คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

อยุธยาในบันทึกสเปน

ท้องถิ่นอยุธยาในหลักฐานสเปน

ท้องถิ่นอยุธยาในบันทึกของสเปน[1]

                The Philippine Islands, 1493-1898 เป็นหนังสือที่รวบรวมเอกสารและหลักฐานของสเปน ที่ได้เข้ามาปกครองฟิลิปปินส์ในช่วง ศตวรรษที่ 15-19 กินเวลายาวนาน 400 ปี และถือได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่รวบรวมข้อมูลและบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ซึ่งผู้เขียนมาจากชนชั้นต่างๆ อาทิเช่น นักเดินเรือ, นักเผชิญโชค, ข้าราชการทหารและพลเรือน, พ่อค้า, นักธุรกิจ, นักบวชคณะนิกายต่างๆ เป็นต้น

            ชนิดของเอกสาร ประกอบไปด้วย หนังสือราชการ คำประกาศ พระราชกฤษฎีกา พระราชสาส์น พระราชหัตถเลขา หนังสือราชการติดต่อกัน รายงานของราชการ รายงานของนักบวช เรื่องเล่าและจดหมาย และเป็นที่สังเกตได้ว่า ผู้เขียนเป็นผู้ที่อยู่ในฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่

 

            หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ อธิบายและบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-19 (ระหว่าง พุทธศักราช 2036 - 2441) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวระหว่าง ช่วงที่กรุงศรีอยุธยากำลังมีบทบาททางด้านการค้าทางทะเล จากระยะเวลาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น และไล่ยาวมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทำให้เอกสารนี้มีความน่าเชื่อถือ สำหรับการเทียบเคียง ศักราช รวมถึงพิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมสมัยของกรุงศรีอยุธยาและอาณาจักรเพื่อนบ้าน

           

2. งานเขียนที่สำคัญได้แก่

  1. สยามในน่านน้ำตะวันออก ถือเป็นเอกสารที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับเรื่องทั่วไป
  2. ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยา กรุงกัมพูชา และสเปน ระหว่าง คริสต์ศักราช 1592-1600
  3. ความสัมพันธ์ของสามอาณาจักรภายหลัง คริสต์ศักราช 1600

            นอกจากนี้ ยังมีเอกสารที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาอีกเล่ม ซึ่งเขียนโดย บทหลวงริบาเดอิรา (Maecelo Ribadeneira) ชื่อว่า “History of the Philippines and Other Kingdom, Vol. XVII, Part II” และแปลโดย นายเกบารา เอกสารชุดนี้ กล่าวจากคำบอกเล่าของนักบวชศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ปลายรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ต่อเนื่องจนมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เอกสารชุดนี้นับได้ว่ามีคุณค่าและความสำคัญตรงที่ ให้ข้อเท็จจริงเรื่องทั่วไปของกรุงศรีอยุธยา เขียนในรูปแบบการพรรณนา (Description) และอธิบายถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอยุธยาในระยะเวลาที่ทำสงครามกับกรุงกัมพูชา เป็นเอกสารต่างชาติที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา ก่อน ค.ศ.1600 เท่าที่ค้นพบและมีคุณค่ามาก ซึ่งจะให้ข้อมูลในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาได้ดีทีเดียว

            ภาคที่ 1 กรุงศรีอยุธยาในน่านน้ำตะวันออก เอกสารภาคที่ 1 นี้ประกอบไปด้วยผู้เขียนที่หลากหลาย มีทั้งสิ้น 37 ฉบับที่คณะผู้แปลได้ทำการแปลเอาไว้

         แนวคิดผู้เขียนในการเขียน การเขียนบันทึกการเดินทางในเอกสารหลักฐานสเปนนี้ ประกอบไปด้วยหมู่คนที่หลากหลาย ดังที่ได้กล่าวไว้ในวิจารณ์ฉบับนี้ ทั้งในรูปแบบของการพรรณนา บอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอ

            จุดประสงค์ในการเขียน ผู้เขียน ไม่ว่าจะเป็นนักเดินเรือ พ่อค้า ทูต หมอสอนศาสนา หรืออาชีพอื่นใดก็ตาม ต่างมีจุดประสงค์ที่ต่างกัน อาทิเช่น ราชทูตที่เดินทางเข้ามา เพื่อนำสาส์นมาเจริญพระราชไมตรีกับกษัตริย์ในเอเชียอาคเนย์ จะต้องส่งพระราชสาส์นตอบกลับไปยังแผ่นดินแม่ เพื่อแจ้งความคืบหน้าในการทำข้อตกลงทางการทูต ในด้านเศรษฐกิจการค้า หรือตั้งสถานีการค้า หรือจุดประสงค์อื่นใดก็ตาม ส่วนหมอสอนศาสนา ก็อาจจะบันทึกเรื่องราวเพื่อต้องการนำกลับไปเผยแพร่ถึง สภาพวิถีความเป็นอยู่ในต่างแดนที่ตนอาศัยอยู่ ดังนั้นรูปแบบในการนำเสนอเรื่องราว จุดประสงค์อาจจะแตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            สาระสำคัญ เอกสารที่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยานี้ ชี้ให้เห็นว่า สเปนในฐานะมหาอำนาจทางทะเลได้ตระหนักและเห็นถึงสถานะอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เสมอว่าเป็นอาณาจักรที่มีอำนาจระดับมหาอำนาจหนึ่งในเอเชียอาคเนย์และมีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มาก สเปนมีความปรารถนาอย่างจริงจังที่จะเจริญไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาเพื่อประโยชน์ทางการค้าและการศาสนา ความเป็นมิตรไมตรียังอาจเป็นการลดอริราชศัตรูของสเปนซึ่งแวดล้อมหมู่เกาะฟิลิปปินส์อยู่ด้วย

            ภาคนี้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ของกรุงศรีอยุธยากับเมืองน้อยใหญ่ที่ทำการค้าต่อกัน ซึ่งมีผลผลิตส่งออกมากมายหลายประเภท เอกสารชุดนี้จะชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ในด้านการขยายอำนาจทำศึกสงครามกับเพื่อนบ้าน การขยายอิทธิพลรวมถึงความขัดแย้งในด้านผลประโยชน์ด้วย

            อาทิเช่น บันทึกการเดินทางครั้งแรกของ อันโตนิโอ ปิกาเฟตตา เล่ม 34 หน้า 38-152 กล่าวถึงการแล่นเรือเลียบตามชายฝั่งน่านน้ำตะวันออก ได้พบเมือง ปาหัง กลันตัน ปัตตานี พัทลุง เมืองละคร ตีความว่าเป็น เมืองนครศรีธรรมราช รวมถึง ยุธยา (อยุธยา) ซึ่งมีพระเจ้าเข้ากรุงสยาม พระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จพระศิริจักรพรรดิ (ในที่นี้น่าจะตีความได้ว่าเป็น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)[2] บันทึกของนิกายออกัสติน ระบุว่า จีนเรียกดินแดนอยุธยาว่า เสียน (Sian) จดหมายถวายพระเจ้าเฟลิปเปที่ 2 โดย ซันติอาโก เด บารา, มะนิลา วันที่ 6 มิถุนายน 1587 กล่าวถึง การตั้งหลักแหล่งของพวกโปรตุเกสในเมืองมาเก๊าของจีน และเสียน (ตีความได้ว่าเป็นสยาม, อยุธยา) จดหมายถวายพระเจ้าเฟลิปเปที่ 2 โดย กัสแปร์ เด อยาลา, มะนิลา วันที่ 15 กรกฎาคม 1589 กล่าวถึง เรือญี่ปุ่นลำหนึ่งที่เดินทางมาที่เมืองท่า... พร้อมสรรพอาวุธ และจะขายอาวุธในเซียน (หรือเสียน ตีความว่าเป็นสยาม)

            ภาคผนวก : ราคาซื้อและราคาขายผลผลิตในตะวันออก มาร์ติน สตาโญส (ไม่ระบุวันเดือนปี) จากสยาม มีแร่เงินอย่างวิเศษและกระสุนใช้กับปืนประทับยิง กำยานอย่างดีมากและปริมาณมาก ขนมโรยเมล็ดอัลมอนต์ ปริมาณน้ำมันขิงและปริมาณโกกิและไม้สวาด ตะกั่ว และปริมาณข้าว

            คณะนิกายออกัสตินในฟิลิปปินส์ ค.ศ.1670-1694. คาซิมิโร เดียซ, มะนิลา, 1718 เขียนพรรณนาเรื่องราวระหว่าง ค.ศ.1671-1693 หน้า 136 ใจความว่า

            “…บทที่ 3 เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องการมากรุงมะนิลาของเจ้าอธิการชาวฝรั่งเศส ชื่อ ฟรังซัวส์ เดอ ปาลู เจ้าอธิการโดยสิทธิแห่งเอลิโอโปลิส และพระราชาคณะผู้มี หน้าที่เผยแพร่ศาสนา ในประเทศจีน มีชาวฝรั่งเศสมากมายหลายคนที่ติดตามมาด้วยทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ท่านเป็นหนึ่งในสามของคณะทูตที่ส่งมาเพื่อเผยแพร่ศาสนาในสยาม กัมพูชา และหัวเมืองอื่นๆ และในจีน และเพื่อพยายามเปิดการเผยแพร่ศาสนาในญี่ปุ่นอีก คณะเจ้าอธิการปาลู ได้ตั้งสำนักงานใหญ่ที่อยุธยา ซึ่งเป็นราชธานีของชาวสยาม แต่ความเพียรพยายามที่จะให้ชาวสยามเข้ารีตนั้นล้มเหลว เพราะชาวสยามดื้อดึงดันยึดมั่นในศาสนาจอมปลอมและบูชารูป ซึ่งเป็นการยึดถือขึ้นหน้ากว่าประเทศอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นพวกนอกศาสนาหรือพวกมุสลิม “เพราะว่าไม่เป็นที่ทราบกันมาเลยว่า มีชาวสยามผู้ใดได้ละทิ้งการบูชารูป และนับถือศาสนาคริสต์” ยิ่งกว่านั้น พวกฝรั่งเศสมีความขัดแย้งกับคณะเผยแพร่ศาสนาชาวโปรตุเกสแห่งมะละกา ผู้อ้างสิทธิ์ (ในการเผยแพร่ศาสนา) เหนือภูมิภาคเหล่านั้นว่าเป็นเขตภายใต้การปกครอง (ฝ่ายธรรม) เพราะพวกฝรั่งเศสถูกจัดประเภทเป็นเพียงคณะสมณทูต มิได้มีการลำดับสมณศักดิ์อย่างเป็นทางการ ดังเช่น คณะนักบวชของมะนิลา อเมริกา และกัว…”

           

ภาคที่ 2 ความสัมพันธ์สามเส้า ระหว่าง สเปน กับกรุงศรีอยุธยาและกรุงกัมพูชา ระหว่าง ค.ศ.1590-1600

            เอกสารในภาคนี้กล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างสเปนที่มีต่อกรุงกัมพูชา และกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ค.ศ.1592-1600 โดยประมาณ ซึ่งในภาคนี้เอกสารส่วนมากจะเป็นเอกสารทางการเสียมากกว่า

สาระสำคัญ

           สเปนต้องการให้กรุงกัมพูชาเป็นเมืองหน้าด่านหรือฐานปฏิบัติการ เพื่อการตั้งมั่นในด้านการค้าและการศาสนาในเอเชียภาคพื้นทวีป ตลอดจนการเข้ายึดครองทั้งอาณาจักรกัมพูชาถ้าเป็นไปได้ แม้แต่ชาวสเปนที่เป็นอดีตผู้ว่าราชการเองก็ยังใฝ่ฝันที่จะตั้งตนเป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชาเช่นเดียวกับชาวสเปนที่นิยมการผจญภัยแสวงหาโชคลาภในกัมพูชา การที่กรุงกัมพูชาใฝ่แสวงหามิตรไมตรีจากสเปนเพื่อปกป้องตนเองจากศึกศัตรูภายในอาณาจักรและกรุงศรีอยุธยานั้น จึงดูเสมือนว่า กรุงกัมพูชา หนีเสือปะจระเข้ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้

            อย่างไรก็ตาม ระยะนั้นเป็นช่วงที่สเปนคาดการณ์ไว้ว่า อยุธยาจะยกทัพไปตีกัมพูชา ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ตรงกับนักพระสัตถาของกัมพูชา แต่กระนั้น สถานการณ์ก็ไม่เป็นไปตามที่กัมพูชาต้องการ เมืองสเปนต้องยกทัพไปตีหมู่เกาะโมลุกะ จึงไม่สามารถส่งทัพหนุนเข้าช่วยกัมพูชาได้ ใน ช่วง ค.ศ.1594 ปรากฏว่า กรุงศรีอยุธยารบชนะกัมพูชา และนาย เบโยโซ ถูกกุมตัวเป็นเชลยไปยังกรุงศรีอยุธยา รวมถึง นายบลัส รุยส์ ได้ถูกกุมตัวขึ้นเรือสำเภาไปยังกรุงศรีอยุธยาเช่นเดียวกัน แต่สเปนก็ประสบความล้มเหลวในการส่งกองเรือที่จะไปตั้งมั่นการค้า เผยแพร่ศาสนา และครอบครองกัมพูชา เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวยนั่นเอง

            อย่างไรก็ดี เรือของนายเบโยโซ และเรือของนายบลัส รุยส์ เดินทางไปถึงกัมพูชาก่อน และพบว่า พระเจ้ากรุงกัมพูชา นักพระสัตถา เสด็จหนีพร้อมกับเชื้อพระวงศ์ไปประทับอยู่ในลาวแล้ว

 

            มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในช่วงการเกิดจลาจลในกัมพูชานั้น ขุนนางได้แต่งคณะทูตไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอรับพระราชทานพระศรีสุพรรณมาธิราชไปครองราชย์ เนื่องจากสมเด็จพระบรมราชาถูกสำเร็จโทษ เมื่อปี ค.ศ.1600 เหตุการณ์ต่าง ๆ ในช่วง ค.ศ.1594-1600 ที่เกิดขึ้นในกัมพูชานั้น มีข้อสังเกตว่า เอกสารสเปนไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของกรุงศรีอยุธยาในทางใดทางหนึ่งเลย

            ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามเอกสารภาคที่ 2 ชี้ให้ปรากฏเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ที่ยังไม่ล้าสมัยเลยว่า การคบหาต่างชาติโดยขาดความรอบคอบและขาดวิจารณญาณไตร่ตรองถึงจุดประสงค์ของตนและจุดประสงค์ของต่างชาติ ย่อมนำความหายนะมาสู่อาณาจักรได้

            ในหลักฐานเขมรได้บรรยายไว้ว่า พระนเรศวรได้โปรดให้ ราชบุตร สองคนผู้รู้ศิลปศาสตร์เวทางค์คปกรณ์กฤติยาคม ไปสืบจารกรรมเมืองเขมร เมื่อ พ.ศ.2134 ราชบุตรทั้งสองได้กระทำกฤติยาคม จนพระบรมราชา หรือพระยาละแวก เสียพระสติ บ้านเมืองเกิดความระส่ำระส่ายกรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพไปตีเขมรใน ปี พ.ศ.2136[3]

         มีข้อพึงระวังว่า พิธีปฐมกรรมเป็นพิธีสวนสนามและไม่มีพิธีนี้กระทำต่อพระยาละแวก คำถามที่จะต้องหาคำตอบให้ได้คือ ถ้าพระยาละแวกมิได้ถูกสำเร็จโทษโดยพิธีดังกล่าวแล้ว พระยาละแวกเสด็จไปประทับที่ใด เอกสารสเปนน่าจะให้ข้อเท็จจริงเป็นคำตอบได้ เป็นคำตอบที่ให้เลือกพิจารณาถึงความเป็นจริงที่น่าจะเป็นไปได้หรือไม่อีกทางหนึ่ง

 

            ความต้องการครอบครองกัมพูชาของสเปนปรากฏในเงื่อนไขที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือจากสเปน

  1. ในประการแรก พระเจ้ากรุงกัมพูขา พระมเหสี และพระโอรสธิดาต้องเสด็จเข้ารีตและข้าราชสำนักต้องโดยเสด็จด้วย
  2. ทันทีที่ชาวสเปนได้เข้ามาถึงในอาณาจักรของพระเจ้ากรุงกัมพูชา พระองค์ต้องพระราชทานเมืองท่า 1 แห่งแก่ชาวสเปนเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก
  3. พระเจ้ากรุงกัมพูชาจะพระราชทานเงินจ่ายแก่กองทหารและผู้คนในค่ายทหาร กัปตัน ผู้บัญชาการ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ในเรื่องสงคราม
  4. ในเรื่องที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงแสวงหาความอนุเคราะห์และความช่วยเหลือจากพวกเรา (สเปน) เรามีความผูกพันที่จะถวายเฉพาะเมื่อเรื่องนั้น ๆ ชอบด้วยเหตุผลและเหตุผลและถูกต้องเท่านั้น
  5. ในการส่งทหารที่ชาวสเปนอาจจะถวายเป็นความช่วยเหลือนั้น พระเจ้ากรุงกัมพูชาจักทรงดำเนินการด้วยความสุจริตยุติธรรมต่ออาณาจักรและดินแดนทั้งหลาย ถ้าพวกสเปน (ช่วยรบจน) เป็นฝ่ายชนะ พระองค์ต้องทรงแบ่งปันสิ่งที่ได้ชัยชนะมา
  6. ชาวสเปนที่ไปในการศึกสงครามต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาที่เหนือกว่าซึ่งจะเป็นผู้นำ
  7. พระเจ้าแผ่นดินและบรรดาพระโอรสหรือผู้ใดที่จะสืบต่อราชบัลลังก์ในอาณาจักรต้องทรงตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า หลังจากที่ชาวสเปนจะอยู่ในประเทศและอาณาจักรของพระองค์ และจะสั่งสอนคริสตธรรมแห่งพระเยซูผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าและเจ้าเหนือหัวของเรา
  8. ในกรณีที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาจะทรงขาดพระโอรสหรือผู้ต่อราชบัลลังก์ที่ถูกต้องชอบธรรม พระองค์จะต้องทรงระบุพระนามผู้สืบราชย์ในอาณาจักร ทั้งนี้ ควรไปตามคำแนะนำของคณะบุคคลที่ชาวสเปนบังคับบัญชาและตั้งเป็นผู้แทน

 

            จดหมายถวายพระเจ้าเปลิปเปที่ 2 โดย ดอน ฟรานซิสโก เตโย มะลินา วันที่ 12 กรกฎาคม 1599 พระราชสาส์นในสมเด็จพระเจ้ากรุงเสียน (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) ทรงต้องพระราชประสงค์การค้าสำหรับราชอาณาจักรกับชาวสเปน โปรดให้แห่งแต่งคณะราชทูตมาถึงชาวสเปน ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี และพระราชสาส์นระบุว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงเสียนทรงปฏิบัติต่อนายโฆอัน เตโย เป็นอย่างดีและโปรดให้เปิดท่าแห่งหนึงที่พระมหานครโยเดีย[4]

 

ภาคที่ 3 ความสัมพันธ์สามเส้าภายหลัง ค.ศ.1600

            เอกสารสเปนภาคที่ 3 นี้ได้ให้ข้อเท็จจริงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามประเทศว่าได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด อาจจะกล่าวได้ว่า นโยบายสเปนที่จะตั้งมั่นการค้า การศาสนาและครอบครองกัมพูชา เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่จะมีความสัมพันธ์อันดีงามกับกรุงศรีอยุธยา แม้ความสำคัญของกรุงศรีอยุธยา

            แม้ความสำคัญของกรุงศรีอยุธยาในแง่ของการค้าและการศาสนาสำหรับสเปนแล้วก็ยังถือว่าเป็นรองกรุงกัมพูชา กรุงศรีอยุธยาเองแม้ปรารถนาที่จะผูกมิตรกับสเปนที่ฟิลิปปินส์ด้วยเหตุผลค้าขายและเหตุผลทางการเมือง กล่าวคือ กรุงศรีอยุธยาหวาดวิตกในอำนาจและอิทธิพลของโปรตุเกสในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ความสัมพันธ์กับสเปนมิได้ราบรื่นเท่าที่ควร เพราะปัญหาบทบาทของสเปนในการเมืองอันแตกแยกของกัมพูชา (กล่าวมาแล้วในภาคที่ 2) เอกสารของภาคนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ทั้งสเปนและกรุงศรีอยุธยาต่างก็พยายามที่จะเจริญทางไมตรีต่อกัน แต่มักมีปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้น ใน ค.ศ.1624 นาย เฟอร์นัลโด เด ซิลบา ได้นำเรือสินค้าสเปนลำหนึ่งเข้าไปในกรุงศรีอยุธยา แล้วจู่โจมตีเรือของพวกฮอลันดา แต่เอกสารฉบับหนึ่งกลับระบุว่า พวกญี่ปุ่นและพวกฮอลันดาหลายร้อยคนตีชิงปล้นสดมภ์เรือสินค้าของสเปน

            อย่างไรก็ตามในการสู้รบในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ปรากฏว่า สเปนยึดเรือสินค้าของฮอลันดา และไม่ยอมคืนเรือตามพระราชกระแสรับสั่งขอร้องของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยาจึงระดมกองเรือออกมาปราบสเปน ชาวสเปนเสียชีวิตในการสู้รบส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งถูกจับกุมคุมขัง เรือสินค้าสเปนซึ่งเป็นเรือหลวงถูกริบ สเปนที่ฟิลิปปินส์มิได้ตอบโต้ ด้วยการส่งกองเรือไปโจมตีกรุงศรีอยุธยา เพราะไม่มีกำลังรบเพียงพอ เพียงแต่ส่งคณะทูตไปเจรจาขอเรือสินค้าและขอเชลยสเปนคืนในเดือนมกราคม ปี ค.ศ.1626 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงพระกรุณาให้คืนทรัพย์เชลยแก่สเปน แต่ปรากฏว่าทหารได้แบ่งสันปันส่วนทรัพย์เชลยไปแล้วเป็นส่วนใหญ่

        ทำให้สเปนที่ฟิลิปปินส์ไม่พอใจและตัดสินใจจะลงโทษกรุงศรีอยุธยาด้วยวิธีการส่งเรือออกล่าและยึดเรือสินค้าหลวงของกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ค.ศ.1628-1629 แต่ในขณะเดียวกัน สเปนก็หวังที่จะให้กรุงศรีอยุธยาเปิดการเจรจากับสเปนเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพย์เชลยกัน สเปนจึงแต่งคณะทูตไปกรุงศรีอยุธยา ใน ค.ศ.1628 กรุงศรีอยุธยาได้ส่งคณะทูตไปฟิลิปปินส์เพื่อเจรจายุติความขัดแย้ง แต่การเจรจาสำเร็จหรือล้มเหลวเป็นเรื่องที่เอกสารสเปนมิได้กล่าวถึง

            เข้าใจว่า ความสัมพันธ์คงจะดีขึ้น เพราะกรุงศรีอยุธยาต้อนรับเรือสเปนเป็นอย่างดีใน ค.ศ.1638 และใน ค.ศ.1669 เอกสารเล่าเรื่องคณะทูตพาณิชย์ของกรุงศรีอยุธยาติดสินบนผู้ว่าราชการและกรรมการแห่งศาลศาสนาเพื่อขอคืนสินค้าตกค้าง และต่อมา สเปนแต่งคณะทูตไปเจริญทางไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาและกรุงกัมพูชา ใน ค.ศ.1718 กรุงศรีอยุธยาต้อนรับคณะทูตอย่างสมเกียรติ แต่คณะทูตของกรุงศรีอยุธยาที่ไปกรุงมะนิลากลับมิได้รับการต้อนรับดีเท่าที่ควร เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์มิได้ดีดังเดิม แต่ความสัมพันธ์ดีขึ้นเมื่อใดไม่มีเอกสารสเปนฉบับใดยืนยันไว้ เพียงแต่ว่าใน ค.ศ.1747 มีการไปมาค้าขายกันและมีการทูตต่อกัน สเปนได้ส่งผู้คนไปกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ ค.ศ.1752 เพื่อไปต่อเรือสินค้าในกรุงศรีอยุธยาโดยพระบรมราชานุเคราะห์

            อาจจจะกล่าวได้ว่า ทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงกัมพูชาต่างก็มีความสัมพันธ์กับสเปนที่ฟิลิปปินส์ สเปนมุ่งการค้าและการต่อเรือในสองอาณาจักรนั้นมากกว่ามุ่งตั้งมั่นการศาสนาดังอดีต เอกสารสเปนของภาคที่ 3 นี้ ยังได้ให้ข้อเท็จจริงที่ควรสนใจมากเรื่อง ฟอลคอนส่งคนไปเจรจาขอไปตั้งมั่นฟิลิปปินส์ เมื่อสมเด็จพระนารายณ์เสด็จสวรรคตแล้ว เอกสารสเปนได้วิจารณ์ไว้ว่า ฟอลคอนเป็นผู้ทรงอำนาจอิทธิพลสูงในอิทธิพลสูงในกรุงศรีอยุธยา และมีทรัพย์ศฤงคารมหาศาล และวิจารณ์ว่า ฟอลคอนพลาดมากที่สมคบคิดกับฝรั่งเศส เพื่อให้ฝรั่งเศสครอบครองกรุงศรีอยุธยา

 

สรุปเนื้อหา

            หลักฐานเกี่ยวกับเมืองไทยในเอกสารภาษาสเปนนั้น แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วในหนังสือชุด The Philippine Islands 1493-1898 ของ Emma Helen Blair และ J.A. Robertson ซึ่งตีพิมพ์ที่เมือง Cleveland, Ohio ระหว่างปี ค.ศ.1903-1909 เอกสารสเปนที่มีข้อความเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาทั้งหลายนี้ จันทร์ฉาย ภัคอธิคมแปลเป็นภาษาไทยแล้วในหนังสือเรื่อง กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน (สมาคมประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ 2532) เอกสารในหนังสือของ Blair และ Robertson มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน มีทั้งพระราชสาส์น จดหมาย บันทึก และรายงานเอกสารบางฉบับเขียนขึ้นโดยข้าราชการและบางฉบับเป็นเรื่องราวซึ่งบาทหลวงได้บันทึกไว้

            ในสมัยที่เริ่มติดต่อกับไทย สเปนได้ตั้งฐานทัพและอาณานิคมไว้ ณ กรุงมะนิลาในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ หลายสิบปีก่อนหน้าที่สเปนจะเข้ามาติดต่อกับไทยนั้น โปรตุเกสได้เริ่มสร้างสัมพันธภาพทางการทูตและการค้ากับราชอาณาจักรสยามไว้แล้ว แต่ในช่วง ค.ศ.1580-1640 (พ.ศ.2123-2183) กษัตริย์แห่งสเปน เริ่มด้วยพระเจ้า Philip ที่ 2 ได้ผนวกโปรตุเกสเข้าไว้ในอาณาจักรสเปน จึงเป็นธรรมดาที่สเปนพยายามเผยแผ่ศาสนาและติดต่อค้าขายกับดินแดนซึ่งชาวโปรตุเกสเคยติดต่อด้วยเป็นประจำเช่น อาณาจักรอยุธยา เป็นต้น

            เมื่อ ค.ศ.1598 ข้าหลวงใหญ่สเปนที่กรุงมะนิลา Don Francisco Tello ได้ส่งนาย Juan Tello de Aguirre มาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงส่งพระราชสาส์นไปถึงข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลา แสดงความสนพระทัยที่จะค้าขายกับสเปน ในกรณีนี้ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายริเริ่มการติดต่อกับสเปน ดังรายละเอียดในจดหมายจาก Don Francisco Tello ถวายพระเจ้า Philip ที่ 3

            “ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชสาส์นจากพระเจ้ากรุงสยาม...ในพระราชสาส์นนั้น พระเจ้ากรุงสยามทรงประสงค์การพาณิชย์และการค้ากับหมู่เกาะนี้ (หมู่เกาะฟิลิปปินส์) ...โดยที่ได้เห็นว่า พระมหากษัตริย์องค์นี้โปรดเช่นนั้น  ปีที่แล้ว (ค.ศ.1598) ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งกัปตัน Juan Tello พร้อมคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามเป็นการตอบพระราชสาส์น โดยได้กล่าวถึงความนิยมชมชื่นอย่างใหญ่หลวงสำหรับพระราชไมตรีที่ทรงแสดงต่อข้าพระพุทธเจ้า และความนิยมชมชื่นสำหรับพระราชปรารถนาที่จะให้ชาวสเปนค้าขายในราชอาณาจักร... กัปตัน Juan Tello ได้ออกเดินทางไปสยามและเมื่อปฏิบัติการทูตสมบูรณ์แล้ว เขาได้ทำข้อตกลงด้วยว่า (สยาม) ควรเปิดเมืองท่าเมืองหนึ่งสำหรับการค้าเพื่อให้ชาวสเปนสามารถไปเมืองนั้นได้และตั้งหลักแหล่งได้โดยอิสระ และได้รับการยกเว้นจากภาษีทั้งปวง

            สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงฉบับที่สองที่ไทยตกลงเซ็นกับประเทศตะวันตก ฉบับแรกได้แก่สนธิสัญญาที่เซ็นกับโปรตุเกสในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสเปนกับไทยเอื้อประโยชน์ต่อสเปนในหลายๆทาง Don Francisco Tello ได้ส่งคณะทูตคณะที่สองมาถึงกรุงศรีอยุธยา โดยประสงค์ที่จะขออนุญาตสมเด็จพระนเรศวรฯ ส่งบาทหลวงคณะ Dominican มาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทย หัวหน้าคณะทูตคณะที่สองนี้ชื่อว่า Juan de Mendoza Gamboa เอกสารเรื่อง Sucesos de las Islas Filipinas (“เรื่องเหตุการณ์ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์”) ของ Antonio de Morga ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในเม็กซิโกเมื่อ ค.ศ.1609 (พ.ศ.2152) ได้ระบุไว้ว่านาย Mendoza ล้มเหลวในการติดต่อกับราชสำนักสมเด็จพระนเรศวรฯ เนื่องจากขัดแย้งกับข้าราชการไทยเกี่ยวกับเรื่องของขวัญที่นำมาให้กับฝ่ายไทย ทางฝ่ายราชสำนักไทยต้องการของขวัญที่ดีกว่าของขวัญที่ได้รับจากคณะทูตสเปน สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงประสงค์ที่จะยึดปืนใหญ่ของพวกสเปน นาย Mendoza จึงเห็นจำเป็นที่จะต้องโยนปืนใหญ่เหล่านั้นลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไม่ให้ปืนตกเป็นของไทยเสีย การเจรจาทางการทูตระหว่าง Mendoza กับราชสำนักไทยไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก ทางฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงผิดหวังในการค้ากับสเปน ซึ่งมิได้นำกำไรรายได้มาสู่พระคลังเท่าที่ควร จึงไม่ทรงตอบสาส์นของข้าหลวงใหญ่กรุงมะนิลา ส่วนนายMendoza นั้นพยายามออกไปจากเมืองไทยโดยมิได้รับตราอนุญาตจากกรมพระคลัง (โกษาธิบดี) นอกจากนั้นแล้วเขายังกลับมางมปืนที่จมไว้ใต้น้ำกลับขึ้นสู่เรือของเขา และมารับตัวชาวสเปนกับชาวโปรตุเกส ซึ่งประสงค์จะออกนอกประเทศไปพร้อมกับเขา การกระทำ

            เหล่านี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทรงส่งทหารพร้อมเรือไล่ตามเรือของ Mendoza มีการรบพุ่งกันในแม่น้ำ ทหารทั้งสองฝ่ายล้มตายไปหลายคน ในที่สุดเรือสเปนก็หลบหนีไปได้ แต่นาย Mendoza เองนั้นบาดเจ็บถึงตาย หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรอยุธยากับสเปนก็ได้หยุดชะงักไปชั่วคราว

            สมเด็จพระนเรศวรฯทรงตระหนักถึงความสำคัญของการค้านานาชาติ โดยเฉพาะการค้าทางทะเลเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอยุธยา ซึ่งได้รับความเสียหายพอสมควรจากสงครามต่างๆในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังทรงต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยจากการค้ากับกรุงมะนิลา ตั้งแต่ปี ค.ศ.1594 (พ.ศ.2137)

 

ความสัมพันธ์สามเศร้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน

                จดหมายเหตุของ Dr. Antonio de Morga[5] และหลักฐานสเปนฉบับอื่น ๆกล่าวถึงเหตุการณ์ในเขมร (เมืองละแวก) ไว้มาก เนื่องจากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวสเปนได้เข้าไปมีบทบาทใน

                เหตุการณ์ทางการเมืองภายในของเขมร สเปนพยายามเข้ามามีบทบาทในช่วงที่เขมรต้องรบกับไทย และนอกจากนั้นแล้ว เจ้านายเขมรก็แย่งชิงอำนาจกันเองอยู่ตลอดเวลา ความสัมพันธ์สามเส้าระหว่าง ไทย เขมรและสเปน จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง เอกสารภาษาสเปนหลายฉบับเน้นเหตุการณ์ในเขมรสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นักผจญภัย” สองราย อันได้แก่ Blas Ruiz และ DiogoVeloso (Belloso) ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการเมืองและการต่างประเทศของเขมร

            สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงกรีธาทัพไปตีเมืองละแวกแตกใน ค.ศ.1594 (พ.ศ.2137) ทำให้นักพระสัตถา กษัตริย์เขมร พยายามขอความช่วยเหลือจากสเปน ข้าหลวงใหญ่ของสเปน ณ กรุงมะนิลาตัดสินใจส่งกองทัพมาช่วยเหลือนักพระสัตถา ในต้นปี ค.ศ.1596 (พ.ศ.2138) ทั้งๆที่ชาวสเปนหลายคนที่กรุงมะนิลาไม่เห็นด้วยกับเขา คนจำนวนหนึ่งเกรงว่าสเปนจะต้องกลายเป็นศัตรูของกรุงศรีอยุธยาไปโดยที่ไม่จำเป็น เพราะสมเด็จพระนเรศวรฯเพิ่งส่งพระราชสาส์นมายังกรุงมะนิลาและทรงเชื้อเชิญให้ชาวสเปนไปค้าขายในประเทศสยาม ในที่สุดกองทัพสเปนในบังคับบัญชาของ Juan Júrez Gallinato ก็ประสบปัญหามากมาย และประสบความล้มเหลวเนื่องจากสถานการณ์ในเขมรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง

            แม้ว่าจะมีปัญหามากมายในเขมรในช่วง ค.ศ.1594-1596 และแม้ว่านักแสวงโชคชาวสเปนและโปรตุเกสจะเข้าไปมีบทบาทโดยมีรัฐบาลกรุงมะนิลาหนุนหลังอยู่ ทางฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรฯก็ยังทรงติดต่อกับข้าหลวงใหญ่แห่งกรุงมะนิลาต่อไป ในบรรดาเอกสารสเปนยังคงมีสำเนาพระราชสาส์น(ฉบับแปล) หลงเหลืออยู่ฉบับหนึ่งเป็นเอกสารซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1598 หรือ 1599 (ราวๆ พ.ศ.2141-2142) ในพระราชสาส์นฉบับนี้สมเด็จพระนเรศวรฯทรงแสดงความพึงพระทัยที่ทางกรุงมะนิลาส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอยุธยา พระองค์มิได้ทรงเอ่ยถึงเขมร แสดงว่าทรงเน้นแต่เรื่องมิตรภาพและการค้าขายก่อนหน้าที่จะเผชิญปัญหาคณะทูต Mendoza

            จึงสรุปได้ว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับสเปนในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ดำเนินไปด้วยมิตรภาพบ้าง ความเข้าใจผิดบ้าง และมีการขัดผลประโยชน์กันบ้าง เพราะสเปนมุ่งหวังอยู่ตลอดเวลาที่จะขยายอิทธิพลมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงพยายามควบคุมเขมรให้เป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นเอกสารดังกล่าวนี้จึงให้คุณค่าในแง่ของการนำเสนอข้อเท็จจริงอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจ

 

อ้างอิง

            จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. กรุงศรีอยุธยาในเอกสารหลักฐานสเปน. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์, 2532.

 

[1] พีรภัทร ห้าวเหิม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรียบเรียง

[2] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (บรรณาธิการ). กรุงศรีอยุธยา ในเอกสารหลักฐานสเปน. (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์, 2532), หน้า 16.

[3] ดูใน พงศาวดารละแวก, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 71 เล่มที่ 44 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2512), หน้า 252-53.

[4] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (บรรณาธิการ). กรุงศรีอยุธยา ในเอกสารหลักฐานสเปน. (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์, 2532), หน้า 62.

[5] จันทร์ฉาย ภัคอธิคม (บรรณาธิการ). กรุงศรีอยุธยา ในเอกสารหลักฐานสเปน. (กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์ในพระราชูปถัมภ์, 2532), หน้า 88.

28,269 views

3

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา