คำแนะนำการใช้งาน
ขยายขนาดตัวอักษร
เพิ่มระยะห่างตัวอักษร
เพิ่มขนาดลูกศรชี้
ตำแหน่ง
เส้นช่วยในการอ่าน
เน้นการเชื่อมโยง
ปรับชุดสี
เปิดการใช้งาน
ปิดการใช้งาน
คำแนะนำการใช้งาน
เริ่มต้นใช้งาน
Text Size

การขยายขนาดตัวอักษร

สามารถเลือกปรับขนาดตัวอักษรได้ 3 ระดับ คือ 20% 30% และ 40% จากขนาดมาตรฐาน

Text Spacing

การเพิ่มระยะห่างตัวอักษร

การปรับระยะห่างของตัวอักษร และช่องว่างระหว่างบรรทัด สามารถปรับได้ 3 ระดับ เพื่อให้อ่านข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

Large Cursor

การเพิ่มขนาดลูกศรชี้ตำแหน่ง

ขยายขนาดของลูกศรชี้ตำแหน่ง (Cursor) ให้ใหญ่ขึ้นถึง 400%


Reading Guide

เส้นช่วยในการอ่าน

จะมีเส้นปรากฏขึ้น พร้อมกับการเลื่อนลูกศรชี้ตำแหน่ง เพื่อให้ผู้อ่านสามารถโฟกัสข้อความที่ต้องการอ่านได้สะดวกขึ้น

Highlight Links

เน้นการเชื่อมโยง

ช่วยเน้นและแยกส่วนของลิงค์หรือปุ่มต่างๆ ออกจาก เนื้อหาภายในเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถมองเห็นปุ่มได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

Change Color

เลือกปรับชุดสี

สามารถเลือกปรับชุดสีของเว็บไซต์ได้ 4 แบบตัวอักษรและปุ่มต่างๆ มีสีเข้มคมชัด มองเห็นได้ชัดเจน

ย้อนกลับ

รอยพระบาท ธ ยาตรา

“รอยพระบาท ธ ยาตรา ชุดพระราชอาสน์คู่ราชสีมานคร”

         ราชสีมา อันมีความหมายว่า ดินแดนของพระราชา ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เมืองนครราชสีมา หรือ เมืองโคราชนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่จังหวัดแห่งนี้ อันเป็นนครในเขตขัณฑสีมาของพระองค์ รอยพระบาท ธ ยาตรานี้ ชาวนครราชสีมายังสำนึกอยู่มิรู้เลือน ที่ได้ทรงเสด็จฯ มาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุข และทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันยังความเจริญวัฒนาผาสุกแก่เมืองในเขตขัณฑสีมาของพระองค์แห่งนี้

         และเมื่อครั้งในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ ได้ทำให้มีชิ้นงานที่ทรงคุณค่าและเป็นโบราณวัตถุสำหรับเมืองโคราช ที่ไม่เหมือนพระราชอาสน์องค์อื่นๆ คือ เป็นพระราชอาสน์แบบผสมผสานระหว่างศิลปะไทยกับศิลปะยุโรป ที่ได้รับอิทธิพลอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ถ่ายทอดเป็นลวยลายในพระราชอาสน์ที่เป็นรูปมงกุฎอย่างกษัตริย์ยุโรป และชุดเกราะอย่างโรมัน แต่ยังคงปรากฏศิลปะไทยเป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงอันเป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างไทย อีกทั้งยังมีโต๊ะเคียงประกอบ พระราชอาสน์องค์นี้ด้วย ทำเป็นลวดลายเป็นรูปอาวุธของทหารม้ายุโรปโบราณ อย่างที่ไม่เคยพบที่ไหนมาก่อน

         ชุดพระราชอาสน์องค์นี้ ประกอบด้วย พระราชอาสน์จำนวน ๒ องค์ และโต๊ะเคียง ๑ ตัว พระราชอาสน์(เลขทะเบียน ๐๙/๑/๒๔๙๙ ) เป็นเก้าอี้ไม่มีเท้าแขน โครงสร้างทำด้วยไม้กลึงทาสีขาว พนักบุผ้า ปักรูปครุฑพ่าห์ด้วยสีแดง มงกุฎและเครื่องประดับปักสีทอง ส่วนบนของพนักตกแต่งด้วยโลหะเป็นรูปหมวก ชุดเกราะของกษัตริย์โรมันทรงมงกุฎ ผสมกับลายช่อดอกไม้ ส่วนบนของส่วนกรอบพนักประดับตกแต่งเป็นรูปอาวุธ ขวานปลายหอก ตัวเบาะบุผ้ากำมะหยี่สีแดง ขาไม้กลึงเป็นเกลียวสี่ขา ปลายขาพระเก้าอี้ต่อด้วยขาโลหะ ซึ่งขาทั้งสี่ยึดไขว้กันด้วยลายโซ่ประดิษฐ์ ขอบตัวพระเก้าอี้ ตกแต่งด้วยแนวแผ่นโลหะรูปสี่เหลี่ยมที่มีด้านล่างมนแหลมคล้ายโล่ สลับกับลายช่อดอกไม้แนวตั้ง

         ส่วนโต๊ะเคียง(เลขทะเบียน ๐๙/๒/๒๔๙๙) นั้น เป็นโต๊ะไม้ หลังโต๊ะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบุผ้ากำมะหยี่สีแดง ส่วนด้านกว้างทั้งสองด้านขอบตรงกลางหยักโค้งแหลม ขอบล่างของโต๊ะตกแต่งด้วยแผ่นโลหะ ตรงกลางคล้ายรูปชุดเสื้อเกราะตรงส่วนหน้าอก ขอบมุมทั้งสี่ม้วนกลมยาว คล้ายม้วนผ้าขนาดใหญ่ ขนาบด้วยแผ่นสี่เหลี่ยมด้านล่างมนคล้ายโล่สลับลายช่อดอกไม้ มีขาสี่ขา ด้านละสองขาวางไขว้กัน ปลายขาโต๊ะแต่ละขาทำด้วยโลหะ ออกแบบเป็นรูปอาวุธของทหารม้ายุโรปโบราณ คือ ทวนผสมขอและขวาน

         เคยได้ใช้ทอดถวายรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาจังหวัดนครราชสีมา ถึง ๓ รัชกาล ในวาระแรก เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (เมื่อครั้งเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ) ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดทางรถไฟ สายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๕ ธันวาคม ๒๔๔๓

         วาระต่อมา คือ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (เมื่อครั้งเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร) ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธีฉลองโล่กองทหารม้า ณ มณฑลทหารบกนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๒ – ๒๐ มกราคม ๒๔๔๖

         และวาระล่าสุด เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎร โดยเชิญไปทอดถวาย ณ พลับพลาชั่วคราว บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ซึ่งในครั้งนั้นได้ทำการซ่อมแซมครั้งแรกก่อนใช้รับเสด็จ และต่อมาจังหวัดนครราชสีมาได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์ กล่าวได้ว่าสิ่งนี้คือ ประจักษ์หลักฐานเครื่องระลึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ปกเกล้า ฯ พสกนิกรชาวนครราชสีมาไปชั่วนิรันดร์

........................................

เอกสารอ้างอิง
นครราชสีมา, จังหวัด. ของดีเมืองโคราช. นครราชสีมา : มิตรภาพการพิมพ์. ๒๕๕๒.
มหาวีรวงศ์, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุชิ้นเด่น ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์. นครราชสีมา : สมบูรณ์การพิมพ์, ๒๕๕๖.

Credit by :
นายชินาทร กายสันเทียะ

3,142 views

1

แบ่งปัน

มิวเซียมในจังหวัดนครราชสีมา