คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   มิวเซียมเดินเท้า : เรื่องเล่าข้างวังปารุสฯ

มิวเซียมเดินเท้า : เรื่องเล่าข้างวังปารุสฯ

31 สิงหาคม 2560

ชื่นชอบ 5

1,129 ผู้เข้าชม

3

แบ่งปัน
ก้าวเท้าเลียบวังปารุสฯ เก็บเรื่องจากญาติผู้ใหญ่ฮิวโก้ ไปจนถึงคุณยายสุดแซบหน้าบ้านป๋าเปรม

ราว ๆ สัปดาห์ที่แล้วเรา (ขอใช้คำว่าเรา เพราะไม่ได้เดินลำพัง อุอิ) ได้มอบเวลาว่างของเราให้แก่การไปชม “จักรพงษ์นิทรรศน์” ที่จัดขึ้นที่ตำหนักจิตรลดา วังปารุสกวัน เหตุผลที่ไปก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการปลาบปลื้มฮิวโก้ นักร้องมากความคิดความสามารถ และแม้ว่าเราจะตีสนิทเขาในชีวิตจริงไม่ได้ ก็ไปรู้จักเรื่องราวญาติผู้ใหญ่ของเขาไว้ จะได้รู้สึกสนิทกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ตั้งใจจะมาเล่าเนื้อหาในนิทรรศกาลนี้ เอาสั้น ๆ เป็นงานที่บอกเล่าเนื้อหาประวัติชีวิตบุคคลสำคัญที่มีหลายช่วงตอนที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์สังคมไทยอยู่พอสมควร การจัดแสดงมีภาพและสิ่งของให้ได้ตื่นตาตื่นใจอยู่บ้าง แต่สำหรับเราแล้ว เราคิดว่าเนื้อหาที่จัดแสดงยังใช้ประโยชน์จากพื้นที่อย่างตำหนักจิตรลดาได้ไม่คุ้มเท่าไหร่ คือตัวตำหนักเองมีความโดดเด่นในตัวเอง ข้างนอกว่าสวยแล้ว ข้างในก็สวยมาก แถมยังมีการแบ่งเป็นห้อง ๆ ไม่ต่างกับบ้านหลังใหญ่ ๆ ทีนี้เนื้อหาที่นำมาจัดแสดง ทั้งคำบรรยายเป็นตัวหนังสือ ข้าวของ และรูปภาพ ดูจะมีเยอะมาก จนทำให้ห้องบางห้องที่จริง ๆ แล้วใหญ่ ดูแน่นไปถนัดตา บางทีเราก็รู้สึกอึดอัดที่อะไร ๆ มันก็ถูกเบียดมาอยู่ใกล้ตัวใกล้ตามากไปหน่อย แต่ถ้าจะว่าด้วยเนื้อหาแล้วก็ติดตามชีวิต Prince Chakrabongse กันได้เพลิน ๆ เลยครับ

จบกันไปกับเรื่องนิทรรศกาล ถ้าใครสนใจก็ยังเดินทางไปดูได้นะครับงานมีถึงวันที่ 30 ก.ย. 60 จะเดิน จะนั่งรถสาธารณะ หรือจะขับรถไปก็มีที่จอดรถครับ

อย่างที่บอกไปฮะ ว่าจริง ๆ ไม่ได้อยากเล่าเรื่องตัวนิทรรศกาล แต่อยากเอาเรื่องใกล้ ๆ มิวเซียมที่เจอมาเล่าต่างหาก พื้นที่รอบ ๆ วังปารุสกวันเนี่ย จริง ๆ แล้วก็มีอะไร ๆ ให้ดูเยอะนะครับ ไม่ว่าจะเป็นแลนด์มาร์กอย่างพระบรมรูปทรงม้ากับพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือพื้นที่ครอบครัวอย่างสวนสัตว์เขาดิน นอกจากนั้นก็ยังมีสถานที่ราชการทั้งฝั่งทหารและพลเรือนให้ดูเล่นกันเพลิน ๆ ตาครับ

แต่ด้วยความหิวในช่วงบ่ายแก่ ๆ ของวันเสาร์ เราไม่สนใจอะไรพวกนั้นเลยฮะ มุ่งตรงไปถามเจ้าหน้าที่มิวเซียมว่าแถว ๆ นี้มีอะไรกินบ้าง เอาแบบที่เดินไปได้ พี่เจ้าหน้าที่ก็หยุดคิดไปพักนึงแล้วบอกว่า ใกล้ ๆ เนี่ยไม่มีเลย ถ้าจะมีก็ต้องไปจนถึงเทเวศร์... คุณเราก็ไม่เชื่อฮะ มันจะไม่มีเลยได้ยังไง แล้วชาวบ้านแถวนี้เค้าจะไม่กินข้งกินข้าวกันบ้างเลยหรือไง เราก็เลยงอนมิวเซียมแล้วเตร็ดเตร่ออกมาข้างนอกเองฮะ ออกมาไม่เท่าไหร่เจอพี่ตำรวจรักษาการณ์หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เราก็ยิงคำถามเดิมไป พี่ตำรวจก็นิ่งคิด และตอบคำถามมาแทบจะเป็นคำเดียวเป๊ะ ๆ กับที่เจ้าหน้าที่มิวเซียมบอก คือ แถวนี้ไม่มีนะ ต้องไปแถวเทเวศร์โน่น

ความจริงวังปารุสกวันมันก็ไม่ได้ไกลจากเทเวศร์จนเดินไม่ถึงหรอกฮะ เดินซัก 15-20 นาทีก็น่าจะถึง แต่ด้วยความจองหอง เราไม่เชื่อว่ามันจะไม่มีอะไรใกล้ ๆ ให้กินเลยได้ยังไง แล้วชาวบ้านแถวนี้รอดมาได้ยังไง คิดไปก็ย่ำเท้ามั่วไปเรื่อย ๆ แต่คิดยังไม่ทันเสร็จก็ดี ก็เอะใจขึ้นมาครับ เพราะเราเดินกันมาราวห้านาทีแล้ว แต่เราไม่เห็นชาวบ้านเลย ว่าก็ว่าบ้านคนนี่ก็ยังไม่เห็นครับ เพราะสองข้างทางเราถ้าไม่เป็นสถานที่ราชการ ก็ดูจะเป็นห้างร้านบริษัทไปเสียหมด

เห็นตามนั้นก็เริ่มถอดใจ จะมุ่งหน้าไปเทเวศร์หาอะไรกินจริงจัง เจอตรอกเล็ก ๆ เลยเดินลัดเข้าไปจะได้ถึงเร็ว ๆ และสิ่งที่เราได้พบก็ทำให้ดีใจจนน้ำตาไหล (โคตรเว่อร์...) ยังครับ ยังไม่เจอร้านข้าวข้างทางอะไรทั้งนั้น แต่ได้เจอบ้านคนเรียงรายเต็มเลยฮะ จากตรอกนึงไปสู่อีกตรอกนึงก็เป็นแบบนี้ ที่น่ารักคือบ้านเหล่านี้ไม่ใช่แค่บ้าน แต่มีความเป็นชุมชน มีชาวบ้านมานั่งรวมกลุ่ม ผู้ใหญ่ก็จับกลุ่มนั่งคุยกัน กินขนมบ้าง ทำนู่นที่ทำนี่บ้าง ใครเดินผ่านก็ทักทายถามไถ่

เดินไปได้ไม่นานเราก็มาโผล่แถว ๆ บ้านสี่เสาเทเวศร์ และเราก็ได้พบกับร้านส้มตำข้างทางที่ดูเหมือนกำลังจะปิด เรารีบตรงปรี่เข้าไปด้วยความกลัวอด โชคดีที่ร้านยังไม่ปิด แต่วัตถุดิบหลายเมนูที่น่ากินก็หมดไปบ้างแล้ว เราก็สั่งส้มตำน้ำตกมากินตามประสา และหาโต๊ะนั่ง

ร้านส้มตำนี้มีอะไรน่าสนใจหลายอย่างเลยฮะ ตัวพื้นที่ปรุงอาหารเป็นรถเข็นตั้งอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่ง ประตูรั้วบ้านเปิดกว้าง เผยให้เห็นพื้นที่แสงน้อย ๆ ข้างใน ที่นอกจากมีข้าวของเยอะแยะแล้วก็มีโต๊ะหลายตัวให้นั่งกินได้ บนฟุตบาทหน้าบ้านก็ยังมีโต๊ะพับหลายตัวพร้อมให้บริการ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าเซ็ตติ้งของร้าน คือคนที่รันร้าน และข้าวของที่มีอยู่ในร้านต่างหาก

คนที่รันร้านนี้เป็นผู้หญิงสี่ห้าคนจากสามเจนเนอเรชัน คือมีตั้งแต่รุ่นยาย รุ่นลูกสองสามคน แล้วก็หลานสาววัยประถมครับ ตอนเราเดินไปถามว่าร้านปิดรึยัง ทุกคนดูกระตือรือร้น เอาใจใส่เรามาก ทั้งแนะนำอาหาร แนะนำโต๊ะนั่ง ชวนคุยเล่น ถามไถ่เรื่องทั่วไปแต่ไม่ละลาบละล้วงพอให้ยิ้มให้หัวเราะกันได้ เราเลือกไปนั่งข้างในแล้วก็ได้เห็นของน่าสนใจหลายอย่าง แต่คงจะหยิบมาเล่าสั้น ๆ ให้ฟังแค่สองอย่างพอครับ ถ้าอยากรู้อะไรมากกว่านั้นก็ไปเองเถอะครับ ผมเล่าไม่สนุกเท่าไปเจอเองหรอก แฮ่ ๆ

อย่างแรกคือรูปถ่ายขาวดำของกลุ่มผู้หญิงแต่งหน้าแต่งตัวสวยงาม หนึ่งในนั้นคือพระราชินีสมัยยังทรงเป็นสาว ด้วยความอยากรู้อยากเห็นเราจึงเอ่ยปากถาม คุณยายเจ้าของบ้าน(ร้าน)ผู้เป็นหนึ่งในสาวสวยในรูปก็เล่าให้เราฟังว่า นี่เป็นรูปที่ถ่ายตอนงานเลี้ยงเด็กกำพร้าครั้งแรกที่วังสวนองุ่น (ผมเองจริง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่า วังสวนองุ่นที่แกว่านี่หมายถึงวังไหน แต่แกบอกว่าบอกคือวังของในหลวงรัชกาลที่สิบ หากใครรู้ก็ช่วยรบกวนบอกหน่อยนะฮะ เพราะค้นดูเร็ว ๆ ในกูเกิลก็ยังไม่พบ , ผมเองเข้าใจว่าอาจจะเป็นชื่อเรียกภายในอย่างไม่เป็นทางการของตำหนักหนึ่งในวังสักแห่ง เพราะยายแกเคยเป็นข้าราชบริพารในวังมาก่อน จแต่งงานแล้วค่อยย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านหลังนี้) หลังจากถามเรื่องรูปแรก คุณยายแกก็ชวนคุย และเล่าเรื่องชีวิตแก และคนรู้จักอีกมากมาย ผ่านรูปถ่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร้านครับ ถ้าใครสนใจประวัติศาสตร์บอกเล่า เราแนะนำให้มาร้านนี้เลยครับ ยายแกใจดีและเล่าเรื่องต่าง ๆ ได้สนุกดี

อย่างที่สองที่เก็บมาเล่าคือรูปถ่ายอาหารบางเมนูในร้าน ที่เรียกได้ว่าเห็นรูปแล้วก็ต้องสั่งทันทีเพราะน่ากินมาก แต่พอดูรูปดี ๆ เราจึงเห็นตัวหนังสือจาง ๆ ที่มุมของรูป ว่ารูปนี้จัดทำโดยนักศึกษา มทร.พระนคร เราจึงเอ่ยปากถามไปอีก คราวนี้ป้าทัยแม่ครัวใหญ่ของร้านมาตอบเองว่า รูปอาหารพวกนี้นักศึกษาเขาทำไว้ให้ หลังจากอาจารย์ของพวกเขาให้ทำโครงการ มาพูดคุยและขอสูตรอาหารจากร้านเพื่อเอาไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน

จากสองเรื่องที่เก็บมาเล่านี่ก็ไม่ได้เลือกมาแบบไม่มีประเด็นนะครับ คือเราคิดว่าร้านส้มตำนี้มีความน่าสนใจมาก เพราะจากร้าน ๆ เดียวนี่ ทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนในละแวกใกล้เคียงได้เยอะมาก ไม่ใช่เพียงแต่อัธยาศัยของคนในร้านที่ทำให้แขกไปใครผ่านก็ต้องแวะทัก อัพเดทเรื่องราวกันแม้จะไม่สั่งอาหารกินก็ตาม ยังมีเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านคำบอกเล่าจากคนหลายเจนเนอเรชั่น แถมยังมีรูปและข้าวของบางส่วนจัดแสดงอย่างไม่จงใจ แต่มีความเป็นมิวเซียมโดยธรรมชาติอยู่พอตัว มากไปกว่านั้นคือร้านนี้ยังมีความสัมพันธ์กับสถานศึกษาและมีส่วนช่วยในการผลิตความรู้ที่เป็นประโยชน์ด้วย

อย่างที่พูดไปบ้างแล้ว ผมคิดว่าร้านส้มตำร้านนี้มีความเป็นมิวเซียมไม่น้อย ไม่ใช่เพียงเพราะว่าพวกเขามีเรื่อง มีเนื้อหาให้เล่า แต่พวกเขายังมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ชุมชน และหน่วยงานโดยรอบอยู่ตลอด ปฏิสัมพันธ์เหล่านี้แหละครับที่ทำให้มิวเซียม (หรืออะไรอื่น ๆ ก็ตาม) มันมีชีวิตชีวา มันอัพเดท มันเท่าทันความเป็นไป และไม่ตกยุคตกสมัยได้เสมอ

อ่อผมลืมบอกไปร้านส้มตำนี้เป็นที่รู้จักในหลายชื่อครับไม่ว่าจะเป็น ร้านส้มตำเฟื่องฟ้า ร้านส้มตำป้าทัย และร้านสมตำหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เอาเป็นว่าใครผ่านไปแถวนั้น นอกจากจะเยี่ยมเยียนวังปารุสกวัน ก็ลองเดินดูตรอกเล็ก ๆ แถวนั้น แล้วเดินเลยมาแวะ มานั่งชิม นั่งชม นั่งแชท กับร้านส้มตำร้านนี้ได้นะครับ ขอให้สนุกกับการเดินเท้าหาเรื่องเล่าไปด้วยกันนะครับ :)

วันที่สร้าง : 16 ตุลาคม 2560

3

แบ่งปัน
สร้างโดย