คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ภาชนะในตลาดการค้าโลก

ภาชนะในตลาดการค้าโลก

              เครื่องปั้นดินเผามีบทบาทสําคัญกับการดํารงชีวิตของมนุษย์มานานนับพันปี ตั้งแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นชุมชน เมืองและแว่นแคว้นต้องอาศัยภาชนะดินเผาสำหรับบรรจุอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ และสิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อหลังความตาย

              พื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีบริเวณแนวชายฝั่งทางตะวันตกของแม่น้ำน้อยตลอดระยะทาง 2 กิโลเมตร พบแหล่งเตาเผาโบราณมากกว่า 200 เตา  เป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของไทยในอดีตและใหญ่ที่สุดในเขตที่ราบภาคกลาง นับว่าเป็นศูนย์กลางการค้าเครื่องปั้นดินเผาใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เคยเสด็จมาสำรวจบริเวณดังกล่าวและทรงเรียกว่า “เตาแม่น้ำน้อย” สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งอาจเป็นสมัยที่พระอินทราชา (พระนครินทราธิราช : ๑๙๕๒-๑๙๖๗) ทรงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนด้วยเคยเสด็จไปถึงราชสำนักจีนและคงได้นำช่างปั้นชาวจีนมาไทย  หรือช่างจากสุโขทัยมาเริ่มต้นผลิตเครื่องปั้นดินเผาตามแนวชายฝั่งแม่น้ำน้อย  แขวงเมืองอินทร์บุรี ดังที่ได้พบร่องรอยของเตาเผามีรูปแบบคล้ายคลึงกับแหล่งเตาเผาที่เมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย คือ มีลักษณะเป็นเตาระบายความร้อนแนวนอนเหมือนกัน แต่เตาเผาที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัยมีขนาดเล็กกว่า และผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดี ราคาสูงกว่า เช่น เครื่องสังคโลก ที่ส่งออกเป็นสินค้าโดยตรง

          เตาเผาแม่น้ำน้อยตั้งอยู่ที่วัดพระปรางค์ ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี  มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 8 เนิน  กรมศิลปากรได้ขุดค้นและขุดแต่งเตาเผาดังกล่าวพบว่ามีการสร้างซ้อนกันหลายชั้น ตัวเตาที่ขุดค้นแล้วมีรูปร่างส่วนลำตัวเหมือนเรือประทุนจึงเรียกว่าเตาประทุน  นับว่าเป็นเตาเผาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบมาแล้วในประเทศไทย

          ผลผลิตสำคัญของแหล่งเตาบริเวณนี้ ได้แก่ ไหสี่หูทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบผิว ครก อ่าง กระปุก ขวด เครื่องประดับสถาปัตยกรรม ประติมากรรมลอยตัว กระสุนดินเผา ท่อน้ำดินเผาฯลฯ

          โดยสามารถแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนี้

  1. เครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ ครก โอ่ง อ่าง เตาเชิงกราน ไห กระปุก ขวด ฯลฯ
  2. เครื่องราชบรรณาการ
  3. เครื่องประดับสถาปัตยกรรม เช่น ช่อฟ้า กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น รูปสัตว์ต่างๆ เป็นต้นว่า สิงห์ มกร รูปบุคคล
  4. ท่อน้ำดินเผา
  5. เพื่อใช้บรรจุสินค้า อาทิ ไหสี่หูขวด ไวน์
  6. ประเภทเครื่องกระสุน อาทิ ลูกปืนใหญ่ดินเผา ลูกกระสุนดินเผาขนาดเล็ก

          โดยเฉพาะไหสี่หูทรงเตี้ยไม่มีคอพบแพร่กระจายไปทั่วภาคกลาง เมืองท่าชายฝั่งทะเล และพบมากในเรือสำเภาสมัยอยุธยาที่จมอยู่ในอ่าวไทย รวมทั้งในต่างประเทศก็เคยพบที่ฝั่งทะเลของเกาะ Saint helena มหาสมุทรแอตแลนติก ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ภาชนะดังกล่าวอาจจะไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกโดยตรงแต่คงเป็นภาชนะบรรจุสินค้าเหลวบางชนิด  ซึ่งอาจจะเป็นน้ำผึ้ง  น้ำตาล  ยางไม้  หรือของอื่นๆที่ใช้บนเรือสำเภา เช่น น้ำจืด เกลือ เครื่องเทศ

          ส่วนดินที่นำมาเป็นวัตถุดิบนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะนำมาจากบริเวณสระน้ำเก่า ด้านหลังวัดพระปรางค์ในปัจจุบัน ในอดีตสระน้ำดังกล่าวอาจเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผสมเครื่องปั้นดินเผา จากการสำรวจคุณสมบัติของดินบริเวณนี้มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการนำมาปั้นภาชนะดินเผา  (เนื้อละเอียดไม่มีสิ่งอื่นเจือปน  มีค่าซิลิกาสูงทำให้ทนความร้อน เผาออกมาแล้วเนื้อดินไม่แตกหัก เปราะบาง แต่มีความคงทนแข็งแรง)

          อย่างไรก็ดีเตาเผาแหล่งนี้ เข้าใจว่าได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างช้า โดยเฉพาะที่แหล่งศรีสัชนาลัยที่น่าจะเริ่มมาก่อนคือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 ก็เป็นได้ และเข้าใจว่าได้ดำเนินงานสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงได้เลิกกิจการไป

          นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการใช้เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตจากแหล่ง เตาเผาแม่น้ำน้อยในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ท่อประปา และระบบระบายน้ำในเมืองลพบุรี ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) และท่อประปาในพระที่นั่งในเขตพระราชฐานชั้นในพระนครศรีอยุธยา ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖) กระเบื้องปูพื้นในวัดไชยวัฒนารามที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าประสาททอง (พ.ศ. ๒๑๓๒-๒๑๙๙)

          จากหลักฐานดังกล่าวเป็นเครื่องสนับสนุนว่าพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำน้อย เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ที่สําคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น เรื่อยมาตลอดสมัยอยุธยา จนถึงสงครามระหว่างไทยกับพม่าในช่วง พ.ศ. ๒๓๐๘-๒๓๑๐ คราวศึกบางระจัน จนถึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ทําให้มีการอพยพผู้คนแถบเมืองสิงห์ เมืองอินทร์ เมืองพรหม ตลอดจนหัวเมืองใกล้เคียงเนื่องจากภัยจากสงคราม ผู้คนล้มตาย และถูกกวาดต้อนไปเป็นจํานวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าวอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผาในแหล่งแม่น้ำน้อย คงยุติลง เหลือแต่การปั้นหม้อดินเผาและภาชนะรูปทรงต่าง ๆ เพื่อใช้ในครัวเรือน และแลกเปลี่ยนค้าขายในชุมชนของชาวไทยลาวที่บ้านแป้ง อําเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรีเท่านั้นในปัจจุบัน

เครื่องปั้นดินเผาจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยในตลาดการค้าระหว่างประเทศ

          ในแวดวงการค้าสมัยโบราณนั้น การขนส่งทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้สินค้าจากถิ่นหนึ่งเดินทางไปสู่ตลาดหรือผู้บริโภคได้อย่างสะดวกและปลอดภัย การเดินเรือค้าขายระหว่างแว่นแคว้นต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และประเทศทางตะวันตกในแต่ละครั้งใช้เวลานาน จำเป็นจะต้องมีเสบียงและน้ำเก็บตุนไว้ในเรือเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นอาหารสำหรับลูกเรือ ประกอบกับอาหารและสินค้าหลายชนิดเป็นของที่จะต้องบรรจุในภาชนะที่แข็งแรงปิดฝามิดชิดป้องกันน้ำเข้า หรือเป็นวัตถุบอบบางต้องบรรจุในหีบห่อป้องกันการแตกหักเสียหาย ภาชนะที่สำคัญที่นิยมใช้กันในการบรรจุข้าว ปลาแห้ง ปลาเค็ม น้ำตาล น้ำมัน เครื่องเทศ ผงชัน (ยาเรือ) ไข่ เกลือ และน้ำจืด บรรทุกไปในเรือเดินทะเล คือภาชนะดินเผาประเภทไห เป็นเนื้อดินเผาไฟที่แกร่งมาก ทั้งชนิดเคลือบผิวและไม่เคลือบผิวและบางครั้งก็ใช้หม้อทะนนขนาดใหญ่

          ในการสำรวจและขุดค้นพบซากเรือสำเภาที่จมอยู่ในท้องทะเลอ่าวไทย และซากเรือเดินทะเลที่จมอยู่ในน่านน้ำต่างประเทศ เส้นทางการเดินเรือค้าขายในสมัยโบราณระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 เช่น แหล่งเรือคราม เรือพัทยาเรือกระดาด เรือสีชัง เรือรางเกวียน แหล่งเรือสมุย และแหล่งเรือดอนไห ปากน้ำคลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์พบว่ามีไหสี่หูขนาดใหญ่  ไหสี่หูขนาดกลาง ขนาดเล็ก รวมถึงภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งที่เป็นผลผลิตจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยจมอยู่ในซากเรือจำนวนมาก และในแหล่งเรือจมในต่างประเทศก็พบเศษไหสี่หูขนาดกลาง  ที่ผลิตจากแหล่งเตาแม่น้ำน้อยด้วย ได้แก่

1. เรือวิท เลียว ของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัทช์ จมอยู่นอกฝั่งเกาะเซนต์เฮเลนา  ในปี พ.ศ. 2156 (ค.ศ. 1631)

2. แหล่งเรือจมที่เกาะซีแชลีส ในมหาสมุทรอินเดีย  ค่อนไปทางใต้ของทะเลอาหรับ อับปางลงในห้วงน้ำกลางพุทธศตวรรษที่ 22

3. แหล่งเรือจมชาติโปรตุเกสที่อาจจะชื่อ ชาโอเบนโต จมอยู่ที่ชายฝั่งปอนโดแลนด์ ของเมืองนาทาล ประเทศแอฟริกาใต้ อับปางเมื่อพ.ศ. 2099 (ค.ศ.1554)

4. แหล่งเรือจมสัญชาติดัทช์ ชื่อปัตตาเวีย จมอยู่ชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตก เมื่อ พ.ศ. 2272 )ค.ศ.1629)

5. เรือแวร์กูลด์ แดร๊ค อับปางเมื่อ พ.ศ. 2199 (ค.ศ.1656) ที่ชายฝี่งออสเตรเลียตะวันตก

6.เรือสัญชาติดัทช์ ชื่อริสดัม จมอยู่ที่ชายฝั่งมาเลเซีย เมื่อ พ.ศ.2270 (ค.ศ.1727)

7. เรือที่อาจจะชื่อ ชาโอ โจอาว จมอยู่ที่บริเวณพอร์ตเอ็ดเวิร์ด ชายฝั่งเมืองนาทาล  เมื่อ พ.ศ. 2095 (ค.ศ.1552)

8. เรือซานดิเอโก จมอยู่ที่ชายฝั่งประเทศโมซัมบิค เมื่อ พ.ศ. 2101 (ค.ศ.1558)

          นอกจากนี้ยังพบไหที่เป็นผลผลิตจากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยตามเมืองท่าโบราณชายฝั่งคาบสมุทร ไทย-มลายูด้านอ่าวไทย เช่น ที่พัทลุง นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนเกาะบอร์เนียวในเขตประเทศบรูไน แหล่งชุมชนโบราณที่เมืองซาไก อ่าวโอซาก้า  ประเทศญี่ปุ่น

          ไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาลแกมเขียวคล้ำที่พบในแหล่งเรือจมในอ่าวไทย บางใบบรรจุอาหารที่ทำจากปลา และบางใบบรรจุยางสนหรือผงชัน หลายใบบรรจุไข่เป็ด จนในที่นี้เราอาจกล่าวได้ว่าบรรดาผลิตภัณฑ์ประเภทไหสี่หูขนาดต่างๆ จากแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยที่พบในแหล่งเรือจมต่างๆนี้ มีหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุสินค้าที่เป็นผง อาหาร หรือสินค้าที่เป็นน้ำ แต่ไม่ได้เป็นตัวสินค้าโดยตรง แต่ถ้าหากจะพิจารณาถึงการจำหน่ายที่แหล่งผลิตคือที่แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยแล้ว ภาชนะเหล่านี้เป็นสินค้าชั้นหนึ่งซึ่งผู้ผลิตขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อเพื่อจะนำไปบรรจุสินค้าอย่างอื่นๆต่อไป ดังนั้นบทบาทของผลิตภัณฑ์ประเภทภาชนะลักษณะหยาบๆของแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยแห่งนี้ จึงเป็นทั้งตัวสินค้าโดยตรงในชั้นต้นและทำหน้าที่เป็นภาชนะบรรจุ เหมือนกับ ปี๊ป ขวด กระป๋องที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

          ในจดหมายตอบโต้ระหว่างพ่อค้าในการสั่งซื้อและขายสินค้า ได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการบรรจุหรือเก็บสินค้าจำนวนมาก  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาฮอลันดาแปลออกมาได้ดังนี้

“ข้าพเจ้า ได้ซื้อไหมดิบ 26 หาบ น้ำตาล 85 บาท  ขิงดอง 16 หม้อและเครื่องปั้นดินเผา”

“เรือบรรทุกสินค้ามาจากสยาม เช่น ข้าว 875 เกวียน ไม้ฝาง 6,000 หาบ น้ำมัน 289 เหยือก”

“เรือได้ขนสินค้าจากสยามเพื่อเดินทางไปยังเมืองโตยัน มีสินค้าหลายประเภท น้ำตาล 1,000 หม้อ น้ำมันมะพร้าว 400 โถ”

“เรือทิวาเปินฟอนเดลฟ์ เดินทางมาจากญี่ปุ่นผ่านสยาม และได้บรรทุกสินค้า น้ำตาล 1,050 หม้อ คราม  292 โหล น้ำมัน 250 โถ ไปยังปัตตาเวีย”

“เรือปริ้นท์เซสรอยัล จากสยามบรรทุกสินค้า น้ำมันมะพร้าว 6,154 โถ ยางรัก 159 หาบ และอื่นๆ มาถึง     

          ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-21 อยุธยากลายเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเมืองในปกครองและนำไปสู่การค้ากับต่างประเทศ ซึ่งยังเป็นในกลุ่มชาวเอเชียด้วยกัน เช่น จีน มลายู มะละกา เปอร์เซีย อาหรับ มัวร์ เป็นต้น สินค้าจำนวนมากได้ถูกส่งมาในรูปแบบของส่วยและบรรณาการ  ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเป็นไปในลักษณะการค้าขาย แต่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีการตั้งด่านเก็บภาษีตามเส้นทางบก-น้ำ ทั้ง 4 ทิศ  ที่จะเข้ามาสู่ตลาดภายใน รวมทั้งการใช้ระบบการผูกขาดทางการค้าในสินค้าต้องห้ามที่จะต้องขายให้แก่พระคลังสินค้าที่เป็นตัวแทนของกษัตริย์เท่านั้น สินค้าส่วนใหญ่นั้นเป็นพวกของป่าผลผลิตพื้นเมืองและเครื่องปั้นดินเผา

          เมื่อกล่าวถึงการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าในพุทธศตวรรษที่ 22-23 ซึ่งอยุธยาเป็นศูนย์กลางอยู่แล้วนั้น สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าของป่า แร่ธาตุ และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งในส่วนของเครื่องปั้นดินเผานั้นมีแหล่งเตาเผาอยู่ในประเทศคือ เตาเผาแม่น้ำน้อย ได้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ประเภท “ไห” เป็นตัวบรรจุหรือรองรับสินค้า เพื่อบรรจุสินค้าเอาไปขายแก่ตลาดต่างประเทศเป็นสำคัญ นอกเหนือไปจากการผลิตภาชนะ เพื่อความต้องการภายในท้องถิ่น

ดังนั้นการพบเครื่องปั้นดินเผาที่หลากหลายทั้งจากแหล่งเตาเผาภายในประเทศและนอกประเทศ ในแหล่งเรือจมและในแหล่งโบราณคดีอื่นๆก็มาจากลักษณะการค้าดังกล่าวเป็นสำคัญนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลประกอบบทความจาก

องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี

2,456 views

0

แบ่งปัน