่างต่าง ขายสุราเข้มสุรากะแช่ ที่ศาลาริมเสาชิงช้ามีร้านตลาดฃายของสดเช้าเยนเปนตลาดใหญ่ ชื่อตลาดเสาชิงช้าน่าโบดพราหมณ์เก่า”  

     ปัจจุบันนี้ถนนชีกุนเป็นเส้นทางที่เหมาะแก่การสัญจรท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเพราะนอกจากแหล่งเรียนรู้ที่เป็นโบราณสถานแล้วยังมีร้านอาหาร ร้านกาแฟรองรับนักท่องเที่ยวมากมาย โดยเริ่มตั้งแต่ทิศเหนือไล่ลงมาดังนี้

1. วัดราชประดิษฐาน

เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตั้งอยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นคนสร้างและสร้างในรัชสมัยใด แต่วัดราชประดิษฐาน มีหมายความว่า วัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง ดังนั้น จึงมีข้อสันนิษฐานว่า ผู้สร้างวัดนี้คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินแน่นอน

2. วัดราชบูรณะ     

วัดราชบูรณะสร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ในบริเวณพื้นที่และตำแหน่งเดิมที่พระองค์ได้ทรงถวายพระเพลิงศพให้กับเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ภายในหลังจากการกระทำยุทธหัตถี เพื่อแย่งชิงราชสมบัติของสมเด็จพระนครอินทราธิราชพระราชบิดาที่เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๑๙๖๗

3. เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา – เจ้ายี่พระยา

เจดีย์เจ้าอ้ายพระยา-เจ้ายี่พระยา ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน บริเวณที่ถนนนเรศวรตัดกับซอยชีกุน หรืออยู่ทางด้านหน้ากึ่งกลางระหว่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบูรณะ โดยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์ขึ้นบริเวณที่พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์ (เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา) ได้ทรงทำยุทธหัตถีกันจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่  ภายหลังจากที่โปรดให้ขุดพระศพพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ไปถวายพระเพลิง แล้วสร้างวัดราชบูรณะในที่ถวายพระเพลิงนั้นแล้ว

4. วัดมหาธาตุ

สร้างในสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขุนหลวงพะงั่ว เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๗ แต่ไม่แล้วเสร็จ ทรงเสด็จสวรรคตเสียก่อน และได้สร้างเพิ่มเติมจนเสร็จ ในสมัย สมเด็จพระราเมศวร โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธาน และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดมหาธาตุ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๒๗ ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา

ความสำคัญของวัดมหาธาตุนั้น นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุแล้ว ยังถือเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางเมืองและเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีต่าง ๆ ของกรุงศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีประทับอยู่ภายในวัด ส่วนพระสังฆราช ฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดป่าแก้ว (วัดใหญ่ชัยมงคล)

5. บึงพระราม

บึงพระรามเป็นหนองน้ำที่เก่าแก่ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นแอ่งน้ำที่อยู่กลางดอนที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายสายรอบเกาะเมืองอันได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก บ้างก็ว่าเกิดจากการขุดดินเพื่อนำไปสร้างวัดและวังต่าง ๆ จนบริเวณดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นบึงน้ำไป

บึงพระราม มีชื่อมาแต่เดิมว่า หนองโสน แปลว่า “แอ่งน้ำใหญ่ที่มีต้นโสนขึ้นมาก”  อีกชื่อเก่าคือ บึงชีชัน ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลนั้น บ้างเรียก บึงญี่ขัน ไม่ทราบว่ามาจากคำว่าอะไร และไม่สามารถเทียบคำที่ใกล้เคียงเพื่อหาความหมายได้ส่วนชื่อ บึงพระราม นั้น บ้างก็ว่าเกี่ยวเนื่องมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยมีบึงน้ำนี้เป็นศูนย์กลาง บ้างก็ว่าตั้งตามชื่อวัดพระรามที่เป็นวัดเก่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนเรียกว่าบึงพระรามตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่เป็นที่ทราบเช่นกัน

6. PRANG VIEW AYUTTHAYA แวะพักร่างกายเติมความหวานเข้ากระแสเลือดกันที่ PRANG VIEW AYUTTHAYA เป็นคาเฟ่สไตล์มินิมอล ตกแต่งสวยงาม มีมุมถ่ายรูปมากมายมาพร้อมกับวิวพระปรางค์วัดราชบูรณะ สั่งเครื่องดื่มเย็น ๆ กับเค้กสักก้อนมานั่งละเลียดผ่อนคลายอารมณ์ในบรรยากาศสบาย ๆ

7. ก๋วยเตี๋ยวเรือป้าเล็ก

ก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าดังของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เปิดมาแล้วกว่า ๔๐ ปี ใครมาอยุธยาต้องห้ามพลาด ร้านมีบริเวณพื้นที่กว้างขวาง แม้คนจะเต็มตลอดเวลาแต่พนักงานบริการได้รวดเร็วฉับไว เมนูก๋วยเตี๋ยวมีทั้งหมูและเนื้อรับประทานพร้อมแคบหมูที่ทางร้านทอดใหม่ ๆ ทุกวัน เมนูก๋วยเตี๋ยวสนนราคาอยู่ที่ชามละ 15 บาท เมนูแนะนำคือบะหมี่แห้งหมู อร่อยเข้มข้น ไม่ต้องปรุง

8. บ้านไม้ริมน้ำ

สิ้นสุดถนนชีกุนทางด้านทิศใต้กับร้านอาหารบ้านไม้ริมน้ำ ร้านอาหารไทยรสชาติอร่อยกลมกล่อมได้มาตรฐาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมนูแนะนำคือ กุ้งแม่น้ำเผาพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด  และเมนูปลาต่าง ๆ ทางร้านมีทั้งโซนริมน้ำและห้องแอร์ให้บริการ หรือใครอยากสัมผัสบรรยากาศเมืองกรุงเก่าให้เต็มที่ก็สามารถจองที่นั่งสำหรับลงเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย

3,535 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา