คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ไปเที่ยวพังงากันมั้ย ?...มาสัมผัสไข่มุกอันดามัน มุมนี้กันดีกว่า

พังงา ความงดงามของธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชนต่างสายพันธ์ุที่หลากหลาย

ทริปนี้ขอพาเพื่อน ๆ ตามมาเที่ยว เมืองพังงา ไข่มุกอันดามัน ของภาคใต้บ้านเรา...(ขอตัดฉากการขับรถระหว่างทางจาก กทม - พังงา เลยเนอะ)... เมื่อผมขับรถผ่านวงเวียนเขาตะปู จุดแรกที่แวะเพราะเป็นภูมิแพ้ตึกเก่าๆ สีเหลืองเขียวแบบนี้รู้สึกดีทุกครั้งที่เห็นจริงๆ นะ ไปหาความรู้กันซักนิดนึงก่อนจะได้เที่ยวพังงาอย่างคนมีภูมิซักนิ๊ดนึง555

อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองพังงาถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อใช้เป็นศาลาศาลากลางจังหวัดพังงาโดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโคโลเนียล หลังจากศาลากลางจังหวัดได้ถูกย้ายไปที่ใหม่แล้วอาคารนี้ก็ปรับปรุงใหม่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองพังงาและให้เข้าชมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี2556นู้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชม ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมงเย็น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดครับ

 

ด้านในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 6 ห้องโดยให้ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดพังงาได้อย่างครบถ้วนรอบด้านดูจบภายในเวลา 20 นาที จบแล้วฉลาดขึ้นทันทีเลยนะ 555

โดยห้องจัดแสดงที่1  จะให้ความรู้พื้นฐานทางด้านทำเลที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ และแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงต่างๆ ในจังหวัดพังงา

 

เขาตะปู หรือ เจมส์ บอนด์ ไอซ์แลนด์ ที่โด่งดังไปทั่วโลก ..ใครมาเที่ยวพังงา ต้องแวะเซลฟี่หน่อยนะครับ เดี๋ยวเค้าว่ามาไม่ถึง

ห้องจัดแสดงที่ 2 จะจัดแสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพังงาโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือพังงาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่จะเล่าถึงการค้นพบแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ

หุ่นจำลองการเขียนภาพเขียนสีเชิงหน้าผาของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ตัวบนน่าจะเป็นโลมา ส่วนตัวล่างคงเป็นหมูป่า ว่างั้นนะ

ส่วนที่ 2 จะพูดถึงพังงาในยุคประวัติศาสตร์ซึ่งจะแสดงเรื่องราวความเป็นเมืองท่าที่ค้าขายกับนานาชาติ แสดงเส้นทางสายไหมทางทะเลของโลกยุคโบราณ

 

เทวรูปพระนารายณ์ค้นพบที่ เขาพระเหนอ อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เมืองโบราณทุ่งตึกซึ่งเป็นเมืองท่าการค้าโบราณที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งบนชายฝั่งอันดามันในยุคสมัยนั้น

ห้องที่ 3 จัดแสดงเรื่องการเมืองการปกครองและการค้า โดยเล่าเรื่องราวและพัฒนาการของเมืองสำคัญ 3เมือง คือเมืองพังงา เมืองตะกั่วป่าและเมืองตะกั่วทุ่ง

ในด้านการค้าบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในอดีต สินค้าที่สำคัญของพังงาในสมัยนั้นได้แก่ สินค้าจากป่า เครื่องเทศ ลูกปัดแก้ว-หินสีและแร่ธาตุโดยเฉพาะอย่างยิ่งดีบุก ที่อุดมสมบูรณ์มาก

ความสำคัญของดีบุกกับการสร้างเมืองพังงา

 

ห้องที่ 4 คนพังงา ห้องนี้จัดแสดงเรื่องราวของผู้คนในจังหวัดพังงา ซึ่งประกอบด้วยคน 4 กลุ่มหลัก คือชาวไทยพุทธ ไทยมุสลิม ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวเล ตลอดจนภาษาและตำนานพื้นบ้านรวมไปถึงศาสนาและความเชื่อต่างๆของผู้คน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ชาวเลตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ อำเภอคุระบุรี และชายฝั่งทะเลแถวอำเภอท้ายเหมือง

ภาษา และตำนานพื้นบ้าน แต่ละท้องถิ่น ในเมือง พังงา

 

ศาสนา และความเชื่อ ของคนพังงา

เครื่องแต่งกายของชนกลุ่มต่างๆ ทั้งชาย และหญิง 

ห้องที่ 5 มรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดแสดงเรื่องราว เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของชาวพังงา ที่สืบทอดต่อกันมาได้แก่การประกอบอาชีพ ประเพณี เทศกาลสำคัญ ศิลปะการแสดงและการละเล่นที่สำคัญ เช่น หนังตะลุง โนรา ลิเกป่า และวัฒนธรรม อาหารการกิน

ภูมิปัญญาในการทำประมง มีเรือประมงพื้นบ้านหรือที่เรียกว่าเรือหัวโทง การจมปู การเลี้ยงหอยนางรมและการเลี้ยงปลาในกระชัง

ด้านการเกษตรมีการทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และไร่นาสวนผสม

ประเพณีในท้องถิ่นงดงาม มากมาย หลากหลายทางวัฒนธรรม

 

หนังตะลุง หรือละครเงาแสดงถึงการรับวัฒนธรรมอินเดียอย่างชัดเจน หนังตะลุงในจังหวัดแถบอันดามันจะโดดเด่นเรื่องคารมคมคาย ดำเนินเรื่องไว มุขตลก นายหนังที่มีชื่อเสียงเช่นหนังเหม่ง บ้านนาพระ หนังแป้นตลด

 

รองเง็ง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมร้องเล่นกันในหมู่ชาวไทยมุสลิม จัดเป็นคณะเช่นเดียวกับคณะรำวง มีเครื่องดนตรีคือไวโอลิน และกลองรำมะนา เป็นเครื่องเล่นให้จังหวะที่สนุกสนาน

อาหารการกินของชาวพังงา มาครบครับ ทั้งคาว หวาน ของว่าง 

ห้องที่ 6 เอกลักษณ์สถาปัตยกรรม นำเสนอมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ ของจังหวัดพังงา แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการของบ้านเมืองในแต่ละช่วงเวลาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการก่อสร้างบ้านเรือนของชาวพังงา

 

อาคารบ้านเรื่อนที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบชิโน-โปรตุกีส 3 ยุคสมัย งดงาม คลาสิคแตกต่างกันไป

 

ประตูไม้เก่าๆที่จะพบได้ทั่วไปในย่ายชุมชนเก่าของพังงา

ยังครับเรายังไม่หยุดเรียนรู้กันง่ายๆ พี่เจ้าหน้าที่ที่พิพิธภัณฑ์พังงาแนะนำให้เราไป ศูนย์ศึกษาและวิจัย ศิลปกรรม วัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามัน ซึ่งพี่เค้าบอกว่ามันใหญ่โต จัดแสดงได้ดีมาก และที่สำคัญลงทุนไป160 กว่าล้าน ...คนที่สนใจใคร่รู้อย่างผมควรจะไปมาก ๆ  และขับรถไปอีกแค่ 10 นาทีก็ถึงแล้ว ...โอเครคร้าบ ผมเป็นคนมีน้ำใจ และไม่ชอบปฎิเสธใครด้วย

 

ถึงแล้วมันใหญ่โตซะจริงๆ ถึงกับ งง จนหาทางเข้าไม่ถูกเลยทีเดียว ศูนย์ศึกษาวิจัยศิลปกรรมวัฒนธรรมและประเพณีแห่งอันดามันจังหวัดพังงาจะประกอบด้วย อาคารที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมไทยภาคใต้ประยุกต์ เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงหลังคาทรงปั้นหยาและทรงมนิลามุงกระเบื้องว่าว มีอาคารจัดแสดงถาวร 5 อาคารด้วยกันเรียงตัวเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่นี่เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงครึ่งนะครับ..มาเที่ยวกันให้ทันนะครับ

รูปจำลองเทวรูปพระนารายณ์ ตั้งเด่นตรงทางเข้าให้นักท่องเที่ยวได้สักการะก่อนจะเข้าชมส่วนจัดแสดงด้านใน..ก่อนเข้าชม ก็ได้เห็นความงามของงานปั้นแล้วครับ

 

อาคารจัดแสดงที่ 2 3 4 ใหญ่จริงจังมากกกกกกก

 

อาคารที่1 “อันดามันที่สุดแห่งใจ” จัดแสดงเรื่องราวของอันดามันเพื่อเป็นบทนำ ให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ทางด้านลักษณะทางกายภาพ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมร่วมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวเด่นๆ ของอันดามัน โดยมีนิยามขอ'แต่ละจังหวัดดังนี้  "พังงาดินแดนแห่งป่าเกาะ ระนองประตูสู่อันดามัน ภูเก็ตไข่มุกแห่งอันดามัน กระบี่มรกตอันดามัน ตรังปะการังใต้ทะเลเสน่ห์หาดทรายงาม และสตูล สงบสะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์ "

อาคารที่สอง “เส้นทางสายไหมทางทะเล” จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีตามพัฒนาการของคาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ โดยใช้การจัดแสดงภาพและหุ่นจำลอง แสดงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สภาพภูมิประเทศและเสียงบรรยายประกอบเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมเห็นภาพ และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองจัดว่าเด็ดที่เดียว

วิถีชีวิตของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์และศิลปะบนผนังถ้ำ

 

นี่เลยประวัติการโล้สำเภาที่ตามหา 555

ภาพรวมๆภายในห้องจัดแสดงห้องที่ 2 ลงทุนและทำได้ดีน่าสนใจเลยนะครับ

ทันสมัยขึ้นมาหน่อยมาถึงยุคประวัติศาสตร์กันละ

เส้นทางการค้าโบราณ : เส้นทางสายไหมและเส้นทางเครื่องเทศ เชื่อมโยงการค้าระหว่างยุโรป เปอร์เซีย อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนเข้าด้วยกัน

การผลิตลูกปัดโบราณ

การเข้ามาของชาวต่างชาติและการเผยแผ่ศาสนาศิลปะและวัฒนธรรม

เมืองท่าและเรือสำเภาโบราณ มีหลายๆจุดทำเตรียมไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเล่นด้วยนะ

แผนที่โบราณอายุกว่า 200 ปีจากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-กรุงธนบุรี แสดงภาพทะเลอันดามันและเมืองท่าต่างๆ  (มีหน่วยเป็นโยชณ หรือ โยชน์นะ กูเกิ้ลมาให้แล้วว่า 1โยชน์ = 400เส้น และ 1เส้น = 40เมตร ดังนั้น1โยชน์ ก็เท่ากับ 16กิโลเมตร นะ 

อาคารที่ 3 “ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม” จัดแสดงเรื่องของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์รวมทั้งวัฒนธรรมต่างๆของชาวอันดามันที่เป็นเอกลักษณ์  กลุ่มคนที่อาศัยอยู่หลากหลายเช่นซาไก ชาวเล ชาวเมืองและคนต่างแดน กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การดำรงชีวิต ความเป็นอยู่ ศาสนาความเชื่อ ภาษาที่ อยู่อาศัย อาหารการกิน การแต่งกาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โดยมีรูปจำลองของแต่ละชาติพันธุ์ การละเล่นและอาคารที่อยู่อาศัยจัดแสดงไว้ด้วย

การแต่งกายของแต่ละชาติพันธุ์ ดูก็รู้ว่าใครขี้ร้อนสุด

ซาไก เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของอันดามัน และคาบสมุทรมลายู อาศัยบริเวณป่าลึกในที่ราบสร้างเพิงพักแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุธรรมชาติมีที่พักไม่เป็นหลักแหล่งเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ โดยเลือกอาศัยอยู่ใกล้ลำธาร เนื่องจากใกล้แหล่งอาหารจำพวกหัวเผือกหัวมัน และล่าสัตว์เล็กๆ ประเภทปลา นก กระรอก ด้วยลูกดอกกับไม้ซาง

ชาวเลเป็นกลุ่มคนที่เดินทางอพยพเร่ร่อนตามเกาะแก่งและชายหาดฝั่งทะเลอันดามันตั้งประเทศพม่า ไทย มาเลเซียไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เดิมจะอยู่กินอยู่ หลับนอนกันเป็นครอบครัวบนเรือที่เรียกว่า ก่าบัง ยังชีพด้วยการจับสัตว์ทะเล เมื่อถึงฤดูมรสุมชาวเลจะอพยพขึ้นมาสร้างบ้านเรือนตามเกาะหรือบริเวณชายหาดที่มีอ่าวกำบัง

ชาวไทยพื้นเมืองส่วนใหญ่ถือศาสนาพุทธทำอาชีพเกษตรกรรมและประมงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆมักจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเช่นประเพณีสารทเดือนสิบที่ผสมผสานความเชื่อทางพุทธพราหมณ์และการนับถือผีบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด และนำอาหารคาวหวานมารวมกันเพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ชาวไทยมุสลิมหรือมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามทุกปีจะมีประเพณีสำคัญได้แก่พิธีฮารีรายอเพื่อเฉลิมฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด ญาติพี่น้องจะกลับมาพบปะสังสรรค์ร่วมกันประกอบอาหารคาวหวาน และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

ชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบฝั่งทะเลอันดามันเพื่อทำการค้าและทำเหมืองแร่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนจาก ปีนัง สิงคโปร์และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ปัจจุบันชาวไทยเชื้อเชื้อสายจีนยังคงมีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ และมีการสืบสานวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่นไม่ว่าจะเป็นประเพณีตรุษจีนหรือประเพณีไหว้บรรพบุรุษ

มีวิดิโอโชว์ การละเล่นต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น รองเง็ง ลิเกป่า โนรา ให้นั่งดูสบาย ๆ ครับ

ผมชอบว่าวกระบือมาก เสียงเพราะ เป็นภูมิปัญญาของชาวใต้จริงๆ ...ใครอ่านแล้ว งง ๆ ต้องไปเที่ยวที่นี่เลยนะครับ หาดูไม่ง่ายแล้ว

หนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันตกเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนฝั่งอันดามันที่แตกต่างจากตะลุงฝั่งตะวันออก ทั้งในด้านการขับร้อง การพูด รูปตัวหนังและธรรมเนียมการเล่น จนมีศัพท์เรียกหนังตะลุงภาคใต้ฝั่งตะวันตกว่าหนัง ปละดก

หนังตะลุง ภาคใต้ฝั่งตะวันตก เอกลักษณ์การละเล่นโบราณ ของชาวใต้

อาหารชาวอันดามัน

สถาปัตยกรรม แบบชิโน-โปรตุกีส ที่มีเอกลักษณ์

รถสองแถวไม้อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชาวพังงาและภูเก็ต ชาวภูเก็ตจะเรียก รถโพ้ถ้อง ดู ๆ ไปก็เหมือนลูกผสมระหว่างรถกระบะกับรถสิบล้อนะ

อาคารที่4 “เขา ป่า นา เลและโลกสีคราม” จัดแสดงความสวยงามทางธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้ความรู้ทางชีววิทยา นิเวศวิทยาและธรณีวิทยาสอดคล้องกับพื้นที่ด้านหลังอาคารที่เป็นป่าชายเลนในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและยังแสดงข้อมูลทางพฤกษศาสตร์เกี่ยวกับพืชท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้รวมทั้งพืชเศรษฐกิจได้แก่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน

จัดแสดงสภาพนิเวศวิทยาป่าชานเลน

ยางพาราพืชเศรษฐกิจของชาวใต้...ขอให้ราคายางสูง ๆ นะครับ พี่น้องชาวใต้จะได้มีความสุข

ทรัพยากรทางทะเลอันสมบูรณ์ของอ่าวพังงา

อาคารที่ 5 “สวรรค์อันดามัน”  สรุปเรื่องราวเกี่ยวกับอันดามันทั้งหมดด้วยความสวยงามทั้งทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมและธรรมชาติอันเป็นที่มาของคำว่าสวรรค์อันดามันโดยจำลองบรรยากาศและสถานที่มือชื่อเสียงในมุมต่างๆ ของพังงา ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ...... สาวๆ น่าจะชอบห้องนี้ ได้เวลาเซลฟี่กันแล้ว

ความงดงามทางธรรมชาติ ของ พังงา ทำให้ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่มาถ่ายทำที่พังงา และถ่ายทอดความสวยงามของอันดามันสู่สายตาชาวโลก  เช่น The Beach กับ 007 นี่จำได้แม่นเลย ทำให้เมืองพังงา และประเทศไทย ดังไปทั่วโลก ทำให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนในจังหวัด และประเทศไทยไม่น้อยเลยครับ

เอาละครับซึมซับความรู้กันจนท่วมท้นแล้วสมควรแก่เวลาที่เราจะออกไปชื่นชมธรรมชาติอันสวยงามของเมืองพังงากันจริง ๆ ซักทีไปที่แรกกันเลย บ้านสามช่องใต้....หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ...บ้านสามช่องใต้ หนึ่งในสถานที่สุดประทับใจของผมตั้งแต่เริ่มถ่ายภาพมา มีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับมาที่นี่ มันมีความสงบ ความบริสุทธิ์และสวยงามของธรรมชาติที่ผสมกับวิถีของชาวประมงพื้นบ้านได้อย่างลงตัว ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกันนักแค่มี ทางช้างเผือก เพิ่มเข้ามาหน่อย สร้างความงดงามเพิ่มขึ้นมากมายครับ 

แสงเช้าช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นกับวิวกว้างๆ ลมเย็นๆ ตรงหน้าแบบนี้ ก็ยังทำให้ชื่นใจและหัวใจพองโตได้เสมอๆ

ชาวประมงน้ำตื้น ตื่นก่อนพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ยังไม่ทันขึ้นเลยก็ออกไปทำงานกันแล้วหนุ่มๆ หมู่บ้านนี้ ...ไม่มีความอดอยาก ในหมู่คนขยันเนอะ ๆ

อีกหนึ่ง Landmarkสำหรับคนรักการถ่ายภาพที่จำเป็นต้องมาเลยนะถ้ามาพังงา สะพานไม้หาดเขาปิหลาย สะพานไม่เก่าแก่ในตำนานที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะอยู่ให้พวกเราได้ชื่นชมได้อีกไม่นานแล้ว ไปให้เห็นกับตาซะก่อนที่ทุกอย่างจะหายไปนะ...ปัจจุบัน สะพานนี้ยังอยู่รึเปล่าไม่รู้นะครับ ลองเช็คข้อมูลคนในพื้นที่ก่อนนะครับ

สะพานแห่งนี้ได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการขนแร่ดีบุกจากเรือเข้าสู่โรงแยกแร่บนฝั่ง ปัจจุบันแร่ดีบุกได้ถูกขุดไปจนหมดแล้วพร้อมกับการปิดตัวไปของโรงงานบนฝั่งคงเหลือไว้แต่เพียงซากสะพานไม้ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงความรุ่งเรืองของพังงาในยุคตื่นแร่บริเวณชายหาดเขาปิหลาย

 

แสงเข้าจากจุดชมวิว เสม็ดนางชี วันนั้นสวยแบบขาดใจตายกันเลยที่เดียว (แอบร้อง...เบา ๆ ในใจหลายต่อหลายครั้ง ว่าทำไมมันสวยหมดจดได้ขนาดนี้ 555) แนะนำให้มาถึงจุดชมวิวก่อนพระอาทิตย์จะขึ้นจะได้คอยเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสีสันและท้องฟ้าได้แบบเต็มๆ ตานะครับ

 

ปัจจุบันมีที่พักใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะมากตามความป๊อบของเสม็ดนางชี ครั้งนี้ผมพักที่โฮมเสตย์ของกำนันที่อยู่กลางซอยบ้านหินร่ม เป็นบ้านสีเหลืองหลังโต ราคาดีมาก (ทั้งหลัง1500) พักกันได้เป็น10เลย และสามารถนัดแนะกับทางกำนันให้เอารถมารับที่บ้านเพื่อมาส่งที่จุดชมวิวนี้ตั้งแต่ตี 4 ก็สะดวกมากๆ ครับ

ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น ก่อนแสงแรงๆจะเริ่มแยงตา ฟ้าก็จะหวานแบบนี้

สีหวานๆ ตัดกันของฟ้า และน้ำที่เสม็ดนางชี

วันนี้มีแผนจะไปพักผ่อนที่เขาหลักต่ออีกซักคืนก่อนจะขับยาวกลับกรุงเทพเพราะซื้อแพ็คเกจจากเขาหลักลากูน่ารีสอร์ท ทิ้งไว้ตั้งนานแล้วได้โอกาสใช้ซักที่ละคราวนี้

ก่อนจะเข้าเขาหลัก ขอแวะเข้าไปชม ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ซักนิดนึง การเดินทางจากบ้านหินร่มใช้เวลา 1 ชั่วโมงนิดๆ กับระยะทางราวๆ 70 กิโล ค่อยๆขับไปนะครับทางขึ้นเขาลงเขาพอสมควร โปรดใช้ความระมัดระวังในการขับขี่

ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์อยู่เยื้องๆ กับท่าเรืองทับละมุ อ.ตะกั่วทุ่ง มีรถเข้ามาจอดในบริเวณศุนย์ฯ เยอะมากตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งและหมู่เกาะทะเลอันดามัน

ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ  โดยฐานทัพเรือพังงาสร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเลแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล

ศูนย์ฯ แห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมป่าไม้ กรมประมง จ.พังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในวโรกาสที่มีพระชนมายุครบ 36 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.25436 และเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล

ภายในอาคารมีห้องจัดแสดงนิทรรศการ อุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์36อยู่ด้วย เปิดให้เข้าชมเวลา 08.30-16.30 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

ภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการตบแต่งเหมือนอยู่ในเรือรบเลย ส่วนนี้แสดงเกาะต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและสุรินทร์

วัตถุประสงคฺของโครงการและภารกิจของกองเรือภาคที่3   และในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับโครงการฝึกอบรมนักประดาน้ำเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเล และการวางทุ่นผูกเรือในแนวปะการังด้วย

จัดแสดงแนวคิดและวิธีการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์  รูปแบบกิจกรรมทางน้ำที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แหล่งท่องเที่ยว และจุดพักสำคัญที่เหมาะแก่การทำกิจกรรมต่างๆ และข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ถูกต้อง

จัดแสดงบรรยากาศใต้ท้องทะเล หืมมมม...ฉลามเยอะไปนะ!!!

หลังจากนั้น ผมออกมาหาที่พักคืนนี้ดีกว่า... เขาหลัก ลากูน่า รีสอร์ท คือคำตอบสุดท้ายครับ  ผมได้พักห้องแบบโอเรียนทอล วิลล่า อยู่เกือบจะติดทะเลเลย เสียดายดันมีอีก2ห้องมาขวางเอาไว้ ...อย่าไปนึกว่าช่วงซึนามิว่าที่นี่จะเป็นยังไงบ้าง! คืนนี้ขอหลับให้สบายๆก่อนพรุ่งนี้ตอนออกจากที่นี่แล้ว

ค่อยกลับมานึกต่อก็ยังไม่ช้าไปนะ 555 ราคาแพ็คเกจถ้าจำไม่ผิดประมาณ 3 พันหน่อยๆรวมอาหารค่ำริมหาด และอาหารเช้าสำหรับ2คนนะครับ บรรยากาศยามเย็นช่วงอาทิตย์ตกสวยงามเลย

กินลมชมวิวกันไปทั้งหาดมีผมอยู่คนเดียว.....มันก็จะเสียวๆหน่อย! แต่แสงสวยๆแบบนี้ยังไงก็ต้องทนนะ

บรรยากาศภายในโรงแรมตรงส่วนโอเรียนทอล วิลลา มันช่วยสร้างบรรยากาศดีจริงๆ (สว่างแล้วเดินเล่นได้ 555)

..ไหน ๆ ก็พูดถึงที่พักแล้ว ....ที่พักในตัวเมืองพังงาคราวนี้ผมพักที่ พังงาคอทเทจ ก็หาเจอจากอโกด้าตอนดึกๆ 555 เห็นว่าได้คะแนนเยอะแล้วก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งบันเทิงทั้งหลายและราคาน่าคบหาที่เดียว 750บาทเท่านั้น ห้องเป็น 2 ชั้นครับตามภาพชั้นล่างจอดรถ ด้านหลังเป็นมุมนั่งเล่นไม่มีหลังคาลมโกรกเย็นดี มีรั้วเตี้ยๆ ปิดได้แต่ผมไม่ได้ปิด...ซินะ!

บันไดขึ้นมาชั้น2

ชั้นบนแบ่งเป็น2ส่วน ห้องนอนก็ประมาณนี้

ห้องน้ำอ่างล้างหน้า ตู้เย็นอยู่ด้านนอกแยกสัดส่วนได้ดีเลยชอบๆ ห้องพักสะอาดดีครับ หมอนผ้าห่มผ้าเช็ดตัวไม่มีอะไรจะติ กับราคานี้  (ไม่มีอาหารเช้านะคร้าบ)

จบละครับขอปิดทริปพังงา เมืองมรกตแห่งอันดามันด้วยภาพแสงสุดท้ายของวัน ตอนที่ผมกำลังขับรถออกจากเมืองพังงาเลยละกัน เป็นวันที่แสงสวยมากๆ วันนึงในรอบปีเลยนะ

 

ข้อคิดสะกิดใจที่ได้จากการขับรถมาเที่ยวไกลๆ คนเดียวในครั้งนี้ก็คือ ควรจะหาเพื่อนมาด้วยเผื่อตอนเมื่อยจะได้ชวยกันชับ555... อันนั้นก็เรื่องนึงแต่ข้อสังเกตนึงที่ยังคงสงสัยและยังไม่มีคำตอบว่าการรวมชาติของคนในอันดามัน ให้มีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง นั้นเป็นไปได้ยังไงจากข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาในวันสองวันนี้ว่าแถบอันดามันนี้ถูกสร้างและเจริญขึ้นมาจากความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม เรียกว่าแตกต่างกันในทุกๆ ด้านก็ว่าได้ ...ขอเก็บไปคิดต่อเป็นการบ้านละกันนะครับ สวัสดี

เกี่ยวกับผู้เขียน

5,391 views

0

แบ่งปัน

ไฮไลท์ทริป

30 เมษายน 2564
จุดเริ่มต้นการศึกษาด้านดาราศาสตร์ไทย เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
08 พฤศจิกายน 2564
หอพระประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อุทยานการเรียนรู้พระพุทธศาสนานานาชาติ กาญจนบุรี
22 กุมภาพันธ์ 2566
นิทรรศการซึ่งได้รับแรงบันดาลใจสำคัญจาก “ซูซู” และ “ไมค์” อุรังอุตังจากสวนสัตว์จังหวัดลพบุรี ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างมากในยุค Y2K
10 ตุลาคม 2562
ฟาร์มเรียนรู้แห่งความสุข
08 มิถุนายน 2562
ของดี เมืองชัยนาท ต้องห้ามพลาด