คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

เที่ยวสุโขทัย...สุขใจนะเธอ

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีไทย

มาแล้วครับ วันนี้ผมเอาภาพสวย ๆ และเรื่องราวดี ๆ มาพาเพื่อนสมาชิกทุกท่าน ไปเที่ยว จ.สุโขทัย กันบ้างครับ.. หลายท่านคงได้แต่ขับรถผ่าน ๆ ไปไม่เคยเที่ยวที่นี่แน่นอน...ลองตามมาเที่ยวด้วยกันครับ แล้วท่านจะได้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของ สุโขทัย มากมาย...หวังว่าทริปนี้จะเป็นประโยชน์ให้เพื่อนและครอบครัวทุกท่านนะครับ ภาพชุดนี้ถ่ายไว้เมื่อ 9 เมษา 2561 ครับ

 

ทริป​พิชิต​พิพิธภัณฑ์ จังหวัดสุโขทัย นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเนื่องจากผมจำเป็นต้องเดินทางไป จังหวัดสุโขทัย และอยู่ทีนั่นหลายวันแถมมีเวลาเหลือเฟือเลยอยากจะสำรวจจังหวัดสุโขทัยในมุมที่แตกต่างออกไปบ้าง พิพิธภัณฑ์ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยไม่ร้อนเดินตากแอร์เย็น ๆ เหมาะมากกกกับช่วงร้อนๆ กลางเดือนเมษาแบบนี้แถมยังได้เติมความรู้ใส่หัวไปในตัวด้วย คิดได้แบบนี้แล้วก็เริ่มกันเลย โดยที่แรกเอาใกล้ ๆ ก่อนเริ่มต้นที่พิพิธภัณฑ์สังคโลก พิพิธภัณฑ์นี้จะเป็นของเอกชนนะครับ ตั้งอยู่ในบริเวณโรงแรมอนันดา เปิด GPS ไปได้เลยหาง่ายรับรองไม่หลงแน่นอน..

พิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00 - 17.00 น.
อัตราค่าเข้าชม : ต่างชาติ 100 บาท / คนไทย 50 บาท  / เด็ก 20 บาท

อ๊ะ !!!...แต่เดี๋ยวก่อน ๆ ๆ ทำไมผมจ่ายไป100 นึงวะเนี้ย นี่คุยกันตั้งนานพี่ก็คนไทยนะน้อง !!!...เปลี่ยนใหม่ ๆ ๆ

ก่อนจะเข้าห้องจัดแสดงชั้นล่างมีตู้กระจกที่น่าสนใจอยู่สองตู้นะอย่าลืมแวะชมก่อน ตู้ฝั่งซ้ายจะแสดงพระรูปปางลีลาซึ่งถือเป็นความสำเร็จชิ้นสำคัญทางศิลปะในยุคสุโขทัย

ส่วนตู้ทางฝั่งขวาจะพูดถึงบทความจากศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชกล่าวไว้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในอาณาจักรสุโขทัย ชาวเมืองนิยมวาดลวดลายปลาเลียนแบบธรรมชาติจนกลายเป็นเอกลักษณ์บนเครื่องถ้วยชามสังคโลก “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว"

ส่วนจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จะแบ่งเป็น 2 ชั้น โดยชั้นล่าง จะจัดแสดงวิถีชีวิตของคนสุโขทัยสมัยโบราณ แสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่ ความคิด ความเชื่อ ของโบราณต่างๆ ที่ขุดค้นได้

ภาพวาดรูปสิ่งก่อสร้างประกอบด้วยเสาสูงมีฝาบันไดและหลังคาแกะสลักลวดลาย บนชามสังคโลกใบนี้ เป็นหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่ทำให้เรามองเห็นภาพบ้านเรือนทีอยู่อาศัยของชาวสุโขทัยในยุคก่อน

ตู้นี้จะแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเครื่องปั้นดินเผาโดยแบ่งเป็นยุคต่างๆ ยุคก่อนประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผาจะมีรูปทรงไม่หลากหลายมากนักเผาด้วยไฟอุณหภูมิต่ำ เนื้อเปราะเรียกว่าเนื้อดินธรรมดา ตกแต่งลวดลายด้วยวิธี ขูดขีด เชือกทาบ และเขียนสีแดง สมัยกึ่งประวัติศาสตร์ รูปทรงของภาชนะจะมีมากขึ้น ตกแต่งลวดลายด้วยวิธีเขียนสีขาว-สีดำและสีแดงอย่างละเอียดงดงาม ในช่วงปลายของยุคนี้มนุษย์รู้จักการเผาเคลือบเพื่อป้องกันมิให้ภาชนะแตกเสียหายง่าย ส่วนการตกแต่งยังคงเป็นการขูดขีดหรือปั้นติด

 

สมัยประวัติศาสตร์ นับว่าเป็นยุคทองของการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในประเทศไทย เรียกว่าเครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยและสมัยล้านนา เผาด้วยไฟอุณหภูมิสูงเรียกว่าเนื้อดินแกร่ง น้ำยาเคลือบมีหลายสีรูปทรงภาชนะแปลกตาบางครั้งเลียนแบบเครื่องถ้วยต่างประเทศเทคนิคการตกแต่งลวดลายมีทั้งการขูดขีด เขียนลาย ใต้เคลือบ ปั้นติด เซาะร่องและแกะฉลุ

 

 

ตู้นี้โชว์ เครื่องสังคโลกในยุคสมัยสุโขทัย สมัยล้านนา สมัยอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

 

ครื่องสังคโลกจากแหล่งค้นพบ บ้านวังหาด

ครื่องสังคโลกจากแหล่งค้นพบ เมืองเชลียง

ครื่องให้แสงสว่าง และตะเกียงประเภทต่างๆ

ด้านศาสนาและสถาปัตยกรรม

สมัยสุโขทัยคนยังนับถือศาสนาปะปนกันอยู่ ทั้งลัทธิมหายานตามแบบของขอม ลัทธิหินนยานแบบพุกาม ศาสนาพราหมณ์แบบของโบราณดังที่เห็นจากรูปทรงสถาปัตยกรรม บางแห่งในเมืองสุโขทัยรวมทั้งความเชื่อทางไสยศาสตร์การนับถือผีสางเทวดาดังที่บันทึกไว้ในศิลาจารึกและโบราณวัตถุที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อการเซ่นไหว

การศึกษาสถาปัตยกรรมสุโขทัย ไม่เคยปรากฏหลักฐานบันทึกเป็นเอกสาร ข้อมูลส่วนใหญ่ศึกษาจากซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ค้นพบทำให้เราทราบว่า ชาวสุโขทัย นิยมเจาะช่องให้แสงหรือลมผ่านเข้าในแนวตั้ง (ลูกมะหวด) เพื่อต้องการให้แสงผ่านเพียงเล็กน้อย เหมาะสำหรับสถานที่ที่ต้องการความสงบก่อให้เกิดสมาธิจึงไม่มีผู้ใดเคยทราบว่าวิศวกรสมัยนั้นรู้จักวิธีคำนวณโครงสร้างแบบช่องหน้าต่างหรือไม่จากโบราณวัตถุชิ้นนี้เพียงชิ้นเดียวที่ปรากฏช่องหน้าต่างซึ่งอาจจะประกอบขึ้นด้วยไม้ จึงไม่หลงเหลือให้เห็นถึงปัจจุบัน เครื่องสังคโลกชิ้นนี้จึงเป็นชิ้นพิเศษอีกชิ้นหนึ่งที่จะแสดงถึงภูมิปัญญาของช่างในสมัยนั้นและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทยที่นับว่าสมัยสุโขทัยเป็นช่วงเวลาของศิลปะไทยอย่างสมบูรณ์

วัตถุโบราณที่ขุดพบในจังหวัดสุโขทัย

เครื่องปั้นดินเผาจากจากประเทศจีนและพม่า

สินค้าเครื่องปั้นดินเผาของอาณาจักรสุโขทัย

ชั้นที่ 2 จะส่วนจัดแสดงงานชิ้นสำคัญ เช่น เครื่องเคลือบดินเผาล้านนา ซึ่งงดงามสมบูรณ์และชิ้นใหญ่หน่อย (สวยนะแต่ร้อนเพราะเค้าไม่ยอมเปิดแอร์ 555)

เป็นอันเสร็จสิ้นการสำรวจพิพิธภัณฑ์แรกของเรา...ไปกันต่อเลยดีกว่าแรงยังเหลือจุดหมายต่อไปจากที่ทำการบ้านมาแล้ว สายพิพิธภัณฑ์ต้องไม่พลาด พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง

จะอยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่ตอนนี้ไปราวๆ 20 กิโลก็ใช้เวลาขับรถไปประมาณ 25 นาทีก็ถึง ตัวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง จะอยู่ตรงข้ามกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย นะ ตามแผนที่วางไว้คือเราควรไปเดินตากแอร์ชมพิพิธภัณฑ์ให้เสร็จก่อน พอบ่ายแก่ ๆ แดดเบาลงหน่อยแล้วเราค่อยข้ามฝั่งไปปั่นจักรยานเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันเป็นการเป็นการเอาตัวรอดแบบคูล ๆ บนโลกร้อน ๆ ใบนี้

 

ถึงแล้วพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหงในรูปนี้เป็นด้านหน้านะทางเข้าจะอยู่ด้านข้างคือขับตรงมาจนถึงวงเวียนแล้วเลี้ยวซ้ายแล้วก็หาที่จอดได้เลยทางเข้าจะอยู่ทางซ้ายมือ

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น บัตรผ่านประตูคนไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท ได้บัตรมาแล้วก็ไปชมด้านในกันเลย

โบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้จากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานในเขตเมืองเก่าสุโขทัย เมืองโบราณใกล้เคียง และอีกส่วนหนึ่งเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑ์ของวัดราชธานี

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ มี 2 ชั้น ชั้นล่างจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่ได้จากการสำรวจ ขุดค้น ขุดแต่ง และบูรณะแหล่งโบราณคดีสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ศิลาจารึกสมัยสุโขทัย และชั้นบนจัดแสดง พระพุทธรูปสำริด เทวรูป โอ่งสังคโลก เครื่องศาสตราวุธ เครื่องถ้วยชามสังคโลก เงินตรา ท่อน้ำและแสดงระบบชลประทานสมัยสุโขทัย

                    

ผ่านประตูเข้ามาดีใจน้ำตาไหล สมหวังมาก แอร์เย็นเฉียบชื่นใจสุด ๆ 555 ภาพแรกที่เห็นก็จะเป็นพระพุทธรูปลีลาสำริดตั้งเด่นเป็นสง่าตรงกลาง

ทางฝั่งขวามือจัดแสดงเครื่องมือโบราณ แหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทย และประติมากรรมปูนปั้นต่าง ๆ

ส่วนทางด้านซ้ายจะจัดแสดงพระพุทธรูป และหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ภาพรวมๆ ของพิพิธภัณฑ์ชั้น 2 ที่เน้นการแสดง พระพุทธรูป ในยุคต่างๆ และห้องพระธาตุ

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญๆ ที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์นี้มีอยู่หลายชิ้น ชิ้นแรกคงหนีไม่พ้นพระพุทธรูปลีลาสำริดลงรักปิดทอง ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัยไปแล้ว ลักษณะเด่นของพระพุทธรูปลีลาในยุคนี้จะมีหน้ารูปไข่ ดวงตาเรียวและมองลงต่ำ คิ้วโก่ง จมูกโด่ง ปากเรียวบาง คางเป็นปม มีรัศมีเป็นรูปเปลวไฟเหนือหัว ผมขมวดเป็นก้อนเล็ก ๆ บ่ากว้าง เอวคอด ครองจีวรห่มเฉียง ผ้าทาบหรือสังฆาฏิยาวถึงท้องและปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ตามคตินิยมเรื่อง “มหาบุรุษลักษณะ”  ซึ่งในการสร้างพระพุทธรูปลีลาลอยตัว นี้ยังแสดง ให้เห็นถึงเทคนิคชั้นสูงในการหล่อโลหะในช่วงยุคทองของ ศิลปกรรมสุโขทัยในอดีตอีกด้วย

เทวรูปพระหริหระ สำริด เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ที่เป็นการรวมพระวิษณุ และพระศิวะ ให้มาอยู่ในองค์เดียวกันโดยนำลักษณะเด่นของแต่ละองค์มารวมไว้ด้วยกันอย่างเหมาะสม โดยพระหริหระจะมี 4 มือ มือขวาบนถือจักร มือซ้ายบนถือสังข์ มือซ้ายล่างถือดอกบัว ส่วนมือขวาล่างแสดงปางกรัณฑมุทรา หรือการจีบนิ้วหัวแม่มือเป็นวง บางคนเรียกปางดีดน้ำมนต์ (ได้เหรอ!!!) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลและความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ในยุคสุโขทัยเป็นอย่างมาก

เทวนารีหินทราย สวมกรองคอเป็นแผ่นใหญ่ทรงผ้าทรงยาว ชักชายพกออกมาด้านข้างเข็มขัดตกแต่งลวดลายดอกไม้ขอบล่างประดับด้วยพู่ห้อยคล้ายขนนก ซึ่งจากลวดลายของเครื่องทรงและเครื่องประดับปรากฏให้เห็นถึงอิทธิพลศิลปะเขมรแบบบายน ที่พบได้ในปราสาทบันทายฉมาร์ ประเทศกัมพูชา แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของรูปแบบศิลปกรรมในยุคก่อนสุโขทัยได้เป็นอย่างดี

รอยพระพุทธบาทหิน รูปสี่เหลี่ยมทับซ้อนลดหลั่นกัน 4 รอย รอยพระบาทบนสุดมีลวดลายธรรมจักรบริเวณกลางฝ่าพระบาทซึ่งเป็นพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้า รอยพระบาททั้งสี่รอยหมายถึงรอยพระบาทของอดีตพระพุทธเจ้า 4 พระองค์  การจำลองรอยพระพุทธบาทเป็นที่นิยมและเป็นการแสดงออกถึงการสักการบูชาโดยรับเอาคตินิยมนี้มาจากลังกา ดังที่พบหลักฐานบนศิลาจารึกเขาสุมนกูฏกล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไทได้โปรดให้จำลองรอยพระพุทธบาทตามแบบรอยพระบาทจากลังกาไปประดิษฐานไว้บนภูเขาในเมืองสำคัญ 4 แห่งได้แก่สุโขทัย ศรีสัชนาลัย บางพานและพระบาง

และบริเวณสวนด้านนอกอาคารก็จัดแสดงศิลปวัตถุต่าง ๆ  เช่นแผ่นจำหลัก เตาทุเรียงจำลอง และเสมาธรรมจักรศิลา เป็นต้น

เอาล่ะแดดร่มลมตกแล้วได้เวลาขยับไป อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกันละ จอดรถไว้ที่เดิมได้เลยนะเดินข้ามถนนไปฝั่งตรงข้ามซื้อบัตรเข้าชมให้เรียบร้อย 20บาท สำหรับคนไทย และ 100บาทสำหรับชาวต่างชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 6โมงครึ่ง ถึงทุ่มครึ่ง ที่นี่กว้างมากนะถ้าอยากจะชมให้ทั่ว ๆ แนะนำให้ใช้จักรยานนะครับ จะได้เที่ยวชมให้ทั่วๆ หน่อย ค่าเช่าก็คันละ 20บาท หรือถ้าอยากจะขับรถเข้าไปเลยก็คิดค่าคันละ 50 บาท ถ้าใครอยากจะเที่ยวชมเมืองเก่าด้านนอกกำแพงเมืองให้ทั่วด้วยใช้รถเลยดีกว่านะครับ ไกลกันมากกกกก (เตือนแล้วนะ) ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองทั้ง4ด้านในรัศมี 5 กม. มีโบราณสถานประมาณ 70 แห่ง (รวมนอกกำแพงเมืองด้วย)  ส่วนภายในกำแพงเมืองยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือ วัดมหาธาตุ  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้รับการแต่งตั้งจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยโดยใช้ชื่อ  "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) ตามข้อมูลที่ท่านว่าไว้

ในอุทยานนักท่องเที่ยวเยอะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติแล้วก็เลือกที่จะปั่นจักรยานเที่ยวกันถ้ามาช่วงหนาวๆ คงจะเพลินกว่านี้ ตอนนี้มันร้อนเกินไปจริง ๆ

ผมมีเวลาไม่มากนักเพราะใช้เวลาไปเยอะในพิพิธภัณฑ์ เหลือเวลาอีกไม่มากก็จะมืดแล้วเลยเลือกเดินชมเอา เดินเรื่อยๆ เมื่อยก็หยุดครับ รูปนี้ตามแผนที่คงเป็นศาลหลักเมือง ด้านหลังก็จะเป็นวัด มหาธาตุ

ลวดลายปูนปั้นงดงามอ่อนช้อยจริงๆนี้ถ้าได้เห็นตอนที่ยังสมบูรณ์100%จะต้องยืนตะลึงกันแน่ๆ

พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยตอนกลาง มีความงดงามอ่อนช้อยตามเอกลักษณ์ที่เราได้เรียนรู้กันมาแล้วจาก 2 พิพิทธภัณฑ์ ที่ผ่านมา คือ รูปหน้าวงรี คิ้วโก่ง จมูกโด่ง คางเป็นปม ปากอมยิ้ม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเปลวเพลิง ปลายจีวรยาว ขัดสมาธิราบบนฐานเกลี้ย การที่เรามีภูมิติดตัวมาบ้างก็จะทำให้เราเดินเที่ยวได้สนุก และอินขึ้นด้วยนะครับ..555     

วัดมหาธาตุ เป็นวัดใหญ่อยู่กลางเมือง สร้างสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีพระเจดีย์ต่างๆ รวมถึง 200 องค์ นับเป็นวัดสำคัญประจำกรุงสุโขทัย มีพระเจดีย์มหาธาตุ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ศิลปะแบบสุโขทัยแท้ตั้งเป็นเจดีย์ประธาน ล้อมรอบด้วยเจดีย์ 8 องค์ บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ศิลาแลงตั้งอยู่ที่ทิศทั้ง 4 และเจดีย์แบบศรีวิชัยผสมลังกาก่อด้วยอิฐอยู่ที่มุม ด้านตะวันออกบนเจดีย์ประธานมีวิหารขนาด ใหญ่ก่อ ด้วยศิลาแลง มีแท่นซึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ พระศรีศากยมุนี ปัจจุบัน ได้รับการเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ (ตามข้อมูลที่ท่านว่าไว้)

รอบเจดีย์ส่วนฐาน มีลายปูนปั้น พระสาวกเดินในท่าอัญชุลี เดินประทักษิณ รอบพระมหาธาตุ

พระพุทธรูปยืนภายในซุ้มพระ เรียกว่า "พระอัฎฐารศ" ...ไม่เคยได้ยินกันใช่มั๊ย...ความรู้ล้วน ๆ นะ

บริเวณวัดมหาธาตุก่อนที่พระอาทิตย์จะตกดิน

เป็นมุมที่ถ่ายรูปสวยตากล้องก็จะเยอะนิ๊ดนึง (มีนั่งอยู่ข้างๆ ผมอีกราว ๆ 20คน รับรองว่าไม่เหงาแน่นอน) มุมมหาชน..เราต้องมี ๆ ๆ 

หลังจากพระอาทิตย์ตกใครที่อยากได้ภาพสวยๆ ก็อดทนรอต่อไปอีกนิ๊ดนึง อย่าพึ่งรีบกลับนะ (อย่าลืมเตรียมยากันยุงมาด้วยเยอะๆ นะจำเป็นมาก) ซักพักนึงอุทยานก็จะเปิดไฟให้ได้ถ่ายรูป กับแสงทไวไลท์สวยๆ กัน แสงสวยๆ อยู่กับเราไม่นานฉะนั้นเล็งมุมเลือกทำเลไว้ในใจก่อนเลยถึงเวลาก็วิ่งไปตามแผนนะจะได้เก็บภาพได้หลายๆ มุม

เท่าที่รู้มาอุทยานฯ จะเปิดไฟเฉพาะคืนวันเสาร์นะครับ ใครที่ตั้งใจจะไปถ่ายภาพควรเช็คข้อมูลให้แน่นอนอีกทีครับ

ยุงโหดมากๆ เตือนดังๆ อีกครั้งหนึ่ง ใครตั้งใจจะอยู่จนค่ำควรจะเตรียมแขนยาว ขายาวมาให้เรียบร้อยนะครับไม่งั้นพรุนแน่ ๆ

สมควรแก่เวลาฟ้าก็มืดจนเป็นสีดำสนิทแล้ว ทีสำคัญสู้รบกับยุงไม่ไหวจริงๆ เราไปหาที่พักนอนให้สบายๆ แล้วพรุ่งนี้ค่อยออกสำรวจกันต่อผมเล็งโรงแรมศรีวิไลไว้ตั้งแต่ตอนขับรถเข้ามาไว้แล้ว โรงแรมอยู่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์แค่ 2 กิโลเอง เป็นโรงแรมที่สวยเลยมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมๆสระว่ายน้ำ สปา ห้องอาหาร มาครบหมดแถมมีจักรยานให้แขกปั่นไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย (จักรยานฟรีด้วยนะ อันนี้พึ่งมารู้ทีหลัง) ราคาประมาณ 2,500บาท ต่อห้องพร้อมอาหารเช้า (อาหารเช้าเซตใหญ่ดีงามไฟกระพริบถี่ๆเลย) ไปถึงก็มืดแล้วถ่ายสระน้ำให้ดูก่อนละกันครับ

เจดีย์เก่าวัดเจดีย์สูงที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมทำให้โรงแรมดูสวยและขลังขึ้นมาทันที (รูปนี้ก็ถ่ายจากโรงแรมนะครับ)

ห้องพักประมาณนี้นะครับมีกลิ่นไอความเป็นไทยแซมอยู่ในทุกๆ มุม

ถูกใจอ่างล้างหน้ามากอยากได้กลับบ้านด้วยเลย ลายดอกแคแสดสีเจ็บโดนใจที่สุด

เอาละครับพักผ่อนนอนหลับกินอิ่มกันเต็มที่แล้ว ก็พร้อมที่จะออกไปสำรวจเมืองเก่ากันต่อละ เช้านี้เราไปวัดศรีชุมกันก่อนตั้ง GPS ไปได้เลยอยู่ไม่ไกลจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยนักขับรถประมาณ 10 นาทีก็ถึงแล้ว


วัดศรีชุมนั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยปรากฏอยู่ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ว่า "เบื้องตีนนอนเมืองสุโขทัยนี้.....รากผัก..........มีพระอจนะ มีปราสาท" พระประธานในมณฑปจึงมีชื่อว่า "พระอจนะ"

พระมณฑปกว้างด้านละ 32 เมตร สูง 15 เมตร ผนังหนา 3 เมตร ผนังด้านซ้ายเจาะเป็นทางทำบันได ในผนังขึ้นไปถึงหลังคา ตามฝาผนังอุโมงค์มีภาพเขียนเก่าแก่แต่เลอะเลือนเกือบหมด ภาพเขียนนี้มีอายุเกือบ 700 ปี เพดานผนังมีแผ่นหินชนวนสลักภาพลายเส้นเป็นเรื่องในชาดกต่างๆ มีจำนวน 50 ภาพ เรียงประดับต่อเนื่องกัน ทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นงานจิตรกรรมไทยที่เก่าแก่ที่สุด ท่านว่าไว้อย่างนั้นเช่นเคย (บันไดนี้ปิดไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นแล้วนะครับด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยละมั้ง)

ที่นี่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเยอะมากแต่ละคนก็อยากจะถ่ายรูป แบ่งปันมุมกันหน่อยนะครับ ใจเย็นๆ จะได้รูปสวยๆ กลับบ้านกันทุกคน

"พระอจนะ" คำว่า อจนะ มีผู้ให้ความหมายพระอจนะว่าหมายถึงคำในภาษาบาลีว่า “อจละ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ไม่หวั่นไหว มั่นคง” “ผู้ที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้” พระอจนะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุปูนปั้น แกนในก่ออิฐและศิลาแลง หน้าตักกว้าง 11.30 เมตร สูง 15 เมตร องค์พระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เต็มวิหาร และแน่นอนศิลปะแบบสุโขทัย

ที่มาของตำนานพระพูดได้ ในสมัยอยุธยา เมื่อครั้งสมเด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประกาศอิสรภาพในปี พ.ศ. 2127 ที่เมืองแครง ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ ยกเลิกการส่งส่วยให้กับพม่า แต่ยังมีเมืองเชลียง ( สวรรคโลก) ที่ไม่ยอมทำตามพระราชโองการของพระองค์ พระองค์จึงนำทัพเสด็จมาปราบเมืองเชลียง และได้มีการมาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุมแห่งนี้ก่อนที่จะไปตีเมืองเชลียง และด้วยการรบในครั้งนั้นเป็นการรบระหว่างคนไทยกับคนไทยด้วยกัน ทำให้เหล่าทหารไม่มีกำลังใจในการรบไม่อยากรบ สมเด็จพระนเรศวรจึงได้วางแผนสร้างกำลังใจให้กับทหาร โดยการให้ทหารคนหนึ่งปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระ และพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้ทหารเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดตำนานพระพูดได้ที่วัดศรีชุมแห่งนี้ และพระนเรศวรยังได้มีการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาขึ้นที่วัดแห่งนี้ด้วย

อ่อนช้อยงดงามและใหญ่โตจริงๆ เป็นรูปบังคับที่ทุกๆคนต้องมี...ใครมาก็ต้องถ่ายนะครับผมก็โดนบังคับไปด้วย 555

จากนี้เราก็จะเดินทางออกจากอำเภอเมืองไปต่อกันที่ อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งอยู่ห่างออกไป 55 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถราว 1 ชั่วโมง โดยเราจะไปแวะ ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) ที่บ้านเกาะน้อยเป็นที่แรก โดยตัวศูนย์ฯจะอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย 5 กิโลเมตร  ที่อาคารศูนย์ศึกษาอนุรักษ์เตาสังคโลกและพื้นที่โดยรอบตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม (โดยกระจายทั่วไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร) จะพบซากเตาโบราณประมาณ 200 เตา โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ และใช้ตัวเลขเป็นตัวระบุเช่น กลุ่มเตาเผ่าหมายเลข 61 , 42 เป็นต้น

ภายในอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกเป็นสถานที่จัดแสดงเตาเผาสังคโลกและเครื่องภาชนะประเภทไหชามขนาดใหญ่ที่ได้จากการขุดค้นของนักโบราณคดีและกรมศิลปากรซึ่งได้นำโบราณวัตถุและเอกสารทางวิชาการมาตั้งแสดงให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากัน

บรรยากาศภายในศูนย์ฯ

ซากเตาเผาโบราณที่ขุดค้นพบและจัดแสดงอยู่ในศูนย์ฯ

ห่างจากอาคารอนุรักษ์สังคโลกไปไม่ไกล เป็นกลุ่มเตาเผาที่สำคัญและถูกสำรวจขุดค้นพร้อมทั้งอนุรักษ์และจัดทำอาคารแสดงไว้ด้วย ได้แก่ กลุ่มเตาหมายเลข 61 มีเตาใต้ดิน 4 เตา ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำและของแห้ง

กลุ่มเตาหมายเลข 42 และ123 เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงการพัฒนาเตาเผา และสิ่งผลิตจากเตา เพราะในดินนั้นพบเตาสังคโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง 19 เตา

ภายในอาคารจัดแสดงนอกจากซากเตาโบราณแล้วยังมีบอร์ดและตู้โชว์ให้ความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์สังคโลก ไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมา ความสำคัญ ขั้นตอนการผลิต และอีกเยอะมากตามอ่านกันเหนื่อยเลยละ

ซากเตาโบราณกลุ่ม 42 และ 123

หลังจากเก็บความรู้ใส่หัวจนตอนนี้อินกับเครื่องสังคโลกเคื่องดินเผาจนถึงขีดสุดแล้ว ก็ได้เวลาตามหาของที่ระลึกติดกลับบ้านไปด้วยซักหน่อย สำหรับใครที่สนใจจะช๊อปปิ้งก็แวะหาซื้อกันได้เลยมีให้เลือกหลายร้านเลย

พี่จำนง เจ้าของร้านเกศอนงค์ และหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสังคโลก บ้านเกาะน้อย ต้อนรับกันเป็นอย่างดี และเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจที่รวมกลุ่มชาวบ้านขึ้นมาเพื่อจะอนุรักษ์เครื่องสังคโลกให้ยังคงอยู่ต่อไป ชุมชนต้อนรับนักท่องเที่ยวนะครับ สามารถไปกินอยู่ ไปเรียนรู้วิถีชีวิต และการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม พี่จำนง มีโฮมเสตย์ให้พักพร้อมดูแลอย่างดีครับ ติดต่อพี่จำนง ได้เลย โทร 089-272-3575, 095-314-1380

เอาล่ะ...ได้ของฝากเรียบร้อยสบายใจเดินทางกันต่อได้ล้าวววววววว ...จุดหมายต่อไปทีโบราณทัวร์ต้องไปแวะเลยก็คืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ถ้ายังจำได้ความรู้เดิมจากตอนที่แล้ว ที่นี่ก็ถูกรวมอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้วด้วย ขับรถแค่ 5 นาทีก็มาถึงละห่างกันแค่ 3 กิโลเอง

บางท่านเคยชินกับการมองข้ามศูนย์บริการข้อมูลแบบนี้นะ แบบว่าแวะซื้อตั๋วเสร็จแล้วก็โกยแน่บเลย บอกไว้เลยนะครับว่าที่นี่มีดีทั้งการจัดแสดง และข้อมูลที่มีให้ไว้อย่างครบถ้วน เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ นะอย่าพลาดที่จะเดินชมให้ทั่ว ๆ ครับ

โดยภายในแบ่งส่วนจัดแสดงเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ ห้องศรีสัชนาลัย และห้องเมืองเชลียง

ส่วนจัดแสดงศิลปวัตถุที่เป็นไฮไลท์ บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (หรือจุดศูนย์กลางของเมืองเชลียง) ก่อนที่เมืองจะขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นเมืองศรีสัชนาลัย

ห้องศรีสัชนาลัย

วัดสำคัญบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

โบราณสถานวัดทุ่งเศรษฐี  อยู่ตรงข้ามศูนย์บริการข้อมูลเลย
ป้ายเค้าบอกไว้แบบนี้นะ

สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยบริเวณหน้าประตูรามณรงค์ ตัววัดหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงวัดเป็นแท่งศิลาแลงปักเรียงชิดกัน มีประตูทางเข้าวัด 4 ประตูตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของกำแพงทั้งสี่ด้าน สถาปัตยกรรมภายในวัดประกอบด้วย วิหารหลวง เป็นอาคารโถงไม่มีผนังด้านข้างจำนวน 6 ห้อง มีหน้ามุขด้านหน้ายาว 3 ห้อง เสาอาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านในมี ฐานชุกชีลดชั้นสองระดับ ด้านหลังวิหารเป็นเจดีย์ประธานทรงกลมแบบสุโขทัย ประดับใต้องค์ระฆังด้วยชุดบัวถลา และมีซุ้มพระประจำด้านทั้งสี่ที่ฐานเขียงชั้นล่างสุด นอกจากนี้แล้วยังมี เจดีย์ราย 4 องค์ ซึ่งหลงเหลือให้เห็นเฉพาะฐานชั้นล่างสุด จึงไม่สามารถระบุถึงรูปแบบทรงเดิมได้

การชมอุทยานประวัติศาสตร์ที่นี่ ไม่อนุญาตให้ขับรถเข้าไปด้านในนะครับจะต้องใช้บริการรถรางของอุทยานพาชมแล้วจึงลงเดินชมเป็นจุดๆ ไป  หรือใครถนัดจักรยานก็มีจักรยานให้เช่า ส่วใครที่แรงแหลืออยากจะเดินชมด้วยขาตัวเองก็ไม่ผิดกติกานะครับ

ค่าบริการรถรางคนละ 30 บาท ส่วนจักรยานคันละ 20 บาท ขี่ได้ทั้งวันครับ

วัดนางพญาสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือปลายยุคสุโขทัย เป็นวัดขนาดใหญ่และน่าจะมีความสำคัญ เพราะสร้างอยู่ในแนวแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย (แนวเดียวกับวัดเจดีย์เจ็ดแถว และวัดช้างล้อม)

ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้นโบราณ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ช่างทองท้องถิ่นคัดลอกและพัฒนามาทำเป็นลวดลายประดับเงินและทองจนเป็นที่มาของลายทองโบราณศรีสัชนาลัย ที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน 

เจดีย์ประธานของวัดนางพญาเป็นเจดีย์ทรงกลม ตั้งอยู่บนฐานทักษิณที่แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบ เช่นเดียวกับวัดช้างล้อม รูปทรงของเจดีย์คล้ายคลึงกับ เจดีย์ประธานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์  จังหวัดอยุธยา

บริเวณนี้ร่มเย็นเป็นพิเศษเพราะต้นไม้ใหญ่คลุมไปทั่ว เดินถ่ายรูปกับสบายใจเฉิบเลย

วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นวัดที่มีศิลปะ แบบสุโขทัยแท้ๆ คือมีเจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์อยู่ด้านหลังพระวิหารและมีเจดีย์ราย (เจดีย์ขนาดเล็กสร้างประกอบเจดีย์ประธาน) รวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กัน 33 องค์ และล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่ง

เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูม หรือเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์

เจดีย์อยู่ทางนู้นครับเณร 555

พระพุทธรูปปรางค์นาคปรก ด้านหลังเจดีย์ประธาน วัดเจดีย์เจ็ดแถว

วัดสุดท้ายก่อนจะต้องอำลาอุทยานกันแล้วคือวัดช้างล้อม พื้นที่ของวัดช้างล้อมอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย มีจุดเด่นอยู่ที่เจดีย์ประธานทรงลังกา มีกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ มีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งสิ้น 39 เชือก...เค้าว่ากันว่าใครนับช้างได้ครบจะโชคดี.. อื่ม....ผมนับครบละนะ555

เจดีย์ประธานทรงลังกาขนาดใหญ่ตั้งเด่นเป็นสง่าเป็นเกียรติเป็นศรี ภายในเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ด้วย

บางทีการเที่ยวชมโบราณสถานในบ้านเราก็ต้องใช้จินตนาการบ้าง ที่เห็นแต่ตัวกับขานั่นคือช้างนะครับ

ออกจากอุทยานประวัติศาสตร์มาประมาณ 3 กิโล ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็มาถึงพิพิธภัณฑ์ชุมชน ศรีสัชนาลัย ตัวพิพิธภัณฑ์อาจจะหายากนิ๊ดนึง เปิดในกูเกิ้ลแมพอาจจะหาไม่เจอ ก็ไม่ต้องกังวลไปตัวพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงเลยตั้ง GPS ไปที่วัดเลยก็ได้รับรองไม่มีหลง วันจันทร์-ศุกร์ เปิดตั้งแต่ 8 โมงครึ่งถึง บ่าย 4 โมงครึ่ง ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดตั้งแต่ 9 โมง ถึง บ่าย 4 โมงครึ่ง และเข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

เป็นพิพิธภัณฑ์ไม้ 2 ชั้นแบบบ้านๆ ขนาดย่อมน่ารัก เล่าถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญของเมือง ประเพณี วิถีชีวิต ของชาวบ้านศรีสัชนาลัย โดยแบ่งส่วนการจัดแสดงออกเป็นห้องๆทั่วทั้ง 2 ชั้น

มุมนี้จัดแสดงประเพณีต่างๆ ของชาวสุโขทัย

ห้องนี้เป็นการทำทองโบราณ ที่มีชื่อเสียงของศรีสัชนาลัย

มุมนี้ก็เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่อง และเครื่อใช้งสังคโลก

ระหว่างทางจากพิพิธภัณฑ์ชุมชนกลับเข้ามายังตัวเมืองศรีสัชนาลัย ก็เผอิญได้พบกับขบวนแห่ของชาวบ้านหาดเสี้ยวเข้าพอดี มารู้เอาทีหลังว่าเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีมาช้านานแล้ว ในช่วงก่อนวังสงกรานต์ประมาณ 1 อาทิตย์

คืองานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวนที่มีชื่อเสียงของ อ.ศรีสัชนาลัยนั่นเอง โชคเข้าข้างผมแล้วจริง ๆ ผลจากการนับช้างที่วัดช้างล้อมได้ครบ 39 เชือกส่งผลทันตาเลยทีเดียวนะครับ 555 ไม่รอช้าครับพักเรื่องทัวร์โบราณของเราไว้แป๊บนึงก่อน ขอทำตัวกลมกลืนกับออเจ้าเดินตามร่วมขบวนไปกับเค้าด้วยคน…..ออเจ้าน้อยใหญ่ แต่งชุดไทยนุ่งซิ่นตีนจกที่เป็นเอกลัษณ์ และเป็นของดีอีกอย่างของชาวไทยพวนมาร่วมงานกันอย่างพร้อมเพรียงสวยงาม

ประเพณีแห่ช้างบวชนาคเป็นการจัดงานบวชให้กับลูกหลานชาวไทยพวน โดยจะแห่นาคที่จะออกบวชพร้อมกันด้วยขบวนช้าง โดยมีความเชื่อตามพุทธศาสนาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ก่อนออกบวชได้ให้ทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ และหลังจากออกผนวชก็เสด็จกลับเมืองด้วยขบวนช้างศึกเป็นต้นแบบ ขบวนแห่ช้างนี่ครึกครื้นมากนะครับ แสงสีเสียงมาครบ แตรวงกลองยาวก็มา ชาวบ้านก็พร้อมอกพร้อมใจมาร่วมขบวนกันแทบจะทั้งเมืองล่ะมั้ง ต้องยอมรับเลยว่านี่เป็นขบวนนาคที่ใหญ่โตและครึกครื้นที่สุดที่ผมเคยเห็นมาแล้ว

 

ช้างที่ร่วมขบวนแห่ก็ไม่น้อยหน้าพ่อนาคทั้งหลายนะครับแต่งองค์ทรงเครื่องแบบจัดเต็มที่สุดจริง ๆ หลังจากแห่กันรอบเมืองแล้ว ไฮไลท์ของงานนี้คือขบวนนาคทั้งหมดจะลงมาข้ามแม่น้ำยม และให้ช้างได้หยุดกินผลไม้ที่จัดเตรียมไว้กลางแม่น้ำก่อนที่จะวนและกลับขึ้นไปทางเดิม เป็นภาพที่สวยงามและน่าประทับใจมาก

เกี่ยวกับผู้เขียน

4,546 views

0

แบ่งปัน

ไฮไลท์ทริป

25 กรกฎาคม 2562
ท่องเที่ยวไทย เก๋ไก๋ ได้ความรู้ จ.นครราชสีมา
08 พฤศจิกายน 2564
หอพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนานานาชาติ กาญจนบุรี
27 มิถุนายน 2562
เสน่ห์นครพนม เที่ยวแล้วติดใจ ต้องมาอีกแน่นอน
11 กรกฎาคม 2562
ชวนเที่ยว ประจวบคีรีขันธ์ เมืองน่าเที่ยว ได้ความรู้มากมาย
25 พฤศจิกายน 2562
ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดและสัมผัสอากาศเย็นๆกัน
07 กรกฎาคม 2565
พื้นที่แห่งการเรียนรู้ประชาธิปไตย
28 มีนาคม 2565