คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
Instructions for use
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

Back

พุทธมณฑล

ถิ่นรมณีย์ที่มากกว่าแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

พุทธมณฑล ถิ่นรมณีย์ที่มากกว่าแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ

บังอร ไทรเกตุ 

 

“กี่รอบแล้วค่ะ ”

ฉันร้องทักชายสูงวัย รูปร่างเล็กแต่แข็งแรง ขณะวิ่งจ๊อกกิ้ง

“รอบแรกเองครับ” เขาตะโกนตอบพร้อมๆ กับ โบกมือทัก กลิ่นเหงื่ออ่อนๆ ของเขาโชยปะทะกับโสตรับกลิ่นของฉันในจังหวะที่เราวิ่งสวน

เราต่างก็เป็นนักวิ่งขาประจำของที่นี่ แม้จะคุ้นหน้าคุ้นตาแต่ก็ไม่เคยพูดคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะมีเพียงยิ้มให้กันเท่านั้น ซึ่งก็เพียงพอแล้วสำหรับฉันที่ต้องการความสงบขณะวิ่ง 

ทุกก้าวที่แตะลงบนพื้นบล๊อกตัวหนอน ฉันพยายามที่จะให้ใจเกาะติดอยู่กับฝีเท้า แต่มันมักไม่เชื่อฟังเผลอทีไรเป็นต้องคิดไปเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องราวในอดีต อนาคตที่ยังมาไม่ถึง กว่ารู้ตัวก็กินเวลาไปหลาย

ใกล้จะครบรอบ นั่นไง อีก ๑๐ เมตร ข้างหน้า... 

ครบ ๑  รอบ นั่นหมายถึงฉันวิ่งมาได้ระยะทาง ๔.๖ กิโลเมตร เป็นการวิ่งรอบองค์พระศรีศากยะทศพลญาณทรรศน์ พระประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ซึ่งออกแบบโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี   

ถึงบันทัดนี้ … คุณคงจะเดาถูกแล้วสิว่า สถานที่่ที่ฉันจะกล่าวถึงนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “พุทธมณฑล” ใครที่เคยผ่านถนนพุทธมณฑลสาย ๔ จังหวัดนครปฐม น่าจะได้เห็นองค์ท่าน ซึ่งตั้งเด่นตระหง่านมาแต่ไกล ยิ่งพิศก็ยิ่งงามนัก

แต่… อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า “พุทธมณฑล” เป็นแค่สวนสาธารณะเหมือนทั่วๆ ไป จะต่างก็ที่มีอาณาบริเวณกว้างกว่าถึง 2,500 ไร่ ซึ่งนั่นก็จริง แต่เป็นแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างซุกซ่อนอยู่ ถ้าหากคุณทราบคงไม่พลาดแน่ๆ 

แต่ก่อนจะกล่าวถึงสิ่งที่น่าสนใจนั้น เราควรได้รู้ถึงเจตนารมณ์ของผู้ริเริ่ม คือ จอมพลป.พิบูลสงคราม ต้องการสร้างปูชนียสถานเพื่อเป็นพุทธบูชาเนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศักราชเวียนมาบรรจบครบกึ่งพุทธกาลคือ 2,500 ปี แต่จนแล้วจนรอดกว่าจะดำเนินการเสร็จก็กินเวลาไปกว่า 30 ปี คือ นับจากวันที่มีดำริเมื่อปี 2495 แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในปี 2525 สมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเพราะมีอุปสรรคมากมาย ... 

ฉะนั้นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนสถาปัตยกรรมภายใน “พุทธมณฑล” จึงเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ “สังเวชนียสถาน 4 ตำบล” ที่ตั้งโดยรอบขององค์พระประธาน และนั้นก็คือสถานที่ที่น่าสนใจที่ฉันจะพูดถึง ซึ่งกำลังจะวิ่งผ่านพอดี ดังนั้นจึงขออาสาเป็นมัคคุเทศก์พาคุณไปทัศนากัน

เริ่มจากตำบลแรกอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงทิศเหนือ คือ ตำบลประสูติ “เราผู้เป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา” นี่คือปฐมพระวาจาของสิทธัตถะราชกุมารเมื่อครั้งทรงประสูติ ณ สวนลุมพินีวันใต้ต้นสาละ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ว่าเป็นการเปล่งอภิสวาจาที่มีนัยถึงการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ จากเทพสูงสุดเป็นธรรมสูงสุด

 … สิ่งที่เราจะเห็นคือ หินรูปดอกบัวสัตตบงกชแย้มบาน 7 ดอกซึ่งอุปมาเป็นดอกบัวสวรรค์ที่รองพระบาทขณะทรงพระดำเนิน 7 ก้าวเมื่อประสูติ หินรูปดอกบัวทั้ง 7 เกาะกลุ่มกันบนเนินดินที่ทาบทาด้วยสีเขียวของพื้นหญ้า ตรงกลางดอกบัวแต่ละดอกจะมีรอยแกะสลักรูปพระพุทธบาทและชื่อแคว้น 7 แคว้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรม คือ  มคธ-อังคะ กาสี-โกศล สักกะ วัชชี มัลละ วังสะ และกุรุ    

ถัดไปคือทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็น ตำบลปฐมเทศนา จำลองเป็นป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่  ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 โดยทรงแสดงธรรม “พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”  แสดงถึงวงล้อแห่งธรรมได้หมุนขึ้นแล้ว

 … รู้ไหมที่มาของ "เสมาธรรมจักร" ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.76 เมตร สูง 4.56 เมตร มีความน่าทึ่งมากจากหนังสือ "คนสร้างทาง" วิศว์ ลิปตพัลลภ ทำให้ฉันเห็นถึงพลังศรัทธาอันมั่นคงของชายคนหนึ่งต่อพระพุทธศาสนา ที่แม้เผชิญอุปสรรคมากมายแต่หาได้ย่อท้อ นับตั้งแต่การเริ่มงาน คือการเสาะหาหินแกรนิตขนาดใหญ่ต้องดั้งด้นไปถึงชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเส้นทางที่ยังไม่ได้บุกเบิกเมื่อ ปี 2527 การเลื่อยตัดหินให้มีขนาด 5 คูณ 6 เมตร บนหน้าผาหินแกรนิตซึ่งใช้เวลานานถึง 6 เดือน กว่าจะปลดปล่อยหินก่อนใหญ่ให้เป็นอิสระจากภูเขา และการลำเลียงหินที่มีน้ำหนักรวม 102,000 กิโลกรัม จากป่าลึกสู่พุทธมณฑล นครปฐม ทั้งทางบนกว่า 722 กิโลเมตร และทางน้ำ 240 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 962 กิโลเมตร  ใช้เวลาเดินทาง  1 เดือน จึงจะได้หินมาแกะสลักเป็นเสมาธรรมจักร ตั้งตระหง่านในพุทธมณฑล : เขตแดนของพุทธศาสนา

ข้างหน้าเราทางทิศใต้ คือ ตำบลตรัสรู้  ที่ที่การวนเวียนในวัฏสงสารของพระองค์นานกว่า 4 อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัปได้สิ้นสุดลง แต่เป็นการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ถามว่าอะไรที่พระองค์ทรงค้นพบ คำตอบคือ อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท ความ จริงของกฎธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และธรรมที่จะก้าวพ้นปัจจัยการปรุงแต่ง คือ นิพพาน นั่นเอง

ฉันมีความลับจะบอก ... ทุกครั้งที่เดินเข้ามายังตำบลตรัสรู้จะมีความรู้สึกปิติลึกๆ อยู่ข้างใน เมื่อได้เห็นต้นโพธิ์ใหญ่ยืนสูงตระหง่าน ด้านหน้าเป็นที่ประดิษฐานหินสัญลักษณ์รูปโพธิบัลลังก์ ที่ซึ่งพุทธองค์ทรงประทับตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ

ขณะนี้เรากำลังวิ่งมายังด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นตำบลสุดท้ายคือ ตำบลปรินิพพาน ในปััจฉิมวาจาที่ทรงตรัสโอวาทแก่พระภิกษุสาวกเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จปรินิพพานว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอพูดกับเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” เมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้ว เราชาวพุทธอย่าได้ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเสียเปล่าเลย

… กลีบดอกสาละ ร่วงหล่นตามแรงลม ปลิวร่อนหล่นลงบนแท่นหินสัญลักษณ์รูปแท่นไสยาสน์ บ้างปลิวไปอยู่บนแท่นที่นั่งของพระอานนท์ อิงแอบอยู่ข้างๆ 

ก็อย่างที่บอก การมาวิ่งพักผ่อนที่นี่พิเศษกว่าที่อื่น เพราะนอกจากได้สุขภาพกายแล้วยังได้สุขภาพใจ เกิดสังเวชกระตุ้นเตือนให้ระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระเมตตาอันเหลือประมาณมิได้

ถึงจะไม่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังสังเวชนียสถาน 4  ณ ประเทศอินเดีย แต่ที่ “พุทธมณฑล” ก็ได้จำลองในแก่นสาระได้ครบถ้วน เรียกได้ว่าแม้กายไปไม่ถึง แต่ใจหยั่งถึงก็เพียงพอ ....

10,646 views

0

share

Museum in Nakhon Pathom