คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   อำนาจของอาณานิคมในพิพิธภัณฑ์ กับการกระทำในนามเพื่อเป็นมรดกโลก

อำนาจของอาณานิคมในพิพิธภัณฑ์ กับการกระทำในนามเพื่อเป็นมรดกโลก

27 มีนาคม 2560

ชื่นชอบ 4

5,543 ผู้เข้าชม

5

แบ่งปัน
มรดกตกทอดอย่างหนึ่งของลัทธิล่าอาณานิคมคือ คอลเลคชั่น (collection) ที่เป็นสิ่งของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จนอาจกล่าวได้ว่ายิ่งของในพิพิธภัณฑ์มีความหลากหลายมากเท่าไหร่มันก็แสดงถึงอำนาจของอาณานิคม (Colonial power) มากเท่านั้น ดังนั้น ถ้าอยากจะเห็นอำนาจของเจ้าอาณานิคมก็ดูได้จากสิ่งของจัดแสดงในนั้น ถ้าหากใครเคยไปเดินในพิพิธภัณฑ์เช่น บริติชมิวเซียม (British Museum) พิพิธภัณฑ์ลูฝร์ (The Louvre) ก็จะเห็นภาพดังกล่าวชัดเจนขึ้น 

ในบทความเรื่อง 9 Priceless Artifacts Museums Should Return to Their Home Countries ได้นำเสนอปัญหาถึงกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันเคยได้มาในสมัยที่ปกครองประเทศต่างๆ บทความเริ่มต้นด้วยเรื่องของนักศึกษาชาวอิรักคนหนึ่งคือ นายไซดอน อัลกินานี (Zeidoun Alkinani) ซึ่งชูป้ายที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษด้วยคำว่า “This belongs to Iraq” (นี่เป็นของอิรัก) โดยเขาถ่ายรูปหน้าประตูอิสห์ตาร์ (Ishtar) ที่ถูกขนย้ายมาจากประเทศอิรักเพื่อนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เปอร์กามอนที่กรุงเบอร์ลิน (Pergamon Museum of Berlin) ประเทศเยอรมัน เขาได้โพสต์ภาพนี้ลงในโลกโซเชียล ซึ่งทำให้เกิดกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุไม่เพียงเฉพาะของที่อยู่ที่เบอร์ลินเท่านั้นแต่ยังรวมถึงที่บริติชมิวเซียม และลูฝร์อีกด้วย 
ประตูอิสห์ตาร์มีขนาดมหึมามาก มีความสูง 14 เมตร กว้าง 30 เมตร ประตูนี้นับเป็นหนึ่งในแปดประตูของบาบิโลนที่สร้างขึ้นเมื่อ 575 ปีก่อน ค.ศ. โดยกษัตริย์นิบูชาดเนซซาร์ที่ 2 ส่วนที่มาที่ว่าทำไมประตูแห่งนี้จึงมาตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เปอร์กามอนได้นั้นเริ่มมาจากการขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวเยอรมัน ชื่อ โรเบิร์ต โคลด์เวย์ (Robert Koldewey) ระหว่าง ค.ศ.1902-1914 อันเป็นช่วงหลังจากที่เยอรมันได้จับมือกับจักรวรรดิออตโตมันเข้าไปปกครองอิรักในฐานะของอาณานิคม ภายหลังจากขุดค้นเสร็จ ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดปัญหากับอังกฤษ จึงได้มีแนวคิดที่จะขนย้ายชิ้นส่วนของประตูดังกล่าวมายังเยอรมัน แล้วนำมาประกอบร่างจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กว่าที่จะประกอบร่างกันเสร็จก็ล่วงเลยมาถึงราวทศวรรษ 1930 แล้ว ซึ่งโรเบิร์ตตายก่อนที่เขาจะได้เห็นประตูนี้เสร็จสมบูรณ์ เพราะเขาตายในปี 1925 
ไม่ว่ายังไงก็ตาม มรดกจากอาณานิคมอย่างหนึ่งก็คือทำให้เรื่องราวของบาบิโลนกลายเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอิรัก ด้วยเหตุนี้เอง ประตูอิสห์ตาร์แห่งบาบิโลนมันจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติของอิรัก แต่ในขณะเดียวกันการที่มันยังคงตั้งอยู่ที่เบอร์ลินก็เท่ากับมันสะท้อนความพ่ายแพ้ปราชัยต่อเจ้าอาณานิคมของอิรัก ด้วยความสำคัญและความรู้สึกดังกล่าวทำให้ในปี ค.ศ.2002 รัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน จึงได้แจ้งไปกับรัฐบาลเยอรมันว่าจะขอคืนประตูอิสห์ตาร์กลับมายังอิรัก สาเหตุหนึ่งด้วยที่ซัดดัมอยากจะทวงคืนประตูนี้ก็เพราะว่าในเวลานั้นรัฐบาลของซัดดัมได้สั่งให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ซึ่งมีการสร้างประตูอัสห์ตาร์นี้จำลองขึ้นมาเพื่อเป็นทางเข้าของพิพิธภัณฑ์ ทำให้เขาอยากได้ของจริงมาจัดแสดง ความพยายามของเขาล้มเหลว และได้รับการปฏิเสธจากเยอรมันกลับมา เพราะถือว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยอาณานิคม ที่น่าสงสารด้วยคือ สุดท้ายประตูที่ว่านี้ก็สร้างไม่เสร็จ เพราะในปี ค.ศ.2003 ได้เกิดสงครามภายในอิรักขึ้น รัฐบาลซัดดัมถูกล้มล้าง ซึ่งก็ยังคงเป็นปัญหาสงครามยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน


ไซดอน อัลกินานี กำลังชูป้ายที่หน้าประตูอิสห์ตาร์ ซึ่งเดิมอยู่ที่อิรักแต่ปัจจุบันถูกนำมาจัดแสดงที่เยอรมัน
(ที่มา: https://mic.com/articles/76321/9-priceless-artifacts-museums-should-return-to-their-home-countries#.CmIK0ReyS)


ประตูอิสห์ตาร์พิพิธภัณฑ์เปอร์กามอน เยอรมัน
(ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Ishtar_Gate)

อย่างที่เล่าในตอนต้น จักรวรรดิอังกฤษแผ่อิทธิพลไปทั่วโลกในสมัยอาณานิคม ยิ่งโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์มีแหล่งที่มาจากหลายชาติมากเท่าไหร่ มันก็สะท้อนถึงอำนาจและบารมีของจักรวรรดิมากเท่านั้น เพราะค่านิยมอย่างหนึ่งในสมัยนั้นก็คือ การสะสมของเก่า เพื่อแสดงว่าตนสามารถครอบครองอารยธรรมต่างๆ ได้ทั่วโลก เพื่อจะประกาศตนเองว่า ฉันคือผู้มีอารยธรรมเหนือกว่า บริติวมิวเซียมคือหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่สะท้อนอำนาจของจักรวรรดิอังกฤษ ในแวดวงผู้สนใจโบราณคดีและจารึกคงรู้จัก “โรเซตต้าสโตน” (Rosetta stone) เป็นอย่างดี ทุกวันนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดขายของบริติชมิวเซียม จารึกนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาจารึกอียิปต์ เพราะบนหน้าเดียวกันของจารึกมีทั้งอักษรกรีก ดีโมติก และอียิปต์กำกับอยู่ด้วยกัน เป็นเนื้อความเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็น “Trilingual” ทำให้นักอ่านจารึกสามารถถอดรหัสอักษรอียิปต์ได้อย่างถูกต้อง ประวัติสั้นๆ ของจารึกนี้คือมันถูกค้นพบโดยเจ้าหน้าของฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1799 ต่อมาเมื่ออังกฤษได้ทำสงครามชนะฝรั่งเศส จึงได้นำจารึกหลักนี้มาจัดแสดงยังบริติชมิวเซียมในปี 1802 
ในปี 2010 เมื่อทางพิพิธภัณฑ์เมืองนิวยอร์ก (Metropolitan Museum) ได้ส่งคืนโบราณวัตถุสมัยอียิปต์ถึง 19 ชิ้นให้กับรัฐบาลอียิปต์ ผลก็คือทำให้รัฐบาลอียิปต์เรียกร้องให้ทางบริติชมิวเซียมคืนจารึกโรเซตต้าด้วย เพราะชาวอียิปต์ถือว่าจารึกชิ้นนี้มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ถือเป็นมรดกของชาติ ซึ่งถูกขโมย (looting) ไปในช่วงสมัยอาณานิคม นายซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) ถึงกับพูดว่า “ของอะไรก็ตามที่ออกไปอย่างผิดกฎหมาย มันก็สมควรจะส่งคืนกลับอียิปต์” ทั้งสองประเทศต่างมีความพยายามในการเจรจาเรื่องนี้มาตลอด อย่างไรก็ดี ผ่านมาร่วม 7-8 ปีแล้ว ก็ไม่มีท่าทีใดๆ ที่ชัดเจนของบริติชมิวเซียมและรัฐบาลอังกฤษว่าจะส่งคืนหรือไม่


โรเซตต้าสโตน จารึกสามภาษา จัดแสดงในบริติชมิวเซียม


คนจำนวนมากกำลังถ่ายรูปโรเซตต้าสโตน


ภาพสลักหินจากวิหารพาร์เธนอนที่จัดแสดงที่บริติชมิวเซียม


ห้องจัดแสดงที่จำลองขึ้นเกือบเท่าขนาดจริงของวิหารพาร์เธนอน เพื่อใช้จัดแสดงภาพสลักหินทั้งหมด


ทุกวันจะมีคนจำนวนมากมาชมภาพสลักหินจากวิหารพาร์เธนอนที่บริติชมิวเซียม

เช่นเดียวกันกับภาพสลักหินอ่อนของวิหารพาร์เธนอน หนึ่งในคอลเลคชั่นสำคัญของบริติชมิวเซียม ภาพสลักนี้เป็นศิลปะกรีกสร้างขึ้นเมื่อราว 447–438 ปี ก่อนคริสตกาล ที่มาของการครอบครองภาพสลักหินนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ.1801 เมื่อนายโธมัส บรูซ แห่งตระกูลอิลกิน (Elgin) ราชทูตของอังกฤษผู้ซึ่งไปประจำยังจักรวรรดิออตโตมันได้รับอนุญาตจากสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน (ตุรกี) ซึ่งในขณะนั้นปกครองประเทศกรีซอยู่ว่าให้สามารถนำภาพสลักของวิหารพาร์เธนอนไปอังกฤษได้ ทั้งนี้เพราะสุลต่านต้องการที่จะเอาใจนายโรเบิร์ตในฐานะของราชทูต 
เมื่อสุลต่านเปิดไฟเขียวให้เช่นนี้ นับจากปี ค.ศ.1801-1812 ตัวแทนของโธมัสจึงได้เริ่มทำการขนย้ายประติมากรรมและชิ้นส่วนต่างๆ ของวิหารพาร์เธนอนลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอังกฤษ จำนวนของภาพสลักนั้นมีการประเมินกันเล่นๆ ว่ามีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่ปรากฏอยู่บนวิหารในปัจจุบัน ถ้าผู้อ่านบางท่านที่เคยมาเที่ยวที่บริติชมิวเซียมจะพบว่าเป็นภาพสลักที่มาจากทุกด้านของตัววิหาร 
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้การขนย้ายภาพสลักจำนวนมหาศาลของนายโรเบิร์ตมายังอังกฤษนี้ก็สร้างความข้อถกเถียงต่างๆ อย่างมากต่อรัฐบาลอังกฤษและสังคม เพราะของพวกนี้เขาได้มาในนามส่วนตัวแต่เป็นช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นราชทูต เรื่องนี้จึงต้องดำเนินคดีตัดสินกันในรัฐสภา ซึ่งในท้ายที่สุด รัฐสภาของอังกฤษได้ตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบธรรม แต่ให้นายโรเบิร์ต พ้นความผิดไป โดยที่ต้องให้รัฐบาลขอซื้อภาพสลักทั้งหมด คดีนี้จบลงในปี ค.ศ.1816 และไม่นานนักภาพสลักทั้งหมดก็ได้ถ่ายโอนเคลื่อนย้ายมาจัดแสดงยังบริติชมิวเซียมในนามของโบราณวัตถุของชาติ 
เรื่องยังไม่จบแค่นั้น หลังจากกรีซได้รับอิสรภาพจากตุรกี จึงได้เริ่มแผนการบูรณะวิหารพาร์เธนอน เนื่องจากว่า กรีซถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติและแสดงความยิ่งใหญ่ของวัฒนธรรมกรีก คือประเทศกรีซที่เคยรุ่งเรืองนั่นเอง ในช่วงนั้นเองรัฐบาลกรีซได้ร่างเหตุผลหลายข้อเสนอไปยังรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอทวงคืน โดยให้เหตุผลหลายข้อแต่ที่ผู้เขียนรู้สึกว่าน่าสนใจก็คือการให้เหตุผลว่า ภาพสลักเหล่านั้นเป็น “ชิ้นส่วนที่มีชีวิต” (organic elements) หมายความว่ามันได้ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาติ หรือพูดอีกแบบคือ วัตถุนั้นไม่ใช่แค่วัตถุที่ไร้ชีวิตแต่มันคือสิ่งมีชีวิตแบบหนึ่ง โดยชาติทำให้มันมีชีวิต นอกจากนี้ทางกรีซยังให้เหตุผลอีกด้วยว่า ถ้าขาดชิ้นส่วนที่มีชีวิตนี้ไปมันจะทำให้ผู้มาชมไม่เกิดความประทับใจ และไม่สามารถเข้าใจอดีตของวิหารแห่งนี้ได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 
ในเวลานั้น กระแสการทวงคืนถือว่าใหญ่มาก แต่บ้านเราอาจจะไม่ค่อยทราบนัก องค์กรนานาชาติอย่างยูเนสโกได้พยายามเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลาง และหลายประเทศทั่วโลกยังได้ตั้งองค์กรสากลเพื่อการทวงคืนชิ้นส่วนของวิหารพาร์เธนอนขึ้นอีกด้วย และเริ่มทำการรณรงค์เพื่อทวงคืนในปี ค.ศ.2005 มีดาราดังหลายคนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้เช่น จอร์จ คลูนี่ย์ และแมต เดมอน กระทั่งภายในอังกฤษเอง รายการทีวีอย่างบีบีซียังมีการสนับสนุนการส่งมอบคืนโบราณวัตถุเช่นกัน  
ไม่ว่ากระแสจะกดดันสักเท่าไหร่ บริติชมิวเซียมก็ยืนยันที่จะไม่คืนโบราณวัตถุภาพสลักจากพาร์เธนอน โดยให้เหตุผล 2 ข้อหลักคือ เหตุผลข้อแรกคือ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้วจนหมดอายุความของกฎหมาย และอีกอย่างในสมัยที่อิลกินขนย้ายโบราณวัตถุไปนั้นก็ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของกรีซ และออตโตมัน ดังนั้น มันจึงเป็นของที่ได้รับมาจากถูกต้องตามกฏหมายในสมัยนั้น 
จะว่าไปเหตุผลข้อแรกนี้พอที่จะรับฟังได้ แต่เหตุผลข้อสองนี้อาจฟังดูแปลกสักหน่อย หนังสือพิมพ์การ์เดียน (Guardian) รายงานว่าบริติชมิวเซียมให้เหตุผลอีกข้อหนึ่งว่า ถ้าหากมีการคืนชิ้นส่วนของวิหารพาร์เธนอนไปจะทำให้พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งทั้งในอเมริกาและยุโรปเกิดปัญหา กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ว่างเปล่า เพราะต่างก็เก็บโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยมจากทั่วทุกมุมโลกเอาไว้กระทั่งของในท้องถิ่นของประเทศตนเองไว้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นที่พิพิธภัณฑ์ที่เบอร์ลินได้เก็บรูปเหมือนของพระนางเนเฟอร์ติติ้ของอียิปต์ ซึ่งนับเป็นจุดขายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ดังนั้น กรีซควรจะแก้ปัญหาด้วยการนำวัตถุชิ้นอื่นมาจัดแสดงแทน ซึ่งก็จะสามารถดึงดูดคนได้เช่นกัน  
นายโรดี กรัตซา สมาชิกรัฐสภากรีซได้ตอบโต้ว่า ประเทศของเขามีสิทธิอันชอบธรรม (moral claim) ในการทวงคืน และได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า “ภาพสลักเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์อันเป็นรากฐานของวัฒนธรรมกรีกและของยุโรป ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญระดับสากล การที่ชิ้นส่วนของประติมากรรมอยู่ไม่ครบก็เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของวัฒนธรรมร่วมของชาวยุโรป” 
ขออธิบายสักเล็กน้อยก็คือว่านับตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) วัฒนธรรมกรีกได้รับการยกย่องให้เป็นรากอารยธรรมของยุโรป ดังนั้น ทำให้การที่ภาพสลักนี้แทนที่จะอยู่ที่วิหารพาร์เธนอน แต่กลับมาอยู่ที่อังกฤษ มันจึงเท่ากับทำให้รากของชาวยุโรปขาดความสมบูรณ์นั่นเอง
จากปัญหานี้ทำให้ยูเนสโกได้พยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนั้นคือนายเดวิด คาเมรอน คัดค้านอย่างชัดเจนว่าจะไม่มีการคืนภาพสลักหินอ่อนนี้ พร้อมทั้งพูดว่าภาพสลักชุดนี้เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างยิ่งของบริติชมิวเซียม ซึ่งหมายถึงของอังกฤษนั่นเอง 
แต่การเหมารวมว่าโบราณวัตถุเหล่านั้นจะถูกขโมยหรือใช้อำนาจบังคับมาทั้งหมดก็คงไม่ใช่ เพราะโบราณวัตถุหลายชิ้นยังได้มาด้วยวิธีการซื้อขายกันในสมัยอาณานิคม ระหว่างเจ้าอาณานิคมตะวันตกกับผู้ปกครองพื้นเมือง 
ดร.การ์เบลล์ แอบบ์ (Gabrielle Abbe) นักวิจัยของลูฝร์ ได้ทำการสืบค้นประวัติของโบราณวัตถุเขมรที่เก็บอยู่ในสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ (École française d’Extrême-Orient) ว่าชิ้นไหนบ้างที่ได้มาจากการซื้อขายกันในสมัยอาณานิคม ชิ้นไหนบ้างที่ได้มาอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะในช่วงที่ผ่านมา ทางกัมพูชากำลังดำเนินการจัดลิสต์รายชื่อของวัตถุของประเทศที่ถูก “ขโมย” (stolen) ไปนับแต่สมัยอาณานิคม เพื่อทำการติดตามทวงคืน ทำให้พบว่าในสมัยอาณานิคม มีโบราณวัตถุของเขมรหลายชิ้นที่ถูกซื้อขายกันอย่างถูกกฎหมายภายใต้การรับรู้ของราชสำนักกัมพูชา ถ้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ก็อาจจำเป็นที่จะต้องยอมรับอดีตที่ว่านี้

ความจริงนอกจากโรเซตต้าสโตน และภาพสลักหินจากพาร์เธนอนแล้ว ยังมีของอีกเป็นจำนวนมากที่ยังเป็นที่ถกเถียงอย่างเช่น เพชรยอดมงกุฎของอังกฤษที่มีชื่อว่า “Koh-i-Noor Diamond” จากอินเดียที่ประดับอยู่บนมงกุฎของควีนอังกฤษ หรือของที่อังกฤษได้มาจากการปล้นพระราชวังต้องห้าม ครั้งหนึ่งผมเคยไปบริติชมิวเซียมกับเพื่อนคนจีน ในระหว่างที่อาจารย์กำลังบรรยายความสำคัญของเครื่องถ้วยจีนในบริติชมิวเซียม เพื่อนคนนี้กระซิบกับผมว่า ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมคนอังกฤษจึงบรรยายเรื่องราวของเครื่องถ้วยกว่าหมื่นชิ้นที่ปล้นมาจากพระราชวังต้องห้ามได้อย่างภาคภูมิใจ ถ้าเป็นเขาคงจะรู้สึกอาย
การที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษต้องออกมาปฏิเสธทุกกรณี เพราะถ้าหากอังกฤษคืนของเหล่านี้ไป อาจกล่าวได้ว่าทั้งบริติชมิวเซียมและพิพิธภัณฑ์อีกหลายๆ ที่แทบจะกลายเป็นห้องโล่งๆ ว่างเปล่าเลยก็ว่าได้ ดังนั้น การผลักภาระว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และจบลงไปแล้วในอดีตมันจึงเป็นอะไรที่ง่ายกว่ามาก 
และเหตุผลที่มักให้เสมอกับนานาชาติก็คือ สมบัติ (treasures) ที่บริติชมิวเซียมครอบครองอยู่นั้น “คือโบราณวัตถุที่เป็นมรดกโลก ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมและเข้าถึงได้ง่ายถ้ามันอยู่ที่ลอนดอน” ดังนั้นในเมื่อต้องใช้ข้ออ้างเรื่องการเข้าถึงโบราณวัตถุได้ง่ายนี้เองที่เป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้มิวเซียมต่างๆ จำเป็นต้องทำฐานข้อมูลโบราณวัตถุอย่างดี และบางแห่งเปิดให้เข้าชมฟรีเพื่อลดแรงกดดันทางสังคม 
นอกจากนี้แล้ว ในบางประเทศที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคงและเกิดสงคราม เช่นซีเรีย และอิรัก ก็มักถูกใช้เป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งในการไม่ส่งคืนโบราณวัตถุ ซึ่งก็ฟังดูสมเหตุสมผลพอควร แต่จะสังเกตได้ว่าการทวงคืนนี้ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนสงครามเสียด้วยซ้ำไป

สุดท้ายนี้ อยากตั้งข้อสังเกตเล็กๆ ว่าพิพิธภัณฑ์ในไทยก็คือภาพสะท้อนอย่างหนึ่งของลัทธิอาณานิคม ซึ่งถ้าว่ากันตามแนวคิดทางประวัติศาสตร์ สยามคือประเทศที่ประกอบด้วยอาณานิคมภายใน (Internal colonialism) ทำให้โบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยสิ่งของต่างถิ่นจากต่างอาณาจักรเช่นกัน แต่กระบวนการทวงคืนแทบจะไม่เคยเกิดขึ้น เพราะอาณานิคมสยามทำได้เฉพาะในขอบเขตดินแดนข้างเคียงเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะของจักรวรรดิที่มีอำนาจข้ามทวีปดังเช่นอังกฤษหรือฝรั่งเศส 
ดังนั้น การเดินทางเข้าไปเยี่ยมชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่พื้นที่ของการศึกษาประวัติศาสตร์จากสิ่งของ แต่คือคุณค่าของมันก็คือการศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณานิคมผ่านสิ่งของ และประวัติศาสตร์การเดินทางของสิ่งของไปพร้อมกันด้วย จึงจะทำให้วัตถุในพิพิธภัณฑ์มีพลวัตต่อสังคมในปัจจุบัน  

ผู้เขียน : ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

อ้างอิง
Abbe, Gabrielle. 2017. On the selling of Khmer artefacts during the colonial era. 
London: SOAS, Brunei Gallery, 7 February 2017. Available at: https://www.soas.ac.uk/cseas/events/seminars/07feb2017-on-the-selling-of-khmer-artefacts-during-the-colonial-era.html

British Museum. Greece: Parthenon. Available at: http://www.britishmuseum.org/explore/galleries/ancient_greece_and_rome/room_18_greece_parthenon_scu.aspx

Martin Banks, Brussels. 2013. Join in 'mediation' with Greece over Elgin Marbles, Unesco urges Britain. 
Telegraph. Available at: http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/greece/10381163/Join-in-mediation-with-Greece-over-Elgin-Marbles-Unesco-urges-Britain.html

Mascarebhas, Hyacinth. 2013. 9 Priceless Artifacts Museums Should Return to Their Home Countries. 
Available at: https://mic.com/articles/76321/9-priceless-artifacts-museums-should-return-to-their-home-countries#.CmIK0ReyS

Ulaby, Neda. 2010. Egypt Called; It Wants Its Rosetta Stone Back. Available at: http://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=131309154
Wikipedia. 2017. Elgin Marbles. Available at: https://en.wikipedia.org/wiki/Elgin_Marbles

วันที่สร้าง : 24 เมษายน 2560

5

แบ่งปัน
สร้างโดย