คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   จาก ‘กรมพระอาลักษณ์’ ถึง ‘สุภาพบุรุษนักเขียน’

จาก ‘กรมพระอาลักษณ์’ ถึง ‘สุภาพบุรุษนักเขียน’

17 มิถุนายน 2560

ชื่นชอบ 7

5,106 ผู้เข้าชม

2

แบ่งปัน
นับเนื่องจากโบราณกาล ที่สยามประเทศยังไม่มีวิชาชีพ “นักเขียน” หากมีแต่ผู้ทำหน้าที่จดหรือเขียนตามคำสั่งของพระมหากษัตริย์ เรียกกันว่า “กรมพระอาลักษณ์” มีหน้าที่คัดลอกใบบอกและหนังสือรายงานข้อราชการเพื่อกราบบังคมทูล ตลอดจนคัดประกาศพระบรมราชโองการ และยกร่างหนังสือพระราชหัตถเลขา เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ 

ผู้รับผิดชอบกรมนี้ ปรากฏราชทินนามว่า “สุนทรโวหาร” บ้าง “สารประเสริฐ” บ้าง โดยในยุคที่ยังไม่มีการพิมพ์ การคัดลอก จารึก หรือบันทึกข้อความต่างๆ ต้องใช้วิธีชุบหมึกเขียน ซึ่งต้องอาศัยลายมือที่สวยงาม และผู้เขียนต้องรักษาความลับในราชการได้ เพราะเรื่องราวที่บันทึกส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องปกปิด 

กรมพระอาลักษณ์จึงเป็นหน่วยงานของผู้ที่รู้หนังสือแตกฉาน มีลายมือสวยงามและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย โดยวังหลวง วังหน้า และวังหลัง ต่างมีกรมพระอาลักษณ์ของตนเอง อาทิ สุนทรภู่ หรือพระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔
                   
ครั้นเมื่อ ดร.แดเนียล บีช แบรดลีย์ (พ.ศ. ๒๓๔๗ – ๒๔๑๖) มิชชันนารี และนายแพทย์ชาวอเมริกันที่คนไทยรู้จักในนาม “หมอบรัดเลย์” ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์ คิดตัวพิมพ์ภาษาไทย เพื่อพิมพ์หนังสือศาสนาและการแพทย์ รวมทั้งจัดพิมพ์ “นิราศลอนดอน” ของหม่อมราโชทัย ซึ่งเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่มีการซื้อลิขสิทธิ์การพิมพ์อย่างเป็นทางการ จึงกล่าวได้ว่า “หน่ออ่อน” ของวิชาชีพนักเขียนเริ่มงอกงามแทงดินขึ้นมาแล้ว  ทว่านักเขียนในสมัยนั้นก็ยังคงจำกัดอยู่ในวงราชการ

ที่สำคัญคือการริเริ่ม “บางกอกรีคอร์ดเดอร์” หนังสือพิมพ์ภาษาไทยเล่มแรกในประวัติศาสตร์สยาม ที่นำเสนอข่าว และบทความเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างทันสมัย และโดยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ทรงถือหมอบรัดเลย์เป็นพระสหายสนิท เมื่อหมอบรัดเลย์เขียนวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินของพระองค์ ก็มิทรงกริ้ว หากทรงพระราชนิพนธ์บทความไปโต้แย้งอยู่เนืองๆ 
                    
จนกล่าวได้ว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๔ คือ “คอลัมนิสต์” พระองค์แรกของสยาม ผู้แง้มบานพระบัญชรให้แสงอ่อนๆ ของระบอบประชาธิปไตยสาดส่องลงมา ตราบกระทั่งหลังสมัยรัชกาลที่ ๕ ยุคแห่งการส่งพระราชวงศ์ และข้าราชการไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อกลับมาสนองงานปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัย สยามนั้นจึงมี “คอลัมนิสต์” มากขึ้น เริ่มจาก ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ นักเรียนเก่าอังกฤษ ทรงสร้าง “ดุสิตธานี” ขึ้นเป็นเมืองทดลองระบอบประชาธิปไตย แล้วทรงออกหนังสือพิมพ์ “ดุสิตสมิต” ซึ่งมีเนื้อหาในบางคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล ภายใต้ปณิธาน...         
                            
...ถึงล้อก็ล้อเพียง กลเยี่ยงวิธีสหาย / บ่มีจะมุ่งร้าย บ่มิหมายประจานใคร / ใครออกจะพลาดท่า ก็จะล้อจะเลียนให้ / ใครดีวิเสษไซร้ ก็จะชมประสมดี / ชมเราก็แทงคิว ผิวะฉิวก็ซอรี่ / แม้แม้นมิคืนดี ก็จะเชิญ ณ คลองสานฯ"

ตราบจนกระทั่ง พ.ศ.๒๔๗๒ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการนักเขียนไทยเกิดขึ้น เมื่อมีนักเขียนหนุ่มความคิดก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง นำโดย นายกุหลาบ สายประดิษฐ์  เจ้าของนามปากกา “ศรีบูรพา” ซึ่งมีประสบการณ์เขียนหนังสือมาตั้งแต่อายุ ๑๗ ครั้งยังเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ กระทั่งอายุ ๒๒ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสนาศึกษา ของกรมยุทธศึกษาทหารบก ด้วยไม่เห็นหนทางก้าวหน้าในชีวิต 
                                             
จึงชักชวนเพื่อนนักเขียน อาทิ อบ ไชยวสุ (“ฮิวเมอริสต์”) มาลัย ชูพินิจ (“แม่อนงค์”) โชติ แพร่พันธุ์ (นามปากกา “ยาคอบ”) ฯลฯ ก่อตั้ง “คณะสุภาพบุรุษ” และออกหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษรายปักษ์ ฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๗๒ ราคาเล่มละ ๓๐ สตางค์ โดยในบทบรรณาธิการ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ประกาศเจตนารมณ์สำคัญ อันเปรียบเสมือนการเปิดศักราชใหม่ของวิชาชีพนักเขียนแห่งสยามประเทศว่า “งานเขียนหนังสือเป็นงานที่มีเกียรติและเป็นอาชีพได้”     
                                            
พร้อมกันนั้น ยังประกาศรับซื้อบทประพันธ์ทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดี เพื่อนำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ เพราะ ”การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้ เป็นเล่นเสียตั้ง ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็นงานเห็นจะได้สัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์กระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน"
                                             
ทั้งยังให้นิยามของ “สุภาพบุรุษ” ว่า ๑. ชอบการกีฬา ๒. สุภาพเรียบร้อย ๓. ถือตัว (คือไม่ยอมประพฤติชั่วง่าย) ๔. ไม่อึกทึกครึกโครม ๕. ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ ๖. มีนิสัยซื่อสัตย์ โดยหัวใจของ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” อยู่ที่การเสียสละ อันเป็นบ่อเกิดของคุณความดีหลายปราการ ดังนั้น  “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับคนอื่น” 

จึงกล่าวได้ว่า กุหลาบ สายประดิษฐ์ และคณะสุภาพบุรุษ คือผู้มีวิชาชีพเป็น “นักเขียน” กลุ่มแรกของสยามประเทศอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง: “คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา” รำลึก 100 ปี ชาตกาล กุหลาบ สายประดิษฐ์ / ผศ. ดร. ตรีศิลป์ บุญขจร บรรณาธิการ

วันที่สร้าง : 27 มิถุนายน 2560

2

แบ่งปัน
สร้างโดย