คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   เรื่องเล่าชาวบางกอก ตอน “ชั่วหม้อข้าวเดือด”

เรื่องเล่าชาวบางกอก ตอน “ชั่วหม้อข้าวเดือด”

26 ธันวาคม 2560

ชื่นชอบ 3

2,253 ผู้เข้าชม

5

แบ่งปัน
โครงการสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์ – ท่าศิริราช ความยาว ๒๔๐ เมตร มูลค่า ๒,๔๕๘ ล้านบาท ที่สำนักการโยธาเป็นผู้เสนอ เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะรัตนโกสินทร์ ทว่า โครงการนี้ยังเป็นประเด็นถกเถียงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็น เมื่อเทียบกับการใช้เรือข้ามฟากเฉกเช่นปัจจุบัน

แต่ถ้าย้อนไปศึกษาอดีต ก็จะทราบว่า “ท่าพระจันทร์” กับ “ศิริราช” เคยเป็นแผ่นดินเดียวกันมาก่อน แต่เพราะเมื่อกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้ ไหลคดโค้งเป็นรูปแอกวัว (Oxbow Lake) ทำให้ต้องเสียเวลาพายเรืออ้อมกันเป็นวันๆ 
                                            

เกิดเป็นตำนานเล่าขานว่า ตากับยายแจวเรือมาถึงคลองบางกอกน้อยก็พอดีค่ำ จึงแวะขึ้นฝั่งหุงข้าวปลากันเสร็จสรรพ แล้วก็รีบแจวเรือต่อไปตลอดคืน กว่าจะถึงคลองบางกอกใหญ่ก็สว่างพอดี จึงจัดแจงเตรียมหุงหาข้าวเช้ากิน พอยายตั้งหม้อข้าวเสร็จก็รู้ตัวว่าลืมฝาหม้อทิ้งไว้ที่ปากคลองบางกอกน้อย ยายโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ สู้อุตส่าห์อดหลับอดนอนแจวเรือมาทั้งคืน ตาดันลืมฝาหม้อไว้ได้ 

คุณตาไม่ปริปากบ่น รีบเดินตัดป่ากลับไปเอาฝาหม้อที่บางกอกน้อย แล้วเดินกลับมาถึงบางกอกใหญ่ก็พอดีหม้อข้าวเดือด กลายเป็นตำนาน  “ชั่วหม้อข้าวเดือด”  แสดงถึงความคดโค้งและวกอ้อมของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนั้น
                                            
            (แม่น้ำเจ้าพระยามีหลายช่วงที่คดโค้งและวกอ้อม ทำให้เสียเวลาเดินเรือ จนต้องขุดคลองลัด)

พุทธศักราช ๒๐๗๗ สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระบรมราชโองการให้ขุดคลองลัด ณ จุดที่แคบที่สุดของส่วนโค้งอ้อมของแม่น้ำเจ้าพระยา คือจากปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ใช้เวลาขุดนานกว่าสิบปี มาเสร็จสิ้นในปี ๒๐๘๗ 

วิธีการขุดสันนิษฐานว่าใช้วิธีเดียวกับการขุดคลองดำเนินสะดวก ในสมัยรัชกาลที่ ๔  คือใช้แรงงานคนขุดเป็นช่วงๆ ช่วงละ ๑ กิโลเมตร เว้น ๑ กิโลเมตร แล้วให้แรงดันของแม่น้ำ แทงดินช่วงที่ไม่ได้ขุด ให้ทะลุจนกลายเป็นคลองเล็กๆ 
                                        
                           (จาก “คลองลัดบางกอก” กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่)             

นานวันเข้า แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีเส้นทางที่ไหลตรง ผ่านทางคลองขุดซึ่งค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงดันของกระแสน้ำหลัก ที่สุดกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ช่วงตั้งแต่วัดอรุณราชวราราม ถึงด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อย

คลองลัดหรือเจ้าพระยาสายใหม่ ช่วยย่นระยะทางให้ตากับยายไม่ต้องทะเลาะกันแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้บรรดาพ่อค้าและทูตานุทูตชาวตะวันตกที่เข้ามาติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี ราชธานีย้ายมาตั้งบริเวณนี้ คลองบางกอกใหญ่กลายเป็นชุมชนของข้าหลวง และโปรดเกล้าให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า คลองบางข้าหลวง หรือ คลองบางหลวง สืบมาถึงในปัจจุบัน
                                          

นอกจากนั้น การขุดคลองลัดที่ทำให้เกิดแม่น้ำเจ้าพระยาสายใหม่ ยังทำให้ราชธานีกรุงธนบุรีมีรูปพรรณสัณฐานเป็นเกาะ อันเป็นที่มาของชื่อ “บางเกาะ” แล้วเพี้ยนเสียงเป็น “บางกอก” ในเวลาต่อมา แต่กระนั้น ก็ยังไม่อาจทิ้งข้อสันนิษฐานว่าชื่อ “บางกอก” เพราะบางนี้มีต้นมะกอกขึ้นชุกชุม..ไปได้

และเหตุที่มีต้นมะกอกชุกชุม ก็เพราะบางนี้เป็นสวนผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อันเนื่องจากความคดโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาในอดีต ทำให้มีตะกอนมาทับถมกันเป็นปุ๋ยชั้นดีให้ปลูกอะไรก็งอกงาม จนมีชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นในนาม “บางกอก”

                                   
                         (เจ้าพระยาสายเก่ากลายเป็น คลองบางกอกน้อย – คลองบางกอกใหญ่)

จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชุมชนบางกอกยังเป็นสวนผักผลไม้แหล่งใหญ่ที่รู้กันดีว่า ผักผลไม้ที่ส่งเข้ามาให้ชาวกรุงเทพฯ บริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์นั้น ถ้าไม่มาจาก “สวนในบางกอก” ก็ต้องมาจาก “สวนนอกบางช้าง” (อัมพวา สมุทรสงคราม) นั่นเอง

ทุกวันนี้ สวนนอกยังเป็นสวนผลไม้อยู่เบอะ แต่ “สวนใน” หรือย่านฝั่งธนบุรี กลายเป็นตึกราม และคอนโดมิเนียมหรูหราไปเกือบหมดแล้ว

เอกสารอ้างอิง - วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-เว็บไซต์ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                                  

วันที่สร้าง : 05 กุมภาพันธ์ 2561

5

แบ่งปัน
สร้างโดย