คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
Instructions for use
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

Back

หมู่บ้านเหมืองกุง

กลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุง

หมู่บ้านเหมืองกุง

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

     หมู่บ้านเหมืองกุงเดิมมีชื่อว่า "บ้านสันดอกคำใต้" ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของเชียงใหม่ มีการปั้นน้ำต้นและหม้อน้ำมานานกว่า 200 ปี จากคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมา ชาวบ้านเหมืองกุงส่วนหนึ่งเป็น ชาวไทที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุ เมืองสาด รัฐเชียงตุงซึ่งแต่เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทย แต่หลังจากที่พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รัฐเชียงตุงที่มีอาณาเขตติดกับพม่าก็ถูกบุกยึดให้อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ แต่พออังกฤษคืนเอกราชให้แก่พม่า พม่าก็นำเอารัฐเชียงตุงกลับไปเป็นดินแดนของตน ซึ่งปัจจุบันรัฐเชียงตุงอยู่ในเขตรัฐฉานของประเทศพม่า

      งานวิจัยของอาจารย์สมโชติ อ๋องสกุล เมื่อปี พ.ศ. 2526 – 2528 ได้กล่าวถึงประวัติของบ้านเหมืองกุงว่าเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่แบ่งเป็น 2 ยุค ยุคแรกคือ "ยุคสร้างบ้านแปงเมือง" เป็นยุคที่ริเริ่มฟื้นฟูอาณาจักรสร้างบ้านสร้างเมืองหลังจากตกอยู่ใต้อำนาจของพม่ามาเป็นเวลานาน หลังจากสร้างเมืองเสร็จ ยุคต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ "ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ที่ต้องเกณฑ์กำลังคนจากพื้นที่อื่น โดยการยกทัพไปตีเมืองต่างๆ แล้วแบ่งคนออกไปให้ทั่วเมืองเชียงใหม่ สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่กล่าวถึงการเกณฑ์กำลังคนมาสู่อาณาจักรล้านช้าง ในช่วงปี พ.ศ. 2325 – 2356 ชาวบ้านเหมืองกุง อพยพมาตั้งหลักปักฐานอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพียง 5 ครัวเรือน จากการจัดเรียงนามสกุล ได้แก่   ฟักทอง สืบคำเปียง ศรีจันทร์(สีจันทร์) สืบสุริยะ และกาวิโรจน์

     บรรพบุรุษที่มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านเหมืองกุงนั้นต้องทำนา เพื่อนำข้าวเปลือกไปส่งให้เจ้ากาวิโรรส สุริยวงค์ (โอรสของพระเจ้ากาวิละ) พอเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งชาวบ้านจะขุดดินจากที่นาใกล้หมู่บ้านมาทำ น้ำหม้อ (ภาษาถิ่นหมายถึงหม้อน้ำดื่ม) และน้ำต้น (ภาษาถิ่นหมายถึงคนโท) ไว้สำหรับใส่น้ำดื่ม อีกทั้งยังใช้น้ำต้นในการรับแขกหรือใช้เป็นสังฆทานถวายวัดในพิธีทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบต่อกันมาจนถึงลูกถึงหลาน หากมีเหลือจึงนำไปขายเป็นรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้การผลิตเครื่องปั้นดินเผาเป็นกิจกรรมที่สำคัญของหมู่บ้าน

     เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงมีลักษณะแต่ละครอบครัวต่าง ทำส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้าน โดยพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้านจะนำเครื่องปั้นดินเผาใส่รถบรรทุกส่งต่อไปขายยังฝาง เชียงดาว และพร้าว ส่วนพ่อค้าคนกลางนอกหมู่บ้านที่มารับเครื่องปั้นดินเผาไปขายมีไม่มากเพียง 5% เท่านั้น และนอกจากนั้นก็จะมีชาวบ้านบางส่วนนำไปขายเองโดยนำหม้อน้ำและคนโทหาบใส่ตะกร้าใบใหญ่ไปขายที่ปากทางเข้าหมู่บ้าน ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาในแถบนั้นจึงเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านน้ำต้น" ตามคนโทหรือน้ำต้นที่ชาวบ้านเหมืองกุงทำขายนั่นเอง นอกจากนั้นยังนำไปขายที่ตลาดต้นลำไยและตลาดหลวงเพื่อส่งให้กับพ่อค้าคนจีนอีกด้วย ในยุคนั้นเป็นช่วงเฟื่องฟูของการทำเครื่องปั้นดินเผา น้ำต้นของบ้านเหมืองกุงมีชื่อเสียงจนเป็นที่กล่าวขานกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในอาณาจักรล้านนาเพราะน้ำต้นที่ทำออกมามีความบางเบาและทนทาน จับรินแล้วคอน้ำต้นไม่หักง่าย ใส่น้ำแล้วเย็นทำให้ผู้ดื่มได้รับความสดชื่น และดินของบ้านเหมืองกุงจะเก็บน้ำได้ดีเพราะว่าเป็นดินในชั้นทราย ไม่ได้เป็นดินหน้านาซึ่งจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าแต่นอกจากบ้านเหมืองกุงยังมีหมู่บ้านอื่นอีกที่มีการปั้นหม้อน้ำและคนโทใส่น้ำ ได้แก่ บ้านน้ำต้นสันป่าตอง แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้วเนื่องจากไม่มีการต่อยอดของคนรุ่นหลัง อย่างไรก็ตาม ยังมีบ้านกวนวัวลาย(ตำบลหารแก้ว) ที่ปั้นหม้อน้ำและหม้อแกงเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร เช่น ขนมจีน แต่ใช้ดินวัตถุดิบคนละอย่างกับการปั้นหม้อน้ำและวิธีการปั้นก็แตกต่างกับบ้านเหมืองกุงด้วย

     ในปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผาที่เคยนิยมใส่น้ำดื่มกิน กลับกลายเป็นภาชนะอลูมิเนียม แก้วหรือพลาสติก ทำให้การสั่งผลิตน้ำต้นเริ่มน้อยลง ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงเข้าไปทำงานรับจ้างในตัวเมืองทำให้ชาวบ้านที่ทำงานเครื่องปั้นดินเผาเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่หลังจากที่หมู่บ้านมีการตั้งกลุ่มหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาบ้านเหมืองกุงในปี พ.ศ. 2545 และได้รับเลือกจากองค์กรพัฒนาชุมชน  อ.หางดง และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้เป็นหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ. 2548 จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญและรวมตัวกันมากขึ้นจนกระทั่งปัจจุบันมีประมาณ 22 ครัวเรือนที่ทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผาอย่างจริงจัง

     ชาวบ้านเริ่มพัฒนากระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ จากเดิมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตคือ ครกกระเดื่อง ใช้ตำดินให้ร่วน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนามาเป็นเครื่องโม่ดินไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องร่อนดินหรือเครื่องกรองดินซึ่งในอดีตใช้เป็นตะแกรงแต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น เครื่องร่อนดินไฟฟ้าซึ่งมีความสะดวกกว่ามาก ในด้านของอุปกรณ์ในการปั้นคือ แป้นหมุนโดยใช้มือหมุน (เรียกว่า จ๊าด) ซึ่งในอดีตทุกครัวเรือนจะปั้นโดยใช้แป้นมือหมุนนี้ ต่อมาจึงมีการนำเอาเครื่องจักรมาช่วย เช่น แป้นหมุนมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้กระบวนการผลิตมีความสะดวกและรวดเร็วขึ้นและสามารถ ผลิตผลิตภัณฑ์ได้มากกว่าเดิมนอกจากนั้นชาวบ้านยังมีการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การสร้างลวดลายที่แปลกใหม่ และการแต่งสีสันให้ทันสมัย อีกทั้งยังมีการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าอีกด้วย เช่น โคมไฟ กระถาง อ่างบัว หรือแจกัน เป็นต้น

     จวบจนปัจจุบัน ชาวบ้านเหมืองกุงที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในการผลิตเครื่องปั้นดินเผานับวันจะเริ่มมีแต่ผู้สูงวัยเท่านั้น คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำงานหัตถกรรมประเภทนี้มีจำนวนน้อยลงตามกระแสของ การออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน บ้านเหมืองกุงจึงคล้ายกับต้องนับถอยหลังสู่ยุคที่เครื่องปั้นดินเผาจะหายไปจากหมู่บ้านและอาจจะเหลือแต่เพียงอดีตที่ทิ้งไว้เป็นตำนาน ดั่งคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า "ตำนานน้ำต้น คนปั้นดิน" ซึ่งตำนานนี้จะยังคงสืบสานมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลังและการช่วยกันอนุรักษ์ส่งเสริมของผู้ที่ยังชื่นชมความงดงามของหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอยู่อย่างมิเสื่อมคลาย

ผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน

     1) น้ำต้น

         ในอดีตมีน้ำต้นที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

1.1) น้ำต้นแก้วหรือน้ำต้นดอกหลวง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าน้ำหม้อธรรมดาทั่วไป และมีการใส่ลวดลายดอกไม้เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่น้ำต้นและยังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงแห่งนี้อีกด้วย

1.2) น้ำต้นสังข์หรือน้ำต้นธรรมดา จะมีขนาดใหญ่กว่าน้ำต้นทั่วไป มีการวาดลวดลาย ดอกไม้คล้ายน้ำต้นดอกหลวงตามเอกลักษณ์ของน้ำต้นบ้านเหมืองกุง น้ำต้นสังข์นี้ส่วนใหญ่ใช้ทำสังฆทานถวายวัด

1.3) น้ำต้นปอม ซึ่งมีลักษณะเหมือนน้ำต้นทั่วไป แต่ตรงคอของน้ำต้นจะมีลักษณะ

1.4) นูนออกมาเป็นลูกๆ ซึ่งทำให้มีลักษณะคล้ายกับลูกน้ำเต้า

1.5) น้ำต้นกลีบมะเฟือง ลำตัวจะมีการขึ้นรูปทรงคล้ายกลีบมะเฟือง มีประมาณ 5-6 กลีบ จึงตั้งชื่อน้ำต้นชนิดนี้ตามลักษณะของกลีบมะเฟือง

1.6) น้ำต้นหน้อย (น้ำต้นน้อย) มีลักษณะเหมือนน้ำต้นทั่วไป แต่จะมีขนาดเล็ก น้ำต้นชนิดนี้เอาไว้ใช้สำหรับใส่เครื่องเซ่นไว้เจ้าที่เจ้าทาง เนื่องจากคนล้านนาสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา ในปัจจุบันเหลือน้ำต้นที่ยังคงผลิตอยู่คือ น้ำต้นดอก และน้ำต้นสังข์ เท่านั้น

 

     2) น้ำหม้อ

     ในอดีตมีน้ำหม้อที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่

2.1) น้ำหม้อดอกหลวง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่าน้ำหม้อ

ธรรมดาทั่วไปและมีการใส่ลวดลายดอกไม้เพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่น้ำหม้อและยังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านเหมืองกุงแห่งนี้อีกด้วย

2.2) น้ำหม้อดอกหน้อย (น้ำหม้อดอกน้อย) มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิมและมีการใส่ลวดลายดอกไม้คล้ายน้ำหม้อดอกหลวง แต่มีขนาดที่เล็กกว่าน้ำหม้อธรรมดาทั่วไป

2.3) น้ำหม้อเกลี้ยง มีลักษณะเหมือนน้ำหม้อแบบดั้งเดิม แต่ผิวของน้ำหม้อจะเป็นผิวเรียบ

ทั่วทั้งใบ ไม่มีการตกแต่งลายใดๆ มีเพียงการเติมแต่งด้วยสีน้ำดินแดงเท่านั้น

2.4) น้ำหม้อกลีบมะเฟือง ตัวหม้อมีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง มีประมาณ 5-6 กลีบ คนสมัยก่อนจึงตั้งชื่อน้ำหม้อชนิดนี้จากลักษณะของกลีบมะเฟือง

2.5) น้ำหม้อก๊อก เป็นน้ำหม้อที่เจาะรูไว้สำหรับใส่ก๊อกน้ำ เวลาใช้ไม่ต้องเปิดฝาหม้อ ทำให้สะดวกเวลาใช้ดื่มกิน

     ปัจจุบันบ้านเหมืองกุงยังเหลือน้ำหม้อที่ยังคงผลิตอยู่คือ น้ำหม้อดอกหลวง น้ำหม้อดอกน้อย และน้ำหม้อเกลี้ยงเท่านั้น   

     ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีในปัจจุบันคือ หม้อน้ำหวาน ซึ่งเป็นหม้อน้ำขนาดเล็กเท่ากับประมาณแก้วน้ำ ใช้สำหรับใส่น้ำหวานขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ถนนคนเดิน นักท่องเที่ยวสามารถนำหม้อน้ำหวานติดตัวกลับไปได้ด้วย และยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย

เทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

     หมู่บ้านเหมืองกุงขึ้นชื่อในเรื่องของการทำน้ำต้นที่ทนทาน เมื่อยกรินแล้วคอน้ำต้นไม่หักออกจากตัวน้ำต้น ซึ่งเคล็ดลับของการสร้างความทนทานนี้คือการขึ้นรูปน้ำต้น 3 ขั้นตอน โดยขั้นแรกจะขึ้นรูปเฉพาะตัวฐานที่เป็นภาชนะรองรับน้ำ ต่อมาขึ้นรูปในส่วนของคอน้ำต้นส่วนกลาง และขั้นสุดท้ายขึ้นรูปคอน้ำต้นส่วนบน ในแต่ละขั้นจะต้องตากน้ำต้นให้แห้งเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของดินที่จะต่อขึ้นไปด้านบนได้อีก หากไม่รอให้แห้งก่อนจะทำให้ส่วนฐานไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและทำให้แตกหักเสียหายได้ในที่สุด

     ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเครื่องปั้นดินเผาเหมืองกุง คือ ลายใบโพธิ์ หรือลายรูปหัวใจ ลักษณะของลวดลายคล้ายกับรูปหัวใจคว่ำ ใช้ประกอบการทำลวดลายบริเวณรอยต่อระหว่างตัวน้ำต้นและคอน้ำต้น รวมทั้งใช้เป็นลวดลายของน้ำหม้อด้วย ซึ่งเป็นลายหลักของงานปั้นเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเหมืองกุง และมีการกลิ้งลายขีด ลายเขี้ยวหมา และแกะลายตัววี เป็นลายเสริมในส่วนของพื้นภาพ หรือช่วยเชื่อมต่อลายหลักเข้าด้วยกัน

     บ้านเหมืองกุงมีเทคนิคในการขัดเงาเครื่องปั้นดินเผาซึ่งไม่สามารถทำได้ในหมู่บ้านอื่น เทคนิคนี้ใช้หินจากลำธารก้อนขนาดพอประมาณขัดบนเครื่องปั้นดินเผาด้วยการออกแรงเพียงเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้ผิวของเครื่องปั้นดินเผาขึ้นเงาได้อย่างรวดเร็ว แต่หากออกแรงมากเกินไปจะทำให้ผิวของเครื่องปั้นดินเผาถลอกเป็นรอยและไม่ขึ้นเงาแต่อย่างใด ดังนั้นการขัดเงาจึงขึ้นอยู่กับทั้งความเชี่ยวชาญของการคัดเลือกหินที่เหมาะสมจากลำธารมาใช้ และกับความชำนาญในการลงน้ำหนักมือด้วยน้ำหนักที่พอเหมาะพอดีของช่างขัดเงาอีกด้วย

วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน

     การทำงานช่างเครื่องปั้นดินเผามีความจำเป็นต้องทำอยู่ในสถานที่ที่อับลม เพราะหากดินถูก ลมพัดมาปะทะจะทำให้แข็งและแห้งจนไม่สามารถนำมาปั้นได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ปั้นเครื่องปั้นดินเผา จึงต้องอยู่ในสถานที่ค่อนข้างร้อน เป็นเหตุให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ ชาวบ้านผู้ชาย ไม่ค่อยใส่เสื้อระหว่างการทำงาน เพราะยิ่งใส่เสื้อก็ยิ่งจะทำให้ร้อนยิ่งขึ้น ส่วนชาวบ้านผู้หญิงจะใส่เสื้อคอกระเช้าตามแบบอย่างที่นิยมใส่กันมาแต่บรรพบุรุษ เนื่องจากเป็นชุดที่ช่วยให้ทำงานสะดวกและไม่ร้อนอบอ้าวจนเกินไป

วิธีการเดินทางไปยังหมู่บ้านเหมือนกุง

     บ้านเหมืองกุงอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากนัก นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกตามถนนสายเชียงใหม่-หางดง ระยะทางเพียง 6 กิโลเมตรจากสี่แยกสนามบิน และใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาที     สัญลักษณ์ที่โดดเด่นของบ้านเหมืองกุงคือ “น้ำต้น” หรือ “คนโท” ขนาดใหญ่สูง 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8.85 เมตร เป็นคนโทที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งเด่นอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้านและสามารถนำ รถเข้าไปจอดได้มีที่จอดรถอยู่ข้างหลังจากซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งจะอยู่หลังคนโทยักษ์นั่นเอง แนะนำให้นักท่องเที่ยวจอดรถไว้ที่จอดรถแล้วเดินเท้าชมบรรยากาศภายในหมู่บ้านเพราะถนนในหมู่บ้านมีขนาดเล็กทำให้การสัญจรไปมาด้วยรถยนต์ค่อนข้างลำบาก

วิธีการเดินทางไปยังหมู่บ้านโดยรถสาธารณะ

      นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังหมู่บ้านเหมืองกุงได้โดยรถสาธารณะสีเหลือง โดยขึ้นจากคิวรถสันป่าตอง-ทุ่งเสี้ยว ซึ่งรถจะออกทุก 15 นาที โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 15-20 นาที และให้ลงที่หน้าหมู่บ้านซึ่งจะสังเกตเห็นคนโทขนาดใหญ่อยู่ด้านขวามือ จากนั้นให้ข้ามถนนไปยังอีกฝั่งหนึ่งแล้วเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ที่ทำการสำหรับการติดต่อด้านการท่องเที่ยวของหมู่บ้านสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถติดต่อที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน คือ คุณวชิระ สีจันทร์ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติติดต่อที่บ้านของคุณวุฒิซึ่งจะอยู่เลยไปจากช่วงกลางหมู่บ้าน โดยจะผ่านห้องประชุมของหมู่บ้านกับที่ทำการผู้ใหญ่บ้านไปอีกประมาณ 100 เมตร

 

ขอบคุณภาพและเนื้อเรื่อง จาก

www.handicrafttourism.com

26,169 views

0

share

Museum in Chiang Mai

14 September 2023
23,168
551
16 July 2020
23,336
1,637
11 January 2019
3,458
301
07 February 2022
47,037
794
11 August 2018
8,321
595
08 August 2022
7,094
608
30 April 2019
38,152
718
17 March 2022
34,897
688