คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   ‘บวชนาค’ หลักฐานเก่าแก่ที่สุด อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

‘บวชนาค’ หลักฐานเก่าแก่ที่สุด อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

16 กรกฎาคม 2560

ชื่นชอบ 6

11,298 ผู้เข้าชม

13

แบ่งปัน
ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาอย่างนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเอ่ยถึงการ ‘บวชนาค’ นะครับ

‘นาค’ เป็นคำใช้เรียก ‘คน’ ผู้ชายที่จะขออุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุ คนไทยนิยมบวชกันในช่วงเข้าพรรษา ก่อนบวชพระต้องนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล เรียกว่า นาค ถือเป็นประเพณีโบราณนานมาแล้ว ไม่เรียกพิธีอุปสมบทว่าบวช ‘คน’ ให้เป็น ‘พระ’ แต่เรียกบวช ‘นาค’ ให้เป็น ‘พระ’ เพราะเล่าต่อๆ กันมาโดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มเล่าว่า มีนาคแอบมาบวชเป็นพระ แล้วพระพุทธเจ้าจับได้จึงให้สึก และด้วยน้ำพระทัยอันเมตตาของพระพุทธองค์ จึงได้มีพระพุทธบัญญัติให้เรียกคนที่เตรียมจะบวชเป็นพระว่า นาค เพื่อรำลึกถึงนาคตนนั้น

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ถึงแม้ว่าเรื่อง ‘นาค’ ปลอมเป็น ‘มนุษย์’ มาบวชเป็นมนุษย์แล้วถูกจับได้นั้นมีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจบลงที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้ ‘สึก’ เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีการให้ ‘บวชนาค’ เพื่อเป็นการระลึกถึงอย่างที่เราเข้าใจ พิธีบวชนาคจึงเป็นเรื่องพื้นเมืองของเรานี่เอง ไม่มีในอินเดียเสียหน่อย

ในพระวินัยของพระพุทธเจ้าจึงไม่มีเรื่อง 'บวชนาค' เพราะมีแต่ 'สึกนาค' ต่างหาก พิธีบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีปคือ ไม่มีร่องรอยในอินเดียสมัยโบราณ แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นพม่า เขมร ลาว และไทยปัจจุบัน

ที่ลังกาก็มีการบวชนาค แต่ชาวลังกาเองก็ไม่สามารถอธิบายได้นะครับ ว่าคืออะไร? และมาจากไหน? พิธีบวชนาคในลังกาจึงเพิ่งรับไปใหม่จากกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวพระอุบาลี จากวัดธรรมาราม อยุธยา รับนิมนต์ไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาอย่าง 'สยามวงศ์' ที่ลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. 2295 นี่เอง

เป็นคนในอุษาคเนย์แท้ๆ นี่แหละ ที่อธิบายไม่ได้ว่าพิธีบวชนาคคืออะไร? มาจากไหน? แล้วพากันโอนกลับไปที่อินเดีย ทั้งๆ ที่อินเดียไม่เคยมีบวชนาคเลย

คำว่า ‘นาค’ อยู่ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่า ‘นอค’ (Nog) แปลว่า ‘เปลือย' หรือ ‘แก้ผ้า’ ภาษาอังกฤษรับมาใช้กลายเป็นคำว่า Naked ที่แปลว่าเปลือยเหมือนกัน ดังนั้น นาค จึงไม่ใช่ทั้งคำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า ‘งู’ เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วมโนเพิ่มเติมกันต่อไปว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือ พญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า บาดาล

เมื่อ ‘นาค’ มาจาก ‘นอค’ หมายถึงเปลือย หรือแก้ผ้า ปราชญ์หรือนักวิชาการหลายท่านจึงอ้างว่า คำว่า นาค เป็นคำของพวกมีวัฒนธรรมสูงกว่าที่รู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว ใช้เรียกผู้มีวัฒนธรรมต่ำกว่าคือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็น ‘คนเปลือย’ หรือคนแก้ผ้า  อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม 

ยิ่งเมื่อนิทานการกำเนิดฟูนัน รัฐเริ่มแรกของอุษาคเนย์เล่าว่า ตระกูลพราหมณ์โกณฑัญญะ จากชมพูทวีปเดินทางข้ามสมุทร แล้วปราบปรามชนเผ่าพื้นเมืองที่มีหัวหน้าเป็นผู้หญิงเอกสารจีนเรียก ‘หลิวเย่’ แปลว่านางใบมะพร้าว เข้าใจว่าคือ ไม่นุ่งผ้า แต่เอาใบมะพร้าวมาห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น

‘นางหลิวเย่’ ก็คือ ‘นางนาค’ หมายถึง ‘นางเปลือย’ นางแก้ผ้า ตามทัศนะของคนนอก คือพวกพราหมณ์จากชมพูทวีป

(ผมคิดว่าคำ ‘เปลือย’ นี้น่าสนใจมากนะครับ วัฒนธรรมอุษาคเนย์รู้จักการใช้ผ้าผ่อนมาแต่สมัยก่อนรู้จักกับอินเดียแน่ ข้อมูลการวิจัยทางโบราณคดีในช่วงหลังๆ มานี้ก็เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องราวเกี่ยวกับผ้าของคนในยุคก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ซึ่งก็พบว่ามีการใช้ผ้าหลายชนิด มีทั้งที่ผลิตเอง และนำเข้าอีกต่างหาก ดังนั้นคำว่า เปลือย ในที่นี้จึงน่าจะหมายถึงการเปลือย หรือเหยียดในเชิงวัฒนธรรมว่าอีกฝ่ายต่ำต้อยกว่า มากกว่าที่จะหมายถึงคนที่ไม่มีผ้าจะนุ่งจริงๆ)

ร่องรอยความขัดแย้งระหว่างพุทธ (รวมถึงพราหมณ์) กับผี มีอยู่ในตำนาน และนิทาน หนังสือสำคัญที่บันทึกเรื่องนี้ไว้คืออุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ที่เล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงดินแดนอีสาน ก็พบกับบรรดานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ควบคุมพื้นที่อยู่ บรรดานาคไม่ยอมอ่อนน้อมนมัสการ แถมยังกระทำอาการอวดอภินิหารข่มขู่ ทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงแสดงอภินิหารปราบบรรดานาค จนที่สุดนาคทั้งหลายก็ยอมเข้าหาพระศาสดา มีศรัทธาต่อพุทธศาสนาแล้วทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้สักการะบูชา นิทานอย่างนี้มีทั่วไปทั้งหมดภูมิภาคตั้งแต่พม่า มอญ ไทย ลาว เขมร จนถึงเวียดนาม 

เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างพุทธกับผีสมัยแรกๆ คงไม่ง่ายอย่างในนิทานปราบนาค เพราะยังมีนิทานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีบวชนาค ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ปราชญ์ผู้ล่วงลับเคยให้คำอธิบายไว้ว่า

นาค นั้นคือ พญางูใหญ่ หรือพญานาค, และว่าพญานาคเคยปลอมตัวเข้ามาบวชด้วย, แต่ภายหลังถูกจับได้จึงถูกขับไล่ให้ลาสิกขา, พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปภายหน้าแม้นาคจะบวชไม่ได้ก็ขอให้ผู้ที่มีกำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า นาค, ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเรียกว่า ทำขวัญนาค, ขานนาค, ให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้นบวชนาค มาในทุกวันนี้, จากการนี้จึงได้มีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่จะมาบวชนั้น มิใช่พญานาคหากเป็นคนแน่นอน,ในการบวชจึงมีระเบียบว่าพระคู่สวดสององค์จะต้องพาผู้บวชออกไปสอบสวนนอกประตูพระอุโบสถ ในคำสอบสวนนั้นมีคำถามหนึ่งถามว่า”มนุสฺโส สิ?” แปลว่า เจ้าเป็นคนหรือเปล่า?

เรื่องปรัมปราที่ว่าพญานาคปลอมมาบวชนั้นตัดทิ้งไปได้. ทำไม,พระคู่สวดแต่โบราณนั้นดูไม่ออกเจียวหรือ ว่าคนที่มาขอบวชและยืนอยู่ตรงหน้าตนนั้นเป็นคนหรือเปล่า? และยังไม่ยอมเชื่ออีกหรือว่าผู้มาขอบวชนั้นพูดจาภาษาบาลีกันได้รู้เรื่องขนาดนี้แล้วยังอาจจะไม่ใช่คน?

ปัญหามิใช่อยู่ที่ว่าพระคู่สวดไม่รู้ หรือดูไม่ออกว่าสิ่งที่ยืนอยู่เบื้องหน้าตนนั้นเป็นตัวแมงกะแท้หรือเป็นคน,หากความเป็นจริงอยู่ที่ว่า สังคมยุคนั้นมีการเหยียดหยามคนบางเผ่าที่ระดับสังคมล้าหลังให้เป็นผี เป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์, ไม่ยอมรับว่าเป็นคนหรือเป็นมนุษย์...

การ ‘บวชนาค’ จึงเป็นร่องรอยของการ ‘เกี่ยเซี้ย’ กันระหว่าง ศาสนาใหญ่จากชมพูทวีป และศาสนาผีพื้นเมืองของอุษาคเนย์เอง นาคที่บวชกันในช่วงเดือนแปดก่อนเข้าพรรษา จึงไม่ใช่แค่ ‘นาค’ ที่หมายถึง ‘งูใหญ่’ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘มนุษย์’ ที่ได้รับการยอมรับว่ามีอารยธรรมอีกด้วย

สิ่งที่น่่าสนใจก็คือ สังคมต่างๆ ในโลกจะถูกนับว่าเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ได้ก็ต่อเมื่อมี ‘ตัวอักษร’ ใช้ ซึ่งในกรณีของอุษาคเนย์ถูกอักษรต่างๆ นั้นถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย พร้อมๆ กันกับศาสนา ซึ่งก็หมายความด้วยว่า ศาสนาพุทธ และพราหมณ์จากชมพูทวีป คือสัญลักษณ์การเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของเรานั่นเอง

ดังนั้นคำถามสำคัญที่ว่า การบวชนาคของภูมิภาคเรานี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่? ก็จึงอาจจะตอบได้ว่า เริ่มมีมาตั้งแต่การเข้ามาของศาสนาพุทธ จนเกิดความขัดแย้งกับศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิม จนมีร่องรอยความขัดแย้งอยู่ในตำนานเรื่องต่างๆ  

และถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ปูนปั้นรูปพระสงฆ์ 3 รูปบิณฑบาตร งานช่างแบบทวารวดี จากเมืองอู่ทอง อายุราว พ.ศ.​ 1300 (ตำราว่า พ.ศ. 800 ซึ่งผมว่าเก่าไม่ถึงขนาดนั้น ถ้าไม่พิจารณาอย่างผิวเผินด้วยรูปแบบศิลปะเพียงอย่างเดียว) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ก็จะกลายเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการบวชนาคไปด้วย

ก็เมื่อพระสงฆ์ทั้ง 3 รูปนั้นบวชอยู่ที่อู่ทอง ก็มีแนวโน้มที่น่าจะเป็นคนพื้นเมืองไม่ใช่หรือครับ?​ และเมื่อเป็นชนพื้นเมืองอุษาคเนย์แล้ว ก็จะบวชพระได้ก็ต้องเป็นนาคมาก่อนไม่ใช่หรือ?  

คำอธิบายภาพประกอบ: รูปพระสงฆ์สามองค์บนแผ่นดินเผา งานช่างทวารวดี ยุค พ.ศ. 1300 พบที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

วันที่สร้าง : 15 กันยายน 2560

13

แบ่งปัน
สร้างโดย