คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

ของดีที่บ้านฉัน

เล่าเรื่องเชียงราย ของดีที่บ้านฉันอยากจะขอแบ่งปัน

         “เหนือสุดแห่งสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง" นั้นเป็นคำขวัญจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ตอนบนสุดของไทย มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และทิศตะวันออกติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดอกไม้ประจำจังหวัด คือ ดอกพวงแสด และต้นไม้ประจำจังหวัด คือ ต้นกาสะลองคำ หรือ ต้นปีบทอง

         ประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่า “เมืองแห่งสยามเมืองยิ้ม” ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยทั้งสิ้น 77 จังหวัดด้วยกัน ทุกๆประเทศจะรู้จักประทศไทยในนามของสยามเมืองยิ้ม เพราะทุกๆที่ที่เราได้พบเจอกันสิ่งแรกที่เราเห็นในตัวของคนไทยก็คือ รอยยิ้มที่มอบให้ซึ่งกันและกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเบิกบานใจ ความสดใสร่าเริงและการต้อนรับอย่างเป็นมิตรที่ดีต่อกัน และจังหวัดเชียงรายคือบ้านของดิฉันที่ดิฉันรักและหวงแหน เชียงรายนอกจากจะมีคนไทยพื้นเมืองอาศัยอยู่แล้วยังมีกลุ่มชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่ด้วยกันหลายชนเผ่า เช่น อาข่า ลาหู่ ม้ง เหย้า กะเหรี่ยง ลีซอ ไทใหญ่ จีนฮ่อและอื่นๆ ตัวดิฉันเองก็เป็นคนชนเผ่าอาข่าคนหนึ่งที่อยากจะเล่าเรื่องราวที่ดิฉันภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่าของตัวเองและอยากจะแบ่งปัน

         อาข่า มีภาษา วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีชุดชนเผ่าที่เป็นงานฝีมือประณีต ลวดลายผ้าแต่ละลวดลายที่เกิดจากนิ้วมือสัมผัสเข็มและเส้นด้ายนั้น มิใช่เป็นเพียงแค่ลวดลายที่มีชื่อเรียกต่างๆ เท่านั้น หากแต่รวบรวมไว้ซึ่งคุณค่าทางจิตใจและศักดิ์ศรีของความเป็นชนเผ่า ที่แสดงความหมายของสิ่งที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดผ่านงานศิลปหัตถกรรม หมู่บ้านดิฉันนั้นมีชื่อว่า บ้านห้วยไร่(ซาเจ๊ ) อ.แม่จัน จ.เชียงราย เป็นหมู่บ้านอาข่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีครัวเรือนมากที่สุดถึง 600 ครัวเรือน มีจำนวนประชากรมากกว่า 3,000 คน โอบล้อมด้วยความอบอุ่นจากภูเขาและป่าไม้ มิอาจร่ำรวยด้วยทรัพย์สิน แต่มั่นคงด้วยความรักและน้ำใจที่ชาวบ้านมอบให้กันและกัน อาชีพที่ทำการมากที่สุดคืออาชีพเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนมากจะปลูกข้าว ข้าวโพด มะเขือเทศ ถั่วเหลือง ถั่วแระ และพืชผักสวนครัวต่างๆ การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนนั้นเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นอาชีพที่ชาวบ้านรักและมั่นคงกับการทำอาชีพเกษตรกรรม เหตุผลที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนมากที่สุดนั้น เป็นเพราะว่าข้าวโพดฝักอ่อนนั้นปลูกง่าย ได้ผลผลิตในระยะสั้น ประมาณ 3 เดือนก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว

         หมู่บ้านดิฉันมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม ที่ถือได้ว่าเป็นของดีที่บ้านที่ดิฉันอยากจะแบ่งปันให้ได้รับรู้ นั่นก็คือ ประเพณีโล้ชิงช้า หรือ “แย่ขู่อาเผ่ว”เทศกาลแห่งฤดูฝน หรือปีใหม่ฝน โล้ชิงช้าอาข่า ประเพณีนี้ได้สืบทอดมาเป็นเวลาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ประเพณีโล้ชิงช้าเป็นประเพณีที่สำคัญของอาข่า ในช่วงนี้จะใช้เวลาด้วยกันกับครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนๆด้วยกัน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นระยะเวลาการจัดงาน 3 วัน ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่นับถือศาสนาคริสต์กันมาก จึงได้จัดประเพณีโล้ชิงช้าร่วมกับพิธีกรรมทางศาสนา เพื่ออนุรักษ์ประเพณีของอาข่าไว้สืบทอดต่อไป วันแรกทุกคนจะเข้าโบสถ์ร่วมมิซซาเพื่อระลึกถึงพระนางมารีย์ และมีการสร้างชิงช้าที่ศูนย์กลางของหมู่บ้านหรือที่โบสถ์เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้มาเล่นชิงช้า วันที่สองมีการตำข้าวปุก เป็นข้าวที่ปลูกเองตำรวมกับงา ซึ่งถ้าตำเสร็จต้องเอาไปปั้นเป็นก้อนและทำให้แบนๆพอประมาณ เมื่อปั้นเสร็จต้องให้ผู้อาวุโสที่สุดในบ้านทานก่อนเพื่อแสดงถึงการเคารพนับถือและสมาชิกในครอบครัวจึงทานได้ หลังจากนั้นก็จะไปแจกให้ผู้อาวุโสญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้านและญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน มีการโล้ชิงช้าแล้วยังมีการแสดงซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมของเผ่าอาข่า และมีความเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้ให้และจะได้บุญกุศลด้วย ถือว่าจะเป็นการเปิดพิธีโล้ชิงช้า ซึ่งผู้ใหญ่ในหมู่บ้านหรืออาจจะเชิญแขกผู้ใหญ่จากที่อื่นมาเปิดให้ชาวบ้านโล้ชิงช้าได้ ชาวบ้านทุกคนจะแต่งชุดอาข่าที่สวยงาม ซึ่งปัจจุบันยากที่จะได้เห็นการแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า นอกจากเวลามีเทศกาลแล้ว มีการเชิญนักร้องในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้านมาร้องเพลงด้วย รวมทั้งมีการแสดงของอาข่าหลายอย่างมีการเต้นรำที่สวยงาม มีการละเล่นต่างๆให้ได้เล่นและตอนกลางคืนจะมีการกระทุ้มไม้ไผ่ ซึ่งจะเต้นจนถึงเช้า และวันที่สามจะเป็นวันสุดท้ายของประเพณีโล้ชิงช้า ชาวบ้านจะเข้าโบสถ์จากนั้นพัฒนาทำความสะอาดบริเวณที่สร้างชิงช้า ถือเป็นที่สิ้นสุดของเทศกาลโล้ชิงช้า เป็นของดีที่บ้านที่อยากให้ได้มาสัมผัส

         วัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละชาติ แต่ละเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่งดงามที่คนรุ่นหลังควรใส่ใจและเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้สืบสานต่อไป ถึงแม้ว่าบางสิ่งบางอย่างจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างนั้นมิใช่สิ่งที่แปลก แต่ในความแตกต่างนั้นย่อมมีสิ่งที่แสนพิเศษ น่าค้นหา และเป็นสีสัน หากเรายอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันได้ เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข สิ่งสำคัญอยู่ที่จิตใจมนุษย์

........................................

Credit by :
นางสาวรุ้งลดา เชอหมื่อ

7,634 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดเชียงราย