คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

กุฏิพิพิธภัณฑ์

กุฏิโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม : อดีตถึงปัจจุบัน โบราณสถานที่มีชีวิต

กุฏิโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม : อดีตถึงปัจจุบัน โบราณสถานที่มีชีวิต*

สร้าง “หอพระแก้วโกเมน” เป็นจุดหลัก สร้างที่พักให้เห็นเป็นหลักแหล่ง

“กุฏิอนุสรณ์พระพรหมกวี” ชี้บุญแรง “กุฏิแดง” ปฏิสังขรณ์พรเชิดชู

“กุฏิธรรมระโต” โอฬารค่า ปรับปรุงมาสวยงามความเลิศหรู

สร้างขึ้นใหม่กุฏิพระ “วรวิญฺญู” เป็นที่อยู่พระเณรร่มเย็นพลัน

บูรณะ"กุฏิใหญ่"ให้โดดเด่น เพื่อให้เป็นสิ่งสดใสอยู่ในฝัน

โดยยอมที่อุทิศเป็นพิพิธภัณฑ์ เพราะมุ่งมั่นโบราณสถานงานเกิดมี”

กลอนข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งในงานนิพนธ์ของ พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญฺญู) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เรื่อง “ในอ้อมกอดของป่า” กล่าวถึงดำริในการสร้างและปฏิสังขรณ์กุฏิสงฆ์ของพระคุณท่าน ภายใน วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) หรือ “วัดป่าแก้วมณีวัน” แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณดงอู่ผึ้ง ในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี มีประวัติย้อนกลับไปถึงราวปลายรัชกาลที่ ๓ เป็นวัดสำคัญที่พำนักของพระมหาเถระผู้เป็น “สังฆปาโมกข์” หรือ หลักคำ” และ “พระธรรมบาล” คือ ตำแหน่งที่เทียบกับเจ้าคณะจังหวัดในปัจจุบันนี้มาถึง ๔ รูป ด้วยกัน อีกทั้งเป็นสำนักเรียน “มูลกัจจายน์” และพระธรรมวินัยที่มีชื่อเสียงนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน

บรรดากุฏิสงฆ์เหล่านี้ “กุฏิแดง” หรือ “กุฏิพระอริยวงศาจารย์” มีความเก่าแก่ที่สุด สันนิษฐานว่าสร้างในราว พ.ศ. ๒๓๗๑ เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด คือ พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) ป.ธ. ๓ พระเถระชาวเมืองอุบลราชธานี ผู้ไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ กลับมาพัฒนา การคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี และได้สร้างสถาปัตยกรรมอันงดงามขึ้นหลายแห่ง เช่น หอพระพุทธบาท กับหอไตร ณ วัดทุ่งศรีเมือง และ “กุฏิแดง” แห่งนี้เป็นที่พำนัก จำพรรษาของพระคุณท่าน กุฏิหลังนี้โดดเด่นจากการสร้างเป็นเรือนเครื่องสับ ฝาปะกน ๔ ห้อง ด้วยเทคนิคแบบโบราณ คือใช้ขวานถากด้วยมือ เพื่อนำไม้มาทำอาคารอย่างน่าทึ่งในฝีมือของคนโบราณ และในห้องหนึ่งยังคงหลงเหลือจิตรกรรมบนบานหน้าต่างรูป “เซี่ยวกาง” คือ ทวารบาลแบบจีน อันเป็นที่นิยมของวัดในกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่ ๓ สะท้อนรสนิยมความชาญฉลาดของท่านสุ้ย ที่ประยุกต์ศิลปกรรมอันหลากหลายมาเผยแพร่และสร้างขึ้นที่แผ่นดินเกิดแห่งนี้ จากความเป็นไทย-ลาว อย่างลงตัว

กรมศิลปากรบูรณะกุฏิแดง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และผู้มีจิตศรัทธา เมื่อบูรณะแล้ว ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด จัดแสดงศิลปวัตถุต่าง ๆ เช่น ตู้พระธรรม หีบพระธรรม อันเป็นอุปกรณ์สำหรับเก็บคัมภีร์ใบลานที่พบในวัดแห่งนี้ จำนวนกว่า ๓๙๘ เรื่อง หรือราว ๕,๘๐๗ ผูก ซึ่งจดจารพระคัมภีร์ พระธรรมคำสอนอันเป็นของสูงค่า ด้วยอักษรธรรมอีสาน อักษรขอม อักษรไทยน้อยและอักษรไทยปัจจุบัน สอดคล้องกับความเป็นสำนักเรียนใหญ่ในอดีต เมื่อเข้ามาเยือนกุฏิแดงเราย่อมสัมผัสได้ถึงความขรึมขลังของผู้คนก่อนหน้า ระลึกไปถึงพระเถรานุเถระในอดีตที่ใช้ชีวิตเป็นเดิมพันกับการสืบทอดคำสอนพระบรมศาสดา ด้วยการสั่งสอนแบบ “บอกหนังสือ” และจารคัมภีร์ใบลานจนนิ้วมือเป็นแผลหนอนเจาะเลยทีเดียว

จากความงดงามโดดเด่น และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมืองอุบลราชธานีกว่า ๒๐๐ ปี กุฏิแดงจึงได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่คณะสงฆ์วัดมณีวนาราม และชาวอุบลราชธานีเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีกุฏิอีก ๒ หลัง ที่ได้รับการปฏิสังขรณ์ไล่เลี่ยกันและใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัด เช่นกัน ได้แก่ กุฏิธรรมระโต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ อายุถึงปัจจุบันกว่า ๑๐๔ ปี เป็นกุฏิไม้ยกพื้นสูง ใช้ประดิษฐาน “พระพุทธมณีโชติ” พระพุทธรูปศิลาโบราณ ปางมารวิชัย ประทับนั่งเหนือขนดนาค ๕ เศียร และจัดแสดงพระพุทธรูปโบราณต่าง ๆ ที่พบในวัด มีผู้คนเดินทางมานมัสการในแต่ละวันไม่น้อย พร้อมโหม่งฆ้องโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคล กรมศิลปากรบูรณะกุฏิหลังนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้วยศรัทธาของคุณศิริธัช โรจนพฤกษ์ คุณสิทธิชัย โควสุรัตน์ และคุณ สายสุนีย์ โควสุรัตน์ และกุฏิอีกหลังหนึ่งที่กรมศิลปากรเพิ่งบูรณะแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ คือ กุฏิใหญ่ เป็นกุฏิขนาด ๖ ห้อง ยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง มีตัวเรือนและชานระเบียง ประดับลวดลายฉลุไม้พรรณพฤกษาอย่างงดงามสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุกว่า ๘๒ปี ในอดีตใช้จำพรรษาของอดีตเจ้าอาวาสหลายรูป ปัจจุบันใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์หลักของวัด จัดแสดงศาสนศิลป์ ศิลปวัตถุ เครื่องบริขาร อาทิ พระบรมสารีริกธาตุ ธรรมาสน์โบราณ ตาลปัตรพัดยศ ข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ในอดีต อันแสดงถึงความมั่งคั่งรุ่งเรืองของคนอดีตที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา และพระภิกษุสงฆ์ในอารามนี้ อย่างเห็นได้ชัด

การจัดพิพิธภัณฑ์ในบริเวณกุฏิโบราณสถานทั้งสามหลังของวัดมณีวนาราม ดำเนินการโดยคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ มีทางคณะสงฆ์และญาติโยมคุ้มวัด และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษา คณะทำงานประกอบด้วย กลุ่มอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำโดย รศ.วีณา วีสเพ็ญและทีมงาน คณาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี และเยาวชนนักศึกษาผู้สนใจศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด

คณะทำงานพิพิธภัณฑ์ ได้พบว่า ศิลปวัตถุภายในวัดแห่งนี้นั้นมีมากมายกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสร้างความ “ทึ่งจัด” ด้วยคิดไม่ถึงว่า วัดแห่งนี้ซึ่งภายนอกไม่มีอะไรมากไปกว่าวัดธรรมดา กลับเป็น “มณีอาราม” โดยแท้ ไม่ว่าจะมีเป็นคัมภีร์ใบลาน ปรากฏศักราชตรงกับ พ.ศ. ๒๒๑๒ ในสมัยอาณาจักรล้านช้าง ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน จำนวนกว่า ๒๙๔ ผืน ที่มีความงดงามประณีต เครื่องบูชา “เครื่องตั้ง” เครื่องใช้ของพระสงฆ์ เช่น ชุดกระเบื้องลายคราม แจกันลายครามของจีน เครื่องทองเหลืองจากอินเดีย เครื่องแก้วฝรั่ง ตาลปัตรพัดรองกว่า ๑๐๐ ด้าม ตลอดถึงเอกสารจดหมายเหตุของพระสงฆ์ หนังสือเก่าที่พระคุณเจ้าอดีตเจ้าอาวาสได้สะสมไว้เป็นห้องสมุด และภาพถ่ายเก่าจำนวนมาก ที่สำคัญมาก ได้แก่ ภาพชุดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ เกือบร้อยภาพ ได้นำภาพถ่ายเหล่าบางส่วน มาจัดนิทรรศการ“ตามรอยพระบาทยาตราเมืองอุบลราชธานี”ที่กุฏิใหญ่ นับแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีผู้มาเยือนทั้งใกล้ไกลมาชมพิพิธภัณฑ์กุฏิโบราณนี้อยู่มิได้ขาด ทุกเพศทุกวัย และพื้นที่ยังมี “ลมหายใจ” จากวัดและญาติโยม เช่น การทำบุญวัดคล้ายวันวันเกิด การบรรเลงดนตรีไทย การจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ เป็นต้น

กุฏิโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามแห่งนี้จึงเป็น “แหล่งเรียนรู้” สำคัญ จากสิ่งของที่จัดแสดงและตัวโบราณสถาน เป็นสิ่งบอกเล่าอดีตและปัจจุบันที่ “เฮืองฮุ่ง” ของท้องถิ่นอุบลราชธานี อันจะสืบทอดต่อไปแก่อนุชนตราบถึงอนาคต สมกับความเป็น “ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราษฏร์ใฝ่ธรรม” อย่างแท้จริง

* ปกรณ์ ปุกหุต คณะทำงานพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม

4,856 views

3

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดอุบลราชธานี