คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

เสื้อสตรีกะเหรี่ยง

ภูมิปัญญาศิลปะของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

วิธีการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยง

กระบวนการทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงนั้น สำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอก เริ่มตั้งแต่การปลูกฝ้าย การย้อมเส้นด้ายด้วยสีธรรมชาติ ส่วนการทอนั้นใช้ "กี่เอว" ที่เรียกว่า "ทอแบบห้างหลัง" (Back-strap body tension loom) พัฒนามาจากการทอผ้าหน้าแคบที่ไม่ใช้กี่แบบสากล หากแต่ตัวผู้ทอเป็นจุดขึงเส้นด้าย แบบที่ชาวไทเหนือหรือไทใหญ่ในยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์บางเผ่าเช่น ลัวะ และ ลาหู่ ในประเทศไทยที่ยังคงทอกันอยู่

 

โดยผู้ทอต้องนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้าทั้งสองข้าง เท้าแนบชิดกัน บางแห่งมีขอนไม้ยันเพื่อไม่ให้ตัวเลื่อนไหลไปข้างหน้ามากเกินไป ด้ายเส้นยืนมีสายหนังคาดรัดโอบไปด้านหลังของเอว บางแห่งจึงเรียกว่า "การทอมัดเอว" หรือ "กี่เอว" การทอผ้าวิธีนี้ไม่ใช้กระสวยช่วยสอดด้ายพุ่ง หากแต่ใช้นิ้วหรือไม้ไผ่ซีกเล็กๆ สอดด้ายเส้นพุ่ง แล้วใช้แผ่นไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า "หน่อทาแพะ" กระแทกด้ายเส้นพุ่งให้แน่นแทนการใช้ฟืม ส่วนปลายของเส้นยืน จะผูกมัดกับเสาเรือนหรือโคนต้นไม้ ทำให้เลือกสถานที่ทอได้ตามความพอใจ เช่น บนเรือน ใต้ถุนบ้าน ผู้ทอจะต้องก้มและยืดตัวขึ้นสลับกับการสอดด้ายเส้นพุ่งเข้าไประหว่างเส้นยืนด้วยไม้ สลับกับการกระทบด้ายเส้นพุ่งให้เรียงกันแน่นด้วยแผ่นไม้บางๆ การทอประเภทนี้ยังไม่ใช้ฟืม ผ้าจึงไม่เรียบแน่น ข้อสำคัญทำให้ผ้าที่ทอออกมามีหน้าแคบ เวลาตัดเย็บต้องนำมาเรียงต่อกันหลายผืน

 

การทอผ้าวิธีนี้ อาจเป็นต้นกำเนิดของการทอผ้าแบบดั้งเดิมของมนุษย์ที่ยังไม่ได้ใช้ กี่ หรือ หูก และฟืม เข้ามาช่วยเหมือนการทอผ้าในปัจจุบัน ที่พัฒนามาเป็นการทอผ้าแบบนั่งห้อยขา มีฟืมสำหรับกระทบ สามารถทอผ้าได้หน้ากว้างมากขึ้น

ผ้ากะเหรี่ยง มีความเกี่ยวเนื่องกับประเพณีของกลุ่มชน เช่น หญิงสาวจะต้องทอผ้าสำหรับใช้ในพิธีแต่งงานของตนเอง ขณะที่ผู้ชายจะต้องทำเครื่องจักสาน เครื่องเงิน เพื่อมอบให้เจ้าสาวของตนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกำไลเงินที่เจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาวในพิธีแต่งงานนั้น เจ้าสาวต้องสวมติดข้อมือไว้ตลอดชีวิต

 

การแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม โดยมีผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม ที่ใช้สีสันและรูปแบบเป็นเครื่องบ่งบอกเพศและสถานภาพทางสังคม ดังนั้น ผ้ากะเหรี่ยงจึงมีแบบแผนและรูปแบบเป็นของตนเอง

 

กลุ่มกะเหรี่ยงสะกอว์ และ โปว์ ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ยังคงรักษาลักษณะร่วมที่แสดงสถานะของหญิงสาวและหญิงแม่เรือน เช่นเดียวกัน คือ หญิงทุกวัยที่ยังไม่ได้แต่งงาน ต้องสวมชุดยาวสีขาว หรือ "เช ควา" เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องเปลี่ยนมาเป็นสวมใส่ เสื้อสีดำหรือที่เรียกว่า "เช โม่ ซู" และผ้าถุงคนละท่อนเท่านั้น ห้ามกลับไปสวมใส่ชุดยาวสีขาวอีก ส่วนผู้ชายทั้งกลุ่มโปว์และสะกอว์แถบภาคเหนือ มักสวมกางเกงสีดำและสีน้ำเงิน หรือกรมท่า ในขณะที่แถบจังหวัดตาก และอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มักสวมโสร่ง ลักษณะเสื้อผู้ชายวัยหนุ่มใช้สีแดงทุกกลุ่ม แต่มีลวดลายมากน้อยต่างกัน การแต่งกายในโอกาสพิเศษ เช่น พิธีปีใหม่ พิธีแต่งงาน เน้นสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ จะเห็นชัดว่าชายหนุ่มและหญิงสาวจะพิถีพิถันแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน กลุ่มกะเหรี่ยงที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำเผ่าในวิถีชีวิตปกติ มีเพียงกลุ่มโปว์และสะกอว์เท่านั้น ส่วนกลุ่มคยาและต่องสู้ ไม่นิยมสวมใส่ชุดประจำเผ่าในชีวิตประจำวันแล้ว กะเหรี่ยงแต่ละกลุ่ม นอกจากจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกันแล้ว กะเหรี่ยงกลุ่มเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่ ก็มีลักษณะการแต่งกายไม่เหมือนกันด้วย เช่น กะเหรี่ยงโปว์แถบอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่งกายมีสีสันมากกว่าแถบจังหวัดเชียงใหม่ หญิงกะเหรี่ยงสะกอว์แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอนและอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ดังเช่นวัตถุจัดแสดงชิ้นนี้ ตกแต่งเสื้อมีลวดลายหลากหลาย และละเอียดมากกว่าแถบจังหวัดตากหรือกะเหรี่ยงโปว์แถบจังหวัดกาญจนบุรี ก็มีลวดลายตกแต่งเสื้อผ้าแตกต่างจากภาคเหนือ

 

เสื้อสตรีกะเหรี่ยง หรือที่เรียกว่า "เช โม่ ซู" ตัวนี้ทอด้วยผ้าฝ้ายสีดำเป็นผ้าพื้น และปักลวดลายท่อนล่างด้วยไหมพรมสีแดงกับลูกเดือยสีขาว เป็นการบ่งบอกสถานะของผู้สวมใส่ว่าเป็นหญิงสาวที่ผ่านการสมรสแล้ว ไม่ใช่เด็กสาวพรหมจารีซึ่งต้องสวมชุดสีขาวยาวกรอมเท้า เรียกว่า "เช ควา"

 

การตัดเย็บจะเห็นว่าเกิดจากการใช้ผ้าทอหน้าแคบผืนยาวมากจำนวนสองผืนมาเป็นประกบกัน โดยวางผ้าแต่ละชิ้นพับครึ่งกลางก่อน รอยพับกึ่งกลางนั้นเป็นตำแหน่งของบ่า จากนั้นเย็บตะเข็บข้าง โดยเว้นพื้นที่สำหรับใส่ช่องวงแขนไว้ส่วนหนึ่งด้วยด้ายไหมพรมยาวไปจนสุดชายเสื้อด้านหนึ่ง ทำแบบนี้ทั้งสองผืน แล้วจึงนำมาเย็บติดต่อกันในส่วนกลางลำตัวด้านหน้าและด้านหลัง โดยเว้นช่องคอสำหรับสวมหัวให้กว้างพอ รูปทรงเสื้อผ้าของชาวกะเหรี่ยงจึงไม่มีโค้งไม่มีเว้าใด ๆ ถือว่าเป็นการเข้าเสื้อโดยไม่จำเป็นต้องตัดผ้าทอทิ้งเลยแม้แต่ส่วนเดียว

 

ดังนั้น การทอผ้าแต่ละครั้งจะต้องกำหนดขนาดจำนวนความสูงของเส้นด้ายให้ลงตัวกับรูปร่างของผู้สวม ซึ่งชาวกะเหรี่ยงไม่มีเครื่องมือประเภทสายวัดที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัด ส่วนใหญ่ใช้วิธีกะประมาณเอาด้วยอาศัยความเคยชิน การทอแต่ละครั้ง ผู้ทอจะยึดรูปร่างของตนเป็นมาตรฐาน เมื่อขึ้นเครื่องทอต้องกะประมาณเอาว่าควรเรียงด้ายสูงประมาณเท่าไหร่ ของไม้ที่เสียบบนไม้ขึ้นเครื่องทอ เช่น หากผู้ใส่ตัวเล็กกว่าตนก็น่าจะประมาณ "ครึ่งไม้" หรือ "ค่อนไม้" หากผู้ใส่รูปร่างใหญ่ก็ "เต็มไม้" คือ ผู้ทอต้องเรียนรู้วิธีที่จะลดหรือเพิ่มขนาดของด้ายด้วยการเปรียบเทียบจากรูปร่างของผู้ใส่กับผู้ทอเอง

 

(ขอบคุณภาพและเนื้อหา จาก ดร.เพ็ญสุภา  สุขคตะ)

ขอบคุณภาพและเนื้อหา จาก ดร.เพ็ญสุภา  สุขคตะ

12,140 views

0

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดเชียงใหม่