คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

เว็บบอร์ด

  1. หน้าแรก
  2.    >   มิวเซียมไทยแลนด์
  3.    >   เว็บบอร์ด
  4.    >   รัชกาลที่ 5 ไม่เคยตรัสเรียก ‘มิวเซียม’ ว่า ‘พิพิธภัณฑ์’?

รัชกาลที่ 5 ไม่เคยตรัสเรียก ‘มิวเซียม’ ว่า ‘พิพิธภัณฑ์’?

01 กุมภาพันธ์ 2560

ชื่นชอบ 4

4,069 ผู้เข้าชม

1

แบ่งปัน
เมื่อเรือน พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระชนมายุครบ 21 พรรษา ซ้ำยังเป็นตรงกับวาระครบรอบ 1 ปี แห่งการครองราชย์หลังทรงบรรลุนิติภาวะ (รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2411 ซึ่งยังมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา คือยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงได้มีการทำพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง) ด้วยการโปรดให้นำวัตถุต่างๆ ที่เก็บไว้ใน ‘พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์’ มาจัดแสดงไว้ที่หอคองคอเดีย เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2417

พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เป็นพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือพระราชนิเวศน์ ภายในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ และใช้เก็บเครื่องราชบรรณาการของโลกตะวันตกเป็นการเฉพาะ 

คอลเล็กชั่นที่ถูกสะสมอยู่ในพระอภิเนาว์นิเวศน์นี้ก็คือ เครื่องราชบรรณาการ ที่แสดงให้เห็นถึงทั้งอำนาจ และเครือข่ายความสัมพันธ์กับนานาชาติอารยะในโลก แต่มีเฉพาะพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ที่มีป้ายยี่ห้อบอกไว้ด้วยว่าเป็น ‘museum’

หมายความว่า มีการควงศัพท์คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ เพื่อใช้แปลคำว่า ‘museum’ ในภาษาอังกฤษ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว เป็นอย่างน้อย แต่รัชกาลที่ 5 ทรงเรียกการจัดแสดงครั้งนั้นว่า ‘เอกษบิชั่น’ (exhibition) ซึ่งตรงกับคำไทยในปัจจุบันว่า ‘นิทรรศการ’ และเรียกห้องที่จัดแสดงเอกษบิชั่น ในหอคองคอเดียนั้น ว่า ‘ห้องมิวเซียม’ หรือ ‘หอมิวเซียม’

น่าสนใจว่าพระองค์เลือกที่จะไม่ใช้คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’?

(ส่วนหอคองคอเดียที่ว่า ก็คือ ศาลาสหทัยสมาคม ใกล้ประตูพิมานไชยศรี ในเขตพระบรมมหาราชวัง เมื่อแรกนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสโมสรสำหรับทหารมหาดเล็ก และประชุมการงานต่างๆ เป็นครั้งคราวตามอย่างสโมสรทหารที่ทรงเคยเสด็จเยือน ณ เมืองปัตตาเวีย ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าประเทศชวา จึงทรงนำชื่อ ‘คองคอเดีย’ ของสโมสรทหารที่ปัตตาเวีย มาทรงตั้งเป็นชื่อของอาคารหลังนี้ด้วย)

และกระทั่งต่อมาเมื่อ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2430 หรืออีก 13 ปีต่อจากการจัดเอกษบิชัน ที่หอมิวเซียม หรือหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง จนทำให้ตำแหน่ง ‘กรมพระราชวังบวร’ หรือที่มักจะเรียกกันตามภาษาปากว่า ตำแหน่ง ‘วังหน้า’ ว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้ยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งมีอำนาจเพียงรองลงมาจากพระมหากษัตริย์แห่งวังหลวงลง จากนั้นจึงทรงตั้งตำแหน่ง ‘มกุฏราชกุมาร’ ให้เป็นตำแหน่งสำหรับผู้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ตามอย่างตำแหน่ง ‘Crown Prince’ ของฝรั่ง ขึ้นมาแทนที่

ด้วยเหตุดังกล่าว ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ หรือ ‘วังหน้า’ จึงได้ว่างลง รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระที่นั่งส่วนหน้าในพระราชวังบวรสถานมงคล อันได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน และพระที่นั่งอิสราวินิจฉัย ให้เป็นอะไรอย่างที่ทางการในปัจจุบันเรียกกันว่า ‘พิพิธภัณฑสถาน’ เพื่อใช้สำหรับเก็บรักษา และจัดแสดงวัตถุ ไว้เป็นการถาวรแทนหอคองคอเดีย แต่ยังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปดูเป็นครั้งคราวเท่านั้นตามวาระโอกาสพิเศษอย่าง เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันฉัตรมงคล รวมถึงเปิดให้ชมสำหรับผู้ทำจดหมายขอเข้าชมเท่านั้นนะครับ ไม่ใช่เปิดให้ดูเป็นประจำอย่างทุกวันนี้

ที่สำคัญก็คือ พระปิยมหาราชก็ยังทรงไม่เรียกอะไรแบบนี้ว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ อยู่นั่นเอง เพราะทรงเรียกว่า ‘มิวเซียมวังหน้า’ เหมือนอย่างที่ทรงเคยเรียกหอคองคอเดียว่า ‘หอมิวเซียม’ มาก่อน ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ทรงรู้จัก ‘พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์’ ที่สร้างขึ้นโดยพระราชบิดาของพระองค์เป็นอย่างดี?

ชื่อ ‘มิวเซียมวังหน้า’ เพิ่งมาถูกเปลี่ยนเป็น ‘สถานพิพิธภัณฑ์’ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เท่านั้น โดยที่ต้องเติมคำว่า ‘สถาน’ เข้าไปนั้นเป็นเพราะว่า โดยรูปศัพท์แล้ว คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ แปลตรงตัวว่า ‘ของแปลก’ จึงต้องเติมคำว่า ‘สถาน’ เข้าไปเพื่อเติมความหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ว่าเป็น ‘สถานที่เก็บหรือจัดแสดงของแปลก’ นั่นเอง

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงค่อยมีการปรับรูปศัพท์จาก ‘สถานพิพิธภัณฑ์’ มาเป็น ‘พิพิธภัณฑสถาน’ ตามอย่างที่ใช้กันในทุกวันนี้ เมื่อได้พระราชทานพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมด ให้เป็นพิพิธภัณฑสถาน โดยได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสำหรับพระนคร เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาด้วย

เรียกได้ว่า รัชกาลที่ 5 ไม่เคยทรงเรียก ‘museum’ ว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ ตามอย่างพระราชบิดาของพระองค์เองเลยนะครับ เพราะทรงเรียกทับศัพท์ว่า ‘มิวเซียม’ มาโดยตลอด ส่วนศัพท์คำว่า ‘พิพิธภัณฑสถาน’ อย่างที่ใช้กันในปัจจุบันนั้นก็เป็นพัฒนาการของภาษาในยุคหลังรัชสมัยของพระองค์ทั้งสิ้น

น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกระบุไว้เลยว่าทำไมพระองค์จึงไม่ใช้คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้รัฐไทยก็ถือว่า วันที่ 19 กันยายน ของทุกปี เป็น ‘วันพิพิธภัณฑสถานไทย’ เพราะในวันดังกล่าวเมื่อเรือน พ.ศ. 2417 นั้น รัชกาลที่ 5 (ผู้ไม่เคยตรัสเรียก ‘museum’ ว่า ‘พิพิธภัณฑ์’) ได้ทรงเสด็จฯ ออกทอดพระเนตรเอกษบิชั่น ในหอมิวเซียมของพระองค์ ก่อนที่จะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมในวันต่อมา คือวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกันนั่นเอง

ภาพประกอบ: หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม (ที่มาภาพประกอบ: http://mac.oamc.ku.ac.th/_online/09_2557/page02.html)

วันที่สร้าง : 18 กรกฎาคม 2562

1

แบ่งปัน
สร้างโดย